วันเกิดปีที่ 38 ในคุก: บันทึกเยี่ยม “เจมส์ ณัฐกานต์” ผู้ต้องขังคดี ม.112 ถูกขังไกลถึงพัทลุง

เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2567 ทนายความได้เดินทางไปยังเรือนจำกลางพัทลุง เพื่อเข้าเยี่ยม “เจมส์” ณัฐกานต์ ใจอารีย์ คนขับรถจักรยานยนต์รับจ้างย่านฝั่งธนบุรีในกรุงเทพฯ ซึ่งถูกคุมขังระหว่างสอบสวนในคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยในวันที่ 17 ม.ค. นี้ ยังเป็นวันเกิดอายุครบ 38 ปี ของเขาพอดี

คดีนี้ เจมส์ถูก ทรงชัย เนียมหอม แกนนำกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบันฯ ไปแจ้งความกล่าวหาไว้ที่ สภ.เมืองพัทลุง จากกรณีการโพสต์ข้อความทั้งหมด 3 โพสต์ เมื่อช่วงเดือนเมษายน 2565 

เจมส์ไม่เคยได้รับหมายเรียกมาก่อน เนื่องจากอาศัยอยู่ที่บ้านเช่า และคาดว่าหมายเรียกอาจจะถูกส่งไปที่บ้านหลังเดิม ทำให้เขาถูกตำรวจไปร้องขอศาลออกหมายจับ โดยพบว่าหมายจับลงวันที่ 19 พ.ค. 2566 ก่อนตำรวจได้เข้าจับกุมตัวเขาเมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2566 

ตำรวจนำตัวเขาเดินทางไปแจ้งข้อหาที่จังหวัดพัทลุง และยังนำตัวไปขอฝากขัง โดยศาลจังหวัดพัทลุงไม่อนุญาตให้ประกันตัวมาตั้งแต่วันที่ 9 พ.ย. 2566 โดยเห็นว่าพฤติการณ์คดีเป็นเรื่องร้ายแรง ผู้ต้องหามีที่อยู่ไม่เป็นหลักแหล่ง เกรงว่าจะไปกระทำความผิดซ้ำตามที่ถูกกล่าวหาอีก

ขณะนี้เจมส์ยังถูกตำรวจขอฝากขังต่อ โดยกำลังจะครบผัดที่ 6 ในวันที่ 19 ม.ค. นี้ และจะครบอำนาจในการขอฝากขังในชั้นสอบสวนซึ่งมีไม่เกิน 84 วัน ในวันที่ 31 ม.ค. 2567 หากยังไม่มีการสั่งฟ้องคดี เขาจะต้องได้รับการปล่อยตัว

การถูกนำตัวไปดำเนินคดีไกลถึงพัทลุง ทำให้ญาติประสบปัญหาที่จะเดินทางไปเยี่ยม นอกจากนั้น ทนายความอาสาของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยังไม่ได้ประจำอยู่ในจังหวัดพัทลุง ทำให้ต้องใช้เวลาในการเดินทางไปติดต่อเยี่ยม  

อีกทั้งทางเรือนจำกลางพัทลุง ไม่อนุญาตให้บุคคลที่ไม่ใช่ญาติเข้าเยี่ยมได้ ทำให้ก่อนหน้านี้แม้ทีมงานของกลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชนภาคใต้ (Law Long Beach) จะได้เดินทางไปติดต่อขอเยี่ยมเจมส์ แต่ก็ไม่สามารถเข้าเยี่ยมได้ ทำให้การติดตามรวบรวมข้อมูล เพื่อทำเรื่องขอประกันตัวอีกครั้ง เต็มไปด้วยอุปสรรค

นอกจากน้้น ในการฝากเงินสดหรือซื้อของกินของใช้สำหรับผู้ต้องขัง ยังอนุญาตให้เฉพาะบุคคลที่เป็นญาติเท่านั้นซื้อ ทนายความก็ไม่สามารถซื้อได้ หากญาติไม่ได้อยู่ในพื้นที่ก็ให้ฝากธนาณัติมา หรือเข้าไปในกลุ่มไลน์สำหรับสั่งซื้อของ

.

เจมส์ เล่าว่าเขาเพิ่งหายป่วยมา ก่อนหน้านี้เขามีอาการปวดเมื่อย-ปวดตัว ต่อเนื่องประมาณ 3-4 วัน แต่อาการดีขึ้นแล้ว

เขาเล่าว่าหลังถูกคุมขัง ได้ถูกกักตัวตามมาตรการป้องกันโรคของเรือนจำอยู่ 10 วัน ตอนนี้ถูกย้ายมาอยู่ในแดนพิเศษ คือแดน 7 ซึ่งมีผู้ต้องขังประมาณ 200 กว่าคน โดยเขาไม่พบผู้ต้องขังในคดีทางการเมืองรายอื่น ๆ ที่นี่

เจมส์เล่าว่าผู้ต้องขังจำนวนมากเป็นคนในพื้นที่ และคุยภาษาใต้กัน ซึ่งเขาฟังไม่ค่อยถนัด จึงไม่ค่อยได้คุยกับใคร แต่เขาก็พบเพื่อนซึ่งเป็นคนกรุงเทพฯ แต่มาถูกคุมขังคดีฉ้อโกงที่นี่ ได้คอยให้ความช่วยเหลือตอนที่เขาเข้ามาใหม่ แบ่งปันข้าวของให้ แต่เพื่อนคนนี้ก็ได้ถูกย้ายแดนไปยังเเดนอื่นแล้ว เขาบอกว่าตอนนี้ก็พยายามหากิจกรรมทำ ทั้งโดยการช่วยล้างจาน หรือทำความสะอาดในเรือนจำ

เจมส์เล่าถึงตัวเขาว่าเกิดและเติบโตอยู่ที่ย่านตลิ่งชัน ในกรุงเทพฯ โดยพ่อของเขาเสียชีวิตตั้งแต่ยังเด็ก และแม่ของเขาก็แยกทางกับพ่อไปนานแล้ว จึงไม่เคยเจอหน้าแม่ เขาต้องดิ้นรนทำงานส่งตัวเองเรียน จนจบชั้น ม.3

เนื่องจากเจมส์มีการรักษาโรคซึมเศร้าอยู่ก่อน เคยเข้ารับการรักษาที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ และต้องรับประทานยาเป็นประจำ โดยทั้งในช่วงถูกควบคุมตัวโดยตำรวจ และมาถึงควบคุมตัวที่เรือนจำ เขาได้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่เรื่องความจำเป็นต้องรับประทานยามาตลอด แต่ยังไม่เคยได้รับยาจนถึงปัจจุบัน ทั้งต่อมาเขาก็ได้เคยแจ้งเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่เข้ามาตรวจร่างกายในเรือนจำ แต่ก็ยังไม่ได้รับยา หรือไม่มีแพทย์เข้ามาดูแลในเรื่องนี้ และไม่ได้มีการมาตรวจร่างกายเพิ่มเติมอีก

เจมส์บอกก่อนหน้านี้ว่า การไม่ได้รับยา ทำให้เขานอนไม่ค่อยหลับ บวกกับความกังวลเรื่องคดี และความแปลกที่แปลกถิ่นของสถานที่ถูกคุมขัง ทำให้มีปัญหาทั้งเรื่องอาหารการกินหรือหลักปฏิบัติภายในเรือนจำ

เจมส์ยังสอบถามถึงสถานการณ์ภายนอก ว่ามีคนถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เพิ่มขึ้นอีกไหม และสอบถามสถานการณ์ในคดีของตนเอง รวมทั้งฝากขอบคุณทุกคนที่ให้ความช่วยเหลือ

เจมส์ยังหวังว่า จะได้รับการประกันตัวออกไปต่อสู้คดี แต่หากต้องอยู่ในนี้พักใหญ่ ก็พยายามจะปรับตัวให้อยู่ให้ได้ โดยปีนี้เขาต้องฉลองวันเกิดตัวเอง ในวัย 38 ปี อยู่ภายในเรือนจำ

.

X