30 เม.ย. 2561 ศรีไพร นนทรีย์ กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง(กสรก.) ให้สัมภาษณ์ว่าตนและตะวัน เกียรติบุตร เลขาธิการของกลุ่ม ได้รับโทรศัพท์จากพ.ต.อ.ฤทธินันท์ ปุ้ยพันธวงศ์ ผู้กำกับสภ.คลองหลวงเรียกพบบ่ายวันนี้เป็นครั้งที่สอง หลังจากที่เมื่อวานนี้(29 เม.ย.2561) ตะวันเข้ายื่นหนังสือแจ้งจัดการเคลื่อนขบวนวันแรงงานและไปชุมนุมหน้าที่ทำการจังหวัดปทุมธานีในวันพรุ่งนี้ (1 พ.ค. 2561) และตะวันยังถูกเรียกกลับไปพบผู้กำกับ สภ.คลองหลวงมาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อเย็นวานนี้
ตะวันให้สัมภาษณ์ว่าเมื่อวานนี้หลังจากเขาเข้าไปยื่นหนังสือจัดแจ้งการชุมนุมที่ สภ.คลองหลวงในตอนเช้าและตำรวจได้รับไว้แล้ว ในช่วงประมาณ 4 โมงเย็น ผู้กำกับสภ.คลองหลวงโทรศํพท์เรียกเขากลับไปลงบันทึกประจำวันว่าได้ยื่นหนังสือแล้ว เขาจึงเดินทางกลับไปที่สภ.คลองหลวงอีกครั้ง ครั้งนี้ผู้กำกับได้ถามเขาเกี่ยวกับรายละเอียดการชุมนุมและได้ถามว่าจะมีการพูดเรื่องการเมืองในขบวนและที่ชุมนุมหรือไม่ หากมีจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 ซึ่งผู้จัดการชุมนุมจะต้องรับผิดชอบ
ตะวันให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่าวันนี้เขาก็ยังถูกผู้กำกับเรียกไป สภ.คลองหลวงพร้อมกับน.ส.ศรีไพรอีกครั้ง ในครั้งนี้ทางผู้กำกับบอกว่าจะมี “ผู้การ” มาคุยด้วย แต่ตะวันไม่ทราบว่าผู้การคนนี้จะเป็นตำรวจหรือทหาร
ศรีไพรให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการจัดงานครั้งนี้ว่าเป็นกิจกรรมที่ทางกลุ่มสภาพแรงงานฯ ร่วมกันเคลื่อนขบวนรถจากหน้าบริษัท กู๊ดเยียร์ ผ่านหน้าเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ รังสิตและจะแวะหยุดไฮด์ปาร์คก่อน และเดินทางต่อไปที่ว่าการจังหวัดปทุมธานีเพื่อยื่นหนังสือถึงผู้ว่าเพื่อส่งต่อให้กับรัฐบาลเพื่อดำเนินการตามข้อเรียกร้อง โดยกิจกรรมจะมีขึ้นในเวลา 7.00-11.00 น. ซึ่งเป็นกิจกรรมนี้จัดขึ้นทุกปีในวาระวันแรงงานสากล แต่ปีก่อนก็จัดโดยไม่ได้แจ้งจัดการชุมนุมต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจมาก่อน
ศรีไพรให้เหตุผลที่ทำการแจ้งจัดการชุมนุมครั้งนี้เพราะในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาคนที่ออกมาชุมนุมถูกดำเนินคดีไปเป็นจำนวนมาก ปีนี้เลยคิดว่าจะแจ้งจัดการชุมนุมกับทางเจ้าหน้าที่เอาไว้ก่อน คิดว่าทางเจ้าหน้าที่คงกังวลที่ในหนังสือแจ้งจัดการชุมนุมที่ส่งไปมีคำว่าประชาธิปไตยอยู่ด้วย
ทั้งนี้ในหนังสือแจ้งจัดการชุมนุมระบุในส่วนของเนื้อหาข้อเรียกร้องว่าให้รัฐมีการแก้ไขปัญหาด้านคุณภาพชีวิตของกรรมกรในประเทศไทย เช่น ให้เกิดนโยบายที่จะนำไปสู่รัฐสวัสดิการ เรียกร้องให้รัฐรับรองอนุสัญญาองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) ฉบับที่ 87 และ 88 ว่าด้วยเรื่องสิทธิการรวมตัวและเจรจาต่อรอง เรียกร้องให้มีการจัดการเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน และให้รัฐจัดเลือกตั้งทั่วไปเพื่อนำประเทศกลับสู่ระบอบประชาธิปไตย