“รุ้ง ปนัสยา”: เราไม่ใช่ใครที่คุณคิดว่าเราเป็น

เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2567 ที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร วันสุดท้ายของการจัดแสดงงานนิทรรศการ “วิสามัญยุติธรรม” เนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปี การรัฐประหาร และ 10 ปี ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในกิจกรรม TRUTH TALK ตอนหนึ่ง มี “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล นักกิจกรรมทางการเมือง อดีตสมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เป็นผู้พูดในหัวข้อ ‘เราไม่ใช่ใครที่คุณคิดว่าเราเป็น’ กล่าวถึงความรัก ความหวัง ความกลัว ที่ทำให้ทุกคนต่างออกมาเรียกร้องเพื่ออนาคตที่ดีกว่านี้ และย้ำว่าเราไม่ใช่ใครที่คุณคิดว่าเราเป็น โดยมีเนื้อหาดังต่อไปนี้

“จากนักศึกษาปีที่ 2 ธรรมศาสตร์ ในวันนั้นที่ขึ้นเวทีด้วยชุดนี้ชุดเดิมเลยค่ะ ประกาศข้อเรียกร้อง เสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ สู่วันนี้ที่เราเป็นผู้ต้องหาคดีการเมือง 25 คดี และเป็นคดี 112 จำนวน 10 คดี เรื่องนี้มันยังไม่จบค่ะ ถามว่าแล้วเรื่องพวกนี้มันเกิดขึ้นมาได้ยังไง วันนี้รุ้งมีเรื่องอยากเล่าให้ทุกคนฟัง”

“รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หนึ่งในแกนนำของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ซึ่งได้ขึ้นปราศรัยและประกาศ 10 ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ บนเวทีการชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน ที่ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จนต่อมาถึงปัจจุบันรุ้งถูกดำเนินคดีทางการเมืองทั้งสิ้น 25 คดี โดยในจำนวนนั้นเป็นคดีมาตรา 112 จำนวน 10 คดี

“จริง ๆ มีอีกหลายเรื่องที่น่าเล่าและอยากจะเล่า ใช้เวลาวันสองวันก็คงไม่หมด แต่วันนี้รุ้งจะขอเล่าเรื่องเล็ก ๆเรื่องนึงที่คิดว่าถึงเวลาควรจะพูดสักที เพราะครั้งนี้อาจจะเป็นครั้งสุดท้ายที่รุ้งจะมาพูดบนเวทีแบบนี้ เนื่องจากคดีทางการเมืองทั้งหลาย 112 ใกล้ตัดสินเข้ามาทุกทีแล้วค่ะ วันนี้รุ้งอยากจะเล่าให้ทุกคนฟังว่าเราทำทำไม มันเกิดขึ้นเพราะอะไร”

รุ้งเล่าว่า เขาเคยพูดติดตลกกับเพื่อนอยู่บ่อยครั้งว่า จริง ๆ แล้วถ้าบ้านเมืองและการเมืองดี ไม่มีปัญหา เขาและเพื่อน ๆ แต่ละคนที่เป็นเพื่อนกันอยู่ตอนนี้ คงไม่จำเป็นต้องมาเจอกัน และคงไม่ต้องรู้จักกัน เพราะที่มาของแต่ละคนนัั้นหลากหลายมาก มาจากต่างที่ต่างถิ่น ต่างมหาลัย ต่างคณะ พื้นเพก็ต่างกัน แต่สถานการณ์ทำให้ทุกคนมาเจอกัน เพราะทุกคนต่างมีความหวัง มีความฝัน มีความคิดเห็นบางอย่างที่คล้ายคลึงกัน จึงกลายมาเป็นภาพเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 ที่ประกาศข้อเรียกร้อง 10 ข้อ

“ทุกคนจะเชื่อหรือไม่ก็ได้นะคะ แต่สิ่งที่มันเกิดขึ้น รูปนี้ที่เกิดขึ้น สำหรับรุ้ง สายตารุ้งที่อยู่ตรงนั้น รุ้งเริ่มมาด้วยกันกับเพื่อน ๆ และยังคงทำต่อ มันมีแต่ความรักทั้งนั้นเลยค่ะ ไม่ได้มีอย่างอื่น รักอะไร เรารักเพื่อน เรารักพ่อแม่ เรารักพี่น้อง ญาติ ๆ พี่น้องประชาชนทุกคนที่เราเก็เห็นเป็นญาติ เพราะเราโตมาภายใต้บรรยากาศทางการเมืองที่ไม่เคยมีเสถียรภาพ และในขณะที่เรากำลังเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ เรา เพื่อนเรา และทุก ๆ คนในห้องนี้ อยู่ภายใต้การนำของเผด็จการเหมือนกัน คิดว่ามองหน้ากันก็คงเข้าใจดี”

“มันไม่ได้มีอะไรมากกว่านั้น ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน พวกเราแค่เป็นประชาชนกลุ่มใหญ่ ๆ กลุ่มหนึ่ง ที่เดินหน้าออกมาจากบ้าน เดินมาลงถนน ด้วยความหวัง หลังของเราแบกความหวัง ความฝัน ความรัก และความกลัวเอาไว้ แต่บางทีสิ่งที่เราแบกมันอาจจะไม่เหมือนกัน” 

ภาพจาก ไข่แมวชีส

รุ้งเล่าต่อว่า ด้านหลังของตัวเขาเองในภาพนี้ และภาพต่อจากนี้ไป ก็จะมีแต่ประชาชนที่แบกความหวัง ความฝัน ความรัก ความกลัว มาลงถนน เพราะเราคิดว่าทุกอย่างที่เห็นอยู่ตรงหน้ามันดีกว่านี้ได้ทั้งนั้น

“แต่เผอิญว่า ในรูปนี้ก็จะเห็นว่าประชาชนก็มีแต่ประชาชนด้วยกันเอง แต่ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ คนที่เขาแบกไว้อยู่ข้างหลังกลับไม่ใช่ราษฎร”

“เราพร้อมจะเดินออกจากบ้านได้ทุกวัน เพราะเราเชื่อว่ามันดีกว่านี้ได้ ความหวังของเรามันเข้มข้นขนาดนั้นเลยค่ะทุกคน มันเข้มข้นมาก จนเรายอมที่จะแลกอะไรหลาย ๆ อย่างเพื่อจะได้มา เรายอมเอาตัวเข้าแลก มีคดี โดนจับ เข้าคุก อดอาหาร กรีดแขน” 

เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2564 ที่แยกราชประสงค์ กลุ่มราษฎรจัดกิจกรรม “ราษฎรประสงค์ยกเลิก 112”  โดยมีจุดประสงค์เพื่อเสนอชื่อยกเลิกกฎหมายประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยช่วงท้ายของการชุมนุม รุ้งได้อ่านแถลงการณ์คณะราษฎรยกเลิก 112 เรื่อง “ปล่อยนักโทษการเมือง-ยกเลิกม.112” หลังอ่านแถลงการณ์จบ รุ้งใช้ใบมีดกรีดข้อมือเป็นคำว่า 112 และขีดฆ่าทับ (อ่านเหตุการณ์ชุมนุมต่อที่นี่

รุ้งเล่าว่า “ขณะนั้นมีเพื่อนเราอยู่ในเรือนจำเต็มไปหมด เหมือนทุกวันนี้ สถานการณ์ไม่ได้เปลี่ยนไป วันนั้นรุ้งกรีดแขน รอยแผลยังอยู่ตรงนี้ ในเหตุการณ์เดียวกัน วันเดียวกัน ขณะที่รุ้งกรีดแขน พรรคเพื่อไทยค่ะ จริง ๆ ตอนนั้นก็น่าชื่นชม เค้าออกแถลงการณ์เห็นด้วยว่ามาตรา 112 มันมีปัญหาและมันควรจะแก้ แต่ก็น่าตลกดีค่ะ ว่ารอยแผลที่รุ้งกรีดในวันนั้น ทุกวันนี้มันไม่ได้จางลงเลย แต่ความคิดของพรรคเพื่อไทยอาจจะจางลงแล้ว น่าเสียดาย แต่เล่ามาขนาดนี้จะบอกอะไร”

“เราอยากบอกทุกคนว่ามันมีแค่นี้ ใครจะบอกว่าเราเป็นใครเป็นอะไร เราเปล่า บอกว่าเราเป็นคนล้มล้างการปกครอง บอกเราเป็นพวกล้มเจ้า คนที่จะทำให้เราเป็นพวกล้มเจ้าได้ ก็มีแค่ศาลรัฐธรรมนูญเพียงเท่านั้นแหละค่ะ ที่วินิจฉัยบอกว่ารุ้ง, อานนท์, ไมค์ ภาณุพงศ์ เป็นพวกล้มล้างการปกครอง แต่เราก็จะพูดย้ำต่อไปว่า ไม่ ไม่ใช่ ไม่เคยใช่ ไม่รู้ต้องพูดย้ำกี่ครั้งว่า ปฏิรูป แปลว่า ทำให้ดีขึ้น น่าเสียดายที่จนถึงทุกวันนี้ ผ่านมาประมาณ 4 ปีได้แล้ว ก็ยังไม่เข้าใจกันสักที”

ย้อนกลับไปสำหรับเหตุการณ์การชุมนุมเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 ที่มีการประกาศข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้ออีกครั้ง ต่อมามี ณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้พิจารณาวินิจฉัยว่าการปราศรัยของ อานนท์ นำภา ภาณุพงศ์ จาดนอก และปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองหรือไม่

และเมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2564 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าการปราศรัยของทั้งสามคนเป็นการกระทำที่มีมูลเหตุจูงใจเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง และมีคำสั่งให้เลิกกระทำนั้น

“เราเป็นแค่คน ๆ นึง เหมือนทุกคนในห้องนี้หรือไม่ได้อยู่ในห้องนี้ ที่อยู่ในสภาหรือที่ไหนก็ตาม เรามีเท่านี้มาตลอด ไม่เคยมีอะไรมากกว่านี้ เราเป็นแค่คนหนุ่มสาวกลุ่มหนึ่ง หรือกลุ่มใหญ่ ๆ นอกจากเราก็ยังมีคนอีกหลายกลุ่ม คนหนุ่มสาว วัยรุ่น เยาวชน ที่ต่างมีความหวัง และความกลัวว่า อนาคตที่เรากำลังจะเติบโตไปมันจะเป็นยังไง ที่เราทำกันเพราะคำพวกนี้ค่ะ ความรัก ความหวัง ความกลัว มีเท่านี้ ที่ทำให้เราทุกคนต่างออกมา ไม่รู้ต้องอธิบายอะไรอีก”

รุ้งกล่าวว่า นอกจากรุ้งเองแล้ว คนที่อยู่ในรูปนี้ และคนอื่น ๆ ที่ไม่ได้กล่าวถึงอย่าง “บุ้ง” ก็คงมีบางส่วนในชีวิต ที่ไม่ใช่ใครอย่างที่ทุกคนคิด แต่น่าเสียดายที่บุ้งไม่มีโอกาสได้พูดว่าจริง ๆ แล้วเขาเป็นใครและทำอะไร 

“แต่รุ้งเชื่อค่ะ คนที่ออกมาเคลื่อนไหว คนที่ออกมาบนท้องถนน คนที่ออกมาเรียกร้องสิ่งที่ตัวเองเชื่อ ปัญหาที่ตัวเองเห็นมันเป็นแค่นี้ แค่เราต้องการอนาคตที่ดีกว่านี้ รุ้งแค่อยากพูดและอยากย้ำ ขอสื่อสารส่งต่อคำพูดนี้ไปให้ชนชั้นนำได้เข้าใจกันบ้างสักที ว่าเราไม่ใช่ ไม่ใช่ และไม่เคยใช่ เราไม่ใช่ใครที่คุณคิดว่าเราเป็นค่ะ ขอบคุณค่ะ

X