จากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยในวันที่ 31 มกราคม 2567 ว่าการกระทำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง และสั่งการให้ทั้งสอง
1. เลิกการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่นเพื่อให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ
2. ไม่ให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วยวิธีการซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบ ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 74
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นองค์กรให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนจากการใช้อำนาจรัฐหลังการรัฐประหาร 2557 และประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง รวมถึงการถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา เห็นถึงปัญหาของบทบัญญัติและการบังคับใช้มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งหากนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 – 31 มกราคม 2567 มีผู้ถูกดำเนินคดีไม่น้อยกว่า 263 ราย จากจำนวน 288 คดี มีความกังวลอย่างยิ่งต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และมีความเห็นต่อคำวินิจฉัยและผลกระทบจากคำวินิจฉัยดังต่อไปนี้
1. คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ นั้นมีลักษณะเป็นการก้าวล่วงอำนาจนิติบัญญัติ กล่าวคือ การเสนอให้แก้ไขกฎหมายนั้นเป็นกระบวนการตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้โดยเฉพาะตามรัฐธรรมนูญ ร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการรอการพิจารณา ยังไม่ถึงขั้นรับหลักการ ร่างดังกล่าวอาจผ่านการพิจารณาหรือไม่ หรือมีการแก้ไขไปจนแตกต่างจากร่างเดิมก็ได้ ซึ่งทั้งหมดเป็นอำนาจของสภาผู้แทนราษฎรร่วมกัน มิใช่อำนาจของผู้เสนอกฎหมายในการแก้ไขกฎหมายได้หากไม่ผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร
นอกจากนี้หากร่างกฎหมายดังกล่าวมีลักษณะเป็นการล้มล้างการปกครองก็ไม่อาจผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา รวมถึงพระมหากษัตริย์ก็ทรงอำนาจในการยับยั้งร่างกฎหมายที่ไม่ทรงเห็นชอบได้ชั่วคราว อีกทั้งรัฐธรรมนูญ 2560 ยังมีกลไกในการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายทั้งก่อนและภายหลังการบังคับใช้ ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่ร่างกฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่งจะผ่านการพิจารณาหากไม่ได้รับความเห็นชอบจากกระบวนการดังกล่าว
การใช้อำนาจตามมาตรา 49 รัฐธรรมนูญ สั่งให้เลิกไม่ให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วยวิธีการซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต จึงเป็นการก้าวก่ายการใช้อำนาจนิติบัญญัติซึ่งมีกลไกในการตรวจสอบไว้โดยเฉพาะแล้ว ขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจ ซึ่งมีผลกระทบกระเทือนต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอย่างร้ายแรง
การเสนอร่างพระราชบัญญัติเพื่อแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ยังเป็นการใช้สิทธิในการที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารรัฐกิจตาม ข้อ 25 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ICCPR ซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติอธิบายว่า “การบริหารรัฐกิจ” หมายรวมถึงสิทธิของประชาชนในการใช้อำนาจนิติบัญญัติหรืออำนาจในฐานะสมาชิกของฝ่ายนิติบัญญัติ และสิทธิที่จะ “เลือกหรือเปลี่ยนรัฐธรรมนูญ หรือการตัดสินประเด็นสาธารณะผ่านการทำประชามติ”
2. ตามมาตรา 49 วรรคสองของรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสั่งได้เพียงให้เลิกการกระทำ ซึ่งหมายถึงการกระทำที่เกิดขึ้นแล้ว แต่คำวินิจฉัยดังกล่าวศาลรัฐธรรมนูญยังวินิจฉัยรวมไปถึงการกระทำในอนาคตในการเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งอาจแตกต่างไปจากข้อเสนอของพรรคก้าวไกลก็เป็นได้ การสั่งอย่างคลุมเครือว่า ห้ามเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วยวิธีการซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบ จึงเป็นคำสั่งที่เกินกว่าอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ
นอกจากนี้ แม้คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นเด็ดขาดและผูกพันองค์กรรัฐ แต่คำวินิจฉัยดังกล่าวย่อมไม่กระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชนทั่วไปในการรณรงค์ให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา รวมถึงสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนในการนำเสนอข่าวด้วยเช่นกัน
3. การแก้ไขประมวกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้น ไม่เป็นการกระทบกระเทือนต่อสถานะของสถาบันกษัตริย์ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 รับรองไว้ในหมวด 1 และหมวด 2 หากมีการแก้ไขหรือแม้กระทั่งยกเลิกมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา ก็ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองหรือพระราชอำนาจ และพระมหากษัตริย์ก็ยังได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายที่บุคคลใด ๆ จะดูหมิ่น หมิ่นประมาทไม่ได้ เช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป ซึ่งมิใช่การล้มล้างการปกครอง
4. การเป็นนายประกันให้กับบุคคลซึ่งถูกดำเนินคดีตามกฎหมายนั้นเป็นการสนับสนุนให้บุคคลเข้าถึงสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามมาตรา 29 รัฐธรรมนูญ และตามข้อ 14 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ICCPR ซึ่งผลร้ายที่สุดของบุคคลที่เข้านายประกันคือต้องสูญเสียจำนวนเงินตามวงเงินประกันหากจำเลยหลบหนี การที่ศาลรัฐธรรมนูญนำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาพิจารณาประกอบว่าพรรคก้าวไกลล้มล้างการปกครอง อันเป็นผลร้ายกับนายประกันเกินกว่าที่คาดหมาย อาจทำให้บุคคลทั่วไปไม่กล้าเป็นนายประกันคดีอาญา ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมของผู้ถูกดำเนินคดีอาญาอื่น ๆ ในอนาคตอีกด้วย
5. การเสนอร่างพระราชบัญญัติเพื่อแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งได้รับการคุ้มครองภายใต้ ข้อ 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ICCPR เนื่องจากเป็นการแสดงความเห็นเกี่ยวกับปัญหาของมาตรา 112 และเป็นการแสดงความเห็นว่ามาตรา 112 ควรได้รับการแก้ไข
เพราะเหตุนี้ ศาลรัฐธรรมนูญจะออกคำสั่งจำกัดสิทธิดังกล่าวมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย และแสดงให้เห็นว่าการจำกัดมีความจำเป็นต่อการบรรลุวัตถุประสงค์ที่บัญญัติไว้ในข้อ 19(3) ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ICCPR เช่น การรักษาความมั่นคงของชาติ ซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้แสดงความเห็นว่า กฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกต้องไม่ถูกบังคับใช้เพื่อปกปิดข้อมูลที่เป็นประโยชน์สาธารณะ หรือเพื่อดำเนินคดีทางกฎหมายกับนักกิจกรรม หรือนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าว โดยการอ้างว่ากระทำไปเพื่อรักษาความมั่นคงของชาติ หากต้องการจำกัดสิทธิดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญต้องพิสูจน์ความสัมพันธ์ระหว่างการเสนอแก้ไขมาตรา 112 และภัยอันตรายต่อความมั่นคงของชาติ
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ขอยืนยันสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ว่าบุคคลทั่วไปยังสามารถสะท้อนปัญหา วิจารณ์ รณรงค์ให้มีการแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายซึ่งกระทบต่อสิทธิเสรีภาพประชาชน อันรวมถึงมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญาด้วยเช่นเดียวกัน
ด้วยความเคารพต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
.