เสกสิทธิ์ แย้มสงวนศักดิ์
.
‘การอดอาหารประท้วง’ (Hunger Strike) เป็นหนึ่งในรูปแบบการต่อต้านที่มีศักยภาพในการดึงดูดความสนใจของสาธารณชน ไม่เพียงแต่ในแง่ของการติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับข้อเรียกร้องของการประท้วง แต่ยังรวมไปถึงการกระตุ้นให้เกิดการแสดงความคิดเห็น การวิพากษ์วิจารณ์ และการมีส่วนร่วมในข้อถกเถียงต่าง ๆ
การอดอาหารประท้วงที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าทั้งในและนอกเรือนจำ นำมาซึ่งความเห็นที่หลากหลายของสาธารณชนต่อการต่อต้านดังกล่าว ผู้คนบางส่วนอาจเห็นว่า — การอดอาหารประท้วงเป็นการทำร้ายตนเองอย่างไร้ประสิทธิภาพในสังคมไทย บ้างเข้าใจว่าเป็นเรื่องระหว่างผู้อดอาหารกับผู้ถูกเรียกร้องเท่านั้น บ้างเห็นว่าการอดอาหารที่ดื่มน้ำหวานไม่ใช่การอดอาหารประท้วง บ้างเชื่อว่าการอดอาหารเป็นวิธีการที่ใช้ได้แต่เฉพาะในรัฐประชาธิปไตยที่ให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน ขณะที่บางคนเห็นว่าเป็นเครื่องมือของกลุ่มคนที่มีแนวคิดสุดโต่งและไร้เหตุผล — อย่างไรก็ดี “สิ่งที่เราเข้าใจว่าเป็น” อาจจะไม่ใช่อย่างเดียวกับ “สิ่งที่การอดอาหารประท้วงเป็น”
ตลอดช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา สังคมไทยเผชิญกับเหตุการณ์การอดอาหารประท้วงบ่อยครั้ง นับตั้งแต่การอดอาหารประท้วงของผู้ต้องขังทางการเมืองในปี 2564 เรื่อยมากระทั่งการอดอาหารประท้วงในปัจจุบัน ส่งผลให้การประท้วงประเภทนี้กลายเป็นการต่อต้านที่ถูกรู้จัก กล่าวถึง และถกเถียงอย่างกว้างขวาง อย่างไรก็ดี แม้สังคมไทยจะ “รู้จัก” การอดอาหารประท้วงมากขึ้น แต่ดูเหมือนสังคมไทยจะยังคง “ไม่สนิท” นักกับการอดอาหารประท้วง เมื่อเปรียบเทียบกับสิ่งที่พวกเรารู้เกี่ยวกับการอดอาหารประท้วง
ผู้เขียนเห็นว่า คงจะดีไม่น้อย หากเราพยายามที่จะ “สนิท” กับการอดอาหารประท้วงมากขึ้นอีกสักนิด ด้วยการลองเข้าใจการอดอาหารประท้วงให้ไกลไปกว่าความเข้าใจดั้งเดิมของเรา ผ่านการลดช่องว่างระหว่าง ‘สิ่งที่เราเข้าใจว่าเป็น’ กับ ‘สิ่งที่การอดอาหารประท้วงเป็น’ ให้แคบลง เพื่อให้เราสามารถเข้าใจผู้อดอาหารและการประท้วงเหล่านี้ได้มากยิ่งขึ้น
.
.
1. ผู้คนบางส่วนอาจมีความเห็นว่า “การอดอาหารประท้วง คือการต่อต้านที่ต้องไม่ทานอะไรเลยนอกจากน้ำเปล่าเท่านั้น”
แม้คำว่า ‘การอดอาหารประท้วง’ จะมีความหมายตามศัพท์ในภาษาไทยที่ชวนให้เข้าใจว่าหมายถึง การไม่ทานอาหารอะไรเลยเพื่อการประท้วง อย่างไรก็ดี การเข้าใจความหมายของการอดอาหารประท้วงเช่นนี้ อาจทำให้เราละเลยนัยยะที่กว้างขวางออกไปของการต่อต้านดังกล่าว
การอดอาหารประท้วง เป็นคำที่แปลมาจากภาษาอังกฤษว่า ‘Hunger Strike’ ซึ่งมีนัยความหมายที่ยืดหยุ่นกว่า เรื่องของการอดเฉพาะ “อาหาร” คำว่า hunger มีรากศัพท์จากภาษาอังกฤษดั้งเดิม ว่า hungor หรือ hungr จาก ภาษาเจอร์แมนิกตะวันตกดั้งเดิม (Proto-West Germanic) ซึ่งหมายถึง “ความรู้สึกหิวโหย” ขณะที่คำว่า strike มาจากภาษาอังกฤษดั้งเดิมว่า strican ที่หมายถึง “การโจมตี” ในแง่นี้คำว่า Hunger Strike จึงมีนัยความหมายที่มุ่งไปที่การนำความหิวโหยหรือความทรุดโทรมจากความหิวโหยมาใช้เป็นเครื่องมือในการประท้วง หรืออาจเรียกได้ว่าเป็น “การประท้วงด้วยความหิวโหย” มากกว่าจะจำกัดเพียง “การอดอาหารประท้วง” อย่างที่สังคมไทยเข้าใจ
ทั้งนี้ เนื่องจากการทำให้ร่างกายทรุดโทรมลงด้วยความหิวโหยสามารถเกิดขึ้นได้มากกว่าหนึ่งวิธี จึงมีการจำแนกประเภทของ Hunger Strike ออกได้เป็น 3 ประเภทตามลักษณะสิ่งที่ผู้ประท้วงปฏิเสธที่จะไม่นำเข้าสู่ร่างกายโดยสมัครใจ (Reyes, Allen & Annas, 2013) ได้แก่
1. การอดน้ำประท้วง หรือ การอดอาหารประท้วงอย่างหิวกระหาย (Dry Hunger Strike/Fasting) หมายถึง การประท้วงที่ผู้ประท้วงจะไม่นำอะไรเลยเข้าสู่ระบบทางเดินอาหาร แม้แต่สารอาหารเหลว หรือน้ำเปล่า (liquids) ด้วยความสมัครใจ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ฝ่ายที่ถูกเรียกร้องให้ยอมปฏิบัติตามข้อเรียกร้อง
2. การอดอาหารทั้งหมดประท้วง (Total Hunger Strike) หมายถึง การไม่ทานอาหาร (solid foods) หรือสารอาหารใด ๆ ที่ให้พลังงานแก่ร่างกาย โดยจะรับประทานเพียงเครื่องดื่มที่อาจมีหรือไม่มีเกลือแร่ก็ได้ เช่น น้ำเปล่า หรือน้ำผสมวิตามิน ด้วยความสมัครใจ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ฝ่ายที่ถูกเรียกร้องให้ยอมปฏิบัติตามข้อเรียกร้อง
3. การอดอาหารบางส่วนประท้วง (Non-Total Hunger Strike) หมายถึง การอดอาหารประเภทอื่นนอกเหนือจาก 2 ประเภทข้างต้น โดยอาจมีการดื่มน้ำหรือทานอาหารเหลวที่ให้พลังงานบ้าง เช่น นม น้ำหวาน รวมถึงอาหารแข็งบางประเภท เช่น เนย น้ำตาล เป็นต้น ด้วยความสมัครใจ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ฝ่ายที่ถูกเรียกร้องให้ยอมปฏิบัติตามข้อเรียกร้อง
ทั้งนี้ แม้ว่า Hunger Strike จะถูกเรียกในภาษาไทยว่า การอดอาหารประท้วง ซึ่งชวนให้เข้าใจว่า ผู้ประท้วงส่วนใหญ่จะต้องเป็นผู้ที่อดอาหารทั้งหมดประท้วง (Total Hunger Strike) ทว่าในความเป็นจริง ประเภทของการอดอาหารที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายที่สุดในบรรดาการอดอาหารประท้วงทั่วโลกและแม้แต่ในสังคมไทย คือ การอดอาหารบางส่วนประท้วง (Non-Total Hunger Strike) เนื่องจากเป็นการอดอาหารประท้วงที่มีความยืดหยุ่นตามบริบท และถูกมองว่ามีระยะเวลายาวนานเพียงพอที่จะทำให้รัฐหันมาให้ความสนใจและตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของผู้ประท้วง ขณะที่รูปแบบการประท้วงที่พบได้น้อยที่สุดคือ การอดน้ำประท้วง (Dry Hunger Strike/Fasting) เนื่องจากผู้ประท้วงมีแนวโน้มจะเสียชีวิตอย่างรวดเร็วกว่าที่การตอบสนองจะมาถึง
นอกจากนี้ เรื่องการสิ้นสุดของการอดอาหารประท้วง ผู้คนบางส่วนในสังคมไทยอาจเทียบเคียงการอดอาหารประท้วงกับมุมมอง ‘การถือศีล’ ทางศาสนา ที่ผู้ถือศีลจะสมาทานศีลและงดเว้นการทานอาหารในบางช่วงเวลา แล้วจึงมีความเข้าใจต่อไปว่า การอดอาหารประท้วงจะสิ้นสุดทันที หากผู้ประท้วงทานอาหารใด ๆ เข้าไป คล้ายกับมุมเรื่อง ‘การศีลขาด’
อย่างไรก็ดี ในความเป็นจริง การอดอาหารประท้วง วางอยู่บนฐานคิดคนละแบบกับการถือศีล มุมมองของการอดอาหารประท้วง วางอยู่บนการพยายามทำให้ร่างกายทรุดโทรมลงเพื่อวัตถุประสงค์ในการกดดันเรียกร้อง สาระสำคัญจึงอยู่ที่ความทรุดโทรมลงของร่างกาย การได้รับสารอาหารบ้างเพียงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับระดับความต้องการของร่างกายในการใช้ชีวิตปกติ ไม่อาจทำให้ผู้อดอาหารกลับมาสมบูรณ์ หรือหยุดกระบวนการความทรุดโทรมลงของร่างกาย เหตุนี้ ตราบใดที่ความทรุดโทรมของร่างกายผู้ประท้วงยังคงดำเนินต่อไป การประท้วงก็จะยังคงดำเนินต่อไป
.
กิเยร์โม ฟาริญาส อดอาหารประท้วงรัฐบาลคิวบา ให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองและปรับปรุงการดูแลเรือนจำ (ภาพจาก breitbart)
.
2. ผู้คนบางส่วนอาจมีความเห็นว่า “การอดอาหารประท้วงใช้ได้ผลแต่เฉพาะในรัฐประชาธิปไตยที่เห็นคุณค่าสิทธิมนุษยชนเท่านั้น”
เนื่องจากการอดอาหารประท้วงเป็นการต่อต้านที่หันความทุกข์ทรมานเข้าสู่ตนเอง แทนที่จะเป็นฝ่ายตรงข้าม ผู้คนบางส่วนจึงเข้าใจว่า การอดอาหารประท้วงจะสำเร็จเป็นไปได้ก็ต่อเมื่ออาศัยคุณสมบัติที่ ‘ดี’ บางประการของฝ่ายที่ถูกเรียกร้อง เช่น การเป็น ‘รัฐอารยะ’ หรือ ‘รัฐประชาธิปไตย’ ที่เห็นคุณค่าสิทธิมนุษยชน หาไม่แล้วการอดอาหารประท้วงก็ไม่ต่างจากการเอาชีวิตไปทิ้งเปล่า ๆ เพราะคงจะหาคุณสมบัติ ‘ดี’ จากรัฐเผด็จการ เป็นไม่ได้
อย่างไรก็ดี ในความเป็นจริง การอดอาหารประท้วงสามารถนำไปสู่การบรรลุข้อเรียกร้องได้ทั้งในรัฐประชาธิปไตยและในรัฐเผด็จการ จากงานศึกษาเชิงปริมาณร่วมสมัย อย่าง Achieving justice by starvation: a quantitative analysis of hunger strike outcomes โดย Magne Hagesæter ให้ข้อยืนยันที่น่าสนใจแก่เราว่า เงื่อนไขอย่างการเป็นรัฐประชาธิปไตยไม่ได้ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อความสำเร็จของการอดอาหารประท้วง แต่ดูจะเป็นในทางตรงกันข้าม (Hagesæter, 2014)
ทั้งนี้ตลอดประวัติศาสตร์การต่อต้าน การอดอาหารประท้วงถูกใช้ในบริบทที่หลากหลาย ตั้งแต่การอดอาหารประท้วงในรัฐประชาธิปไตย ไปจนถึงรัฐเผด็จการครึ่งใบ รัฐอาณานิคม รัฐเผด็จการทหาร หรือกระทั่งรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มีตัวอย่างจำนวนมากที่ยืนยันแก่เราว่า การอดอาหารประท้วงในรัฐที่ไม่เป็นประชาธิปไตย อาจสามารถนำไปสู่การบรรลุข้อเรียกร้องได้ เช่น
- การประท้วงอดอาหารในคิวบา ปี 2010 โดย กิเยร์โม ฟาริญาส (Guillermo Farinas) เริ่มการอดอาหารประท้วงโดยเรียกร้องให้รัฐบาลเผด็จการคอมมิวนิสต์ปล่อยตัวนักโทษการเมืองที่ล้มป่วยและปรับปรุงการดูแลทางการแพทย์ในเรือนจำ กลุ่มต่อต้านคอมมิวนิสต์ได้จัดการประท้วงสนับสนุนในหลายประเทศ โดยเฉพาะในยุโรปตะวันออก กลุ่ม “สตรีชุดขาว” (Ladies in White) ซึ่งเป็นภรรยาและญาติของนักโทษการเมือง ได้ร่วมกันเดินขบวนประท้วงทุกวันอาทิตย์ รวมไปถึงการออกมาแสดงท่าทีของโบสถ์คาทอลิก ต่อมารัฐบาลได้ตกลงที่จะย้ายนักโทษการเมืองไปยังเรือนจำที่ใกล้ครอบครัวของพวกเขามากขึ้นและให้การดูแลทางการแพทย์ที่ดีขึ้น กระทั่งในที่สุดรัฐบาลได้ตกลงปล่อยตัวนักโทษ 52 คน รวมถึงผู้ป่วยที่ฟาริญาสเรียกร้อง ทำให้เขายุติการอดอาหาร ถือเป็นชัยชนะของผู้อดอาหารประท้วงต่อรัฐบาลคิวบา (Irwin, 2015)
- การประท้วงอดอาหารในกัมพูชา ปี 2012 นักเคลื่อนไหวหญิง 4 คนจากชุมชน Boeung Kak Lake ได้เริ่มอดอาหารประท้วงขณะถูกคุมขังในเรือนจำ พวกเธอเรียกร้องความยุติธรรมหลังถูกศาลตัดสินจำคุกด้วยข้อหายุยงปลุกปั่น การอดอาหารประท้วงมีผู้เข้าร่วมเพิ่มเป็น 6 คน และได้ส่งผลกระตุ้นสาธารณชนและองค์กรต่าง ๆ ได้ออกมาเรียกร้องเพื่อผู้ถูกจับกุม มีการชุมนุมของสมาชิกในครอบครัวและผู้สนับสนุน โดยใช้สัญลักษณ์ ผ้าพันคอสีน้ำเงินและดอกบัวบาน ในการเรียกร้อง มีการเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงสถานทูต 22 แห่ง ให้ส่งผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมการพิจารณาชั้นอุทธรณ์ ท้ายที่สุด หลังการพิจารณาคดี นักเคลื่อนไหว 13 คนได้รับการปล่อยตัวในที่สุด (Evens, 2012)
- การอดอาหารประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในยูเครน ปี 1990 นักศึกษาชาวยูเครนผู้รักเสรีภาพประมาณ 150-200 คน เข้าร่วมอดอาหารประท้วง เพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี มาซอล (Prime Minister Masol) ลาออก เปิดทางสู่การเลือกตั้งและขจัดอิทธิพลของสหภาพโซเวียตออกจากประเทศ การอดอาหารประท้วงเริ่มต้น ณ จัตุรัสอิสรภาพ ใจกลางกรุงเคียฟ ท่ามกลางผู้สนับสนุนที่ค่อย ๆ เพิ่มขึ้นกว่า 50,000 คน ก่อนจะขยายไปสู่การชุมนุมหน้ารัฐสภาและยึดอาคารมหาวิทยาลัย กระทั่งการเข้าร่วมสนับสนุนของคนงานจากโรงงานอาร์เซนอลในเคียฟซึ่งเคยเป็นสัญลักษณ์ของฝ่ายบอลเชวิก ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ ส่งผลให้ในที่สุดนายกรัฐมนตรีมาซอลได้ลาออกจากตำแหน่ง เปิดทางให้มีการเลือกตั้งแบบหลายพรรค นับเป็นชัยชนะที่สำคัญของการอดอาหารประท้วงที่เปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์ยูเครนมาจนถึงปัจจุบัน (Yein, 2012)
ในแง่นี้ แม้รัฐเผด็จการอาจไม่ใช่รัฐที่คำนึงถึงคุณค่าสิทธิมนุษยชนหรือสวัสดิภาพของผู้อดอาหารดังเช่นรัฐประชาธิปไตย แต่การอดอาหารประท้วงในรัฐเผด็จการอาจยังคงเป็นไปได้ บนฐานคิดจากการชั่งน้ำหนักผลได้ผลเสีย โดยคิดคำนึงถึงผลตีกลับที่ไม่พึงปรารถนาจากโทสะทางศีลธรรมและความเห็นอกเห็นใจของสาธารณชน ในกรณีที่ผู้อดอาหารประท้วงเข้าสู่สภาวะวิกฤตหรือเสียชีวิต การชั่งน้ำหนักดังกล่าวส่งผลให้บ่อยครั้งรัฐเผด็จการเลือกที่จะยอมประนีประนอมหรือยอมตอบสนองข้อเรียกร้องบางส่วนของผู้อดอาหารประท้วง ดีกว่าที่จะเสี่ยงเผชิญหน้ากับความโกรธแค้นลุกฮือของสาธารณชน ซึ่งในบางกรณีอาจจุดชนวนให้เกิดความไม่สงบภายในประเทศ และการโต้กลับของประเทศอารยะผู้เห็นอกเห็นใจและเคียงข้างผู้อดอาหารประท้วง (เสกสิทธิ์, 2567)
เหตุนี้การอดอาหารประท้วงจึงไม่ใช่เพียงการต่อต้านที่ใช้ได้ผลแต่เฉพาะใน ‘รัฐอารยะ’ หรือ ‘รัฐประชาธิปไตย’ เท่านั้น แต่ก็สามารถเป็นเครื่องมือที่สร้างแรงกดดันอันทรงพลัง แม้แต่ในรัฐที่ปกครองด้วยระบอบเผด็จการ
.
ภาพผู้ประท้วงแสดงออกเป็นผู้ถูกคุมขังซึ่งอดอาหารประท้วงในเรือนจำกวนตานาโมของสหรัฐฯ (ภาพจาก The Conversation)
.
3. ผู้คนบางส่วนอาจมีความเห็นว่า “การอดอาหารประท้วงเป็นการต่อต้านของพวกสุดโต่งไม่มีเหตุมีผล”
การอดอาหารประท้วงเป็นการต่อต้านที่แปลกประหลาด ผู้ประท้วงได้พยายามใช้ชีวิตของตนเพื่อแลกกับสิ่งที่พวกเขาปรารถนา ขณะที่เป็นที่ทราบกันดีว่า ย่อมไม่มีผลประโยชน์ใดที่จะตกแก่ผู้ที่ปราศจากชีวิตไปแล้ว เหตุนี้การอดอาหารประท้วง จึงมักถูกมองว่าเป็นการต่อต้านของพวกที่ไม่มีเหตุผล เนื่องจากสิ่งที่พวกเขาจะได้ ย่อมไม่คุ้มกับสิ่งที่จะเสียไป ยิ่งไปกว่านั้นผู้อดอาหารประท้วงมักมีภาพลักษณ์ที่จัดว่าเป็นพวก ‘แปลก ๆ’ ในสายตาสาธารณชนส่วนใหญ่ เพราะเห็นว่าพวกเขาเรียกร้องในสิ่งที่เป็นอุดมคติ หรือกระทั่งเรียกร้องในสิ่งที่ผู้คนจำนวนมากเห็นว่าเป็นไปไม่ได้ การกระทำของพวกเขาจึงมักถูกพิจารณาในฐานะที่ไม่ต่างกับการเอาศีรษะไปเขยื้อนก้อนหิน ซึ่งคงจะมีแต่พวกสุดโต่งไม่มีเหตุมีผลเท่านั้น ที่จะทำอะไรเช่นนั้น
อย่างไรก็ดี ผู้เขียนอยากจะชวนให้ผู้อ่านจินตนาการถึงสถานการณ์ของผู้อดอาหารประท้วง ผ่านสถานการณ์ของ มุนดาห์ ฮาบิ (Mundah Habib) อดีตผู้ต้องขังจากเรือนจำกวนตานาโม เขาถูกพาตัวมาจากดินแดนแสนไกล ไม่สามารถติดต่อครอบครัว ไม่สามารถเข้าถึงทนาย ไม่สามารถสู้คดีในชั้นศาล อยู่ในสถานที่คุมขังที่ไม่รู้แน่ชัดว่าอยู่จุดไหนของโลก ไม่ทราบว่าตัวเองถูกคุมขังด้วยข้อหาอะไร และจะถูกขังเช่นนี้ไปอีกนานเท่าไหร่ ในทุก ๆ วัน มุนดาห์ ถูกปฏิบัติในฐานะนักโทษแม้จะยังไม่ถูกตัดสิน เขาถูกห้ามไม่ให้ปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนา ถูกห้ามไม่ให้มีปฏิสัมพันธ์กับนักโทษคนอื่น ๆ และบางครั้งถูกใช้ความรุนแรงโดยเจ้าหน้าที่เรือนจำ มุนดาห์ และเพื่อนพยายามหาทางเจรจาและใช้วิธีต่าง ๆ เพื่อเรียกร้องเพียงในสิ่งพื้นฐานที่ผู้ถูกคุมขังสมควรจะได้รับ เช่น การเข้าถึงทนาย การติดต่อครอบครัว การปฎิบัติกิจทางศาสนา หรือแม้แต่การได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่สุดท้าย แม้ว่าพวกเขาจะพยายามอย่างไร มันก็ไม่เป็นผล ผู้คุมและผู้มีอำนาจไม่สนใจพวกเขา ถ้าผู้อ่านเป็นมุนดาห์ ในสถานการณ์เช่นนี้ ตัวผู้อ่านจะทำอย่างไร ?
นี่คือสถานการณ์ที่การพิจารณาตัวเลือกอย่างการอดอาหารประท้วงส่วนใหญ่ได้เริ่มต้นขึ้น การอดอาหารประท้วงกว่า 7 ใน 10 ทั่วโลก เกิดขึ้นในพื้นที่คุมขังเช่นเรือนจำ (Scanlan, 2008 pp.297) ซึ่งแน่นอนว่ามันเป็นพื้นที่ที่การควบคุมเกิดขึ้นอย่างเข้มงวด ผู้ประท้วงที่รู้สึกถึงความอยุติธรรมไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ที่สามารถเดินขบวน จัดเวทีปราศรัย ยื่นหนังสือถึงรัฐสภา หรือแม้แต่จะสื่อสารความคับข้องใจของพวกเขาออกไปได้ ผู้ประท้วงเหลือทางเลือกอื่นที่เป็นไปได้ไม่มากนัก นอกจากร่างกายและชีวิต ซึ่งเป็นเครื่องมือที่มีพลังในการคัดง้างเพียงไม่กี่อย่างที่พวกเขามี
ในสถานการณ์ของมุนดาห์ การอดอาหารประท้วงถูกพิจารณาในฐานะวิธีเดียวที่จะ “ส่งสารไปยังสาธารณชนภายนอกเพื่อให้ทราบว่าที่นี่กำลังเกิดอะไรขึ้น” (Orzeck, 2013 pp.42) ในแง่นี้ การอดอาหารประท้วงจึงถือได้ว่า เป็นการต่อต้านที่มักเกิดขึ้นในสถานการณ์ที่ความเป็นไปได้อื่น ๆ ถูกจำกัด และมักถูกพิจารณาในฐานะทางเลือกท้าย ๆ ที่เป็นไปได้ รามี บาร์กูตี (Rami Barghuti) ซึ่งอดอาหารประท้วงในเรือนจำอิสราเอล กล่าวว่า “การอดอาหารเป็นทางเลือกสุดท้ายและทางเลือกเดียวของเรา แม้จะนำไปสู่ความตายก็ตาม” (APF, 2014)
ดังนั้น คงไม่เป็นธรรมนักหากเราจะพิจารณาการตัดสินใจของผู้อดอาหารประท้วงจากสถานการณ์ปกติของเรา ซึ่งสามารถเข้าถึงโอกาสความเป็นไปได้มากกว่า และเผชิญกับสภาพอยุติธรรมน้อยกว่าสถานการณ์ที่ผู้ตัดสินใจอดอาหารประท้วงกำลังเผชิญ
ยิ่งไปกว่านั้น ข้อเรียกร้องของบรรดาผู้อดอาหารประท้วงส่วนใหญ่ไม่ใช่ข้อเรียกร้องยิ่งใหญ่ระดับการเอาศีรษะไปเขยื้อนภูเขาอะไร ย้อนกลับไปที่เรื่องราวของมุนดาห์ และผู้อดอาหารประท้วงอื่น ๆ ทั่วโลก สิ่งที่พวกเขาส่วนใหญ่เรียกร้องเพียงแค่สิทธิพื้นฐาน อย่างสิทธิการเข้าถึงทนาย การได้รับการรักษาความเจ็บป่วย การได้ปฏิบัติกิจทางศาสนา การได้รับการพิจารณาในศาลที่เป็นธรรม หรือกระทั่งการได้รับการประกันตัว เช่นกรณีที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย
ในความเป็นจริงประเด็นที่ถูกเรียกร้องของการอดอารหารประท้วงส่วนใหญ่กว่า 47% เป็นการเรียกร้องที่เกี่ยวกับประเด็นนักโทษและความยุติธรรมพื้นฐาน (Scanlan, 2008 pp.296) ดังนั้นข้อเรียกร้องของพวกเขา จึงไม่ใช่การเรียกร้องในสิ่งที่ยากจะเป็นไปได้ อย่างการเอาศีรษะไปเขยื้อนก้อนหิน แต่คือการเรียกร้องในสิ่งพื้นฐานที่รัฐจำนวนมากสามารถให้ได้เลย ดังนั้นหากพิจารณาอย่างเป็นธรรม การเลือกของรัฐที่จะไม่ยอมให้ในสิ่งที่ผู้ประท้วงต้องการ จนนำพวกเขามาสู่สถานการณ์ที่เหลือเพียงการเอาชีวิตเข้าแลกกับการเชิญกับสภาวะอยุติธรรมต่อไป จึงดูจะเป็นสิ่งที่ไม่สมเหตุสมผลยิ่งกว่า เมื่อพิจารณาผ่านมุมมองของรัฐที่มีความสามารถมากกว่าที่จะให้ในสิ่งที่ผู้อดอาหารประท้วงปรารถนา
.
.
4. ผู้คนบางส่วนอาจมีความเห็นว่า “การอดอาหารประท้วงเป็นเรื่องระหว่างตัวผู้อดอาหารกับผู้ถูกเรียกร้องเท่านั้น”
เราอาจเข้าใจว่าการอดอาหารประท้วงเป็นเพียงเรื่องระหว่างตัวผู้อดอาหารกับผู้ถูกเรียกร้องในรูปแบบของปฎิสัมพันธ์ไปมา 2 ฝ่าย ผู้อดอารหารประท้วงเป็นผู้ยื่นข้อเรียกร้อง ขณะที่ผู้มีอำนาจ รัฐบาล ตุลาการ หรือเจ้าหน้าที่เรือนจำ เป็นฝ่ายเลือกที่จะตอบสนองในฐานะผู้ถูกเรียกร้อง ทว่าในความเป็นจริง การอดอาหารประท้วงเป็นการเมืองของความตื่นตา (spectacular politics) มันมีศักยภาพอย่างมากในการดึงดูดความสนใจของผู้ชม หากการอดอาหารประท้วงเกิดขึ้นในพื้นที่ปิด ผู้คุม แพทย์ และบรรดาผู้ต้องขังคนอื่น ๆ ก็เป็นผู้ชมของพวกเขา หรือหากเรื่องราวการอดอาหารประท้วงถูกเผยเเพร่ออกไปสู่สาธารณะ ผู้คนในสังคม สื่อมวลชน และองค์กรระหว่างประเทศ ก็เป็นผู้ชมของพวกเขา
ในแง่นี้ การอดอาหารประท้วงจึงเป็นการต่อต้านที่แทบจะไม่เคยปราศจากผู้สังเกตการณ์ ทั้งตัวผู้อดอาหารประท้วงและผู้ถูกเรียกร้องต่างตระหนักดีว่า ทุกการตัดสินใจใด ๆ ของพวกเขาจะถูกตัดสิน สนับสนุน ตอบโต้ และวิพากษ์วิจารณ์ไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง เหตุนี้เราจึงสามารถกล่าวได้ว่า การอดอาหารประท้วงเป็นปฏิสัมพันธ์สามฝ่าย ระหว่างผู้อดอาหารประท้วง ผู้ถูกเรียกร้อง และผู้สังเกตการณ์
ในด้านของผู้มีอำนาจตัดสินใจ พวกเขาตระหนักดีว่าตนเองไม่ได้ดำรงอยู่ท่ามกลางสุญญากาศ การตัดสินใจของพวกเขาจึงวางอยู่บนการประเมินท่าทีของสังคมต่อฉากทัศน์การตัดสินใจต่าง ๆ ควบคู่กับการประเมินท่าทีความแน่วแน่ของตัวผู้อดอาหารประท้วง
หากผู้มีอำนาจตัดสินใจประเมินว่า การปล่อยให้ผู้อดอาหารประท้วงเสียชีวิต หรือเข้าแทรกแซงการอดอาหารผ่านวิธีที่รุนแรง มีความเป็นไปได้สูงที่จะไปกระตุ้นการเคลื่อนไหวทางสังคมจากโทสะทางศีลธรรมและความเห็นอกเห็นใจในหมู่ผู้คนในสังคม หรืออาจถูกประณามจากอารยประเทศ พวกเขาย่อมพยายามหลีกเลี่ยงผลดังกล่าว และเลือกที่จะยอมประนีประนอมต่อข้อเรียกร้องดีกว่าที่จะยอมเสี่ยงกับผลที่ไม่พึงปรารถนา แต่ในทางกลับกัน หากผู้มีอำนาจประเมินแล้วว่า การใช้ความรุนแรงเพื่อยุติการอดอาหาร หรือกระทั่งการปล่อยให้ผู้อดอาหารเสียชีวิตโดยนิ่งเฉย จะ ‘ไม่’ นำไปสู่การลุกฮือในหมู่ผู้สนับสนุนและฝ่ายที่ 3 กระทั่งไม่สนใจต่อการถูกประณามจากอารยประเทศ พวกเขาย่อมมีแนวโน้มจะปฏิเสธการประนีประนอม และปล่อยให้ผู้อดอาหารประท้วงเป็นไปตามยถากรรม (เสกสิทธิ์, 2567)
ขณะเดียวกัน ในด้านของผู้อดอาหารประท้วง พวกเขาตระหนักดีเช่นกันว่าการตัดสินใจของพวกเขาไม่อาจหลีกเลี่ยงจากการถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสาธารณชน การอดอาหารประท้วงมีลักษณะเป็นการต่อต้านเชิงข่มขู่ที่วางอยู่บนเงื่อนไขว่าผู้ประท้วงจะอดอาหารจนกว่าจะได้รับการตอบสนองหรือไม่ก็เสียชีวิตลง หัวใจที่สำคัญจึงเป็นเรื่องของการยืนยันความน่าเชื่อถือ การแสดงออกซึ่งความมุ่งมั่น ซื่อสัตย์ และความตรงไปตรงมาในสายตาของผู้ถูกเรียกร้องและสาธารณชนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การข่มขู่ยังคงทรงพลัง
ด้วยเหตุนี้ การอดอาหารประท้วงจึงถือได้ว่าเป็นการประท้วงที่มีลักษณะคล้ายการเผาสะพานที่ยากจะย้อนกลับ (burning bridges) คือยิ่งการอดอาหารประท้วงเกิดขึ้นนานเท่าใด แต่หากยังไม่ได้รับการตอบสนอง ผู้ประท้วงมักจะต้องพยายามยืนยันความน่าเชื่อถือให้หนักแน่นขึ้นว่าการอดอาหารจะยังคงดำเนินต่อไป ซึ่งจะส่งผลเป็นการผูกมัดให้การยุติการประท้วงยากลำบากยิ่งขึ้น เนื่องจากการคำนึงถึงการเสียหน้าและความน่าเชื่อถือในสายตาของผู้ถูกเรียกร้องและฝ่ายผู้สนับสนุน (Siméant & Christophe, 2016 pp.80) ในแง่นี้ การตัดสินใจยุติการอดอาหารประท้วงจึงเป็นการตัดสินใจที่ยากลำบาก การประเมินท่าทีของสาธารณชน ว่าพวกเขาจะมีปฏิกิริยาอย่างไร โดยเฉพาะฝ่ายที่ผู้อดอาหารประท้วงให้คุณค่า จึงสำคัญอย่างมากต่อการเลือกที่จะอดอาหารประท้วงต่อไป หรือยุติการอดอาหารประท้วงลง
เราย่อมเห็นได้ว่า ผลลัพธ์ของการอดอาหารประท้วงไม่ใช่เพียงเรื่องที่เกิดขึ้นจากปฏิสัมพันธ์ 2 ฝ่าย ระหว่างผู้อดอาหารประท้วงกับผู้ถูกเรียกร้อง ดังที่ผู้คนบางส่วนในสังคมเข้าใจ ฝ่ายสาธารณชนผู้สังเกตการณ์ เป็นฝ่ายที่มีความสำคัญอย่างมากในการส่งผลกำหนดความเป็นไปได้ต่าง ๆ ของการอดอาหารประท้วง ตั้งแต่ความสำเร็จ ความล้มเหลว การถูกใช้กำลัง การอดอาหารต่อ หรือแม้กระทั่งหนทางในการยุติลงของการอดอาหารประท้วง
.
.
5. ผู้คนบางส่วนอาจมีความเห็นว่า “การอดอาหารประท้วงไม่เคยสำเร็จได้จริงในสังคมไทย”
ขณะที่การอดอาหารประท้วงเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าในสังคมไทยต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 5 ปี ท่าทีของฝ่ายผู้มีอำนาจกลับดูไม่อินังขังขอบต่อการแก้ปัญหาคดีการเมืองเท่าใดนัก ไม่น่าแปลกใจที่ผู้คนบางส่วนในสังคมจะมีความเห็นว่า การอดอาหารประท้วงเป็นการต่อต้านที่ไม่อาจได้ผลจริงในได้สังคมไทย อย่างไรก็ดี การพิจารณาเพียงท่าทีของรัฐบาล อาจไม่ใช่ข้อยืนยันว่าการอดอาหารประท้วงในสังคมไทยไม่ได้ผล หนึ่งในการประเมินความได้ผลของยุทธวิธีการเคลื่อนไหวเรียกร้อง คือการพิจารณาความสำเร็จ-ล้มเหลวของมันบนการประเมินการบรรลุข้อเรียกร้องที่บรรดาผู้ประท้วงเสนอ
ทั้งนี้การอดอาหารประท้วงที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2564 เป็นการอดอาหารประท้วงภายใต้สถานการณ์การถูกคุมขังของบรรดานักเคลื่อนไหวทางการเมือง การอดอาหารประท้วงที่เกิดขึ้นจึงมีลักษณะเป็นปฏิกิริยาโดยตรงต่อการกดขี่ปราบปรามโดยกระบวนการทางกฎหมาย (judicial repression) ข้อเรียกร้องส่วนใหญ่ของการอดอาหารประท้วงได้มุ่งเน้นไปที่ประเด็นเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมที่พวกเขากำลังเผชิญเป็นหลัก โดยตั้งแต่ปี 2564 – 2567 มีผู้อดอาหารรวมทั้งสิ้นอย่างน้อย 18 คน และมีการอดอาหารเกิดขึ้นอย่างน้อย 23 ครั้ง (ilaw, 2568) ทั้งนี้ ข้อเรียกร้องที่ถูกหยิบยกขึ้นบ่อยที่สุด คือ การเรียกร้องสิทธิประกันตัว รองลงมา คือ การเรียกร้องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม การนิรโทษกรรม และการไม่เป็นคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ตามลำดับ
ทั้งนี้เมื่อเราพิจารณาผลลัพธ์ของการอดอาหารประท้วงตั้งแต่ปี 2564 นำโดยสมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม กระทั่งการอดอาหารประท้วงของทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และเนติพร เสน่ห์สังคม ในปี 2567 พบว่า การอดอาหารประท้วงสามารถนำไปสู่การได้รับการตอบสนองข้อเรียกร้องในบางระดับ โดยเฉพาะข้อเรียกร้องเรื่องสิทธิประกันตัว
กล่าวอีกอย่างได้ว่า การอดอาหารประท้วงเพื่อเรียกร้องในประเด็นที่ใกล้ตัวผู้อดอาหารอย่าง สิทธิประกันตัว มีเเนวโน้มสำเร็จสูงกว่า การเรียกร้องในประเด็นขนาดใหญ่ อย่างการออกกฎหมาย เช่น การออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม หรือประเด็นข้อเรียกร้องเชิงสถาบัน อย่างการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม หรือการไม่เป็นคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) สอดคล้องกับข้อสังเกตของ Julie Norman ที่ว่า การอดอาหารเพื่อเรียกร้องในประเด็นที่แคบและอยู่ในขอบเขตอำนาจตัดสินใจของผู้ถูกเรียกร้องโดยตรง จะเพิ่มโอกาสความเป็นไปได้ในการได้รับการตอบสนองมากกว่าการเรียกร้องในประเด็นที่กว้างขวาง (Norman 2022, 106) นอกจากนี้ข้อมูลจำนวนการอดอาหารประท้วงทั้งหมด 23 กรณี แต่ปี 2564 – 2567 ยังสะท้อนว่า กรณีการอดอาหารประท้วงที่ได้รับความสนใจสูง มักนำมาสู่การบรรลุข้อเรียกร้องอย่างการได้รับประกันตัวสูงกว่ากรณีที่ไม่ได้รับความสนใจ
จากข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อยืนยันว่า การอดอาหารประท้วงในสังคมไทยที่ผ่านมาเป็นเครื่องมือที่สามารถนำไปสู่การบรรลุข้อเรียกร้องได้ในบางระดับ โดยเฉพาะเมื่อถูกใช้ในกรณีที่ไม่ใช่ข้อเรียกร้องขนาดใหญ่ และเป็นการอดอาหารที่ได้รับความสนใจสนับสนุนจากสาธารณชน ไม่ใช่เครื่องมือที่ไม่เคยสำเร็จได้จริงเลยในสังคมไทย ดังที่ผู้คนบางส่วนเข้าใจ
.
ส่งท้าย
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาการอดอาหารประท้วงเป็นรูปแบบการต่อต้านที่เกิดค่อนข้างถี่ขึ้นในสังคมไทย ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ข้อเขียนข้างต้นจะช่วยลดช่องว่างระหว่าง “สิ่งที่เราเข้าใจว่าเป็น” กับ “สิ่งที่การอดอาหารประท้วงเป็น” เเละทำให้สังคมไทยรู้สึก “สนิท” กับการอดอาหารประท้วงมากขึ้น ผ่านการพูดถึงความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน 5 ประการ ต่อการอดอาหารประท้วงในสังคมไทย ได้เเก่ :
- การอดอาหารประท้วง คือการต่อต้านที่ต้องไม่ทานอะไรเลยนอกจากน้ำเปล่าเท่านั้น
- การอดอาหารประท้วงใช้ได้ผลแต่เฉพาะในรัฐประชาธิปไตยที่เห็นคุณค่าสิทธิมนุษยชน
- การอดอาหารประท้วงเป็นการต่อต้านของพวกสุดโต่งไม่มีเหตุมีผล
- การอดอาหารประท้วงเป็นเรื่องระหว่างตัวผู้อดอาหารกับผู้ถูกเรียกร้องเท่านั้น
- การอดอาหารประท้วงไม่เคยสำเร็จได้จริงในสังคมไทย
ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะช่วยให้สังคมไทยเข้าใจการอดอาหารประท้วงในแง่มุมที่กระจ่างชัดขึ้นกว่าความเข้าใจดั้งเดิมที่มีอยู่ แม้เราไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยหรือสนับสนุนการอดอาหารประท้วงในทุกกรณี แต่การเข้าใจการอดอาหารประท้วงอย่างที่มันเป็น อาจช่วยให้เราตระหนักถึงความสลับซับซ้อนของการอดอาหารประท้วง และเข้าใจสถานการณ์ที่ผู้ประท้วงกำลังเผชิญอยู่ได้ดียิ่งขึ้น
.
————————————-
.
อ้างอิงท้ายบทความ
เสกสิทธิ์ แย้มสงวนศักดิ์. (2567). พลังแห่งการอดอาหารประท้วง: การอดอาหารประท้วงทำงานอย่างไร?. ใน วารสารสังคมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 54(2): 400-24. https://doi.org/10.61462/cujss.v54i2.3313
APF. (2014). Palestinian prisoners say hunger strike ‘only choice’ เข้าถึงจาก https://www.astroawani.com/berita-dunia/palestinian-prisoners-say-hunger-strike-only-choice-38420
Evens, C. (2012). Cambodians win release of prisoners taken during nonviolent invasion to defend neighborhood, 2012. Global Nonviolent Action Database. https://nvdatabase.swarthmore.edu/content/cambodians-win-release-prisoners-taken-during-nonviolent-invasion-defend-neighborhood-2012
Irwin, J. (2015). Cuban hunger strike frees political prisoners – 2010. Global Nonviolent Action Database. https://nvdatabase.swarthmore.edu/content/cuban-hunger-strike-frees-political-prisoners-2010
llaw. (2025). สถิตินักโทษการเมือง “อดอาหาร” ปี ’64-‘68 รวม 19 คนเสียชีวิต 1 คน แนวโน้มอดอาหารยาวนานขึ้น. เข้าถึงจาก https://www.ilaw.or.th/articles/51092
Norman, J. M. (2021). Negotiating detention: The radical pragmatism of prison-based resistance in protracted conflicts. Security Dialogue, 53(2), 95-111. https://doi.org/10.1177/0967010620970521
Orzeck, R. (2013). Hunger Strike: The body as resource. In Body/State. edited by Cameron A, Dickenson J, Smith N, 31–50. London: Ashgate.
Pyo, Y. (2012). Ukrainian students hunger strike and protest against government, 1990. Global Nonviolent Action Database. https://nvdatabase.swarthmore.edu/content/ukrainian-students-hunger-strike-and-protest-against-government-1990-0
Reyes, H., Allen, S. A., & Annas, G. J. (2013). Physicians and hunger strikes in prison: Confrontation, manipulation, medicalization and medical ethics. World Medical Journal, 59(1), 27–36
Scanlan, S. J., Stoll, L. C., & Lumm, K. (2008). Starving for change: The hunger strike and nonviolent action, 1906–2004. In Research in social movements, conflicts and change. Emerald Group Publishing Limited.
Siméant, J., & Traïni, C. (2016). Bodies in Protest: Hunger Strikes and Angry Music. Amsterdam University Press. http://www.jstor.org/stable/j.ctv8pzd8d
.