วันที่ 21 พ.ค. 2567 ในพิธีเปิดนิทรรศการ ‘วิสามัญยุติธรรม’ 10 ปีศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร พูนสุข พูนสุขเจริญ ตัวแทนจากศูนย์ทนายฯ ได้อ่านจดหมายจากอานนท์ นำภา นักกฎหมาย และผู้ต้องขังคดีทางการเมือง ที่ส่งมาจากเรือนจำ
อานนท์ได้ระบุบทบาทศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนว่า เป็นองค์กรที่ทำงานให้กับประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมทางการเมืองมากกว่า 10 ปี แม้กระทั่งก่อนการรัฐประหาร 2557 โดยมีหมุดหมายเพื่อภารกิจ ‘ก่อร่างสร้างนิติรัฐ’ อานนท์ยังยืนว่า จุดยืนของประชาชนยังมั่นคงที่จะต่อสู้เพื่อสังคมประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ต่อไป
______
ขอบคุณพี่น้องและเพื่อน ๆ ทุกคนที่ยังคิดถึงและให้เกียรติผมในฐานะนักโทษทางการเมือง รวมทั้งในบทบาททนายความเครือข่ายของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ให้มีส่วนร่วมในโอกาสครบรอบ 10 ปีก่อตั้งศูนย์ทนายความฯ
การก่อตั้งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เริ่มขึ้นพร้อมกับการรัฐประหารเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 แต่ภารกิจของศูนย์ทนายความฯ ได้ย้อนไปไกลกว่านั้น พี่น้องผู้ร่วมก่อตั้งศูนย์ทนายความฯ หลายคนได้ร่วมทำงานเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้ประชาชนในเหตุการณ์ทางการเมืองก่อนหน้านี้ เช่น การสลายชุมนุมของคนเสื้อแดง คดีความหลายคดีของศูนย์ทนายฯ ส่วนหนึ่งจึงเป็นคดีที่เกิดก่อนการก่อตั้งศูนย์ทนายความฯ พันธกิจของศูนย์ทนายความฯ จึงไม่ได้ตีกรอบเฉพาะหลังรัฐประหาร 2557 แต่เป็นการทำงานที่ต่อเนื่องจากการไม่ได้รับความเป็นธรรมทางการเมืองมากว่า 10 ปี
10 ปี ศูนย์ทนายความฯ จึงไม่ใช่เรื่องน่ายินดีหรือน่าเฉลิมฉลอง หากแต่เป็นการครบรอบเพื่อย้ำเตือนและตอกย้ำภารกิจในการ “ก่อร่างสร้างนิติรัฐ” ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย เป็นการครบรอบและทบทวนเพื่อให้กำลังใจคนทำงาน ตลอดจนคนที่สนับสนุนและร่วมต่อสู้ทางการเมือง รวมทั้งตั้งคำถามว่า จุดยืนของพวกเราเปลี่ยนไปหรือไม่ เมื่อเวลาได้เปลี่ยนไป ซึ่งคำตอบที่ได้อย่างชัดเจนและมั่นคงในวันนี้คือ พวกเราทุกคนยังคงมั่นคงและยืนยันที่จะต่อสู้ร่วมกันต่อไป จนกว่าการก่อร่างสร้างนิติรัฐและสังคมที่เป็นประชาธิปไตยจะเสร็จสมบูรณ์
ผมขอเป็นแรงใจ และขอส่งกำลังใจ ส่งพลังการต่อสู้ร่วมกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษชนอีกแรง ขอบคุณคนทำงานทุกคน รวมทั้งขอบคุณอย่างสุดซึ้งไปยังผู้คนที่สนับสนุนที่เคียงข้างศูนย์ทนายความฯ ตลอดมา เราจะร่วมกันทำพันธกิจให้สำเร็จ ให้มันจบที่รุ่นเรา
อานนท์ นำภา
21 พฤษภาคม 2567
______
นิทรรศการ ‘วิสามัญยุติธรรม’ จะจัดขึ้นเป็นเวลา 6 วัน ตั้งแต่วันที่ 21-26 พฤษภาคม 2567 เวลา 10.00-20.00 น. โดยแต่ละวันจะมีกิจกรรมนำทัวร์เหตุการณ์เกี่ยวกับการครบรอบรัฐประหาร 10 ปี 2557 อาทิ วันที่ 22 พฤษภาคม เวลา 17.00 น. นำทัวร์ชมเหตุการณ์ “ครบรอบ 1 ปีรัฐประหาร “ โดย สส. ‘โรม’ และ สส. ‘ลูกเกด’ เป็นต้น พร้อมงานเปิดตัวหนังสือ ‘ผู้ต้องหาเสรีภาพ’ โดยจะมีกิจกรรมประมูลหนังสือพร้อมลายเซ็น และข้อความสุดพิเศษจาก ‘อานนท์ นำภา’
ทั้งนี้ ในวันที่ 26 พฤษภาคม 2567 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของนิทรรศการ จะมีการปาถกฐา ‘นิติรัฐอภิสิทธิ์ และราชนิติธรรมทำงานอย่างไรในระบบกฎหมายไทย’ โดย ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล, ‘ทะลวงกรอบทลายกรงรัฐความมั่นคงแบบไทย โดย รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเวทีเสวนา ‘Truth Talk’ โดย เยาวลักษ์ อนุพันธุ์, ‘หนูหริ่ง’ สมบัติ บุญงามอนงค์, ‘ป้าน้อย’ ปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์, ‘ทนายด่าง’ กฤษฎางค์ นุตจรัส, ‘ไผ่’ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา และ ‘รุ้ง’ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล