วันที่ 8 มี.ค. 2567 เวลา 09.00 น. ที่ศาลอาญา รัชดาฯ ทนายความยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขัง ผัดที่ 3 ในคดีของสองนักกิจกรรม “ทานตะวัน ตัวตุลานนท์” และ “ณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร” จากกรณีที่ถูกกล่าวหาว่าบีบแตรใส่ขบวนเสด็จของกรมสมเด็จพระเทพรัตนฯ เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2567
ในเวลา 10.00 น. “สายน้ำ” นภสินธุ์ ตรีรยาภิวัฒน์ ในฐานะผู้รับมอบฉันทะจาก สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ “ส.ศิวรักษ์” ปัญญาชนนักคิดนักเขียน และ อธึกกิต แสวงสุข หรือ “ใบตองแห้ง” นักสื่อสารมวลชนอาวุโสไทย ได้เดินทางเข้ายื่นคำแถลงต่อศาลอาญา ขอให้ศาลพิจารณาไม่อนุญาตฝากขังเป็นผัดที่ 3 ในคดีของสองนักกิจกรรมดังกล่าว
สายน้ำได้เริ่มอ่านเนื้อหาในแถลงการณ์ของสุลักษณ์ โดยมีใจความสำคัญระบุว่า ในฐานะเนติบัณฑิตอังกฤษ มีความเชื่อมั่นในหลักนิติปรัชญาว่า ทุกคนต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน และบุคคลจะต้องมีสิทธิเสรีภาพอย่างเสมอภาคกัน การควบคุมกักขังที่ชอบด้วยกฎหมายจะต้องทำเพื่อป้องกันอันตรายอื่นใด หรือการหลบหนีเท่านั้น
และต้องมีการประกันอิสรภาพของบุคคลอย่างเคร่งครัด และจะตีความกฎหมายจำกัดสิทธิเสรีภาพเป็นหลักไม่ได้ และเห็นว่าผู้ต้องหาทั้งสองคนนี้ เป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหาที่พนักงานอัยการยังไม่ได้ฟ้องเป็นคดีต่อศาล และการต่อสู้ของเยาวชนทั้งสองคนก็เห็นได้ชัดว่าเป็นการต่อสู้ทางความคิด ไม่มีเหตุใดทางมนุษยธรรมและทางหลักกฎหมายที่จะควบคุมตัวไว้ตามคำร้องขอรัฐ
จึงขอให้ศาลได้ปลดปล่อยเด็กเหล่านี้ ตามอำนาจศาลยุติธรรมที่มีอยู่ เพื่อให้เขาได้มีสิทธิต่อสู้ทางความคิด และมีสิทธิในการต่อสู้ทางคดีอย่างเต็มที่ หากทั้งสองคนมีความผิดก็ให้ลงทัณฑ์ หากถูกก็ขอให้ยกฟ้องและปล่อยตัวโดยทันที
ด้าน อธึกกิต นักสื่อสารมวลชนอาวุโส ได้ยืนแถลงต่อว่า ประเทศไทยไม่มีใครอยากย้อนกลับไปอยู่ภายใต้ระบบเก่า และประเทศไทยจะต้องตั้งหลักจากประชาธิปไตย โดยมีหลักใหญ่ใจความสำคัญคืออำนาจสุงสุดเป็นของประชาชน และองค์ตุลาการซึ่งเป็นเสาหลักจะต้องรับประกันความปลอดภัย สิทธิและเสรีภาพของประชาชนเหล่านี้ ดำรงตนเป็นจุดเชื่อมโยงที่ปกปักพิทักษ์รักษาให้ความปลอดภัยระหว่างประชาชนกับการปกครอง
การปล่อยตัวชั่วคราวบุคคลนั้นเป็นสิทธิของบรรดาผู้ต้องหาและจำเลยในคดีอาญา การจำคุกกักขังบุคคลใดเกินกว่าที่สมควรตามเหตุผลที่กฎหมายกำหนดนั้นย่อมกระทำมิได้ และด้วยความเคารพต่อศาลอาญา การรับฝากขังผู้ต้องหาทั้งสองคนในคดีนี้ไว้ และไม่อนุญาตให้ประกันตัว ทั้งที่ทั้งสองมิได้มีพฤติการณ์หลบหนี ยินยอมให้เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมที่หน้าศาลอาญา และโดยที่ทั้งสองไม่สามารถเข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน และขัดขวางกระบวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวนได้ ถือว่าเป็นกรณีที่อันตรายต่อกระบวนการยุติธรรม และถือว่าเป็นการด้อยค่าสิทธิมนุษยชนของพวกเขา
อธึกกิตได้กล่าวปิดท้ายว่า ในการพิทักษ์ไว้ซึ่งกระบวนการยุติธรรม ในฐานะผู้ใหญ่และปัญญาชนที่เป็นเสาหลักในการปกป้องประชาชนนั้น เราจะเพิกเฉยละเลยต่อการพิทักษ์รักษาสิทธิมนุษยชนไปไม่ได้ และเราต่างเรียนรู้หลักการตามนิติปรัชญา เพื่อนำมาใช้สร้างความเป็นธรรมให้กับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน
พงส.ผู้ขอฝากขัง เบิกความยังต้องรอผลตรวจ VDO และสอบปากพยาน ปชช.อีก 2 ปาก แต่ยังไม่ทราบว่าเป็นใคร แต่ก็เห็นด้วยว่า “ตะวัน-แฟรงค์” ไม่สามารถไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้
การไต่สวนคัดค้านการฝากขังวันนี้มีเหตุว่าการยื่นคำร้องของพนักงานสอบสวนเป็นครั้งที่ 3 นี้ เป็นการฝากขังเกินความจำเป็น ศาลจึงได้นัดหมายไต่สวนคัดค้านการฝากขังดังกล่าว
ทนายความได้ยื่นคำร้องขอเบิกตัวผู้ต้องหาออกไต่สวน คำร้องระบุว่าทนายความและญาติได้รับแจ้งจากผู้ต้องขังทั้งสองว่าพวกเขามีความประสงค์ขอให้ศาลไต่สวนพนักงานสอบสวนต่อหน้าผู้ต้องหา โดยไม่ประสงค์ให้ไต่สวนผ่านจอภาพ หรือระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เนื่องจากไม่อาจทำให้ผู้ต้องหาปรึกษาทนายความเป็นการส่วนตัวได้ อีกทั้งระบบการถ่ายทอดอาจมีสัญญาณภาพและเสียงไม่ชัดเจน ทำให้ผู้ต้องหาไม่ได้รับความสะดวก และไม่สามารถต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่
ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 802 เวลาประมาณ 10.22 น. ศาลออกนั่งบัลลังก์ มีทนายของผู้ต้องหาทั้งสองคนมาศาล โดยไม่ได้มีการเบิกตัว “ตะวัน” และ “แฟรงค์” มาฟังการไต่สวนตามคำร้องของทนาย โดยอ้างเหตุว่าจำเลยทั้งสองมีสุขภาพไม่แข็งแรง ประกอบกับจำเลยทั้งสองมีทนายความอยู่แล้ว แฟรงค์จึงร่วมฟังการไต่สวนด้วยระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์จากโรงพยาบาลราชทัณฑ์เพียงคนเดียว ด้านตะวันที่ถูกควบคุมตัวอยู่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ นั้น เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์แจ้งว่าไม่สามารถไต่สวนคำร้องฝากขังผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ได้
พยานผู้ร้องขอฝากขังชื่อ พ.ต.ต.ธราดล วงศ์เจริญยศ พนักงานสอบสวน สน.ดินแดง เป็นหนึ่งในคณะพนักงานสอบสวนคดีนี้ ผู้รับผิดชอบสำนวน เบิกความต่อศาลว่าในการยื่นขอฝากขังครั้งที่ 3 มีความจำเป็นต้องสอบปากพยานประชาชนทั่วไปอีก 2 ปาก และรอผลตรวจวิดีโอทางวิทยาศาสตร์จากกองพิสูจน์หลักฐานว่ามีการแก้ไข หรือดัดแปลงหรือไม่ ซึ่งพยานคาดว่าผลตรวจดังกล่าวจะได้ภายในเวลาไม่เกิน 1 สัปดาห์
พ.ต.ต.ธราดล สรุปว่าอาจสอบสวนพยานให้แล้วเสร็จ ได้ภายในการฝากขังครั้งที่ 3
ทนายถามค้าน ถึงกรณีที่อ้างว่าการสอบสวนยังไม่แล้วสิ้น และคลิปวิดีโอทั้งสองส่วนได้ส่งไปตรวจพิสูจน์หลักฐานแล้วคือ 1. คลิปวิดีโอจากเฟซบุ๊ก ซึ่งส่งตรวจไปนานแล้ว และ 2. คลิปวิดีโอประจักษ์พยาน ซึ่งพยานผู้ร้องได้ส่งไปในภายหลัง พยานเห็นว่าจำเลยทั้งสองไม่มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องกับพยานหลักฐานแล้ว การตรวจสอบนั้นเป็นการตรวจว่าวิดีโอดังกล่าวถูกตัดต่อจากตำรวจหรือไม่
พยานยืนยันตามที่ทนายถามว่าคลิปวิดีโอตลอดการเกิดเหตุสามารถนำมาใช้ดำเนินคดีกับผู้ต้องหาทั้งสองได้
พยานยังไม่ทราบว่าพยานปากประชาชนอีก 2 ปากเป็นใคร ชื่อสกุลใด ซึ่งคณะสืบสวนทราบในส่วนนี้ และกล่าวต่อว่าได้สอบปากคำผู้กล่าวหาทั้งสามคน ตำรวจชุดจับกุมและสืบสวน และผู้ต้องหาแล้ว
พยานยืนยันตามที่ทนายถามว่าผู้ต้องหาทั้งสองคนไม่สามารถเข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้ ดังนั้นถ้าหากศาลไม่รับฝากขัง ก็จะไม่เป็นอุปสรรคต่อผู้ร้องแต่อย่างใด
หลังการไต่สวน ทนายได้แถลงต่อศาลว่า “ตะวัน” ฝากให้ทนายความแถลงประกอบการพิจารณาในวันนี้ มีใจความสำคัญว่า “ผู้ต้องหาทั้งสองขอเรียนต่อศาลว่า จากการไต่สวนพยานขอร้องฝากขังครั้งที่ 1 และครั้งนี้ เห็นได้ชัดว่าการกักขัง คุมขัง ระหว่างการสอบสวน เป็นสิ่งที่เกินความจำเป็นตามประมวลกฎหมายพิจารณาความอาญา หากไม่ฝากขังก็ไม่เป็นต่ออุปสรรคต่อพนักงานสอบสวน พยานผู้ร้องเคยเบิกความว่าผู้ต้องหาทั้งสองคนเป็นเพียงเยาวชน และมีที่อยู่แน่นอน จึงไม่มีพฤติการณ์หลบหนีและไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน
ดังนั้นการคุมขังผู้ต้องหาทั้งสองคนในคดีนี้ ซึ่งเป็นการฝากขังระหว่างการสอบสวน มิใช่ระหว่างการดำเนินคดีหลังฟ้อง จึงเป็นการกักขังในกรณีพิเศษ ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ตามประมวลกฎหมายพิจารณาความอาญา และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หากพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการเรียกให้ผู้ต้องหาทั้งสองมารายงานตัวตามคำสั่ง เห็นได้จากคดีที่ผ่านมาผู้ต้องหาทั้งสองถูกดำเนินคดีที่มีอัตราโทษสูงกว่าคดีนี้ ก็มาศาลทุกครั้ง ไม่เคยมีพฤติการณ์หลบหนี จึงขอให้ศาลพิจารณาคำขอฝากขังครั้งที่ 3 อย่างเคร่งครัด และขอให้ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 3 และส่งให้ปล่อยตัวเพื่อให้ผู้ต้องขังทั้งสองไปดำเนินชีวิตอย่างปกติ”
ด้านแฟรงค์ได้ฝากให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์แถลงต่อศาลว่า ตนเป็นเพียงแค่เยาวชนคนหนึ่ง ขอให้ศาลยกคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 3 และปล่อยตัว
หลังจากการไต่สวนเสร็จสิ้น ศาลแจ้งว่าตามระเบียบของศาลอาญาว่าด้วยแนวทางการบริหารจัดการคดีสำคัญและเป็นที่สนใจ ต้องนำคดีไปปรึกษารองอธิบดีศาลก่อน โดยนัดฟังคำสั่งในเวลาประมาณ 14.00 น.
ในการไต่สวนครั้งนี้มีเพื่อนนักกิจกรรม ประชาชน และสื่อพลเมือง เข้าร่วมฟังการพิจารณาในวันนี้เต็มที่นั่งห้องพิจารณาคดี
สำหรับ ‘แฟรงค์’ ในวันนี้ใส่เสื้อคอกลมสีขาวและหน้ากากอนามัย นั่งฟังที่หน้าจอคอนเฟอเรนซ์ตลอดการไต่สวนราว 1 ชั่วโมงในสภาพร่างกายที่อิดโรย และศีรษะพิงกำแพงตลอดเวลา ในช่วงท้ายทนายความได้ขออนุญาตให้เพื่อนนักกิจกรรมที่มารอเจอแฟรงค์ได้โบกมือทักทาย ก่อนที่แฟรงค์จะต้องกลับขึ้นไปพักผ่อนที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ โดยมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ 2 คนเป็นผู้อุ้มตัวแฟรงค์ไป เนื่องจากสภาพร่างกายเขาค่อนข้างอ่อนล้า ไม่สามารถลุกขึ้นหรือเดินเองได้
ศาลอนุญาตให้ฝากขังต่อ ชี้คดียังอยู่ระหว่างสอบสวนและผู้ร้องยังต้องสอบปากคำพยาน-รอผลตรวจวิดีโอ
ต่อมาเวลา 14.10 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 802 ‘แฟรงค์’ ได้วิดีโอคอนเฟอเรนซ์เพื่อฟังคำสั่งศาล โดยสภาพร่างกายของเขาอิดโรยไม่ต่างจากเมื่อเช้านัก และบรรยากาศในห้องก็มีเพื่อนนักกิจกรรมและประชาชนมาร่วมฟังจำนวนมากเช่นเดียวกับช่วงเช้า
ศาลอ่านคำสั่งโดยอนุญาตให้ฝากขังทั้งสองคนตามคำขอของพนักงานสอบสวน เปฺ็นระยะเวลาอีก 12 วัน ระหว่างวันที่ 9-20 มี.ค. 2567 โดยเห็นว่า คดียังอยู่ระหว่างการสอบสวนเพื่อรวบรวมพยานหลักฐานซึ่งยังไม่แล้วเสร็จ ผู้ร้องยังมีพยานบุคคลที่ต้องสอบอีก 2 ปาก ซึ่งเป็นพยานที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดของผู้ต้องหาทั้งสอง ทั้งยังต้องรอผลการตรวจวิทยาศาสตร์จากกองพิสูจน์หลักฐาน (คลิปวิดีโอ) ว่ามีการแก้ไขดัดแปลงหรือไม่ ประกอบการพิจารณาทำความเห็นสั่งฟ้อง กรณีมีเหตุจำเป็นที่ต้องควบคุมตัวผู้ต้องหาทั้งสองต่อไป ดังนั้น คำร้องขอฝากขังครั้งที่ 3 ของผู้ร้อง จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87
ในส่วนเรื่องอำนาจการควบคุมตัวผู้ต้องหา เมื่อศาลอนุญาตให้หมายขังตามคำร้องขอฝากขังแล้ว เป็นดุลยพินิจของศาลที่จะอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวหรือไม่ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 ซึ่งผู้ต้องหาทั้งสองมีสิทธิยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวหรืออุทธรณ์คำสั่งได้ตามกฎหมาย จึงมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังได้ตามขอ และกำชับพนักงานสอบสวนให้เร่งรัดการสอบสวนให้แล้วเสร็จภายในการฝากขังครั้งนี้
ส่วนการยื่นประกันตัวทั้งสองคน ยังไม่มีการยื่นประกันในวันนี้
ในเวลา 14.30 น. หลังศาลอาญาอนุญาตฝากขังผู้ต้องหาทั้งสองคนต่อ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี อดีตศิลปินแห่งชาติ เจ้าของนามปากกา “สิงห์สนามหลวง” ได้เดินทางยื่นคำแถลงต่อศาล กล่าวแสดงความรู้สึกผิดหวังต่อคำตัดสินของศาล
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าเมื่อทราบคำสั่งของศาลว่าอนุญาตให้ฝากขังทั้งสองต่อเป็นผัดที่ 3 ตนและนายสุชาติรู้สึกผิดหวังมาก ในวันนี้ตนยื่นคำแถลงต่อศาลระบุว่า “ข้าพเจ้า เคยเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเคยเห็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาหลายยุคหลายสมัย เห็นความโหดร้ายในการปราบปรามประชาชนในการสังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 อันเกิดขึ้นจากการที่มีผู้คนอ้างความเชื่อที่ถูกปลุกปั่นยุยงให้เข้าประหัตประหารเยาวชนนักเรียนนิสิตนักศึกษา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สร้างขึ้นโดยมีเจตนารมณ์ว่าบ้านเมืองต้องมีกฎหมายเป็นหลัก ผู้คนต้องเท่าเทียมกันต่อหน้ากฎหมายอันเป็นเจตนารมณ์ของนายปรีดี พนมยงค์ บรรพตุลาการและรัฐบุรุษของพวกเราทั้งหลาย เพื่อให้การปกครองบ้านเมืองนั้น ใช้การปกครองในระบบกฎหมายเท่านั้นโดยปราศจากอคติทั้งปวง
เมื่อเด็กทั้งสองคนนี้ยังคงเป็นผู้ถูกกล่าวหา จึงต้องใช้หลักการสันนิษฐานไว้ก่อน ว่าเขาทั้งสองเป็นผู้บริสุทธิ์และต้องใช้หลักการความเป็นธรรมทางกฎหมายทั้งปวงที่ท่านมีอยู่ในมือเพื่อใช้ดำรงหลักการและคุ้มครองบ้านเมืองให้สงบสุขต่อไป
จึงขอให้พิจารณาไม่รับฝากขังเยาวชนทั้งสองตามคำขอของตำรวจและให้ปล่อยชั่วคราวไปตลอดเวลาในการพิจารณาคดีจนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด”
ด้านนายสุชาติ สวัสดิ์ศรี อดีตศิลปินแห่งชาติ เจ้าของนามปากกา “สิงห์สนามหลวง” ยื่นคำแถลงต่อศาลอาญา ระบุว่า ”ข้าพเจ้า เป็นอดีตนักศึกษาเก่าของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เติบโตมาในสมัยของเผด็จการถนอม-ประภาส ตลอดชีวิตที่ผ่านมาได้รับรู้และรับทราบรสชาติของการที่ประชาชนจะต้องใช้ชีวิตอยู่ใต้เผด็จการเป็นอย่างดี รู้รสชาติของสภาวะที่อำนาจตุลาการตกอยู่ภายใต้การสั่งการของเผด็จการ รู้รสชาติของการถูกถอดถอนตำแหน่งศิลปินแห่งชาติจากการมีความเห็นที่ไม่ตรงรัฐ
ข้าพเจ้าเชื่อว่าเด็กสองคนในคดีนี้ ไม่ควรได้รับสิ่งที่ข้าพเจ้าเคยได้รับรู้รับทราบ ไม่เคยสมควรต้องได้รับรู้รสชาติเช่นตอนที่ข้าพเจ้าได้ถูกถอดถอนจากตำแหน่งศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่าไม่เคยได้รับโอกาสในการโต้แย้งใดๆ
เมื่อเวลาผ่านมาและข้าพเจ้าเติบโตมีปริทัศน์ขึ้น ข้าพเจ้าอยากให้เด็กได้รับโอกาสนั้น และได้รับโอกาสที่จะถูกสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ซึ่งข้าพเจ้าเชื่อว่าเป็นหลักการทางกฎหมาย
ข้าพเจ้าขอเรียนต่อศาลที่เคารพต่อไปว่า แม้ข้าพเจ้าจะรับรู้รสชาติของภาวะที่อำนาจตุลาการตกอยู่ภายใต้การสั่งการของเผด็จการ แต่ข้าพเจ้าเชื่อว่าตุลาการในยุคใหม่ไม่ใช่เช่นนั้น เชื่อมั่นว่าตุลาการเป็นอิสระได้และเชื่อมั่นว่าระบบตุลาการไทยจะเป็นเสาหลักของประเทศไทยในการปกป้องประชาชนผู้เห็นต่างและถูกคุกคาม
สุดท้ายนี้ข้าพเจ้าขอเรียนต่อศาลที่เคารพว่า ข้าพเจ้าเชื่อว่าการไม่รับฝากขังและปล่อยตัวชั่วคราวเด็กกลับไปสู่พ่อแม่ของเขาจะไม่ทำให้ประเทศไทยในพุทธศักราช 2567 ล่มจมล่มสลายแต่ประการใด จึงขอให้ท่านไม่รับฝากขังผู้ต้องหาทั้งสองนี้ต่อไปและหากมีการรับฝากขังจองจำผู้ต้องหาทั้งสองนี้ไว้ ก็ขอให้ผู้พิพากษา ซึ่งเป็นผู้พิจารณาปล่อยชั่วคราวพิจารณาให้ปล่อยชั่วคราวเยาวชนทั้งสองและเป็นหลักประกันความยุติธรรมให้ผู้บริสุทธิ์ทั้งหลายด้วย“
เรื่องที่เกี่ยวข้อง