ยกฟ้อง! คดีหมิ่นประมาท “อัญชะลี-กนก” ของ “ไอซ์ รักชนก” ปราศรัยวิจารณ์สื่อฯ ชี้แสดงออกตามที่วิญญูชนพึงกระทำเพื่อรักษาประโยชน์สาธารณะ 

วันที่ 29 ม.ค. 2567 เวลา 9.00 น. ศาลแขวงพระนครเหนือนัดฟังคำพิพากษาคดีของ “ไอซ์” รักชนก ศรีนอก สส. เขตบางบอน-หนองแขม พรรคก้าวไกล และอดีตนักกิจกรรมทางการเมือง กรณีถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาท  “เจ๊ปอง” อัญชะลี ไพรีรัก และ กนก รัตน์วงศ์สกุล สองพิธีกรจัดรายการทางสถานีโทรทัศน์ช่องท็อปนิวส์ จากกรณีปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของสื่อมวลชน ในการชุมนุม #ม็อบ6มีนา ของกลุ่มรีเด็ม (REDEM) ที่บริเวณหน้าศาลอาญา เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2564

ศาลเห็นว่า จากทางการนำสืบโจทก์มีการนำเสนอข่าวปลอมที่ไม่ผ่านการตรวจสอบ และไม่ได้ออกมารับผิดชอบ เมื่อโจทก์ทั้งสองต่างทำหน้าที่พิธีกรเสนอข่าวสารแก่ประชาชนทั่วไป จึงถือว่าเป็นบุคคลสาธารณะ ประชาชนย่อมวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่สื่อของโจทก์ทั้งสองได้ในขอบเขตที่เหมาะสม

การที่จำเลยกล่าวถึงโจทก์ทั้งสองก็เป็นการพูดถึงการทำหน้าที่สื่อของโจทก์ทั้งสองตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นตามที่จำเลยรู้มา โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ปั้นแต่งเรื่องขึ้นเพิ่มเติม แม้การกระทำที่จำเลยแสดงออกจะหยาบคายรุนแรงไม่เหมาะสมไปบ้าง แต่ยังอยู่ในขอบเขตของการแสดงออกตามวิญญูชนทั่วไปพึงกระทำเพื่อรักษาผลประโยชน์ของบุคคลหรือสาธารณะ จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท พิพากษายกฟ้อง และยกคำร้องของโจทก์ทั้งสองในส่วนการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนความเสียหาย

.

ย้อนอ่านข่าวและข้อต่อสู้ในคดีนี้ >>> จับตา! พิพากษาคดีหมิ่นประมาท “อัญชะลี-กนก” ของ “ไอซ์ รักชนก” ปราศรัยวิจารณ์สื่อฯ ใน #ม็อบ6มีนา64 ยืนยันแสดงความเห็นโดยสุจริต – ถูกฟ้องปิดปาก

.

วันนี้ (29 ม.ค. 2567) เวลา 09.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 6 จำเลยเดินทางมาฟังคำพิพากษา ต่อมาผู้พิพากษาได้อ่านคำพิพากษาในคดีนี้ สามารถสรุปได้ดังนี้

พิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยแล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ตามวันและเวลาเกิดเหตุจำเลยร่วมการชุมนุมที่หน้าศาลอาญา ถนนรัชดาฯ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำความผิดตามที่โจทก์ทั้งสองฟ้องหรือไม่ 

โจทก์ทั้งสองนำสืบโดยมีโจทก์ที่ 2 และ อุดร แสงอรุณ เบิกความร่วมกันว่า จำเลยได้กล่าวถ้อยคำขณะร่วมชุมนุมโดยตะโกนพูดกับ อิทธิพัทธ์ ปิ่นระโรจน์ ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์เนชั่นช่อง 22 ที่กำลังรายงานสดการชุมนุมถ่ายทอดออกอากาศในรายการข่าวข้นคนข่าวว่า 

“พวกเราขอประณาม ถึงแม้พวกเราไม่มีสิทธิมีเสียงเท่าสื่อแต่เราบอกเลยว่าเราจะพยายามทำยังไงก็ได้ ให้เสียงคนธรรมดา พี่คะ เราเข้าใจว่าพี่ต้องทํางาน แต่ที่หนูต้องออกมาพูด เพราะเนชั่นทําร้ายระบบประชาธิปไตยมานาน เนชั่นทําข่าวบิดเบือน ยิ่งตอนที่เจ๊ปอง กับตอนที่กนกเป็นพิธีกร ยุยงปลุกปั่นให้ประชาชนเกลียดกันเอง นําเสนอเฟคนิวส์ทุกอย่าง ถ้าพี่ทํางานที่นี่อยู่ หนูคงต้องแสดงความเสียใจกับพี่ด้วย พี่เลยต้องโดนด่าแบบนี้”

“ช่อง 3, ช่อง 5, ท็อปนิวส์ จําไว้เลยถ้าพวกคุณยังเสนอข่าวแบบนี้อยู่ วันหนึ่งที่มีการสลายการชุมนุมแล้วมีคนตาย พวกคุณนั่นแหละ พวกคุณที่ไม่นําเสนอข่าวความจริงมีส่วนต้องรับผิดชอบในส่วนนี้ทั้งหมด สื่อที่บิดเบือนถ้าประชาชนบาดเจ็บหรือล้มตายขึ้นมา พวกคุณนั่นแหละที่เป็นเครื่องมือให้รัฐใช้ความรุนแรงกับประชาชน เราขอบคุณถ้าสื่อไหนรายงานตามความจริง พวกเราขอบคุณมาตลอด พวกเราติดตาม พวกเรารู้ แต่ถ้าสื่อไหนบิดเบือน เราก็รู้เช่นกัน และถ้าวันหนึ่งมันเกิดเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยขึ้นมาจากการสลายชุมนุมเสื้อแดง 53 ที่สื่อพยายามประโคมข่าวตลอดมาว่าผู้ชุมนุมใช้ความรุนแรง ผู้ชุมนุมเป็นพวกหัวรุนแรงมีอาวุธ นั่นแหละ มันคือสิ่งที่สร้างความชอบธรรมให้รัฐสลายการชุมนุม ใช้กระสุนจริงกับผู้ชุมนุม สื่อทุกคนที่รายงานบิดเบือน จําไว้เลยพวกคุณก็เป็นส่วนหนึ่งเหมือนกัน ที่ทําให้เสื้อแดงต้องตาย 99 ศพ”

คำว่า “เจ๊ปอง” หมายถึง โจทก์ที่ 1 คำว่า “กนก” หมายถึง โจทก์ที่ 2 ข้อความที่จำเลยพูดไม่เป็นความจริง ส่วนจำเลยนำสืบโดยมีพยานจำเลยเบิกความ ได้ความว่า ช่วงระหว่างปี 2563 –  2564  จำเลยร่วมชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง ในการชุมนุมมีสื่อมวลชนหลายสำนักทำข่าว ซึ่งบางสำนักทำข่าวตรงไปตรงมา บางสำนักเสนอข่าวเอาใจรัฐบาล ไม่ยอมนำเสนอข้อเท็จจริง ทั้งที่ความจริงตำรวจมีโล่ กระบอง อาวุธติดตัว กับฉีดน้ำใส่ประชาชน ใช้แก๊สน้ำตาใส่กลุ่มผู้ชุมนุมที่มีเพียงขวดน้ำ 

ก่อนเกิดเหตุ จำเลยได้รับฟังข่าวจากสื่อเนชั่นทีวี เป็นคลิปเสียงสนทนาระหว่าง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กับ ทักษิณ ชินวัตร โดยมีโจทก์ที่ 2 เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งต่อมามีการพิสูจน์ว่าเป็นคลิปเสียงปลอมที่มีการตัดต่อ แต่โจทก์ที่ 2 และเนชั่นทีวีไม่เคยแสดงความรับผิดชอบที่ตนเองนำเสนอข่าวปลอมและตลอดระยะเวลาที่มีการชุมนุม โจทก์ทั้งสองต่างนำเสนอข่าวลักษณะด่านักศึกษาในรายการ ไม่มีจรรยาบรรณของสื่อมวลชน

ดังนั้น จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ประชาชนเรียกร้องให้หยุดการสนับสนุนสินค้าที่เป็นผู้สนับสนุนเนชั่นทีวี ในเวลาต่อมา จำเลยทราบว่าโจทก์ทั้งสองได้ลาออกจากเนชั่นทีวี 

ขณะเกิดเหตุคดีนี้ มีประชาชนร่วมชุมนุมหลายพันคนทั้งตะโกนว่า หากนำเสนอเช่นนี้อย่าเป็นสื่อเลย สื่อมวลชนทั้งช่อง 9, ช่องอัมรินทร์, ท็อปนิวส์, เนชั่นทีวี เป็นสื่อขยะ จำเลยได้ตะโกนต่อว่าสื่อทั้งหลายที่ไม่นำเสนอข่าวอย่างเป็นกลาง ทำให้เกิดความเกลียดชังประชาชนกับผู้ชุมนุม ปรากฏว่ามีผู้สื่อข่าวหลายคนขยับเข้ามาใกล้จำเลย อิทธิพัทธ์ ยื่นไมโครโฟนมาที่จำเลยและมีเสียงถามว่า คิดยังไงกับการทำงานของสื่อ จำเลยจึงตอบว่า ถ้าสื่อยังนำเสนอข่าวแบบนี้ สร้างความเกลียดชังให้ประชาชนเกลียดชังให้ประชาชนเกลียดชังและแตกแยก สุดท้ายก็ไปซ้ำรอยกับปี 2553 จำเลยไม่ได้เจาะจงสื่อใดสื่อหนึ่ง แต่เป็นการพูดถึงทุกสื่อ ส่วนที่พูดถึงเนชั่นทีวีเพราะช่วงที่โจทก์ทั้งสองเป็นพิธีกรมีการเสนอข่าวปลอม จำเลยไม่ได้มีเจตนาโจมตีโจทก์ทั้งสอง

เห็นว่า ก่อนเกิดเหตุคดีนี้มีการชุมนุมของกลุ่ม REDEM เพื่อเรียกร้องให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการสลายการชุมนุมด้วยการใช้แก๊สน้ำตา กระสุนยาง ฉีดน้ำแรงดันสูงใส่กลุ่มผู้ชุมนุม 

เหตุการณ์ต่อเนื่องเรื่อยมาจนกลุ่ม REDEM เรียกร้องสิทธิการประกันตัวของผู้ต้องหาในคดีชุมนุมมีการเดินขบวนจากห้างเซ็นทรัลลาดพร้าวมายังหน้าศาลอาญา และยังมีกลุ่มผู้ชุมนุมอื่นอีกหลายกลุ่มเข้าร่วมการชุมนุมด้วย มีสื่อมวลชนจากหลายสำนักอยู่ในพื้นที่ชุมนุม กลุ่มผู้ชุมนุมรวมทั้งจำเลยร่วมชุมนุมปราศรัย 

จำเลยได้กล่าวถึงการรายงานข่าวการชุมนุมของสื่อมวลชนหลายสำนัก จากนั้นจำเลยจึงกล่าวถึงช่องเนชั่นทีวีพร้อมมีถ้อยคำถึงโจทก์ทั้งสองว่า ยิ่งตอนที่เจ๊ปอง คือ โจทก์ที่ 1 กับตอนที่กนก คือ โจทก์ที่ 2 เป็นพิธีกร ยุยงปลุกปั่นให้ประชาชนเกลียดกันเอง นำเสนอทุกอย่างซึ่งข้อความดังกล่าวแม้จะเป็นข้อความที่ประชาชนได้รับฟังแล้วอาจทำให้เข้าใจถึงตัวโจทก์ทั้งสองในแง่ที่ไม่ดี 

แต่เมื่อรับฟังประโยคที่จำเลยกล่าวตั้งแต่ต้นจนจบแล้ว พอทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นเรื่องที่จำเลยคิดเห็นกับสื่อมวลชนทุกประเภททุกสำนัก ไม่ว่าจะเป็นช่อง 3, ช่อง 9, เนชั่นทีวี 22, ช่องท็อปนิวส์, ช่องอัมรินทร์, รีพอทเตอร์, ข่าวสด, ว๊อยซ์ทีวี ที่มีการนำเสนอข่าวทั้งที่เป็นกลางและไม่เป็นกลาง จำเลยจึงได้กล่าวเช่นนั้น และคำกล่าวนั้นเป็นการเรียกร้องให้สื่อมวลชนเสนอข่าวตามจริงอย่างที่จำเลยเข้าใจ 

ส่วนที่จำเลยกล่าวถึงโจทก์ทั้งสองก็ได้ความว่า ขณะที่จำเลยกำลังพูดปราศรัย อิทธิพัทธ์ ซึ่งเป็นผู้สื่อข่าวช่องเนชั่นทีวีได้ถามจำเลย จำเลยพอเห็นว่าเป็นนักข่าวของเนชั่นทีวีประกอบกับก่อนเกิดเหตุมีเหตุการณ์ที่โจทก์ที่ 2 ขณะเป็นพิธีกรให้กับเนชั่นที่วี รายการข่าวข้น คนเนชั่น ได้นำเสนอข่าวคลิปเสียงการสนทนาของบุคคล 2 คน ไม่ทราบว่าเป็นผู้ใด แต่ผู้ที่รับชมแล้วเกิดความเข้าใจว่าเป็นคลิปเสียงของ ธนาธร กับ ทักษิณ ซึ่งต่อมาสังคมคิดเห็นแตกต่างกัน บางความคิดเห็นเชื่อว่าเป็นคลิปปลอม

ข่าวสารที่ไม่มีความจริงมีหลายลักษณะ ได้แก่ ข่าวเสียดสีหรือล้อเลียน ข่าวที่ตัดต่อ ดัดแปลง หรืออ้างแหล่งที่มาผิดเพื่อเป้าหมายในการลวงผู้รับสารทำให้เข้าใจผิด โดยเนื้อหาของข่าวปลอมอาจมีข้อเท็จจริงเพียงเล็กน้อยหรือเพียงบางส่วน แต่ขาดบริบทของรายละเอียดหรืออาจเป็นข่าวที่ไม่มีมูลความจริงเลย 

ในเวลาต่อมาโจทก์ทั้งสองได้ลาออกจากหน้าที่พิธีกรของเนชั่นทีวี ไปทำงานที่ช่องท็อปนิวส์ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้จำเลยไม่พอใจในการนำเสนอข่าวของโจทก์ที่ 2 เพราะเข้าใจว่าโจทก์ที่ 2 เสนอข่าวปลอมในลักษณะยุยงปลุกปั่นประชาชน การที่โจทก์ที่ 2 ในฐานะพิธีกรได้นำเสนอข่าวที่ยังไม่ได้ยืนยันข้อเท็จจริงอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ 

เมื่อโจทก์ทั้งสองต่างทำหน้าที่พิธีกรเสนอข่าวสารแก่ประชาชนทั่วไป จึงถือว่าเป็นบุคคลสาธารณะ ประชาชนย่อมมีวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่สื่อของโจทก์ทั้งสองได้ในขอบเขตที่เหมาะสม 

ดังนั้น การที่จำเลยกล่าวถึงโจทก์ทั้งสอง ก็เป็นการพูดถึงการทำหน้าที่สื่อของโจทก์ทั้งสองตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นตามที่จำเลยรู้มา โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ปั้นแต่งเรื่องขึ้นเพิ่มเติม แม้การกระทำที่จำเลยแสดงออกจะหยาบคายรุนแรงไม่เหมาะสมไปบ้าง แต่ยังอยู่ในขอบเขตของการแสดงออกตามวิญญูชนทั่วไปพึงกระทำเพื่อรักษาผลประโยชน์ของบุคคลหรือสาธารณะ เพราะจำเลยเข้าใจว่าเนชั่นทีวี ขณะโจทก์ทั้งสองทำหน้าที่เป็นพิธีกรได้นำเสนอข่าวปลอมนั่นเอง 

ทำให้จำเลยเกิดความไม่พอใจในการนำเสนอข่าวและจรรยาบรรณของสื่อมวลชน ถ้อยคำของจำเลยจึงเป็นการแสดงความคิดเห็นของจำเลยโดยสุจริต โดยเข้าใจว่าเกิดความไม่เป็นธรรมจากการเสนอข่าวของโจทก์ทั้งสองและเนชั่นทีวี 

ทั้งจำเลยกล่าวออกทางสื่อในที่สาธารณะมีนักข่าวทำข่าวจำนวนมาก ย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยกล่าววาจาด้วยความเป็นธรรมตามวิสัยของประชาชนพึงกระทำได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (3) จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท พิพากษายกฟ้อง 

ประเด็นต่อมาว่า จำเลยต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมในส่วนแพ่งหรือไม่ ในการพิพากษาส่วนแพ่ง ศาลต้องถือข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามคำพิพากษาส่วนอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 

เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า จำเลยหมิ่นประมาทโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกค่าเสียหายได้ ให้ยกคำขอของโจทก์ทั้งสอง 

X