วันที่ 5 ต.ค. 2566 เวลา 9.30 น. อัยการคดีศาลแขวงเชียงใหม่นัด พิชญ์ ไกรมาก และ “เก่ง”(นามสมมติ) ประชาชนสองราย เพื่อฟ้องคดีต่อศาลแขวงเชียงใหม่ ในข้อหา “ทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 เหตุจากการพ่นสีเป็นเส้นขีดสามขีด “III” บริเวณป้ายหน้า สภ.เมืองเชียงใหม่ เพื่อแสดงออกทางการเมือง เมื่อช่วงกลางดึกของวันที่ 17 ต.ค. 2563
.
อัยการจังหวัดเชียงใหม่มีคำสั่ง “ไม่ฟ้อง” ข้อหาทำให้ทรัพย์สาธารณะเสียหาย
สำหรับคดีนี้ ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2563 พิชญ์และเก่งถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมจากห้องพัก โดยไม่มีหมายจับมาควบคุมตัวไว้ที่ สภ.เมืองเชียงใหม่ โดย ร.ต.ท.ธนวัฒน์ สุวรรณกูล พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหา “ทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 โดยทั้งสองให้การปฏิเสธ เนื่องจากเห็นว่าป้าย สภ. ไม่ใช่ทรัพย์สินสาธารณะตามกฎหมาย จึงไม่มีความผิดตามมาตรานี้
หลังจากนั้นวันที่ 20 ธ.ค. 2564 พนักงานสอบสวนส่งสำนวนคดีต่อพนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาอัยการจังหวัดเชียงใหม่มีความเห็นไม่ฟ้องทั้งสองในข้อหาตามมาตรา 360 เพราะเห็นว่าเป็นความผิดข้อหาตามมาตรา 358 ซึ่งมีอัตราโทษต่ำกว่า และไม่อยู่ในอำนาจของอัยการจังหวัด จึงส่งสำนวนกลับคืนให้พนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินการต่อไป
ในช่วงปี 2566 พนักงานสอบสวน สภ.เมืองเชียงใหม่ ได้เรียกผู้ต้องหาทั้งสองคนมาแจ้งข้อหาใหม่ ตามมาตรา 358 ซึ่งไม่ได้แจ้งมาก่อนแทน
ต่อมาวันที่ 13 ก.ย. 2566 พนักงานสอบสวนได้นัดทั้งสองเพื่อรายงานตัวและส่งสำนวนต่อพนักงานอัยการคดีศาลแขวงเชียงใหม่
.
จำเลยรับสารภาพ ไม่ต้องการให้เป็นภาระคดี ศาลแขวงปรับคนละ 6,000 บาท
วันที่ 5 ต.ค. 2566 เวลา 9.30 น. ที่ศาลแขวงจังหวัดเชียงใหม่ อัยการโจทก์นัดหมายยื่นฟ้องจำเลยทั้งสอง โดยคำฟ้องระบุว่า ระหว่างวันที่ 18-19 ต.ค. 2563 จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าและทำให้ไร้ประโยชน์ ป้ายสถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงใหม่ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณหน้า สภ.เมืองเชียงใหม่ อันเป็นทรัพย์สินของ สภ.เมืองเชียงใหม่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยการใช้สีสเปรย์สีแดง พ่นเป็นสัญลักษณ์เส้นตรงจำนวน 3 เส้นเรียงกัน เป็นเหตุให้ป้ายของผู้เสียหายได้รับความเสียหายและเสื่อมค่าใช้การไม่ได้ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายจำนวน 10,000 บาท
ต่อมาเมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2563 เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวจำเลยทั้งสองพร้อมยึดกระป๋องสีสเปรย์สีแดง จำนวน 2 กระป๋อง และกระป๋องสีสเปรย์สีดำ จำนวน 1 กระป๋องเป็นของกลาง
หลังฟังคำฟ้องคดี จำเลยทั้งสองคนตัดสินใจให้การรับสารภาพตามข้อกล่าวหา เนื่องจากไม่ต้องการให้เป็นภาระทางคดี ทั้งจำเลยรายหนึ่งได้ย้ายถิ่นฐานไปอยู่ในต่างประเทศแล้ว จึงไม่อยากให้มีคดีพัวพันอยู่
จากนั้น ศาลแขวงเชียงใหม่ได้พิพากษาทันที โดยเห็นว่าทั้งสองคนมีความผิดตามฟ้อง ลงโทษปรับจำเลยคนละ 12,000 บาท ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง เหลือปรับคนละ 6,000 บาท และให้ริบทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิด
.
ข้อสังเกต คดีนี้ใช้ระยะเวลาเกือบ 3 ปี ตั้งแต่วันที่จับกุมจนถึงวันที่อัยการฟ้องต่อศาล ส่งผลกระทบเป็นการสร้างภาระในการดำเนินชีวิตต่อทั้งสองคน ทั้งการพิจารณาสำนวนคดีเป็นไปอย่างล่าช้า ในขณะที่ทั้งคู่ต้องมารายงานตัวต่อตำรวจและอัยการไม่ต่ำกว่า 6 ครั้ง ทำให้เสียค่าใช้จ่ายและเวลาในการเดินทาง โดยที่ทั้งสองคนไม่ได้อยู่อาศัยในจังหวัดเชียงใหม่ในช่วงหลังแล้ว
สำหรับการแสดงออกดังกล่าว เกิดขึ้นในช่วงที่มีการสลายการชุมนุมของในกรุงเทพฯ ช่วงกลางเดือนตุลาคม 2563 โดยการใช้แก๊สน้ำตาและฉีดน้ำความดันสูง และมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง จับกุมแกนนำผู้ชุมนุม ทำให้มีการชุมนุมและแสดงออกในต่างจังหวัดในหลายพื้นที่
.