สรุปเวทีแลกเปลี่ยน: 4 ปี กระบวนการยุติธรรมทางอาญาต่อเด็กในคดีการเมือง กระบวนการยุติธรรมต้องปรับตัวและใส่ใจเจตจำนงของเด็กในการแสดงความคิดเห็น

เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2567 ตรงกับวันเยาวชนแห่งชาติ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (TLHR), สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA), และมูลนิธิช่วยเหลือเด็ก (Save the Children Thailand) จัดงานเวทีแลกเปลี่ยนขึ้นที่ อาคารวิศิษฐ์ ประจวบเหมาะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  โดยมีตัวแทนจากเด็กและเยาวชนและผู้ปกครอง รวมถึงตัวแทนจากภาครัฐ ภาคประชาสังคม และสถานทูตเข้าร่วมงาน

การเสวนานี้จัดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับประสบการณ์และความท้าทายในกระบวนการยุติธรรมของเด็กและเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีทางการเมือง (ต่อไปนี้จะใช้คำว่า เด็ก แทน) โดยเน้น 4 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ ความรุนแรงที่เด็กเผชิญ ความสับสนในกระบวนการยุติธรรม ความเงียบจากสังคม และความหวังในการแก้ไขปัญหา

.

คุ้มเกล้า ส่งสมบูรณ์ ผู้จัดการฝ่ายคดี ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวต้อนรับ พร้อมกล่าวถึวที่มาและวัตถุประสงค์ของการจัดงานว่า ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (ศูนย์ทนายความฯ) ได้ให้ความช่วยเหลือทางคดีแก่เด็กตั้งแต่ปี 2563 โดยมีเด็กที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองประมาณ 300 คน จาก 200 คดี ซึ่งศูนย์ทนายความ ฯ ได้ช่วยเหลือตั้งแต่ชั้นจับกุมจนถึงขั้นพิพากษา 

คุ้มเกล้าเล่าถึงการจัดทำรายงาน 2 ฉบับที่มุ่งเน้นถึงสภาพปัญหาในกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับเด็ก โดยมีการวิเคราะห์จากมุมมองของนักกฎหมาย นักจิตวิทยา และนักสังคมสงเคราะห์ เพื่อช่วยเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

ศูนย์ทนายความฯ จัดเวทีแลกเปลี่ยนนี้เพื่อเป็นพื้นที่ในการเปิดเผยข้อท้าทายที่เด็กต้องเผชิญ และเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเชิงบวก โดยมุ่งหวังให้เกิดข้อเสนอแนะที่จะนำไปสู่การพัฒนากระบวนการยุติธรรมและการดูแลเด็กที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองให้ดียิ่งขึ้น

.

แซน ตัวแทนเด็กจากกลุ่มทะลุฟ้ากล่าวเปิดงาน โดยเธอเล่าถึงประสบการณ์การเคลื่อนไหวทางการเมืองตั้งแต่อายุ 14 ปี โดยเริ่มจากการเรียกร้องเรื่องการศึกษาเนื่องจากเห็นความเหลื่อมล้ำในระบบ แซนเล่าว่าระบบการศึกษาไม่ตอบโจทย์ชีวิตของเธอ และเธอไม่มีส่วนร่วมในการออกแบบหลักสูตร ทำให้เธอเข้าร่วมการเคลื่อนไหวทางการเมืองตั้งแต่ ปี 2563-2564

แซนพูดถึงความกลัวและความกดดันที่เธอและเพื่อน ๆ ต้องเผชิญเมื่อออกมาทำกิจกรรมและถูกดำเนินคดี แซนกล่าวว่ากระบวนการยุติธรรมลดทอนความเป็นมนุษย์ของเธอ ย้ำว่าเด็กควรได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกับผู้บริสุทธิ์ ไม่ควรถูกบังคับให้สารภาพก่อนเข้าสู่มาตรการพิเศษฯ ในคดีอาญาของเด็กเอง และเสนอให้กระบวนการยุติธรรมปรับปรุงการทำงานที่คำนึงถึงสิทธิเด็กและให้เด็กมีส่วนร่วมในการออกแบบกระบวนการ
.

อัครชัย ชัยมณีการเกษ หัวหน้าฝ่ายต่างประเทศและนโยบาย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวถึงรายงาน “จากห้องเรียนสู่ห้องพิจารณาคดี” รายงานฉบับที่ 1 ที่ชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2563 โดยมีเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีเกือบ 300 คนถูกดำเนินคดีในศาลเยาวชนเนื่องจากการใช้เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม รายงานฉบับนี้ แบ่งปัญหาออกเป็น 3 ส่วน:

  1. การจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของเด็ก โดยเฉพาะการดำเนินคดีอาญาต่อเด็กในหมวดความมั่นคง
  2. การควบคุมตัวเด็กในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน การควบคุมตัวถือเป็นการจำกัดเสรีภาพรูปแบบหนึ่ง และควรใช้เป็นมาตรการสุดท้าย หากสามารถหลีกเลี่ยงได้
  3. กระบวนการยุติธรรมที่ไม่คำนึงถึงสิทธิเด็ก  ตั้งแต่ขั้นตอนการจับกุมจนถึงการพิจารณาคดี

อัครชัยเสนอแนะโดยหลักให้ยุติการใช้ข้อหาทางอาญา มาตรา 112 ข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์กับเด็กที่ออกมาใช้เสรีภาพในการแสดงออก และเรียกร้องให้มีการปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมให้สอดคล้องกับหลักสากล โดยเฉพาะอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) ที่ประเทศไทยได้ลงนามไว้

อัครชัยยังตั้งคำถามว่า การใช้เสรีภาพในการแสดงออกควรถูกถือเป็นความผิดจริงหรือไม่ หากเรายอมรับว่าเป็นความผิด การปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชนก็จะผิดพลาดตั้งแต่ต้น เราควรออกแบบระบบใหม่ที่ปกป้องสิทธิของเด็ก

อ่านรายงาน “จากห้องเรียนสู่ห้องพิจารณาคดี” ฉบับเต็ม >>> https://tlhr2014.com/archives/70001

คุ้มเกล้า กล่าวถึงรายงานฉบับที่ 2 “อิสรภาพแบบมีเงื่อนไข” ซึ่งมุ่งเน้นถึงการศึกษาและให้ข้อมูลถึงประสบการณ์ของเด็กและผู้ปกครองต่อการใช้มาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญา ในช่วงปี 2563-2567 โดยสิ่งที่ค้นพบตลอดสายที่สำคัญ คือ ในชั้นสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน  ทัศนคติของเจ้าหน้าที่บางรายไม่เป็นมิตรต่อเด็ก บางรายชักชวนให้เด็กรับสารภาพ โดยไม่ฉายภาพหรือบอกเหตุผลรอบด้าน และหลายครั้งเจ้าหน้าที่มีการเก็บข้อมูลที่เกินความจำเป็น เช่น การสอบถามเรื่องเพศสัมพันธ์ครั้งแรก เมื่อไหร่ กับใคร ระบุอัตลักษณ์ทางเพศ มีการสอบถามในลักษณะแบบนี้ 

สิ่งที่ค้นพบต่อมา คือ ในมาตรการแทนการดำเนินคดีก่อนฟ้องและหลังฟ้อง (มาตรา 86 และมาตรา 90  พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ) พบปัญหาการกำหนดมาตรการในแผนบำบัดฟื้นฟูไม่สอดคล้องกับปัจจัยแวดล้อมเกี่ยวกับตัวเด็กและครอบครัว และมีลักษณะเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กฎหมายกำหนดเงื่อนไขไว้ว่าเด็กต้อง “สำนึกในการกระทำ” ซึ่งการแสดงความสำนึกในการกระทำ เด็กต้องให้การ “รับสารภาพ”  

อีกประการ คือ ปัญหาการขาดการมีส่วนร่วมของเด็กในการกำหนดมาตรการ การกำหนดมาตรการที่ไม่เหมาะสมและไม่ได้ช่วยบำบัดฟื้นฟูเด็กและเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีการเมือง

คุ้มเกล้าเน้นว่ารัฐควรตั้งคำถามว่า การที่เยาวชนออกมาใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมสมควรถูกดำเนินคดีจริงหรือไม่  และเสนอให้การใช้มาตรการพิเศษแทนมาตรการทางอาญาต่อบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชนให้ทำหน้าที่แบบไม่ตัดสินในตัวเด็กและเยาวชน และให้ความสำคัญกับกระบวนการทำงานมากกว่าเอกสาร ตลอดจนสร้างพื้นที่ปลอดภัย ลดการใช้อำนาจ คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเด็กและเยาวชน

อ่านรายงาน “อิสรภาพแบบมีเงื่อนไข” ฉบับเต็ม >>> https://tlhr2014.com/archives/70004

ผรัณดา ปานแก้ว กรรมการสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน กล่าวว่าปัจจุบันผ่านมา 4 ปีแล้ว ตั้งแต่เริ่มมีการชุมนุมทางการเมืองและการจับกุมเยาวชน ซึ่งก่อนหน้านี้ ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางไม่เคยเจอคดีที่เกี่ยวข้องกับการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองมาก่อน ศาลจึงขาดประสบการณ์ต่อกลุ่มเยาวชนเหล่านี้ที่ลุกขึ้นมาใช้เสรีภาพในการแสดงออกตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งในช่วงเวลาที่ผ่านมา กระบวนการยุติธรรมได้ปรับตัวดีขึ้นบ้าง

แต่ก็มีอีกหลายส่วนที่ต้องปรับปรุง กล่าวคือ ศาลเยาวชนควรมีความเข้าใจในตัวเด็กว่าพวกเขาเหล่านี้ไม่ได้ทำร้ายใครหรือก่อความเสียหายต่อสังคม การกำหนดเงื่อนไขให้ครอบครัวเข้าร่วมด้วย เช่น การไปรายงานตัวตามกำหนด หรือการเข้าร่วมกิจกรรมฟื้นฟู ไม่ใช่ทุกครอบครัวจะมีความพร้อมในการปฏิบัติตามข้อกำหนดเหล่านี้ได้  หรือบางครั้งเยาวชนถูกออกหมายจับเพราะครอบครัวไม่สามารถรายงานตัวตามกำหนด ผรัณดาเสนอว่าเจ้าหน้าที่ควรมีทัศนคติที่เข้าใจและช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างเห็นอกเห็นใจ มากกว่าการปฏิบัติตามขั้นตอน

ผรัณดาเสนอทิ้งท้ายว่า เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมต้องรับฟังเด็กและให้ความรู้ที่ถูกต้องในการตัดสินใจให้มากขึ้น

.

ทิชา ณ นคร นักสิทธิมนุษยชนเด็กหรือป้ามลของเด็ก ๆ กล่าวว่า การนำเด็กเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและเปลี่ยนสถานะของพวกเขาเป็นจำเลย ขัดแย้งกับบทบาทของรัฐบาลในฐานะรัฐภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก รัฐควรหาความจริงว่าทำไมเด็ก ๆ ถึงออกมาใช้สิทธิในการชุมนุมแทนที่จะเร่งจับกุม ทิชาตั้งคำถามว่ารัฐทำไมถึงผลักให้เด็กต้องรับภาระที่เกินอายุ และชี้ว่ารัฐบาลล้มเหลวในการสร้างความหวังให้กับเยาวชน

ป้ามลยังกล่าวถึง “บันไดการมีส่วนร่วม” ที่ออกแบบโดยคณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ โดยเน้นว่าการแบ่งปันอำนาจ (share power) เป็นหัวใจของอนุสัญญาฯ ทัศนคติของเจ้าหน้าที่ไทยยังคงมองว่าอนุสัญญานี้เป็นของต่างประเทศและไม่ได้ปฏิบัติตามอย่างแท้จริง ซึ่งประเทศไทยยังคงสอบตกในการรับรองสิทธิเด็ก

ป้ามลเล่าถึงประสบการณ์การดูงานที่ต่างประเทศ อธิบายภาพระบบที่เรียกว่า “Teen Court” ในคดีลักของในห้างสรรพสินค้า ศาลที่เยาวชนมีบทบาทสำคัญในการพิจารณาคดีอย่างจริงจัง มีลูกขุนที่เป็นเยาวชนจำนวน 8 คน อัยการที่เป็นเยาวชนได้ทำหน้าที่ซักถามจำเลย ขณะที่ทนายความเยาวชนอีกฝ่ายทำหน้าที่ปกป้อง การอภิปรายโต้แย้งระหว่างทั้งสองฝ่ายเป็นไปอย่างเข้มข้น และเมื่อถึงเวลาตัดสิน ผู้พิพากษาก็เพียงแต่ให้คณะลูกขุนไปประชุมเพื่อตัดสินบทลงโทษ ในวันนั้นเด็กถูกตัดสินให้จะต้องถูกกักตัวภายใต้เคอร์ฟิว ห้ามออกจากบ้านหลังสามทุ่มเป็นเวลา 2 เดือน และต้องทำงานในห้างที่เกิดเหตุโดยไม่รับค่าตอบแทนเพื่อชดเชยความเสียหาย และเด็กยังต้องเขียนจดหมายขอโทษเจ้าของห้างและติดประกาศในที่สาธารณะ

ป้ามลเล่าว่าขณะที่ป้านั่งฟังการพิจารณาคดี ป้ารู้สึกสะเทือนใจมากถึงกับร้องไห้ เพราะคิดว่าสิ่งนี้คงไม่มีทางเกิดขึ้นในศาลเยาวชนของไทยได้ 

เบลล์ ตัวแทนเด็กและนักศึกษากฎหมาย ได้เล่าถึงประสบการณ์การถูกดำเนินคดีภายใต้ มาตรา 112 มาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ เขาถูกกล่าวหาว่าเป็นแอดมินเพจๆ หนึ่ง เบลล์พูดว่าความฝันของเขาได้จบลงในวันที่เขาถูกดำเนินคดี เขาพบความยากลำบากในการต่อสู้คดี ตอนนั้นเขาขับมอเตอร์ไซต์จากบ้านไปศาลกับแม่ ระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตร ไปกลับ 100 กิโลเมตร ทุกครั้งแม่ต้องลางานทุกรอบ คนข้างบ้านไม่เข้าใจและยังพบว่าเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวกับคดีเขาไม่ได้ปฏิบัติตัวเป็นกลาง เขายังเสียเวลาและโอกาสในการเรียน และต้องรับมือกับความเครียดและความไม่แน่นอนในชีวิต

ในท้ายที่สุด ศาลอุทธรณ์ตัดสินจำคุกเบลล์ เป็นเวลา 1 ปี 6 เดือน รอการลงโทษ และคุมประพฤติ 3 ปี แม้จะโล่งใจ แต่เบลล์ยังคงรู้สึกกดดันและไม่สามารถปล่อยวางเรื่องนี้ได้ 

เบลล์ยังเน้นว่า ศาลควรทำความเข้าใจในข้อมูลทางเทคนิคด้านคอมพิวเตอร์มากกว่าการอ้างอิงจากเอกสารเพียงอย่างเดียว และชี้ให้เห็นว่าตำรวจอาจไม่ได้ตรวจสอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใด ๆ ก่อนทำการกล่าวหาและดำเนินคดีกับเขาเลย

แซน ตัวแทนเด็กจากกลุ่มทะลุฟ้า เล่าถึงความยากลำบากในการเข้าสู่มาตรการพิเศษฯ ซึ่งเจ้าหน้าที่มักพูดถึงแต่ข้อดีโดยไม่ชี้ให้เห็นถึงข้อเสียอย่างครบถ้วน ดีที่เธอเองมีทนายความด้านสิทธิช่วยบอกทุกอย่าง ถ้าเข้าแผนจะเป็นแบบนั้นแบบนี้ อธิบายข้อดีข้อเสียให้ แต่การตัดสินใจเข้าสู่มาตรการพิเศษฯ ที่ทำไปในหลายครั้งในคดีของเธอ เธอยอมรับว่าเพราะความจำเป็นในครอบครัว แม้จะไม่เห็นด้วยกับกระบวนการนี้ก็ตาม

ข้อหาที่แซนถูกดำเนินคดีเป็นข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ. ทำความสะอาดฯ มันเป็นคดีนโยบายไม่ฟ้องก็ได้ อัยการไม่กล้าแจ้ง พ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะฯ ด้วยซ้ำแต่พอเราเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม อัยการโน้มน้าวให้เราเข้ามาตรการให้ได้ มันเกิดความไม่เชื่อใจแล้วไงตลอดกระบวนการมา 

แซนยังรู้สึกว่าเจ้าหน้าที่รัฐยังขาดกระบวนการทำให้เกิดความไว้วางใจต่อกัน และบางครั้งมองเยาวชนเหมือนเป็น “เชื้อโรค” ที่ต้องใช้ “ยาแรง” ในการจัดการ

คุ้มเกล้า เล่าถึงกรณีของ “ภูมิ” เยาวชนที่ใช้เสรีภาพในการชุมนุม แสดงออกเชิงสัญลักษณ์เรียกร้องให้เพื่อนถูกปล่อยตัวออกจากเรือนจำในช่วงปีที่การชุมนุมคึกคัก แต่กลับถูกฟ้องคดีอาญาภายใต้ข้อหามาตรา 112 คดีของผู้ใหญ่จากเหตุเดียวกันยังอยู่ในชั้นการตรวจพยานหลักฐาน

ส่วนคดีของภูมิคดีอยู่ในกระบวนการยุติธรรมเป็นเวลาหลายปี น้องไม่ได้หนีไปไหนและหันมาทำงานเลี้ยงชีพแล้ว ต่อมาเขารับสารภาพ ก่อนศาลเห็นควรให้ใช้มาตรการพิเศษแทนการพิพากษาคดี แต่ศาลไม่อนุญาตให้ภูมิอยู่ข้างนอกดูแลครอบครัวเหมือนที่เขาทำมาตลอดระหว่างการสู้คดี เขาถูกส่งเข้าอบรมใน “บ้านเมตตา” เป็นเวลา 1 ปี ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งร่างกายและจิตใจ ภูมิรู้สึกผิดหวังและเจ็บปวดจากกระบวนการยุติธรรมนี้

ภูมิเหมือนอกหักจากกระบวนการยุติธรรม ผิดหวังที่ไม่ได้รับโอกาสให้ทำตามแผนนอกบ้านเมตตา น้องใช้เวลาปรับอารมณ์และจิตใจอยู่นาน และแบกรับต่อคำสั่งของศาลที่ขอให้ศาลทบทวนเมื่อมีความจริงเปลี่ยนไป แต่ก็ไม่เป็นผล แบกรับต่อการอยู่ในบ้านเมตตาที่ดูเหมือนจะผิดฝาผิดตัว เป็นที่ที่ไม่ใช่ที่ของเขา 

คุ้มเกล้าเน้นว่าเด็กและเยาวชนในสมัยนี้ไม่ว่าจะมาจากครอบครัวที่มีฐานะอย่างไร ยากดีมีจน ต่างก็มีความคิดเรื่อง “ความเท่าเทียมกัน” เป็นพื้นฐาน และสนใจเรื่องประชาธิปไตย หากสังคมไทยยังไม่ให้คุณค่ากับความเท่าเทียม เด็ก ๆ ก็จะยังคงออกมาแสดงออกต่อไป

บททิ้งท้ายจากวงเสวนา

  • เบลล์ กล่าวว่ากฎหมายและความยุติธรรมในอนาคตจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจ และสังคมจะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับคนในสังคม เขามองว่านี่คือความไม่ยุติธรรม และหากสังคมยังคิดว่าไม่มีใครจะออกมาชุมนุมเรียกร้องอีก นั่นคือความเข้าใจที่ผิด
  • แซน ทิ้งท้ายว่า ความไม่เป็นธรรมในปัจจุบันจะนำไปสู่การประณามจากประชาชนในอนาคต
  • ทิชา ย้ำถึงความสำคัญของความยุติธรรม ว่าไม่ใช่เพียงแค่ความยุติธรรมต่อผู้กระทำผิด แต่รวมถึงเหยื่อด้วย ศาลเยาวชนควรมีผู้เชี่ยวชาญที่เข้าใจทั้งในด้านกฎหมายและศาสตร์แห่งความเป็นมนุษย์ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงในระบบยุติธรรม

.

ดร.เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช จากสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวปิดงานใจความว่า สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกเป็นสิทธิที่ได้รับการคุ้มครองไว้ในรัฐธรรมนูญ ถึงแม้รัฐธรรมนูญจะมีปัญหาและสังคมเรียกร้องให้แก้ไขมาตลอด ในทุกครั้งที่ผมขึ้นเบิกความในคดีทางการเมือง ผมจะเน้นย้ำหลักการเหล่านี้ต่อศาลเสมอจนกว่าจะเกิดการรับฟัง

เด็กและเยาวชนที่ออกมาเรียกร้องมีต้นทุนที่ต้องสูญเสียแทนพวกเราเมื่อเขาถูกดำเนินคดี ต้นทุนที่ว่าคือ อนาคต ที่เรียกว่า เวลา ที่เดินทางจากปัจจุบันไปข้างหน้าเพื่อใช้ชีวิต เยาวชนเขาหวังว่าเขาจะได้ใช้ชีวิตในอนาคตของพวกเขาที่เอื้อต่อการดำรงชีพ การดำเนินคดีต่อพวกเขาเปรียบเสมือนเป็นการดับความหวังของเยาวชนคนรุ่นต่อไปในสังคมเรา

ถามว่าทำไมเด็กเยาวชนต้องออกมาเรียกร้อง ผมมองว่าก็มีทั้งในระบบการศึกษาและในระบบสังคม อย่าลืมว่าเขาใช้เวลาเกือบครึ่งชีวิตหรือเกินกว่านั้นอยู่ภายใต้การปกครอบแบบอำนาจนิยมโดยรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร ดังนั้นสภาพของการศึกษาและสภาพชีวิตที่เขาดำรงอยู่เป็นแรงกดดันให้เขาเห็นว่าสิทธิและเสรีภาพเขาถูกจำกัดเกินกว่าที่จะทนทาน และนิ่งเฉยต่อไปได้ 

เราอยากเห็นสังคมที่ดีขึ้น สังคมที่ประกอบไปด้วยผู้คนที่รู้ร้อนรู้หนาว หมายถึงคนในสังคมรู้สึกถึงความรับผิดชอบของตนเองต่อปัญหาและความอยุติธรรมในสังคม ทั้งในระดับปัจเจกและระดับสังคมวงกว้าง ดังนั้น ถ้าเรารู้ร้อนรู้หนาว เราจะไม่ปล่อยให้เด็กและเยาวชนเหล่านี้เป็นเหยื่อของการใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม ความรู้ร้อนรู้หนาวจะทำให้เราสำเหนียกรู้ถึงคุณค่าของหลักนิติธรรม สิทธิและเสรีภาพของผู้คนในสังคม 

X