“ปลากับข้าวเป็นของกินไทยเอ้ย ข้าวและน้ำเป็นของเลี้ยงชีพคน” นั่นหมายถึงว่า อาหารที่มนุษย์กินเพื่อให้มีชีวิตอยู่รอดคือข้าวและน้ำ เป็นคำพูดของ บุญมี คำเรือง สมาชิกสมัชชาคนจน ที่ร่วมต่อสู้มาตั้งแต่ยุคเริ่มต้น จากกรณีที่ชาวบ้านได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี ซึ่งพูดขณะขึ้นปราศรัยถึงผลกระทบในกรณีดังกล่าว ท่ามกลางเจ้าหน้าที่ตำรวจยืนเป็นกำแพงอยู่หน้าทำเนียบรัฐบาล พร้อมกับเอาเหล็กกั้นผู้ชุมนุมไว้ที่เกาะกลางถนน เพื่อไม่ให้ชาวบ้านยกระดับการชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาของเครือข่ายสมัชชาคนจน
เราอยากจะถามรัฐบาลว่า ความมั่นคงของมนุษย์คืออะไร ไม่ใช่อาหารหรือ และอาหารก็ไม่ใช่มาจากพื้นที่นั้นหรือ วันนี้เราจึงเอาความจริงที่เกิดขึ้นมาบอกต่อสาธารณะว่า สิ่งที่สมัชชาคนจนมาเรียกร้องในวันนี้ นี่คือสิ่งที่พวกเราต้องการ และนั่นเป็นเหตุผลที่เรามาชุมนุมในวันนี้ บุญมีกล่าวหลังปราศรัยเสร็จ
“เราได้แต่หวังว่าถ้ามีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง อาจจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นกว่านี้ แต่หลังจากที่ได้รัฐบาลชุดนี้มา ทำให้รู้สึกว่าตอนนี้มันไม่ต่างจากช่วงรัฐประหารเลย”
บุญมี กล่าวว่า เขื่อนบางอย่างมันก็ดี แต่ดีเฉพาะนายทุนใหญ่ สำหรับเกษตรกร ชาวบ้านธรรมดาไม่ดี อีกทั้งตอนนี้มีพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 (พ.ร.บ. น้ำ) ออกมา ทำให้เราต้องเสียเงินถ้าต้องการใช้น้ำ และกฎหมายหลายอย่างที่ออกมา มันบีบชาวบ้าน ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงทรัพยากร สิ่งเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายประมงก็บีบพี่น้องประมง กฎหมายป่าไม้ก็บีบเรื่องป่าไม้ พี่น้องเกษตรกรก็ถูกบีบเพราะพื้นที่ที่เขาใช้ทำมาหากิน มันถูกยึดไป แล้วประชาชนจะอยู่ยังไง อีกทั้งกฎหมายที่ออกมา เขาก็ไม่เคยเอาไปถามชาวบ้านเพื่อให้ชาวบ้านวิจารณ์ ว่ามันจะกระทบกับชาวบ้านยังไง มันมีผลดีผลเสียยังไง มันตรวจสอบรัฐยังไง รัฐธรรมนูญฉบับนี้เขาก็ทำกันเอง กฎหมายฉบับนี้ก็เขียนกันเอง วิจารณ์กันเอง ไม่เหมือนกับรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่เอาไปให้ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ เราได้แต่หวังว่า ถ้ามีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง อาจจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นกว่านี้ แต่หลังจากที่ได้รัฐบาลชุดนี้มา ทำให้รู้สึกว่าตอนนี้มันไม่ต่างจากช่วงรัฐประหารเลย
นายสิริศักดิ์ สะดวก ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสาน ให้ความเห็นว่า พ.ร.บ.น้ำ ให้อำนาจรวมศูนย์ไว้ที่ภาครัฐ ในการบริหารจัดการน้ำมากจนเกินไป ทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการเก็บภาษีน้ำ เนื่องจากเนื้อหาใน พ.ร.บ. ดังกล่าวพูดถึงการเก็บภาษีน้ำ จากการใช้น้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะ และการให้มีบทลงโทษในการใช้น้ำ ทำให้ประชาชนเกิดความกังวลหากต้องใช้น้ำจากพื้นที่สาธารณะเพื่อการเกษตร สิริศักดิ์กล่าวอีกว่า หากมองไปไกลกว่านั้น พ.ร.บ. ดังกล่าวผิดตั้งแต่กระบวนการแล้ว เพราะออกมาในช่วงรัฐประหาร ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมใน พ.ร.บ.นี้ตั้งแต่เริ่มต้น (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ พ.ร.บ.น้ำ ที่นี่)
ทั้งนี้ สมัชชาคนจน Assembly of the Poor เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2539 เพื่อต่อสู้และเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาในประเด็นต่าง ๆ ตามที่ชาวบ้านได้รับผลกระทบ โดยสมาชิกเป็นคนจนในชนบทและคนจนเมือง ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายการพัฒนาของรัฐ มีเครือข่ายอยู่ทั่วประเทศ ทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคใต้ การชุมนุมของสมัชชาคนจนครั้งนี้ ซึ่งเริ่มชุมนุมตั้งแต่วันที่ 6 ต.ค. 62 โดยปักหลักอยู่ข้างกระทรวงศึกษาธิการ และยังไม่มีท่าทีจะยุติ แม้จะถูกเจ้าหน้าที่กดดันด้วยการออกคำสั่งเป็นหนังสือ เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 62 เรื่องห้ามให้ชุมนุมในรัศมีไม่เกิน 50 เมตร รอบทำเนียบรัฐบาลก็ตาม โดยกลุ่มสมัชชาคนจนยืนยันว่า จะชุมนุมจนกว่าจะได้ข้อสรุปในการแก้ไขปัญหาจากรัฐบาล ตามข้อเรียกร้องให้แก้ไขปัญหา 35 กรณี แบ่งเป็น 5 ประเด็นหลัก คือ
- ประเด็นผลกระทบจากการสร้างเขื่อน ที่ส่งผลกระทบทำให้ชาวบ้านเกิดการสูญเสียที่ดินและสูญเสียอาชีพประมง เรียกร้องให้รัฐบาลชดเชยเกี่ยวกับความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นเงินชดเชย หรือชดเชยที่ดินทำกิน และให้ยุติการสร้าง ในกรณีที่เขื่อนอยู่ในระหว่างดำเนินการ
- ประเด็นที่ดิน ปัญหาการประกาศเขตที่ดินสาธารณะประโยชน์ทับที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน เรียกร้องให้รัฐพิสูจน์สิทธิ์ก่อนขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ รวมถึงให้รัฐจัดสรรที่ทำกินใหม่ให้ชาวบ้าน และหากพิสูจน์สิทธิแล้วว่าชาวบ้านไม่ผิด รัฐต้องให้ชาวบ้านอยู่ในพื้นที่เดิม
- ประเด็นป่าไม้ การถูกตัดสวนยางและการถูกขับไล่ออกจากที่ดินเดิม ตามนโยบายทวงคืนผืนป่าของ คสช. และการประกาศเขตอุทยานทับที่ดินทำกินของชาวบ้าน เรียกร้องให้ชะลอการขับไล่ชาวบ้านเพื่อให้รัฐพิสูจน์สิทธิก่อนขับไล่ รวมถึงกรณีพื้นที่ที่อยู่ในขั้นตอนของการออกโฉนดที่ดินด้วย และรัฐต้องจัดสรรที่ดินในพื้นที่นั้นๆ เป็นนิคมสหกรณ์ กล่าวคือ จัดสรรที่ดินให้กับชุมชนเพื่อทำการเกษตร แบบรวมกลุ่มในแต่ละชุมชนอย่างเท่าเทียมกัน
- ประเด็นการละเมิดสิทธิแรงงาน เรียกร้องให้รัฐบาลออกมาตราการให้บริษัทเอกชนจ่ายค่าชดเชยย้อนหลังในกรณีที่ถูกเลิกจ้างงาน และหากเอกชนไม่จ่าย รัฐต้องจ่ายแทนในฐานะที่เชื้อเชิญให้บริษัทมาลงทุนในประเทศไทย และเรียกร้องให้รัฐผลักดันและสนับสนุนให้บริษัทหรือโรงงานต่าง ๆ ทำสถานเลี้ยงเด็ก (Nursery) ในโรงงานเพื่อเป็นสวัสดิการให้กับลูกจ้างในการดูแลครอบครัวขณะทำงานให้บริษัท รวมถึงเรียกร้องให้ปรับค่าแรงขั้นต่ำให้เหมาะสมกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น
- ประเด็นปัญหาราคาพืชผลผลิตตกต่ำ เรียกร้องให้รัฐบาลประกันราคาพืชผลทางการเกษตรให้กับเกษตร รวมถึงต้องประกันราคาให้กับเกษตรที่ไม่มีโฉนดที่ดินด้วย เพราะที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้ประกันราคาให้กับคนที่ไม่มีโฉนดที่ดิน จึงทำให้คนที่ไม่มีโฉนดที่ดินไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการเหล่านี้ได้
การชุมนุมผ่านไป 16 วัน นับตั้งแต่วันที่เริ่มชุมนุมจนถึงปัจจุบัน (21 ต.ค.62) ยังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ จากรัฐบาลเกี่ยวกับการเจรจา ในทางกลับกัน รัฐกลับมีท่าทีเพิกเฉยและไม่ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง หลังการเลือกตั้งหลายคนต่างหวังว่าสถานการณ์จะดีขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา แต่ดูเหมือนนั่นเป็นเพียงแค่ภาพฝัน เมื่อความจริงไม่ต่างอะไรจากช่วงรัฐประหารเอาเสียเลย ซ้ำร้ายไปกว่านั้นสถานการณ์บางอย่างดูเหมือนจะรุนแรงขึ้น และถูกทำให้กลายเป็นเรื่องปกติ อย่างในกรณีของสมาชิกสมัชชาคนจนหลายพื้นที่ ถูกคุกคามก่อนออกมาเคลื่อนไหว โดยมีเจ้าหน้าที่ กอ.รมน. ตำรวจ และฝ่ายปกครอง ไปหาที่บ้าน และไปทุกวันทั้งก่อนและหลังมาชุมนุม
บารมี ชัยรัตน์ เลขาธิการสมัชชาคนจน เปิดเผยว่า มีเพื่อนบ้านแจ้งมาว่า มีเจ้าหน้าทั้งตำรวจและทหาร ขับรถไปวนเวียนที่บ้านที่ จ. นครสวรรค์ทุกวัน แต่บ้านหลังนั้นไม่มีใครอยู่ นอกจากนี้ยังได้รับแจ้งจากสมาชิกสมัชชาคนจนที่มาร่วมชุมนุม 34 พื้นที่ จาก 35 กรณี ด้วยว่า มีเจ้าหน้าที่ทั้งทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง ไปหาที่บ้านของสมาชิกเช่นกัน โดยมุ่งเน้นไปที่บ้านของแกนนำ โดยมีการข่มขู่ว่า อย่ามาชุมนุมเลยมันผิดกฎหมาย ที่สาธารณะไปชุมนุมไม่ได้นะ บางพื้นที่เจ้าหน้าที่ได้เข้าไปถามหาแกนนำที่บ้านว่า อยู่บ้านหรือเปล่า ไปไหน กลับมาหรือยัง ไปทำไม สาเหตุที่ไปเพราะอะไร ไปด้วยได้ไหม ไปกี่โมง เดินทางด้วยอะไร พร้อมกับถ่ายรูปทุกครั้งที่เจ้าหน้าที่ไปหาที่บ้าน ทำให้ญาติพี่น้องของสมาชิกเกิดความกังวลเรื่องความปลอดภัย
เลขาธิการสมัชชาคนจน ยังเผยอีกว่า นอกจากนี้ยังมีชาวหนองน้ำขุ่น อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ที่ได้รับผลกระทบกรณีปัญหาที่สาธารณประโยชน์ที่ราชพัสดุ ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกสมัชชาคนจน ถูกเจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลน้ำพอง นำป้ายไปติดในบริเวณชลประทานเขต 6 ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านเคยยื่นขออนุญาตติดตั้งสายไฟพร้อมโคมไฟส่องสว่างให้ประชาชน ที่สัญจรในเวลากลางคืน บริเวณเลียบหนองน้ำขุ่น ซึ่งเป็นทางผ่านเข้าหมู่บ้าน โดยมีข้อความระบุว่า ให้รื้อสายไฟฟ้ารวมทั้งสายสื่อสารและอุปกรณ์สื่อสารใด ๆ บนเสาไฟฟ้าของเทศบาล
บารมี กล่าวอีกว่า กรณีนี้ ชาวบ้านเคยยื่นเรื่องขอไว้นานมากแล้ว และก่อนหน้านี้ชาวบ้านก็สามารถใช้ไฟได้ปกติ แต่หลังจากที่ชาวบ้านออกมาเคลื่อนไหวร่วมกับสมัชชาคนจนในครั้งนี้ เจ้าหน้าที่กลับเอาป้ายดังกล่าวไปติดไว้ โดยแจ้งว่าให้รื้อถอนภายในวันที่ 20 ต.ค. 62 นี้ หากไม่รื้อถอน เจ้าหน้าที่จะมาทำการรื้อถอนเอง และทางเทศบาลตำบลน้ำพองจะไม่รับผิดชอบใด ๆ กับความเสียหายที่เกิดขึ้น บารมีตั้งข้อสังเกตว่า การกระทำดังกล่าวของเทศบาล อาจจะเป็นการกดดันเพื่อให้ชาวบ้านถอนตัวจากการชุมนุมในครั้งนี้
การคุกคามนั้นดูเหมือนจะยังไม่จบง่าย ๆ แม้การชุมนุมของกลุ่มสมัชชาคนจนในครั้งนี้ จะมีการแจ้งการชุมนุมอย่างถูกกฎหมาย จนล่าสุดมีการปล่อยข่าวออกมาว่าจะมีการแจ้งความดำเนินคดีกับแกนนำกลุ่มสมัชชาคนจน อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าจับตาต่อไปว่า รัฐบาลจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร ระหว่างหันมาสนใจแก้ไขปัญหาตามข้อเรียกร้องของประชาชนอย่างจริงจัง หรือจะใช้วิธิการดำเนินคดีให้กับผู้มาชุมนุมอย่างที่เคยเป็นมา