ศาลอาญาตลิ่งชันยกฟ้อง “ชูเวช” วงสามัญชน คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง เหตุชุมนุมปี 63 หน้าเซ็นทรัลปิ่นเกล้า ชี้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ

วันที่ 21 ส.ค. 2566 ศาลอาญาตลิ่งชันนัดอ่านคำพิพากษาในคดีของ ชูเวช เดชดิษฐรักษ์ หนึ่งในนักร้องและนักดนตรีจากวงสามัญชน ซึ่งถูกฟ้องในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรงฯ จากกรณีการเข้าร่วมชุมนุมและปราศรัยบริเวณหน้าห้างเซ็นทรัลปิ่นเกล้า เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2563

คดีนี้ชูเวช ได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหากับ พ.ต.ท.ธีระ เรืองเนตร รองผู้กำกับสอบสวน สน.บางยี่ขัน เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2563 ทั้งนี้ชูเวชให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาและตำรวจได้ปล่อยตัวไปโดยไม่มีการควบคุมตัว 

หลังจากตำรวจส่งสำนวนให้อัยการ ชูเวชต้องเดินทางไปรายงานที่สำนักงานอัยการเดือนละครั้งมาเป็นเวลาเกือบ 2 ปี 

ต่อมาเมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2565 นัยนา พันธิโป พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญาตลิ่งชัน 2 ได้สั่งฟ้องคดีนี้ บรรยายฟ้องโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2563 จําเลยกับบุคคลรวมจํานวนประมาณ 2,000 คน ซึ่งมีจํานวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ได้รวมตัวชุมนุมหรือมั่วสุม และทํากิจกรรมทางการเมืองบริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล สาขาปิ่นเกล้า ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้มีการประกาศกําหนดสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง เพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก 

จําเลยได้ถือเครื่องขยายเสียง และขึ้นกล่าวนําปราศรัยว่า “ศักดินาจงพินาศ ประชาราษฎร์จงเจริญ” อันเป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อกําหนดที่ออกตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548

.


ศาลพิพากษายกฟ้อง เหตุพยานหลักฐานโจทก์ไม่มีน้ำหนักเพียงพอ จำเลยชุมนุมโดยสงบ ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ

คดีนี้มีการสืบพยานระหว่างวันที่ 4-5 ก.ค. 2566 โดยมีพยานโจทก์ทั้งสิ้น 7 ปาก แต่เนื่องจากมีการรับข้อเท็จจริงพยาน 5 ปาก ทำให้โจทก์นำพยานเข้าสืบเพียง 2 ปาก ได้แก่ ร.ต.อ.สำราญ ศรีจันทร์ ผู้กล่าวหา และ พ.ต.ท.วันชัย พันธพัฒน์ พนักงานสอบสวน ส่วนฝ่ายจำเลย มีจำเลยอ้างตนเองเป็นพยาน

เวลา 9.00 น. ศาลอ่านคำพิพากษาโดยสรุป กล่าวถึงเหตุผลที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานาคร เนื่องจากมีการชุมนุมสาธารณะโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีการปลุกกระดมและชักชวนด้วยวิธีการต่างๆ ก่อให้เกิดความวุ่นวายและความไม่สงบเรียบร้อย และมีการขัดขวางขบวนเสด็จพระราชดำเนิน อันเป็นการกระทบต่อความมั่นคงของรัฐและกระทบมาตรการป้องกันโควิด-2019 จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะมีมาตรการเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและประโยชน์ส่วนรวม โดยพิจารณาจากเหตุผลและความมุ่งหมายของมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

จากการเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองปาก รับฟังได้ว่าจำเลยจัดการชุมนุมในระยะสั้น และมีเหตุการณ์การใช้ความรุนแรง ตำรวจไม่พบการใช้อาวุธหรือการทำลายทรัพย์สินราชการ 

พยานโจทก์ยังเบิกความว่าเหตุที่ดำเนินคดีกับจำเลย เพราะกีดขวางช่องทางจราจร แต่รับฟังพยานหลักฐานได้ว่าเหตุที่ผู้ชุมนุมล้ำเข้าไปบนถนนนั้น เพราะผู้ชุมนุมมีเป็นจำนวนถึง 2,000 คน และสถานที่ไม่เพียงพอ จึงล้ำออกไป โดยพฤติการณ์การชุมนุมเป็นไปโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ยังเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมตามที่รับรองในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 44

โจทก์ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่า การชุมนุมไม่ชอบด้วยกฎหมาย สร้างความปั่นป่วน ขัดขวางขบวนเสด็จพระราชดำเนิน หรือกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ อันมิใช่การชุมนุมโดยสงบ และกระทบต่อมาตรการป้องกันโควิด อย่างไร 

พยานหลักฐานโจทก์ยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง จึงไม่ต้องพิจารณาพยานฝ่ายจำเลย พิพากษายกฟ้อง

ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 15 ต.ค. 2563 เวลา 04.00 น. ถึง 22 ต.ค. 2563 เวลา 12.00 น. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อจัดการกับสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง การประกาศดังกล่าว เป็นการยกระดับความรุนแรงของการใช้กฎหมายขึ้นไปกว่าการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในระดับปกติ 

ระหว่างช่วงดังกล่าว มีผู้ถูกจับกุมและดำเนินคดีจากเหตุการณ์ชุมนุมตามข้อกล่าวหานี้จำนวนไม่น้อยกว่า 72 คน ใน 35 คดี โดยหลายคดียังดำเนินอยู่ในชั้นสอบสวนและชั้นศาล

X