กว่า 6 ปี! ศาลปกครองสูงสุดยกฟ้องคดีปิดกั้นการชุมนุม We Walk ชี้การกระทำของตำรวจถือไม่ได้ว่าชอบด้วยกฎหมาย แต่ไม่ถึงขนาดทำให้ไม่สามารถชุมนุมได้

วันที่ 22 มี.ค. 2567 ศาลปกครองสูงสุดนัดฟังคำพิพากษาอุทธรณ์ในคดีที่ตัวแทนเครือข่าย People Go Network ได้แก่ เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ (ผู้ฟ้องคดีที่ 1), ณัฐวุฒิ อุปปะ (ผู้ฟ้องคดีที่ 2), วศินี บุญที (ผู้ฟ้องคดีที่ 3) และ นิมิตร์ เทียนอุดม (ผู้ฟ้องคดีที่ 4) ฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ, พ.ต.อ.ฤทธินันท์ ปุ้ยพันธวงศ์ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรคลองหลวง, พล.ต.ท.สุรพงษ์ ถนอมจิตร ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปทุมธานี และ พล.ต.ต.สมหมาย ประสิทธิ์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1, 3 และ 4 เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1- 7 ตามลำดับ จากกรณีการถูกเจ้าหน้าที่ ปิดกั้นการใช้เสรีภาพการชุมนุมโดยชอบด้วยกฎหมาย ขณะทำกิจกรรม “We Walk เดินมิตรภาพ” ช่วงระหว่างวันที่ 19-21 ม.ค. 61   

เหตุในคดีนี้เกิดจาก เลิศศักดิ์และเครือข่ายประชาชน People Go Network ได้ร่วมจัดกิจกรรม “We Walk เดินมิตรภาพ” จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตถึงจังหวัดขอนแก่น เพื่อยืนยันสิทธิของประชาชนใน 4 ประเด็น ได้แก่เรื่องหลักประกันสุขภาพ นโยบายไมทำลายความมั่นคงทางอาหาร กฎหมายที่จะไม่ลดทอนสิทธิมนุษยชนสิทธิชุมนุม และรัฐธรรมนูญต้องมาจากการมีส่วนร่วมและรับฟังอย่างรอบด้าน

นอกจากนั้น เลิศศักดิ์ได้มีการแจ้งการชุมนุมต่อ พ.ต.อ.ฤทธินันท์ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรคลองหลวง ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ 2558 แล้วเมื่อวันที่ 17 ม.ค.2561 โดยใช้ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ แต่ภายหลัง พ.ต.อ.ฤทธินันท์ ได้รับแจ้งจากฝ่ายสืบสวนและเจ้าหน้าที่ความมั่นคงฝ่ายทหารว่าผู้จัดกิจกรรมมีการขายเสื้อที่มีข้อความ “ช่วยกันคนละชื่อ ปลดอาวุธ คสช.” และมีการร่วมกันลงชื่อเสนอกฎหมายยกเลิกประกาศ คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 3/2558

พ.ต.อ.ฤทธินันท์ จึงมีหนังสือถึงเลิศศักดิ์ว่า ตามที่ตนได้รับรายงานมาเห็นว่าพฤติการณ์ดังกล่าวไม่ใช่การชุมนุมตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ แต่เป็นการมั่วสุมหรือเป็นชุมนุมทางการเมือง ซึ่งขัดต่อคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปเว้นแต่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช. หากเลิศศักดิ์ต้องการชุมนุมต่อให้ดำเนินการขออนุญาตผู้มีอำนาจต่อไป ทั้งนี้เลิศศักดิ์ได้ทำหนังสือถึง พ.ต.อ.ฤทธินันท์ ยืนยันการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมตามกฎหมาย

ต่อมาในวันที่ 20 ม.ค. 2561 ผู้ชุมนุมประมาณ 100 คน ได้เดินออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่มีตำรวจประมาณ 200 นาย ตั้งแถวหน้ากระดานปิดกั้นไม่ให้เดินออกไปจนทำให้ผู้ชุมนุมบางส่วนทยอยกลับ จน 16.00 น. ผู้ชุมนุมเดินออกจาก มธ.ทางประตูอื่นและเดินไปขอพักที่วัดลาดทรายในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และวันต่อมาผู้ชุมนุมเดินออกจากวันลาดทรายในเวลา 6.00 น. เพื่อเริ่มทำกิจกรรมวันที่สอง ตำรวจและทหารได้ตั้งด่านบริเวณทางเข้าวัดตรวจบัตรประชาชนและซักประวัติทุกคนที่ผ่าน และตรวจรถยนต์และตรวจสำเนาทะเบียนรถทุกคันและมีการกักรถกระบะที่ใช้ขนสัมภาระและน้ำดื่มเพื่อตรวจค้น

กรณีข้างต้นนำไปสู่การฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลางให้วินิจฉัยว่า การที่เจ้าพนักงานผู้ดูแลการชุมนุมสาธารณะได้ดำเนินการตรวจค้น ปิดกั้น ขัดขวางการชุมนุมของผู้ฟ้องคดี เป็นการกระทำละเมิดผู้ฟ้องคดีหรือไม่ และเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หากเป็นการกระทำละเมิด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือไม่ เพียงใด

ต่อมาในวันที่ 28 ก.ย. 2561 ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษายกฟ้องในคดีนี้ โดยระบุเหตุผลว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ถึง 7 ซึ่งอยู่ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้ดำเนินการใช้อำนาจหน้าที่ในการควบคุมดูแลการชุมนุมสาธารณะเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย มิได้กระทำการตรวจค้น ปิดกั้น ขัดขวางการชุมนุม อันเป็นการละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี จึงพิพากษายกฟ้อง  (ดูรายละเอียดการไต่สวนคดีเพิ่มเติม)

ต่อมาผู้ฟ้องทั้งสี่อุทธรณ์ว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่มีเสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญและได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขขั้นตอนตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ โดยครบถ้วนอีกทั้งการชุมนุมของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่เป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ผู้ฟ้องทั้งสี่จึงชอบที่จะได้รับความคุ้มครองการใช้เสรีภาพในการชุมนุมซึ่งเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานของรัฐเสรีประชาธิปไตย 

การปฏิบัติการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และ 3 และเจ้าหน้าที่ตำรวจเมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2561 เป็นการปฏิบัติการทางปกครองเพื่อปิดกั้นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยอ้างเหตุตามข้อ 12 ของคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558  และมิใช่การใช้อำนาจตามมาตรา 19 พ.ร.บ.ชุมนุมฯ

การชุมนุมของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ไม่ได้กระทบต่อการจราจรและก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนอื่นเกินสมควร หรืออาจส่งผลกระทบต่อการใช้บริการสถานที่ราชการตามที่ผู้ถูกฟ้องทั้งเจ็ดกล่าวอ้าง

การปฏิบัติการของผู้ถูกร้องและเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงเป็นการกระทำอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีลักษณะเป็นการปิดกั้น ขัดขวาง ข่มขู่ คุกคาม และทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และผู้ร่วมกิจกรรมเกิดความหวาดกลัวในการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการละเมิดสิทธิผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ จึงต้องรับผิดชอบค่าเสียหายให้แก่ผู้ร้องทั้งสี่

นอกจากนั้นผู้ฟ้องคดียังเห็นว่าศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุดยังเคยมีความเห็นตรงกันในคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาว่าการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจเป็นการปิดกั้นการชุมนุม และมีคำสั่งให้คุ้มครองการชุมนุมครั้งนี้ไปแล้วเมื่อ 14 ก.พ.2561

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2561 อธิบดีอัยการภาค 1 ยังมีคำสั่งไม่ฟ้องสมาชิกเครือข่าย People Go Network จำนวน 8 คน ในเหตุจากการชุมนุมครั้งนี้ ซึ่งถูกตั้งข้อหาชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และทางอัยการได้ส่งความเห็นถึงผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 ทั้งตำรวจก็มีความเห็นไม่ฟ้องเช่นเดียวกัน

.

วันนี้ (22 มี.ค. 2567) ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาอุทธรณ์ สามารถสรุปได้ดังนี้

เห็นว่า การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และ 3 เป็นการใช้อำนาจตามมาตรา 19 พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองความสะดวกของประชาชนและการรักษาความปลอดภัย อำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณอันเป็นที่ชุมนุม อำนวยความสะดวกจราจรและการขนส่งสาธารณะในบริเวณที่มีการชุมนุมเพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด 

แม้จะปรากฏข้อเท็จจริงว่า ในระหว่างการชุมนุมเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ติดตามถ่ายภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหวของผู้ร่วมชุมนุมตามที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่กล่าวอ้างก็เป็นไปเพื่อรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้นให้ผู้บังคับบัญชาทราบ และไม่ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่เข้าไปแทรกแซง ขัดขวาง ให้ยุติ จับกุม หรือเข้าสลายการชุมนุม อันเป็นเหตุที่ทำให้การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และ 3 ตลอดจนเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด

ส่วนที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่อุทธรณ์ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 และเจ้าหน้าที่ตำรวจมีพฤติการณ์คุกคาม ข่มขู่ ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และผู้ร่วมชุมนุม มีการตรวจค้นรถยนต์ที่ผู้ฟ้องคดีที่ 3 ขับขี่  มีการถ่ายภาพบัตรประจำตัวประชาชน มีการสอบสวน บันทึกถ้อยคำผู้ฟ้องคดีที่ 3 กับพวก เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2561 อันเป็นการปฏิบัติการอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีลักษณะเป็นการปิดกั้น ขัดขวาง ข่มขู่ คุกคาม ทำให้เกิดความหวาดกลัวนั้น 

ข้อเท็จจริงที่ปรากฏยังฟังไม่ได้ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 มีพฤติการณ์ข่มขู่ บังคับให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 กับพวก โดยมิชอบ การถ่ายภาพบัตรประจำตัวประชาชนก็เป็นวิธีการหนึ่งในการยืนยันตัวตนของผู้ถูกตรวจสอบ การสอบสวนถ้อยคำของผู้ฟ้องคดีที่ 3 กับพวก ก็ล้วนแต่เป็นกระบวนการในการสอบข้อเท็จจริง และเปิดโอกาสให้ผู้ถูกตรวจสอบได้ชี้แจงข้อเท็จจริง กรณียังฟังไม่ได้ว่า การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 4 เป็นการปฏิบัติการอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย

การที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่อุทธรณ์ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ขัดขวางการเดินของผู้ร่วมชุมนุม โดยสั่งห้ามไม่ให้วัดให้ที่พักทั้งที่ได้ติดต่อประสานไว้แล้วนั้น 

เห็นว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และผู้ร่วมชุมนุมสามารถเข้าพักที่วัดลาดทรายเมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2561 ได้ตามปกติ ส่วนวัดสหกรณ์ที่ไม่ได้เข้าพักเนื่องจากเดินทางมาถึง 13.00 น. เร็วกว่ากำหนดที่จะเข้าพักในตอนเย็น ส่วนวัดห้วยขมิ้น วัดสุวรรณคีรี และวัดศรีสว่างโนนงาม เห็นว่า แม้จะไม่สามารถเข้าพักที่ได้ประสานไว้ แต่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และผู้ร่วมชุมนุมได้ปรับเปลี่ยนแผนการพักแรมโดยใช้สถานที่อื่นแทน

ดังนั้น การกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจในกรณีดังกล่าวเพียงแต่ทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และผู้ร่วมชุมนุมไม่ได้รับความสะดวกในการพักแรมเท่านั้น ยังไม่ถึงขนาดเป็นการขัดขวางการเดินทางตามที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่กล่าวอ้างแต่อย่างใด

สำหรับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 – 7 นั้น ข้อเท็จจริงปรากฏว่า จนถึงวันที่ 17 ก.พ. 2561 อันเป็นวันสิ้นสุดการชุมนุม ไม่ปรากฏว่าดำเนินการอันมีลักษณะเป็นการปิดกั้น ขัดขวางการใช้เสรีภาพในการชุมนุมของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และผู้ร่วมชุมนุมแต่อย่างใด

ส่วนกรณีที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่อุทธรณ์ว่า หนังสือของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ลงวันที่ 19 ม.ค. 2561 เป็นเพีบงหนังสือแจ้งความเห็นให้ทราบ มิใช่คำสั่งทางปกครองที่เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะสั่งให้ผู้จัดการชุมนุม ผู้ชุมนุม หรือผู้อยู่ในสถานที่ชุมนุมต้องปฏิบัติตามเพื่อประโยชน์ในการดูแลการชุมนุมนั้น

เห็นว่า คดีนี้ ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ฟ้องโต้แย้งว่าการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 – 7 มีลักษณะเป็นการขัดขวางการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ได้รับความเสียหาย ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 – 4 ยุติการดำเนินการใด ๆ ในลักษณะดังกล่าว และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดเสรีภาพการชุมนุม โดยมิได้โต้แย้งถึงความไม่ชอบด้วยกฎหมายของหนังสือของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และไม่ปรากฏว่ามีคำขอท้ายฟ้องให้เพิกถอนหนังสือดังกล่าว จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยถึงความชอบด้วยกฎหมาย และสถานะของหนังสือดังกล่าว

ส่วนกรณีที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่มีคำขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดเสรีภาพการชุมนุม 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 นั้น 

เห็นว่า เมื่อการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และ 3 มีลักษณะเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากการอำนวยความสะดวกและรักษาความปลอดภัย อีกทั้งยังมีลักษณะเป็นการขัดขวางและปิดกั้นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะอันถือไม่ได้ว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายก็ตาม แต่ไม่ถึงขนาดทำให้การชุมนุมสาธารณะไม่สามารถดำเนินการได้ อีกทั้งยังไม่มีหลักฐานปรากฏชัดแจ้งว่าผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ได้รับความเสียหายที่อาจคำนวณเป็นตัวเงินได้จากการกระทำดังกล่าว ดังนั้นศาลจึงไม่อาจกำหนดค่าความเสียหายตามที่มีคำขอได้

X