‘เก็ท’ เผยหน่วยพยาบาลเรือนจำไม่มีหมอสักคน หลายคืน จนท. ‘ฝากลอย’ นักโทษนอนเพิ่มด้วย สร้างความแออัด เสี่ยงโรค ทำหลายคนป่วยไม่หาย

เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2566 ทนายความได้เข้าเยี่ยม “เก็ท” โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง สมาชิกกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ หลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีมาตรา 112 ลงโทษจำคุก 3 ปี และลงโทษในข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 6 เดือน ซึ่งเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด จากกรณีการปราศรัยในกิจกรรม #ทัวร์มูล่าผัว ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2565  ปัจจุบันเก็ทถูกคุมขังมาแล้ว 55 วัน

บันทึกจากทนายความ

อาการป่วยดีขึ้น แต่หน่วยพยาบาลในเรือนจำมีพยาบาลคนเดียว ไร้เงา ‘แพทย์’ ตรวจและวินิจฉัยโรค


เก็ทป่วยเป็นไข้และไอมาตั้งแต่ช่วงสัปดาห์ก่อนแล้ว โดยช่วงนี้ยังมีผู้ต้องขังอีกจำนวนมากเผชิญอาการเจ็บป่วยคล้ายกัน คาดว่าสาเหตุสำคัญมาจากความแออัดในเรือนจำที่มีจำนวนผู้ต้องขังเพิ่มมากขึ้น และจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อย ทำให้การติดต่อของโรคต่าง ๆ เป็นไปอย่างรวดเร็ว  

วันนี้เก็ทดูอ่อนเพลียเล็กน้อย รู้สึกเหนื่อย และยังคงมีอาการไออยู่บ้าง แต่ไม่มีอาการอาเจียนแล้ว 

เก็ทได้รับการตรวจจากหน่วยพยาบาลในเรือนจำแล้ว แต่เขาพบว่าหน่วยพยาบาลในเรือนจำ ‘ไม่มีแพทย์’ เลยสักคน โดยมีพยาบาลวิชาชีพ ‘เพียงคนเดียว’ ทำงานอยู่ ส่วนผู้ช่วยพยาบาลก็ล้วนแต่เป็น ‘นักโทษ’ ที่ถูกมอบหมายให้มาช่วยทำงานทั้งนั้น

ส่วนระยะทางที่ต้องเดินจากแดน 4 ไปยังหน่วยพยาบาลก็ไกลพอสมควร แต่เมื่อไปถึงเก็ทกลับได้ตรวจเพียง ‘วัดความดันโลหิต’ เท่านั้น จากนั้นหน่วยพยาบาลได้จ่ายยาพาราเซตามอลกับยาลดน้ำมูกให้กลับมาทาน


ทั้งนี้ มีญาติและประชาชนหลายคนต้องการฝากสิ่งของ เสื้อผ้า และยารักษาโรคเข้าไปให้กับผู้ต้องขังคดีการเมือง ซึ่งเรือนจำได้ให้คำตอบ ดังนี้

  1. ยาที่สามารถฝากให้ผู้ต้องขังได้จะต้องมีใบรับรองแพทย์ประกอบว่า ผู้ต้องขังคนนั้นเคยมีประวัติการใช้รักษาชนิดนั้น ๆ เพื่อรักษาโรคประจำตัวมาก่อน
  2. เสื้อผ้า ผ้าห่ม หรือเครื่องแต่งกายอื่น ๆ ไม่สามารถฝากเข้าไปได้ แต่เรือนจำมีจัดจำหน่ายไว้ให้ผู้ต้องขังและญาติสามารถซื้อได้
  3. เฉพาะที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ สามารถฝาก ‘หนังสือ’ เข้าไปให้ผู้ต้องขัง ซึ่งต้องถูกตรวจเนื้อหาภายในเล่มก่อนว่าเหมาะสมและสามารถนำเข้าไปให้ผู้ต้องขังอ่านได้

ห้องขังแออัดขึ้น เมื่อ จนท. ‘ฝากลอย’ นักโทษที่กลับแดนไม่ทันเวลาปิดประตู

เก็ทยังเล่าว่า นอกจากจะเผชิญปัญหาการเข้าถึงการรักษาพยาบาลแล้ว ช่วงนี้ยังปัญหาเรื่องความแออัดในเรือนนอน จาก ‘การฝากลอย’ ซึ่งหมายถึง เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะนำผู้ต้องขังจาก ‘แดนอื่น’ มาฝากให้นอนไว้ที่ต่างแดน เพราะช่วงกลางวันผู้ต้องขังเหล่านั้นถูกเบิกตัวไปศาล และเมื่อกลับถึงเรือนจำ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ส่งตัวพวกเขากลับแดนต้นทางไม่ทันเวลา เนื่องจากแต่ละแดนในเรือนจำมีเวลา เปิด-ปิด ประตูแดนต่างกันไป 

เจ้าหน้าที่เคยบอกกับเก็ท โดยอ้างเหตุผลทำนองว่า “การวิ่งไปเอา ‘กุญแจ’ มาไขประตูแดนที่ปิดไปแล้วใช้เวลานานมาก ให้ผู้ต้องขังไปนอนแดนอื่นที่ยังไม่ปิดประตู ‘ง่ายกว่า’ เยอะ…”  

จากเดิมห้องขังของเก็ทใน ‘แดน 4’ มีนักโทษนอนกันอยู่ประมาณ 38 คน ซึ่งเก็ทคิดว่าเป็นจำนวนค่อนข้างลงตัวกับขนาดพื้นที่ของห้องแล้ว ไม่ได้แออัดจนเกินไป แต่หากคืนไหนมีการฝากลอยเกิดขึ้น จะมีนักโทษเพิ่มมาอีกประมาณ 10 กว่าคน กลายเป็นว่าคืนนั้นนักโทษกว่า 50 คน ต้องมานอนเบียดกันในที่คับแคบในห้องเดิม

คืนไหนที่มีฝากลอย ทุกคนจะมีพื้นที่ให้นอนแค่ประมาณ ‘ครึ่งกระเบื้อง’ เบียดเสียด และแออัด เมื่อมีใคร ‘ไอ’ หรือ ‘จาม’ ก็จะเบือนหน้าหนีได้ยาก จึงไม่น่าแปลกใจที่โรคติดต่อแพร่ระบาดได้รวดเร็วโดยเฉพาะในช่วงนี้

เก็ทมองว่าการกระทำของเรือนจำที่ฝากลอยผู้ต้องขังเช่นนี้ เป็นการกระทำที่ ‘มักง่าย’ แม้ผู้ต้องขังจะถูกพาตัวกลับมาถึงเรือนจำช้า แต่เจ้าหน้าที่ก็สามารถนำตัวกลับแดนต้นทางได้ ไม่จำเป็นจะต้องไปฝากให้นอนที่แดนอื่นแบบนี้ นอกจากจะเป็นการสร้างความแออัดแล้ว ยังสร้างความเสี่ยงต่อการแพร่โรคให้มีมากขึ้นอีกด้วย 

เรียกร้องศาลอธิบายหลักเกณฑ์สิทธิประกันตัวให้ละเอียด – รัฐบาลเร่งนิรโทษกรรม

ปัจจุบันเก็ทถูกขังมากว่า 55 วัน หรือเกือบ 2 เดือนแล้ว เขาเป็นอีกคนที่จนถึงขณะนี้แล้วก็ยังไม่ได้รับ ‘สิทธิในการประกันตัว’ แม้คดีจะยังไม่ถึงที่สุด โดยสามารถสู้คดีต่อได้ในชั้นอุทธรณ์และฎีกาตามลำดับ เช่นกับกับผู้ต้องขังการเมืองหลายคนที่ถูกคุมขังอยู่ตอนนี้ 


ในผลคำสั่งของการยื่นประกันตัวหลาย ๆ ครั้ง ส่วนใหญ่ศาลจะอ้างเหตุผลว่า ‘เกรงว่าจะหลบหนี’ เก็ทตั้งข้อสงสัยทำไมศาลถึงไม่กำหนดเกณฑ์เกี่ยวกับหลักการสิทธิประกันตัวให้ละเอียดกว่านี้เป็นลายลักษณ์อักษรไปเลย อย่างเช่นการอ้างว่าจำเลย ‘จะหลบหนี’ ศาลมีหลักเกณฑ์พิจารณาอย่างไร ไม่ใช่ให้ประชาชนยื่นคำร้องไปเรื่อย ๆ เหมือนเดาใจกันแบบนี้

กรณี ‘การนิรโทษกรรม’ เก็ทบอกว่า ไหน ๆ ตอนนี้ก็มีรัฐบาลที่บอกว่าตัวเองเป็น ‘ประชาธิปไตย’ แล้ว ฉะนั้นรัฐบาลนี้ก็ควรจะนิรโทษกรรมให้กับคนที่ถูกดำเนินคดีการเมืองที่เกิดขึ้นจากรัฐบาลเผด็จการ ในสมัยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้พวกเขาพ้นจากตราบาปทั้งหมด 

สุดท้าย เก็ทฝากทุกคนข้างนอกให้ช่วยกันเรียกร้องการนิรโทษกรรมให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด เขาเห็นว่าเรื่องนี้สำคัญต่อทั้งทุกฝ่าย เพราะจะช่วยลดแรงกระแทกให้กับฝ่ายผู้มีอำนาจ ขณะเดียวกันจะช่วยให้ประชาชนประนีประนอมกันได้

“ประชาธิปไตยมันไม่ได้จบแค่การเลือกตั้ง รัฐบาลต้องเห็นหัวประชาชน ฟังเสียงประชาชน ช่วยกันส่งเสียง ความต้องการของเรา ไม่ต้องเป็นการชุมนุมก็ได้”

X