จำคุก 1 ปีครึ่ง – รอลงอาญา ปรับ 2.5 หมื่น 4 นักกิจกรรม-ปชช. คดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ – มั่วสุมฯ เหตุร่วม #ม็อบ13ตุลา64 หน้าเรือนจำพิเศษฯ 

วันที่ 9 ก.พ. 2567 ศาลอาญานัดอ่านคำพิพากษาในคดีของ “พี” พีรพงศ์ เพิ่มพูล นักกิจกรรมกลุ่มทะลุฟ้า, “ต๋ง” ปนัดดา ศิริมาศกูล นักกิจกรรมกลุ่มทะลุฟ้า, อาภากร (นามสมมติ) แม่ลูกอ่อนวัย 1 เดือน และ พรพจน์ แจ้งกระจ่าง นักกิจกรรมอิสระ ซึ่งถูกฟ้องในข้อหาหลัก มั่วสุมก่อความวุ่นวาย, ทำให้สาธารณสมบัติเสียหาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215, 360 และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกรณีร่วมกันชุมนุมและปราศรัยใน #ม็อบ13ตุลา เสวนากระบวนการยุติธรรมกับอิสรภาพนักเคลื่อนไหวทางการเมือง บริเวณหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2564

ศาลเห็นว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามฟ้อง พิพากษาจำคุก 1 ปี 6 เดือน ปรับ 25,100 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ให้คุมความประพฤติมีกำหนด 1 ปี โดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 3 ครั้ง และให้ทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรไม่น้อยกว่า 12 ชั่วโมง

.

ย้อนกลับไปเมื่อ 13 ต.ค. 2564 เพจเฟซบุ๊กชื่อ “ทะลุฟ้า – thalufah” ได้นัดหมายทำกิจกรรมเสวนาชื่อ “กระบวนการยุติธรรมกับอิสรภาพนักเคลื่อนไหวทางการเมือง” ที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ซึ่งในขณะนั้นเป็นสถานที่คุมขังผู้ต้องขังทางการเมืองหลายคน เช่น อานนท์ นำภา, “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์,​ “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก รวมทั้งสมาชิกทะลุฟ้า ได้แก่ “อาทิตย์” ทวี เที่ยงวิเศษ, “ไดโน่” นวพล ต้นงาม, “ปีก” วชิรวิชญ์ ลิมป์ธนวงศ์ และ “เปา” ปวริศ แย้มยิ่ง

ในวันดังกล่าว ตัวอักษรที่เป็นป้ายเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ถูกนำออก และมีรั้วมากั้นบริเวณหน้าประตูทางเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ผู้ชุมนุมจึงจัดกิจกรรมบนฟุตบาทและใช้พื้นที่บนถนนงามวงศ์วาน 2 เลน โดยไม่มีตำรวจมาประกาศข้อห้ามจัดกิจกรรมตามข้อกำหนดของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่มาเจรจากับผู้จัดกิจกรรมเพื่อขอให้รถยังคงสัญจรผ่านได้

ในกิจกรรม มีผู้ชุมนุมหลายคนผลัดกันขึ้นปราศรัยเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายมาตรา 112 การปิดปากคนคิดต่าง และการคุมขังผู้ที่เคลื่อนไหวทางการเมือง ต่อมามีกิจกรรม Art Performance ประกอบเพลงแร็พ อ่านบทกลอน และโปรยแผ่นกระดาษใบปลิวที่มีข้อความเรียกร้องให้ปล่อยเพื่อนเรา 

หลังจากนั้นจึงเป็นการเสวนา โดยวิทยากร 4 คน คือ “ปูน” ธนพัฒน์ กาเพ็ง นักกิจกรรมกลุ่มทะลุฟ้า, เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ภาคประชาชนด้านสิ่งแวดล้อม, ชลิตา บัณฑุวงศ์ นักวิชาการ และ “ทนายแจม” ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ และหลังจบการเสวนา ผู้ชุมนุมได้ร่วมกันจุดเทียนและร้องเพลง “ฝากรักถึงเจ้าผีเสื้อ” ให้เพื่อนที่อยู่ในเรือนจำ โดยบริเวณรอบกิจกรรม มีการเปิดโต๊ะให้เขียนข้อความถึงคนในเรือนจำ และติดโพสต์อิทไว้บนบอร์ด มีการนำรูปของคนที่อยู่ในเรือนจำมาติดประดับประดาที่รั้วเรือนจำ ก่อนผู้จัดการชุมนุมจะประกาศยุติการชุมนุมในเวลาประมาณ 19.23 น. (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ Mob Data Thailand)

ต่อมา สน.ประชาชื่น ได้ออกหมายเรียกนักกิจกรรมและประชาชนทั้งสี่เข้ารับทราบข้อกล่าวหาร่วมกันชุมนุมฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2564 จากนั้น วันที่ 19 ส.ค. 2565 พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหา ร่วมกันมั่วสุมก่อความวุ่นวาย, ทำให้สาธารณสมบัติเสียหาย รวมทั้งข้อหาตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้อนุญาต เพิ่มเติม หลังได้รับมอบหมายจากพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5  

กระทั่ง วันที่ 11 ต.ค. 2565 อินทิรา เมฆฉาย พนักงานอัยการสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5 ได้ยื่นฟ้องจำเลยทั้ง 4 คน ต่อศาลอาญา ใน 6 ข้อหา ดังนี้

  1. ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการให้เกิดการวุ่นวายในบ้านเมือง โดยเป็นหัวหน้าหรือผู้สั่งการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215                
  2. ร่วมกันทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์  ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360                
  3. ร่วมกันโฆษณาด้วยการปิด ทิ้ง หรือโปรยแผ่นประกาศ หรือใบปลิวในที่สาธารณะ ตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 10
  4. ร่วมกันขูด กระเทาะ ขีด เขียน พ่นสีหรือทำให้ปรากฏด้วยประการใด ๆ ซึ่งข้อความ ภาพ หรือ รูปรอยใด ๆ ที่กำแพงที่ติดกับถนน บนถนน ที่ต้นไม้หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคารที่อยู่ติดกับถนนหรืออยู่ในที่สาธารณะ ตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 12
  5. ร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
  6. ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้า โดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ มาตรา 4

คดีนี้ ศาลนัดสืบพยานโจทก์และจำเลยในวันที่ 8 – 9 ก.พ. 2567 อย่างไรก็ตามในการสืบพยานในวันที่ 9 ก.พ. 2567 ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 908 จำเลยทั้งสี่ตัดสินใจถอนคำให้การเดิมจากที่ให้การปฏิเสธ และให้การใหม่เป็นรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา 

ศาลจึงมีคำพิพากษาทันทีในวันดังกล่าว โดยให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสี่คนละ 1 ปี 6 เดือน ปรับคนละ 25,100 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ให้คุมความประพฤติมีกำหนด 1 ปี โดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 3 ครั้ง ใน 1 ปี และให้ทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรไม่น้อยกว่า 12 ชั่วโมง

X