อุทธรณ์ยืนคดี ม.112 จำคุก 1 ปี 6 เดือน “ตรัณ” ประชาชนวัย 25 ปี เหตุคอมเมนต์ไลฟ์ในเพจ ศปปส. ต้องเข้าเรือนจำรอคำสั่งประกันตัว

วันที่ 1 เม.ย. 2568 เวลา 09.00 น. ศาลอาญา นัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในคดีของ “ตรัณ” (นามสมมติ) ประชาชนจากกรุงเทพฯ อายุ 25 ปี ที่ถูกฟ้องในข้อหาตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากกรณีคอมเมนต์ใต้ไลฟ์สดในเพจศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2564 

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น คดีนี้จำเลยอุทธรณ์ขอให้มีการรอลงอาญา โดยจำเลยได้เข้าถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ แต่ศาลเห็นว่าเป็นพระราชอำนาจส่วนพระองค์ที่จะพระราชอภัยโทษหรือไม่  พิพากษายืนโทษจำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน ไม่รอลงอาญา 

.

จำเลยไม่มีทนายความในชั้นสอบสวน-ชั้นพิจารณา ก่อนศาลพิพากษาทันทีเมื่อรับสารภาพ ปี 2566

คดีนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับทราบข้อมูลภายหลังศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาแล้ว โดยคดีเป็นสำนวนของ บก.ปอท. ตรัณได้ถูกแจ้งข้อหาตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2565 เขาให้การรับสารภาพตามข้อกล่าวหา โดยไม่ได้มีทนายความร่วมในการสอบสวนด้วย

ก่อนเมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2566 พนักงานอัยการได้สั่งฟ้องคดีนี้ต่อศาล อัยการบรรยายฟ้องมีใจความสำคัญ ระบุว่า เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2564 จำเลยได้แสดงความคิดเห็นเป็นข้อความเข้าไปในโพสต์ที่มีการเผยแพร่ถ่ายทอดสดของเพจเฟซบุ๊กที่มีชื่อว่า “ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบันฯ” ซึ่งมีการตั้งค่าเป็นสาธารณะและบุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ 

โจทก์กล่าวหาว่าข้อความเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย โดยประการที่น่าจะทำให้รัชกาลที่ 10 ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของประชาชนชาวไทย เสื่อมศรัทธาไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้ และเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญา ทั้งขอให้ริบของกลางเป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่

ในวันฟ้องคดีดังกล่าว ตรัณได้ให้การรับสารภาพตามฟ้อง โดยไม่ได้แต่งตั้งและปรึกษากับทนายความก่อน และศาลอาญาได้มีคำพิพากษาทันทีในวันนั้น โดยพิพากษาจำคุก 3 ปี ให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา

จากนั้น ญาติของตรัณได้ยื่นขอประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ และศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว โดยให้วางหลักทรัพย์ 1 แสนบาท

.

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำคุก 1 ปี 6 เดือน 

ต่อมา โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์คดีโดยขอให้ศาลสั่งริบของกลาง ซึ่งเป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลย ซึ่งอ้างว่าใช้ในการกระทำผิดด้วย ส่วนจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา ขอให้ศาลรอลงอาญา โดยจำเลยได้เดินทางไปถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ และพร้อมแก้อุทธรณ์ว่า โทรศัพท์ที่โจทก์ขอให้ริบเป็นของกลาง เป็นโทรศัพท์เครื่องใหม่ที่จำเลยเพิ่งซื้อมาหลังจากเกิดเหตุในคดีนี้ 

วันนี้ (1 เม.ย. 2568) ที่ห้องพิจารณาคดี 709 ตรัณได้เดินทางมาศาลพร้อมครอบครัว โดยศาลได้เรียกให้จำเลยลุกขึ้นรายงานตัว ก่อนจะเริ่มอ่านคำพิพากษาโดยสรุปว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จำคุก 3 ปี แต่จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษกึ่งหนึ่ง คงโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน

จำเลยอุทธรณ์ ขอให้รอการลงโทษ และได้เข้าถวายฎีกา ขอพระราชทานอภัยโทษต่อในหลวงรัชกาลที่ 10 ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้ออ้างของจำเลยไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ และการจะขอพระราชทานอภัยโทษก็เป็นพระราชอำนาจส่วนพระองค์ โทษที่ศาลชั้นต้นพิพากษา ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย พิพากษายืน

ส่วนในกรณีที่จำเลยอ้างว่าโทรศัพท์มือถือเป็นเครื่องใหม่ที่เพิ่งซื้อมาหลังเกิดเหตุในคดีนี้ ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่ได้ยกมาตั้งแต่ศาลชั้นต้น จึงไม่วินิจฉัยให้ 

ภายหลังที่มีการอ่านคำพิพากษา แม่ของตรัณร้องไห้ โดยศาลได้พูดกับแม่ของจำเลยว่า “แม่ไม่ต้องร้องไห้ ร้องไปก็ไม่มีประโยชน์ ให้ไปทำเรื่องขอประกันตัว” 

จากนั้น ครอบครัวของจำเลยได้ยื่นขอประกันตัวจำเลยในระหว่างฎีกา แต่ต่อมาในช่วงเย็น ศาลอาญาได้มีคำสั่งส่งคำร้องขอประกันตัวไปให้ศาลฎีกาวินิจฉัย ซึ่งต้องใช้เวลา 2-3 วัน ทำให้ตรัณต้องถูกนำตัวไปคุมขังรอคำสั่งที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ต่อไป

.

* เพิ่มเติมข้อมูล

วันที่ 4 เม.ย. 2568 ศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวตรัณในระหว่างฎีกา ระบุคำสั่งว่า พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดี ประกอบกับจำเลยให้การรับสารภาพ และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้ลงโทษจำคุกจำเลย มีกำหนด 1 ปี 6 เดือน หากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจำเลยอาจจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างฎีกา

.


X