อดอาหาร-น้ำ ยืนหยุดขังในเรือนจำ ถูกย้ายที่ขังกะทันหัน
สถานการณ์ผู้ต้องขังการเมืองในเรือนจำเข้มข้นขึ้น
ขณะมีคนถูกขังเพิ่มอีก “บัสบาส-บุ้ง” ทำยอดรวมแตะ 38 คน
มกราคม เดือนแรกของปี 2567 พบว่า ผู้ต้องขังคดีการเมือง ‘ระหว่างสู้คดี’ ที่ถูกคุมขังต่อเนื่องมาจากปี 2566 อย่างน้อย 24 คน ยังคงไม่มีใครได้รับสิทธิประกันตัวแม้แต่คนเดียว ขณะเดียวกันมีผู้ถูกคุมขังเพิ่มอีก 2 คน คือ “บัสบาส” มงคล ในคดีมาตรา 112 และ “บุ้ง” เนติพร ในคดีละเมิดอำนาจศาลและคดีมาตรา 112 ที่ถูกศาลสั่งถอนประกัน
แต่มีกรณีล่าสุดของ “เจมส์” ณัฐกานต์ ที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ที่จังหวัดพัทลุง ได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 1 ก.พ. 2567 เนื่องจากอัยการไม่ได้สั่งฟ้องภายในระยะเวลาฝากขัง 84 วัน
ทำให้ปัจจุบัน (1 ก.พ. 2567) มีผู้ต้องขังคดีการเมืองรวมทั้งสิ้น อย่างน้อย 38 คน แบ่งเป็นระหว่างสู้คดี 25 คน และคดีถึงที่สุดแล้ว 13 คน
ระหว่างสู้คดี 25 คน
คดีมาตรา 112 จำนวน 15 คน
คดีที่ถูกฟ้องว่าครอบครองวัตถุระเบิด จำนวน 4 คน
คดีอื่น ๆ จำนวน 6 คน
คดีถึงที่สุด 13 คน
คดีมาตรา 112 จำนวน 6 คนคดีถูกฟ้องว่าครอบครองวัตถุระเบิด จำนวน 4 คน
คดีเป็นอั้งยี่ จำนวน 2 คน
คดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จำนวน 1 คน
สรุปสถานการณ์ตลอดเดือนมกราคม
1. กฤษณะ ถูกย้ายเรือนจำ โดยไม่ทราบเหตุผลแน่ชัด
10 ม.ค. “เอ” กฤษณะ ผู้ต้องขังคดีถึงที่สุด ในคดีสหพันธรัฐไทย วัย 37 ปี ถูกย้ายตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ไปคุมขังยัง ‘เรือนจำกลางพระนครศรีอยุธยา’ ทั้งที่ไม่ใช่จังหวัดตามภูมิลำเนาหรือที่พำนักปัจจุบันของครอบครัว เบื้องต้นยังไม่ทราบเหตุผลของการย้ายสถานที่คุมขังครั้งนี้
ผู้ต้องขังคดีการเมืองที่ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ คนหนึ่งได้เล่าว่า เรือนจำมีการสุ่มคัดเลือกผู้ต้องขังย้ายไปยังเรือนจำแห่งอื่น เพื่อลดปัญหาความแออัดในเรือนจำ
เหตุการณ์เดียวกันนี้เคยเกิดขึ้นกับ “วรรณภา” คู่คดีของกฤษณะที่ถูกคุมขังพร้อมกัน ในตอนแรกเธอถูกคุมขังอยู่ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง ก่อนจะถูกย้ายตัวกะทันหันไปยังทัณฑสถานหญิงกลางชลบุรี จ.ชลบุรี ในวันที่ 27 มิ.ย. 2566 โดยที่เรือนจำไม่แจ้งให้วรรณภาและญาติทราบล่วงหน้า เรือนจำอ้างว่าปฏิบัติการดังกล่าวเป็นไปเพื่อลดความแออัดของเรือนจำ ซึ่งจนถึงปัจจุบันเธอยังคงไม่ได้รับการย้ายตัวกลับมาที่ทัณฑสถานหญิงกลาง
2. “บุ้ง ทะลุวัง” อดอาหาร-น้ำประท้วง
27 ม.ค. “บุ้ง เนติพร” นักกิจกรรมกลุ่มทะลุวัง วัย 26 ปี ตัดสินใจอดอาหารและน้ำประท้วง (Dry Hunger Strike) ตั้งแต่ช่วงเย็น เวลาประมาณ 18.00 น. เป็นต้นมา โดยมีข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและเรียกร้องหลักประกันว่าในอนาคตจะต้องไม่มีประชาชนคนใดถูกคุมขังเพียงเพราะเห็นต่างทางการเมืองอีก
จากการเข้าเยี่ยมของทนายความ พบว่า ในแต่ละวันบุ้งได้รับผลข้างเคียงจากการประท้วงรุนแรงมากเพิ่มขึ้นตามลำดับ ทั้งนี้ เธอยังได้เซ็นเอกสารแสดงเจตจำนงไม่ขอรับการรักษาจากแพทย์ รวมถึงปฏิเสธการช่วยเหลือชีวิตหรือ ‘กู้ชีพ’ ทุกหนทาง หากว่าในอนาคตหัวใจหยุดเต้นลง
ครั้งนี้ บุ้งถูกคุมขังมาตั้งแต่วันที่ 26 ม.ค. เป็นต้นมา ภายหลังถูกศาลอาญากรุงเทพใต้สั่งจำคุก 1 เดือน ในคดีละเมิดอำนาจ ซึ่งถูกกล่าวหาจากกรณีเดินทางไปให้กำลัง “โฟล์ค” สหรัฐ สุขคำหล้า ที่ถูกพิพากษาจำคุกในคดีมาตรา 112 เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2566
3. เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ รวมตัวผุดกิจกรรม #ยืนหยุดขังหลังเพลงสรรเสริญ นาน 112 นาที
เพจเฟซบุ๊ก “ทะลุแก๊ส” โพสต์แจ้งว่า ผู้ต้องขังคดีการเมืองที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพจะเริ่มแสดงออก ด้วยการ ‘ยืนหยุดขัง’ หลังเพลงสรรญเสริญพระบารมีในเรือนจำหยุดลง ในช่วงเย็นของทุกวัน โดยจะทำกิจกรรมเป็นเวลานาน 112 นาที หรือเกือบ 2 ชั่วโมง เริ่มตั้งแต่เย็นของวันที่ 31 ม.ค. เป็นต้นไป
กิจกรรมดังกล่าวถูกระบุว่า จะมีการชูป้ายข้อความประท้วงกระบวนการยุติธรรมไทย และชูสัญลักษณ์ 3 นิ้ว ซึ่งคาดว่าการแสดงออกนี้จะเกิดขึ้นภายในแดน 3, 4, 5, 6 และ 8 ของเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ หรือเกินครึ่งของพื้นที่เรือนจำที่มีทั้งหมด 8 แดนด้วยกัน
ทั้งนี้ เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เป็นสถานที่คุมขังผู้ต้องขังเพศกำหนดชาย ซึ่งขณะนี้มีผู้ต้องขังคดีการเมืองถูกคุมขังอยู่ ณ เรือนจำแห่งนี้ อย่างน้อย 26 คน เป็นผู้ถูกคุมขังระหว่างสู้คดี 18 คน อาทิ อานนท์ นำภา, เวหา, จิรวัฒน์ และโสภณ อีกจำนวนหนึ่งเป็นผู้ต้องขังคดีถึงที่สุดแล้ว 8 คน อาทิ ณัฐชนน, ทัตพงศ์ และสุดใจ
4. ‘เอกชัย’ เตรียมถูกปล่อยตัว หลังครบกำหนดโทษ 1 ปี
ในวันที่ 4 ก.พ. ที่จะถึงนี้ เป็นวันกำหนดพ้นโทษ ของ “เอกชัย หงส์กังวาน” นักกิจกรรมวัย 48 ปี ผู้ถูกคุมขังในคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (4) จากการถูกศาลฎีกาพิพากษายืนจำคุก 1 ปี ในคดีโพสต์เล่าเรื่องเพศในเรือนจำ เมื่อปี 2560
ก่อนหน้านี้เอกชัยถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ แต่ปัจจุบันอยู่ภายใต้ความดูแลของแพทย์ที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราขทัณฑ์ ระหว่างการพักฟื้นอาการป่วยภายหลังการผ่าตัดฝีที่ตับก้อน ซึ่งต่อมาพบว่ามีก้อนเนื้อที่ตับอีกก้อนหนึ่ง แต่มีขนาดเล็กกว่า จึงยังต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เรื่อยมาจวบจนปัจจุบัน
เทศกาลแห่งความรักปีนี้ ชวนส่งต่อความรัก ความห่วงใย ให้กับผู้ต้องขังคดีการเมืองทุกคน ด้วยการสนับสนุนร่างกฎหมาย ‘นิรโทษกรรมประชาชน’
ผ่านการลงชื่อสนับสนุนทั้งช่องทางออนไลน์และจุดลงชื่อทั่วประเทศ รวมถึงการเข้าร่วมกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นตลอดทั้ง 14 วัน ตั้งแต่ 1-14 ก.พ. 2567 นี้
ร่วมลงชื่อสนับสนุนร่างกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน สร้างก้าวแรกเพื่อยุติความขัดแย้งทางการเมือง
(ตั้งแต่วันที่ 1-14 ก.พ. 2567 เท่านั้น)