ตร.ติดประกาศให้เลิกชุมนุมเที่ยงพรุ่งนี้ กลุ่มค้านโปแตชวานรฯ ยืนยันปักหลักต่อ

ตำรวจ สภ.วานรนิวาสนำประกาศให้เลิกชุมนุมสาธารณะไปติดไว้ในที่ชาวบ้านปักหลักคัดค้านการขนอุปกรณ์สำรวจโปแตชเข้าพื้นที่ ตัวแทนชาวบ้านชี้ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เป็นเครื่องมือนำไปสู่กระบวนการใช้ความรุนแรงกับชาวบ้าน

วันนี้ (14 พ.ค. 61) เวลาประมาณ 08.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจนำประกาศ “ให้เลิกชุมนุมสาธารณะ” ไปติดไว้ตรงทางเข้าหลุมขุดเจาะที่ 4 ซึ่งเครือข่ายชาวบ้านคัดค้านเหมืองแร่โปแตชอำเภอวานรนิวาส จ.สกลนคร ปักหลักคัดค้านการขนอุปกรณ์ขุดเจาะสำรวจโปแตช ของบริษัท ไซน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์เปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่โปแตช พื้นที่ประมาณ 120,000  ไร่ จากกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อปี พ.ศ.2558 ครอบคลุมพื้นที่ 6 ตำบลของอำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร และที่ผ่านมาบริษัทได้ดำเนินการขุดเจาะสำรวจไปแล้ว 3 หลุม ในเขต ต.วานรนิวาส

ประกาศให้เลิกการชุมนุมสาธารณะดังกล่าว ระบุว่า นายกิตติกร น้อยตาแสง และนางสาวสุดตา คำน้อย ได้จัดให้มีการชุมนุมสาธารณะ ที่ถนนรอบเมือง บริเวณสถานที่ที่จะทำการขุดเจาะสำรวจโปแตชแห่งที่ 4 หมู่ที่ 3 ต.วานรนิวาส อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร ในประกาศยังระบุอีกว่า การชุมนุมดังกล่าวเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากไม่เป็นไปตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 โดยผู้จัดการชุมนุมไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ถือเป็นการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ 9 พ.ค. 61 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน (14 พ.ค.61) อันเป็นความผิดตามมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองความสะดวกของประชาชน การดูแลการชุมนุมสาธารณะ และการรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน อาศัยอำนาจตามมาตรา 21(1) แห่ง พ.ร.บ.ชุมนุมฯ จึงให้ผู้ชุมนุมเลิกชุมนุมภายในเวลา 12.00 น. ของวันที่ 15 พ.ค. 61

ทั้งนี้ นางสุดตา ซึ่งเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้จัดการชุมนุม ให้ความเห็นต่อกรณีนี้ว่า ตนและกิตติกร ไม่ใช่ผู้จัดการชุมนุมตามที่เจ้าหน้าที่กล่าวหา เป็นเพียงชาวบ้านธรรมดาที่ออกมายืนยันคัดค้านการขุดเจาะสำรวจโปแตชตามสิทธิของประชาชนที่รัฐธรรมนูญได้รับรองไว้ อีกทั้งการคัดค้านก็เป็นไปโดยสงบ ไม่ได้ใช้เครื่องเสียงและปราศจากอาวุธ การที่ชาวบ้านออกมาเรียกร้องตามสิทธิของประชาชนที่มีแล้วเจ้าหน้าที่ใช้ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาเป็นเครื่องมือเอาผิดและปิดกั้นการชุมนุมนั้น ถือว่าเป็นกระบวนการเริ่มใช้ความรุนแรงชนิดหนึ่งกับประชาชน ทั้งที่ชาวบ้านเคยยื่นข้อเสนอให้กับภาครัฐแล้วเมื่อวันที่ 8 และ 9 พ.ค. 61 ที่ผ่านมาว่า 1) ให้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ของบริษัท และหากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสกลนครไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชน ขอให้ทำการสอบสวนทางวินัยเพื่อเอาผิดตามกฎหมาย 2) ให้ทบทวนและตรวจสอบหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการรังวัดกำหนดเขตคำขอตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ว่า พื้นที่ที่ยื่นคำขอเป็นพื้นที่ที่ห้ามยื่นขอตามกฎหมายว่าด้วยแร่หรือกฎหมายอื่นหรือไม่ เนื่องจากพื้นที่สำรวจโปแตชอยู่ใกล้กับพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำซับน้ำซึม  แต่รัฐไม่ได้ทำอะไร ถ้ารัฐทำตามข้อเสนอ ชาวบ้านก็พร้อมที่จะยุติการชุมนุมและออกจากพื้นที่ แต่ถ้ารัฐไม่ยอมทำตามข้อเสนอและยังเอากฎหมายมาเป็นเครื่องมือมาจำกัดการใช้สิทธิของเรา เรายืนยันที่จะปักหลักต่อ

 

ลำดับเวลาในการปักหลักคัดค้านการขนย้ายอุปกรณ์ฯ

กรณีดังกล่าวสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 9 พ.ค. 61 บริษัท ไซน่า หมิงต๋าฯ ได้ทำการขนอุปกรณ์ขุดเจาะสำรวจโปแตชเข้าไปในพื้นที่ ต.วานรนิวาส  ทำให้ชาวบ้านออกมาคัดค้าน เนื่องจากพื้นที่ที่จะทำการขุดเจาะสำรวจโปแตชอยู่ห่างจากลำห้วยสีดอกกาว ซึ่งเป็นพื้นที่น้ำซับน้ำซึมและเป็นแหล่งต้นน้ำ เพียง 20 เมตรเท่านั้น ซึ่งขัดกับมาตรา 17 ในพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ที่ได้บัญญัติไว้ว่า “พื้นที่ที่จะกําหนดให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทําเหมืองต้องไม่ใช่พื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า เขตโบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เขตพื้นที่ที่มีกฎหมายห้ามการเข้าใช้ประโยชน์โดยเด็ดขาด พื้นที่เขตปลอดภัยและความมั่นคงแห่งชาติ หรือพื้นที่แหล่งต้นน้ำซับซึม”

ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านจึงต้องการให้บริษัทฯ ยุติการสำรวจโปแตชไว้ก่อน จนกว่าจะมีการทบทวนและตรวจสอบกระบวนการตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2560 จึงเป็นเหตุให้ชาวบ้านออกมาปักหลักชุมนุมค้างคืน เพื่อเรียกร้องให้นายอำเภอวานรนิวาส ออกมารับหนังสือร้องเรียนจากชาวบ้านตรงหน้าหลุมเจาะ

ผู้ชุมนุมรายหนึ่งเปิดเผยว่า ขณะที่มีการขนอุปกรณ์ในวันดังกล่าว ชาวบ้านได้คัดค้านด้วยการนั่งประท้วงอยู่ริมถนน ซึ่งเป็นที่ส่วนบุคคล ได้มีตำรวจประมาณ 10 นาย นำโดยผู้กำกับ สภ.วานรนิวาส บอกกับชาวบ้านว่าการที่ชาวบ้านมานั่งประท้วงแบบนี้ มันทำให้บริษัทไม่สามารถขนอุปกรณ์เข้าไปในพื้นที่ได้ บริษัทไม่สามารถทำงานได้ เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เป็นการกีดขวางการจราจร

ต่อมา วันที่ 10 พ.ค. 61 เวลา 14.45 น. นายอำเภอวานรนิวาส,  พ.อ.ธงชาติ โล่งจิตร เสนาธิการมณฑลทหารบกที่ 29 พร้อมด้วยผู้กำกับ สภ.วานรนิวาส นำกำลังทหาร 5-6 นาย ตำรวจ 10 นาย และ ตชด. ประมาณ 10 นาย เข้าไปรับหนังสือร้องเรียนจากชาวบ้านที่ปักหลักชุมนุม โดย พ.อ.ธงชาติ ได้บอกกับชาวบ้านว่า จะทำอะไรก็ให้อยู่ในกรอบกฎหมาย อย่าไปละเมิดสิทธิใคร

วันเดียวกันนี้ มีรายงานข่าวว่า มีหนังสือสั่งการทางวิทยุด่วนที่สุดจาก ผบก.ภ.จว.สกลนคร ระบุว่า ให้กองร้อยควบคุมฝูงชน 3 กองร้อย เตรียมกำลังความพร้อมให้สามารถปฏิบัติงานได้ทันที ตั้งแต่วันที่ 10 พ.ค. 61 เวลา 15.00 น. เป็นต้นไป และให้ กก.สส.ภ.จว.สกลนคร จัดกำลังชุดสืบสวนหาข่าว ติดตามสถานการณ์การเคลื่อนไหว ของกลุ่มต่อต้านการทำเหมืองแร่โปแตช อ.วานรนิวาส และให้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบทันทีหากพบการเคลื่อนไหวที่ไม่ปกติ

วันที่ 11 พ.ค. 61 เวลาประมาณ 09.00 น. ผู้ชุมนุมให้ข้อมูลว่ามีเจ้าหน้าที่ทหาร 3 นาย ตำรวจ 5 นาย และ ตชด. 2 นาย พร้อมกับนอกเครื่องแบบอีก 2 นาย นำหนังสือตอบรับหนังสือร้องเรียนจากนายอำเภอมาส่งให้ชาวบ้าน โดย ไม่ได้มีคำตอบที่ชัดเจนเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหา เพียงแจ้งว่าจะส่งเรื่องให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ ตั้งแต่ที่มีการปักหลักคัดค้านการขนอุปกรณ์ขุดเจาะสำรวจโปแตชเข้าไปในพื้นที่ เจ้าหน้าที่ได้มีการจัดวางกำลัง 4-5 นาย ประจำอยู่บริเวณทางเข้าหลุมเจาะที่ 4 ซึ่งชาวบ้านปักหลักอยู่  และทุก ๆ ชั่วโมง จะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารขับรถวนเข้ามาดูผู้ชุมนุมพร้อมกับถ่ายรูป ส่วนในช่วงกลางคืนมีตำรวจมาเฝ้าสังเกตการณ์ตลอดทั้งคืน

ทั้งนี้ใน จ.สกลนครมีผู้ที่ถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับ พร.บ.ชุมนุมฯ แล้ว 4 ราย จาก 3 คดี ซึ่งล้วนแต่เป็นการใช้ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ กับการแสดงออกเพื่อคัดค้านการสำรวจโปแตชทั้งสิ้น โดยมี

  • กรณีออกมาเดินรณรงค์คัดค้านโปแตชใน อ.วานรฯ หลังจากนั้น ตำรวจแจ้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ฐานจัดการชุมนุมโดยไม่แจ้งกับผู้ร่วมเดิน 2 ราย และเปรียบเทียบปรับคนละ 10,000 บาท
  • กรณีนายศตานนท์ ชื่นตา ที่ถูกกล่าวหาว่าหาว่า เป็นผู้จัดให้มีการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งก่อนล่วงหน้า 24 ชั่วโมง จากกรณีที่ชาวบ้านวังบง อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร ได้จัดขบวนแห่เพื่อเชิญชวนคนเข้าร่วมงาน “สืบชะตาห้วยโทง” เมื่อวันที่ 12 มี.ค.60 ปัจจุบันคดีอยู่ในชั้นอัยการ
  • กรณีของนายอชิตพล คู่กะสัง ถูกกล่าวหาว่าหาว่า เป็นผู้จัดให้มีการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งก่อนล่วงหน้า 24 ชั่วโมง จากกรณีเมื่อวันที่ 21 พ.ค. 60 ชาวบ้านได้ชุมนุมประท้วงเพื่อคัดค้านหลุมขุดเจาะสำรวจโปแตชของบริษัท ไชน่า หมิงต๋า จำกัด ที่ตั้งอยู่ในที่ดินติดกับถนนสายวานรนิวาส-บ้านธาตุ ต.ธาตุ ปัจจุบันคดีนี้สิ้นสุดแล้วอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าจับตาว่าภาครัฐจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร ในขณะที่การชุมนุมดังกล่าวไม่ได้มีการเตรียมการชุมนุมไว้ล่วงหน้า เพราะเป็นการชุมนุมเพื่อคัดค้านการขนอุปกรณ์ขุดเจาะสำรวจโปแตชที่ชาวบ้านเองก็ไม่ได้รู้ล่วงหน้า จึงไม่สามารถแจ้งการชุมนุมก่อนเริ่มชุมนุม 24 ชม. ได้อย่างที่ ตร.ยกเป็นเหตุอ้างว่าการชุมนุมไม่ชอบด้วยกฎหมาย และสั่งให้เลิกการชุมนุม

อีกทั้งยังเป็นการชุมนุมในพื้นที่ส่วนบุคคลและชาวบ้านนั่งอยู่ตามขอบถนนไม่ได้กีดขวางการจราจรแต่อย่างใด รถที่สัญจรไปมาก็สามารถไช้เส้นทางได้ตามปกติ รัฐจะยอมทำตามข้อเรียกร้องของชาวบ้านเพื่อยุติความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้น หรือเลือกที่จะใช้ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาเป็นเครื่องมือในการจัดการปัญหา และเป็นที่น่าจับตาอีกว่าการที่มีหนังสือด่วนให้ ตำรวจเตรียมกำลัง 3 กองร้อยและเตรียมอุปกรณ์ให้เรียบร้อยเมื่อวันที่ 10 พ.ค.ที่ผ่านมานั้น จะเป็นการเตรียมไว้เพื่อรักษาความปลอดภัยให้กับชาวบ้านอย่างที่ได้อ้างไว้ในหนังสือจริงหรือไม่ หรือจะเป็นการเตรียมไว้เพื่อสลายการชุมนุม

X