วันที่ 25 ต.ค. 2566 เวลา 09.00 น. ศาลอาญาตลิ่งชันนัดฟังคำพิพากษาคดีของ “พัชรพล” (สงวนนามสกุล) ผู้ควบคุมการก่อสร้าง (โฟร์แมน) วัย 25 ปี ในฐานความผิด ‘หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ’ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากเหตุคอมเมนต์เฟซบุ๊กแสดงความคิดเห็นถึงรัฐบาลและพระมหากษัตริย์ใต้โพสต์ลงนามถวายพระพรของเพจเฟซบุ๊ก ‘กรมประชาสัมพันธ์’ เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2564
ในคดีนี้ศาลพิพากษาให้จำเลยมีความผิดตามฟ้อง ลงโทษจำคุก 3 ปี ให้การรับสารภาพ ลดเหลือจำคุก 1 ปี 6 เดือน แต่เห็นควรให้โอกาสกลับตัวเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี ให้รายงานตัวต่อคุมประพฤติเป็นระยะเวลา 8 ครั้ง ภายใน 2 ปี และทำงานบริการเพื่อสังคมเป็นเวลา 48 ชั่วโมง ภายใน 1 ปี
.
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2564 ในชั้นจับกุมพบว่าคดีนี้มีนายกวิน ชาตะวนิช กลุ่มศรีสุริโยไท และอดีตผู้สมัคร สส. จากพรรคไทยภักดี เป็นผู้แจ้งความกล่าวหาไว้ที่ สน.บางพลัด โดยพัชรพลถูกตำรวจกว่า 11 นาย เข้าจับกุมตามหมายจับของศาลอาญาตลิ่งชัน ทั้งนี้จำเลยได้ปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ก่อนถูกตำรวจคุมตัวไปขอฝากขัง และศาลอนุญาตให้ประกันตัว โดยให้วางหลักทรัพย์ 100,000 บาท และกำหนดให้ติดกำไลอิเล็กทรอนิกส์ (EM) ในระหว่างประกันตัว
ต่อมา 20 ธ.ค. 2564 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญาตลิ่งชัน ได้สั่งฟ้องคดีต่อศาลอาญาตลิ่งชัน โดยได้ขอให้ศาลริบโทรศัพท์ของกลาง จำนวน 1 เครื่อง ก่อนศาลรับฟ้องไว้ และมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันจำเลยด้วยหลักประกันเดิมที่เคยวางไว้ในชั้นสอบสวน และยังให้ใส่กำไล EM เช่นเดิม
ต่อมาศาลได้อนุญาตให้ถอดกำไล EM หลังการยื่นคำร้องของจำเลยเมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2565 รวมพัชรพลต้องใส่ EM มาเกือบ 1 ปี
ในวันนี้ (25 ต.ค. 2566) เวลา 09.20 น. จำเลยได้เดินทางมาฟังคำพิพากษาพร้อมกับครอบครัว โดยศาลเรียกให้จำเลยลุกขึ้นแสดงตัวเพื่อฟังรายงานการสืบเสาะจากเจ้าหน้าที่คุมประพฤติ มีใจความกล่าวว่า พิเคราะห์จากรายงานคุมประพฤติแล้ว พบว่าจำเลยไม่เคยมีประวัติก่ออาชญากรรมมาก่อน ปัจจุบันพักอาศัยอยู่กับครอบครัว และประกอบกับในชั้นพิจารณาคดี จำเลยได้ให้การรับสารภาพ ตลอดจนได้เห็นว่าจำเลยมีความสำนึกจากการกระทำในครั้งนี้ โดยการสมัครเข้าร่วมทำงานอาสาสมัคร
พนักงานคุมประพฤติเสนอความเห็นว่าสมควรให้โอกาสแก่จำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดี ขอให้ศาลรอการลงโทษจำเลย โดยเสนอเงื่อนไขให้จำเลยมารายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติเป็นเวลา 8 ครั้ง ภายใน 2 ปี และให้ทำงานบริการสังคมเป็นเวลา 48 ชั่วโมง ภายใน 1 ปี
ทั้งนี้ เมื่อพิเคราะห์จากรายงานการสืบเสาะแล้ว ศาลอ่านคำพิพากษามีใจความสำคัญระบุว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียว ผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษตัวบทกฎหมายที่หนักที่สุด คือมาตรา 112 ให้ลงโทษจำคุก 3 ปี แต่จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน
เมื่อพิเคราะห์จากการกระทำของจำเลยเป็นการโพสต์ข้อความด้วยถ้อยคำหยาบคาย นับเป็นเรื่องร้ายแรง ซึ่งสร้างความเสื่อมเสียต่อองค์พระมหากษัตริย์ การโพสต์ของจำเลยเป็นการขาดความยับยั้งชั่งใจ กระทำการไปด้วยความโง่เขลา เบาปัญญา แต่เมื่อจำเลยได้ให้การรับสารภาพ ศาลจึงเห็นสมควรให้โอกาสแก่จำเลย โดยโทษจำคุกให้รอการลงโทษเป็นระยะเวลา 3 ปี ให้เข้ารายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติเป็นจำนวน 8 ครั้ง ภายใน 2 ปี และทำงานบริการสังคมเป็นระยะเวลา 48 ชั่วโมง ภายใน 1 ปี
ภายหลังการฟังคำพิพากษา ศาลได้พูดกับจำเลยว่าการรอลงอาญาไม่ใช่เรื่องง่าย ขออย่าให้ไปกระทำผิดซ้ำอีก ไม่ว่าในรูปแบบใด ๆ ก็ตาม และการรอลงอาญาถือว่าเป็นความเมตตาแล้ว
.
ดูฐานข้อมูลคดีนี้
คดี 112 “พัชรพล” หนุ่มโฟร์แมน เหตุคอมเมนต์ถึงรัฐบาลและกษัตริย์ใต้โพสต์ถวายพระพร