เยาวลักษ์ อนุพันธุ์: คำกล่าวเปิดงาน Truth Talk “จนกว่ารุ่งอรุณจะมาถึง”

วันที่ 26 พ.ค. 2567 เวลา 13.00 น. ที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจัดงานปิดนิทรรศการ ‘วิสามัญยุติธรรม’ ในโอกาสครบรอบ 10 ปี การรัฐประหาร และ 10 ปี ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน  เยาวลักษ์ อนุพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้กล่าวนำก่อนการกล่าวปาฐกกถา และ Truth Talk ในงานนี้ มีเนื้อหาดังต่อไปนี้

———————

สวัสดีค่ะ ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน

ไม่น่าเชื่อว่าวันนี้จะเกิดขึ้นได้ วันที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนดำรงอยู่เป็นระยะเวลาถึง 10 ปีเต็ม หากย้อนกลับไปในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เรายังมองไม่ออกว่า สังคมไทยจำเป็นต้องอยู่กับระบอบประยุทธ์อย่างยาวนาน โดยมีรัฐธรรมนูญ 2560 ช่วยให้เผด็จการสืบทอดอำนาจบิดเบือนเจตนารมณ์ของประชาชนมาจนถึงปัจจุบัน

ในปี 2557 เมื่อประเทศถูกยึด กลไกนิติบัญญัติ และบริหารไม่อาจทำงาน/ นักการเมือง นักกิจกรรม นักวิชาการตกเป็นเป้าหมายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีเพียงพื้นที่สุดท้ายที่เราพยายามรักษา คือ กระบวนการยุติธรรม อย่างไรก็ตามการประกาศให้พลเรือนต้องถูกพิจารณาคดีในศาลทหารทำให้กระบวนการยุติธรรมซึ่งควรเป็นพื้นที่ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งพื้นที่สุดท้ายก็ถูกแทรกแซงในทันที

การสู้ในพื้นที่ทางกฎหมายในยามที่ประเทศประกาศใช้กฎอัยการศึก ประกาศให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร และพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังมีอำนาจเต็มตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 ในการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ซึ่งมีผลทั้งในทางนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ พร้อมทั้งนิรโทษกรรมให้ตนเองและพวกพ้องไว้ล่วงหน้า นั้นก็เปรียบเสมือนการต่อสู้โดยประชาชนถูกมัดมือและเท้าในขณะที่ผู้มีอำนาจมีอาวุธครบมือ

ลมหายใจและเสียงที่เปล่งออกมาเท่านั้นที่เป็นเครื่องยืนยันว่าเรายังต่อสู้อยู่

การต่อสู้ไม่ให้พลเรือนถูกดำเนินคดีในศาลทหารนั้นมองว่ายากแล้ว ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้โต้แย้งว่าคดีพลเรือนอยู่ในเขตอำนาจศาลยุติธรรมอยู่หลายคดี แต่คำสั่งคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลซึ่งมีศาลยุติธรรมร่วมอยู่ด้วย เห็นว่าคดีพลเรือนดังกล่าวอยู่ในเขตอำนาจศาลทหารนั้นชอบแล้ว สิ่งนี้ยืนยันว่าศาลยุติธรรมนั้นช่วยทำหน้าที่ค้ำยันอำนาจเผด็จการเสมอมา หากเผด็จการยึดอำนาจสำเร็จ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อยกเลิกศาลทหารโอนคดีมายังศาลยุติธรรม หลังการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนและประชาชนในปี 2563 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่า ศาลยุติธรรมเมื่อต้องพิจารณาคดีทางการเมือง โดยเฉพาะในคดีมาตรา 112 กลับย่อหย่อนต่อหลักการในทางกฎหมาย หน้าที่ในการปกป้องคุ้มครองประชาชน การถ่วงดุลกับอำนาจรัฐไม่เกิดขึ้น ซ้ำร้ายกระบวนการยุติธรรมกลายเป็นเครื่องมือในการกดปราบการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชน การดำเนินคดี ให้ประกัน ถอนประกัน กำหนดเงื่อนไขประกัน ติดกำไล EM ขังในเคหสถาน คำพิพากษาที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ส่งผลให้ขบวนการประชาธิไตยที่ผลิบาน ค่อย ๆหรี่แสงลง ปัจจุบันมีผู้ถูกดำเนินคดีตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมากว่า 1,954 ราย และผู้ต้องขังทางการเมืองถึง 43 ราย และอาจมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ หากสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งยังไม่ผ่านร่างนิรโทษกรรมประชาชน

อนาคต เวลา ทรัพย์สิน ความสัมพันธ์ จิตใจ และชีวิตของผู้คนซึ่งสูญเสียไปตลอดระยะเวลา 10 ปี ควรได้รับการเยียวยา ผลพวงจากการรัฐประหารของ คสช. ควรได้รับการสะสาง และสถาบันยุติธรรมควรได้รับการปฏิรูปเช่นเดียวกัน แม้ว่ามีความสูญเสียเกิดขึ้นจำนวนมาก แต่ความหวังพื้นฐานที่สุดของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมระยะยาว คือ ประชาชนที่ตระหนักรู้ในคุณค่าของสิทธิเสรีภาพได้ค่อย ๆ ผลิบาน และขยายวงกว้างมากขึ้นแล้ว

งานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนไม่อาจเกิดขึ้นได้หากไม่มีการสนับสนุนของประชาชนและจิตใจที่มุ่งมั่นของคนทำงาน ขอขอบคุณประชาชนคนธรรมดาที่ร่วมต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย และสนับสนุนศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าหน้าที่ อดีตเจ้าหน้าที่ ทนายความเครือข่าย ผู้ช่วยทนายความ อาสาสมัคร กองทุนราษฎรประสงค์ กองทุนในนามความสงบเรียบร้อย และอีกหลายท่านที่ไม่อาจเอ่ยนามได้หมดในที่นี้

ภารกิจในการก่อร่างสร้างนิติรัฐของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยังคงก้าวเดินต่อไปในปีที่ 11 เพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยได้ลงหลักปักฐานในสังคมไทย จนกว่ารุ่งอรุณจะมาถึง

.

X