คดีไกลบ้าน ของ  ‘สนธยา’ เมื่อคอมเม้นท์  “พัทยากลางค่ะ” พร้อมภาพ ร.10 แล้วถูกฟ้อง พ.ร.บ.คอมฯ 

วันที่ 21 มี.ค. 2567 สนธยา หรือ ‘กิ๊ก’ พนักงานร้านอาหาร ชาว จ.ขอนแก่น วัย 29 ปี จะต้องเดินทางเป็นระยะทาง 580 กิโลเมตร ไปที่ศาลจังหวัดพัทยา ในนัดฟังคำพิพากษาคดีที่เธอถูกฟ้องตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากการทวีตภาพถ่ายพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ที่ถูกพ่นสีสเปรย์เป็นข้อความอยู่ใต้ฐาน พร้อมเขียนข้อความประกอบว่า “พัทยากลางค่ะ” ในช่วงวันที่ 16 ต.ค. 2563 

จากนั้น ในวันที่ 25 ม.ค.2566 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่าคำฟ้องของโจทก์ไม่ได้บรรยายว่าการกระทำของกิ๊กเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรฐานใด 

กระทั่งอัยการโจทก์อุทธรณ์คดี และวันที่ 16 ม.ค. 2567 ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่าให้ศาลชั้นต้นกลับไปพิพากษาใหม่ เนื่องจากเห็นว่าการโพสต์ดังกล่าวเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ถึงแม้ว่าโจทก์จะไม่ได้บรรยายฟ้องว่าเป็นความผิดในมาตราใดตามประมวลกฎหมายอาญา

เป็นเหตุแห่งที่มาของการนัดฟังคำพิพากษาอีกครั้ง ซึ่งตัวกิ๊กตั้งคำถามเสมอว่าเพียงการคอมเม้นท์ภาพ ๆ หนึ่งในทวิตเตอร์ในห้วงเวลานั้น ที่ข้อความประกอบมีเพียง “พัทยากลางค่ะ”  นั้นจะสั่นคลอนความมั่นคงของรัฐจนเกิดเป็นคดีความขึ้นมาได้อย่างไร 

.

การเมืองเป็นเรื่องใกล้ ๆ  จากวันที่สนใจ ไปสู่การเป็นผู้เข้าร่วมฯ

‘กิ๊ก’ พื้นเพเป็นชาว อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น เรียนจบหลักสูตรการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) สาขามัคคุเทศก์ จากวิทยาลัยแห่งหนึ่งทางภาคตะวันออก 

เธอย้อนเล่าว่า เลือกเรียนด้านนี้เพราะชอบทั้งด้านท่องเที่ยวและด้านภาษา หลังเรียนจบก็ไปทำงานที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งที่สนามบินสุวรรณภูมิ จากนั้นไปทำงานบริษัททัวร์ที่พัทยา ตามด้วยงานโรงแรม ในตำแหน่ง Night Audit Reception หน้าที่ Booking Check in/Check out ให้ลูกค้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ

กับชีวิตทั่ว ๆ ไป ที่พัทยาสำหรับคนพลัดถิ่น ค่อนข้างสนุก ด้วยที่ทำงาน มีเงิน และเที่ยวได้ จนกระทั่งการมาถึงของโควิด-19  โรงแรมมีนโยบายให้พนักงานทำงานครึ่งเดือน จ่ายครึ่งเดือน ประจวบเหมาะกับเป็นช่วงกำลังคัดพนักงานออกอยู่แล้ว พอมาถึงตอนโดนคดี กิ๊กเลยถูกให้ออก ด้วยเหตุผลที่ว่าอาจไม่สะดวกกับการไปทำงานในระหว่างขึ้นศาล 

กับคดีความและเรื่องการเมือง กิ๊กให้ภาพว่า ก่อนหน้า ยังไม่สนใจเท่าที่ควร  จนมาเจอสถานการณ์โควิดถึงรู้ว่า การเมืองมันสำคัญทั้งใกล้ตัวมาก ๆ

“แต่ก่อนเราเป็นเพียงเด็กคนหนึ่งที่กิน เที่ยว แต่โชคดีตรงที่เรารู้จักกลุ่มคนที่เป็นผู้ใหญ่ในพัทยาซึ่งค่อนข้างสนใจการเมือง ไปเที่ยวด้วยกันบ่อย ๆ ก็จะพูดคุยเรื่องการเมืองกันทุกวัน เราก็ค่อย ๆ ซึมซับ นานวันเข้าก็กลายเป็นสนใจ เป็นไปในระดับผู้ร่วมชุมนุม” 

กิ๊กกล่าวว่า อาจเป็นเพราะว่าช่วงปี 2563 มีเรื่องวัคซีนต้านโควิดเข้ามา ซึ่งเกี่ยวข้องกับรัฐบาลที่จะจัดหา

จากที่เป็นผู้ฟังก็เริ่มสนใจขึ้นมา พอมีประเด็นที่เกี่ยวกับกิ๊กโดยตรง เช่นนโยบายที่ส่งเสริมชีวิต LGBTQ+ อย่าง “สมรสเท่าเทียม” ก็กลายเป็นว่าสนใจการเมืองขึ้นมามากขึ้น 

ในกรณีของ LGBTQ+  กิ๊กอธิบายว่า เป็นสิ่งที่พวกเธอควรได้รับจากรัฐ พื้นฐานคือความเท่าเทียม โดยเฉพาะเรื่องการมีชีวิตคู่ การสมรสเท่าเทียม “ตอนนั้นแม้เรายังเด็ก ยังไม่ได้อยากมีแฟน หรือสมรสกับใคร แต่ในเมื่อยังมีคนอื่นที่เขาอยากได้ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนเรา เป็นพี่เรา ก็เลยสนับสนุนช่วยเขาในแง่นี้ เลยไปชุมนุมที่กรุงเทพฯ ทุกครั้งที่มีโอกาส”

หากย้อนไปในวันเกี่ยวพันกับการชุมนุมการเมืองของคนเสื้อแดง ที่ลุงกับป้าของกิ๊กก็ไปชุมนุม โดยไม่ให้เธอไปเข้าร่วมด้วย เนื่องจากถูกมองอาจเป็นอันตราย ทั้งความวุ่นวายต่าง ๆ ที่ถูกพูดถึงจากคนที่อยู่ในเหตุการณ์ จนกระทั่งถึงการรัฐประหาร 2557 แล้วเสื้อแดงก็หมดไป 

“มันเกิดเป็นภาพจำว่า มันควรจะอันตราย มันควรจะวุ่นวาย แต่วันที่เราได้ไปชุมนุมตั้งแต่มีเยาวชนปลดแอก กลับกลายเป็นว่า ความรู้สึกมันเปลี่ยน แล้วเราไปเป็นกลุ่มใหญ่ถือธง LGBTQ กันแบบเต็มเซ็ท  แล้วพอเราเข้าไปอยู่ในจุดที่ชุมนุมสนามหลวง  เราก็ได้เห็นว่าคนที่มาร่วมอุดมการณ์กับเรา เป็นนักศึกษา หันไปทางไหนมองไปทางไหน กลับกลายเป็นว่าเหมือนเป็นเพื่อนกันมานาน คุยถูกคอกัน นั่งหน้าเวที มีแม้กระทั่งไปดื่มกันที่ข้าวสารแล้วเดินกลับมาชุมนุมใหม่”  

จนมาถึงวันที่สลายการชุมนุมที่กรุงเทพฯ วันที่ 16 ต.ค. 2563 มีการฉีดน้ำแรงดันสูงใส่ผู้ชุมนุมบริเวณแยกปทุมวัน  ตามจังหวัดต่าง ๆ ที่ได้ทราบข่าว ก็เกิดการชุมนุม-ร่วมกันประณามเหตุการณ์นั้น  รวมถึงที่พัทยาด้วย ในกลุ่มเพื่อนของกิ๊กขณะที่ร่วมรับประทานอาหาร ทุกคนดูไลฟ์ ดูทวิตเตอร์ ก่อนมีทวีตเด้งขึ้นมาว่ามีคนพ่นสีสเปรย์ ตรงพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 ที่พัทยากลาง 

“พัทยากลางตรงนั้นกับตรงที่เรานั่งกินข้าวเป็นซอยเดียวกัน ตอนนั้นประมาณ 23.00 น. เราก็ไปดู ก่อนไปคอมเม้นท์ในทวิตเตอร์ ซึ่งตอนนี้ยังไม่แน่ใจว่าต้นโพสต์นั้นเริ่มจากไหนกันแน่  ซึ่งเราไม่ได้เป็นต้นโพสต์ เป็นแต่เพียงคอมเม้นท์”  

“ซึ่งมันก็ธรรมดาที่คนจะคอมเม้นท์ถามว่า อันนี้ที่ไหน อะไรยังไง เราก็แค่ไปถ่ายรูปแล้วแปะลงว่า ‘พัทยากลางค่ะ’ ก็เลยโดนคดี”

คืนวันนั้นกิ๊กไปนั่งเล่นกับเพื่อนต่อที่ละแวกชายหาด ก่อนแยกย้ายกันกลับ จนเช้าวันที่ 17 ต.ค. 2563 ที่โรงแรมโทรบอกกิ๊กว่า มีปัญหาให้เข้ามาจัดการ “พอเราไปถึงโรงแรมปุ๊บตำรวจนอกเครื่องแบบ 4 คน ก็มารวบไปที่ สภ.เมืองพัทยา”  

กิ๊กถูกยึดโทรศัพท์ ทำให้ไม่มีโอกาสได้ติดต่อใครเลย ตั้งแต่ 09.00 น. – 02.00 น. ระหว่างนั้นมีการสอบปากคำ และตรวจค้นห้องพัก ก่อนถูกแจ้งข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท 

กิ๊กถูกขังที่ สภ.เมืองพัทยา 2 วัน ก่อนตำรวจพาไปขอฝากขังและศาลไม่ให้ประกันตัว ทำให้เธอถูกส่งไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษพัทยา 

.

เวลา 5 วัน ในเรือนจำพัทยา ก่อนออกมาแล้วสูญเสียงาน

กิ๊กเปิดเผยว่า ก่อนจะไปชุมนุม เธอกับเพื่อน ๆ ก็คิดกันไว้ก่อนแล้ว หากโดนจับแล้วขั้นตอนจะเป็นยังไง “ซึ่งเราจะบรีฟกันทุกเรื่องด้วยความกะเทย ซึ่งมันก็ช่วยให้เรารู้สึกว่า ไม่ได้ถึงกับตื่นเต้นอะไร”

ขณะที่ถูกขังอยู่ในเรือนจำก็ถูกตัดผม และสวมชุดนักโทษสีส้ม ๆ กิ๊กเข้าอยู่ในแดนแรกรับ มีนักโทษขังรวมกันประมาณ 300-400 คน  นักโทษส่วนใหญ่ที่เจอในนั้นก็จะเป็นคดียาเสพติด 

“เราก็ถูกขังอยู่กับผู้ชาย ซึ่งคนในนั้นก็จะเริ่มถามว่า ทำไมเราต้องโดนผู้คุมเรียกหลาย ๆ รอบในหนึ่งวัน ใครเข้ามาก็เรียกไปถาม แล้วเราเป็นกะเทยด้วยก็เป็นที่สนใจในเบื้องต้นอยู่แล้ว คนก็สนใจ ยิ่งถูกเรียกบ่อย ๆ เขาก็ยิ่งอยากรู้มากขึ้นไปอีก เดินเข้ามาถามมาคุยเลยว่า โดนอะไรมา”

ความรู้สึกของกิ๊กตอนนั้นมีเพียงคาดหวังถึงเรื่องการประกันตัว ส่วนตัวเธอคิดว่ามันคงยาก แต่ด้วยเพื่อน ๆ ข้างนอกที่ช่วยกันติดต่อเดินเรื่อง พอผ่านไป 5 วัน จึงทราบว่าได้ประกันตัวในที่สุด หลังจากทนายความยื่นอุทธรณ์คำสั่งไปที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2

เมื่อย้อนกลับไปถึงเรื่องที่ถูกคุมขังกิ๊กบอกว่าตอนนั้นไม่ได้เครียดมากนัก “ประการแรกที่ตอนนั้นไม่รู้สึกเครียด ด้วยตอนนั้นเรายังไม่ได้มีภาระอะไรเยอะ พ่อกับแม่ก็ยังทำงานได้ แต่ตอนนี้เขาต่างก็ไม่สบาย ยิ่งใกล้วันจะตัดสินเราก็ยิ่งเครียด แต่ก็ไม่ได้บอกเขา และไม่ได้บอกใคร” กิ๊กบอกไว้อีกตอนหนึ่ง

กิ๊กเล่าถึงบรรยากาศของวันที่ 23 ต.ค. 2563 ที่ได้ประกันตัวอีกว่า “จะมีคนบางกลุ่มที่รู้แล้วว่าเราโดนคดีทางการเมืองมา ก็จะมีนักโทษมาแซว ๆ ประมาณว่า ระวังโดนเก็บนะ ฟีลเหมือนในหนังเดินออกมา มีคนเดินตาม แล้วก็จะมีนักโทษกระซิบกระซาบกัน” 

ด้วยความระแวง หลังเปลี่ยนเสื้อผ้า จึงเดินออกไปจากหน้าเรือนจำให้ไกลที่สุด เจอรถก็รีบโบกพร้อมกับว่าจ้างให้ไปส่งที่พัก โดยเรือนจำห่างจากที่พักราว 10 กิโลเมตร ทั้งเพื่อน ๆ ที่ไปรอรับที่เรือนจำก็ไม่ได้เจอกัน เพราะไม่ได้ติดต่อใคร โทรศัพท์มือถือก็โดนยึดไป จนคดียกฟ้องไปแล้วรอบแรกก็ยังไม่ได้มือถือคืน จนศาลอุทธรณ์ให้อ่านคำพิพากษาใหม่อีกครั้ง

วันนั้นเมื่อกลับมาถึงที่พัก กิ๊กได้คุยกับคนที่ทำงาน ก่อนได้ผลสรุปว่า ให้เธอออกจากงาน หลังออกจากงานจึงอยู่พัทยาต่ออีกพักหนึ่งเพราะช่วงนั้นยังมีนัดไปรายงานตัวตามคดี  หลังจากนั้นการนัดของศาลห่างมากขึ้น จึงตัดสินใจกลับไปจังหวัดขอนแก่น

.

ภาวนาให้ผลออกมาดี เพราะไม่รู้ว่าจะเสียอะไรอีก

หลังกลับไปตั้งต้นใช้ชีวิตที่บ้านเกิด งานแรกของกิ๊กอดีตคนทำงานในเมืองเศรษฐกิจใหญ่ เริ่มจากเป็นพนักงานเสิร์ฟที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง  แต่พอดีผู้จัดการร้านลาออก มีตำแหน่งว่าง เจ้าของร้านเลยให้กิ๊กเป็นผู้จัดการทันที “เขาถามว่ามีประสบการณ์มาก่อนไหม ก็บอกเขาแค่ว่า ไม่มี หนูไม่มีประสบการณ์อะไรเลย แต่ให้หนูลองทำดูก่อนเดือนนึง ถ้าหนูทำไม่ได้หนูไม่เอาเงินเดือน”

จากวันนั้นกิ๊กก็ทำงานที่นั่นมาร่วม 2 ปี  โดยหากมีนัดรายงานตัวหรือสืบพยานที่ศาลก็จะต้องใช้วันลา 1-2 วัน ด้วยจะต้องเดินทางจากขอนแก่นไปยังพัทยา  กิ๊กให้ข้อมูลว่า “มันไม่มีวิธีไหนที่จะไปจากขอนแก่นตอนบ่ายถึงพัทยาให้ทัน 9 โมงเช้าในชั่วข้ามคืน มันต้องเผื่อเวลาเดินทางอยู่แล้ว 1 วันเป็นอย่างน้อย”

ในการต่อสู้คดี ประเด็นที่กิ๊กและทนายต่อสู้กับโจทก์ คือมองว่า ภาพที่ลงไปในคอมเมนต์ทวิตเตอร์นั้น ยังไม่มากพอที่จะกล่าวหาว่าเธอโจมตีใส่ร้ายหรือต้องการดูหมิ่น สำหรับกิ๊ก เธอมองว่าด้วยข้อความมันยังไม่มากพอที่จะผิด พ.ร.บ.คอมฯ

“ถ้ากิ๊กเป็นคนที่แบบหัวรุนแรง กิ๊กคงบอกเขาไปตรง ๆ แล้ว แต่เมื่อตำรวจทั้งค้นทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ของเราทุกอย่าง  ช่องทางการติดต่อของเราทั้งหมด คุณก็จะรู้ว่าเราไม่เคยโพสต์เรื่องการเมือง ไม่ได้แชร์ข่าว ไม่ได้ด่า ไม่ได้อะไรลงทั้งโซเชียล มันเพิ่งมาเป็นภาพคอมเมนต์นั้นอันแรก อันเดียวก็โดนเลย  เราไม่ได้สร้างอะไรขึ้นมาเพื่อจะดูหมิ่น โจมตี หรือใส่ร้ายเขา”

กับความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร  กิ๊กคิดว่า “มันเป็นคำพูดที่งง ก็อยากถามว่า เราไปทำอะไรให้ความมั่นคงมันสั่นคลอน เราอยากตั้งคำถามว่า มันอ่อนไหวขนาดนั้นเลยเหรอ สิ่งที่เราทำมันคือความมั่นคงของราชอาณาจักรเลยเหรอ เราก็แบบ ห๊ะ What? แค่ภาพ ๆ เดียว”

ส่วนสิ่งที่สูญเสียไประหว่างต่อสู้คดีมาเกือบ 5 ปี  “อันดับแรก เราเสียงาน  สองแผนจะทำสิ่งต่าง ๆ ต้องหยุดและเปลี่ยนก่อน อย่างอื่นเราก็ยังไม่รู้ว่าจะเสียอะไรอีก เพราะคดีความยังไม่จบ” 

กิ๊กอธิบายสิ่งที่เคยแพลนไว้  “อยากทำการค้าขาย  ก็คิดว่าถ้าหมดภาระ เป้าหมายตอนนี้ไม่มีอะไรเลยนอกจากอยากถูกหวย (หัวเราะ) อยากมีเงินไปเปิดร้านอาหาร”  

กับผลการตัดสินคดี  แน่นอนว่า ไม่อยากติดคุก “เราก็อยากได้รับความเป็นธรรม เพราะเราก็ยังไม่เข้าใจว่า มันคือความมั่นคงขนาดนั้นเลยเหรอ มันไม่ถึงกับขั้นนั้นรึเปล่า เกิดคำถามตลอดว่าทำไมคดีเราถึงต้องพิพากษาใหม่  งงว่า สรุปมันจะยังไง  แล้ววันนี้ที่จะไปก็คิดว่า แย่ที่สุดก็อาจจะติดคุกใช่ไหม หรืออย่างน้อยที่สุดอาจจะมีโทษจำคุกแล้วรอลงอาญา ก็ลุ้นและภาวนาว่า อยากจะให้ผลตัดสินออกมาดี”

อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

จับตา ฟังคำพิพากษาคดี “สนธยา” พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ทวีตข้อความรูป ร.10 ถูกพ่นสี จำเลยยันเพียงทวีตแจ้งเหตุการณ์

ยกฟ้องคดี พ.ร.บ.คอมฯ “สนธยา-ประชาชนอีกราย” ศาลชี้โจทก์ไม่บรรยายว่าข้อมูลที่นำเข้าเป็นความผิดฐานใด ไม่ชอบด้วยป.วิ.อาญา ไม่ปรากฎว่ารูปถูกตัดต่อ 

ศาลอุทธรณ์ให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่ คดี พ.ร.บ.คอมฯ “สนธยา” ทวีตรูป ร.10 ที่ถูกพ่นสีสเปรย์ที่พัทยาเห็นว่าเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแล้ว แม้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าผิดมาตราใดในป.อาญา

X