“โพสต์ไม่คิด… ชีวิตอาจพัง” บทพิสูจน์ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับใหม่ บังคับใช้ได้ตรงเจตนารมณ์หรือไม่

“โพสต์ไม่คิด… ชีวิตอาจพัง” ถ้อยคำที่ถูกเผยแพร่ผ่านทางทวิตเตอร์ของกองทัพบก @armypr_news เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2560 แม้ปัจจุบันอาจจะถูกลบไปแล้ว แต่ก็แสดงให้เห็นถึงความพยายามสร้างบรรยากาศแห่งความกลัวต่อการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ของประชาชน ด้วยการสื่อสารผ่านรูปว่าการแสดงความเห็นนั้นอาจนำไปสู่การติดคุกได้ เช่นเดียวกับที่ทวิตเตอร์ของกองทัพบกเคยส่ง ‘ความปรารถนาดี’ เกี่ยวกับการแชร์เนื้อหาออนไลน์ก่อนหน้านี้

เมื่อเดือนมกราคม 2560 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 ซึ่งเป็นฉบับที่ 2 ของ พ.ร.บ. นี้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้ในเดือนพฤษภาคม

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมระบุเจตนารมณ์ของการแก้ไขส่วนหนึ่งว่า เดิม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยเฉพาะมาตรา 14 (1) มักถูกพ่วงไปฟ้องกับการกระทำผิดใด ๆ ทางอินเตอร์เน็ต ทั้งที่มาตรานี้กำหนดให้ใช้กับการกระทำผิดในเรื่องฉ้อโกง หรือหลอกลวงกันทางออนไลน์

เพราะเดิมกฎหมายฉบับนี้ถูกนำมาใช้ตั้งข้อหากับคนที่โพสต์ด่าทอกันทางออนไลน์ รวมถึงดำเนินคดีต่อผู้แสดงความเห็นทางการเมือง เรียกร้องสิทธิเสรีภาพ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน องค์กรภาคประชาสังคม และสื่อมวลชน ในลักษณะที่เรียกว่า ‘ฟ้องปิดปาก’ หรือ SLAPPs (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ SLAPPs ที่นี่)

มาตรา 14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2550 ระบุว่า ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

(1) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน

(2) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน

(3) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา

(4) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้

(5) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) หรือ (4)

กรณีตัวอย่าง เช่น นายอานดี้ ฮอลล์ (Mr.Andy Hall) นักวิจัยด้านสิทธิแรงงาน ถูกบริษัทผลไม้กระป๋องฟ้องด้วยความผิดฐานหมิ่นประมาทและ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2550 จากการเขียนงานวิจัยที่มีเนื้อหาว่าบริษัทดังกล่าวจ้างแรงงานเด็กด้วยค่าจ้างที่ต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด และกรณีกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด กลุ่มชาวบ้านที่คัดค้านการทำเหมืองแร่ทองคำในจังหวัดเลย ถูกบริษัท ทุ่งคำฮาร์เบอร์ จำกัด (มหาชน) ที่ประกอบกิจการเหมืองแร่ฟ้องร้องดำเนินคดีความผิดฐานหมิ่นประมาทจากการให้สัมภาษณ์ทางสถานีโทรทัศน์ ร่วมกับความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2550 เนื่องจากเทปบันทึกรายการสัมภาษณ์ถูกเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต เป็นต้น

การแก้ไขจึงเพื่อกำหนดให้ชัดเจนว่า มาตรานี้ใช้กับการฉ้อโกง ปลอมแปลง หรือหลอกลวงทางอินเตอร์เน็ตหรือทางออนไลน์ และเขียนให้ชัดเจนว่า ไม่ให้เอาไปใช้กับเรื่องหมิ่นประมาทที่มีระบุไว้อยู่แล้วในประมวลกฎหมายอาญา เนื่องจากข้อหาหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญาเป็นความผิดที่ยอมความกันได้ แต่หากกำหนดไว้ใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จะยอมความไม่ได้ ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากการถูกดำเนินคดี

มาตรา 14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 แก้ไขแล้วมีเนื้อความว่า ผู้ใดกระทําความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

(1) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหาย แก่ประชาชน อันมิใช่การกระทําความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา

(2) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิด ความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคง ในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิด ความตื่นตระหนกแก่ประชาชน

(3) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง แห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา

(4) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามก และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้

(5) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) หรือ (4) ถ้าการกระทําความผิดตามวรรคหนึ่ง (1) มิได้กระทําต่อประชาชน แต่เป็นการกระทําต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ผู้กระทํา ผู้เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และให้เป็นความผิดอันยอมความได้ 

ตามหลักกฎหมาย หากมีการแก้กฎหมายใหม่ และกฎหมายที่แก้นั้นยกเลิกความผิดตามที่มีอยู่ในกฎหมายเดิม หรือมีโทษเบาลง ให้นำกฎหมายที่ออกใหม่มาบังคับใช้ แม้การกระทำจะเกิดขึ้นก่อนมีการประกาศกฎหมายใหม่ก็ตาม

หลัง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ได้ราว 6 เดือน คดีความที่ถูกตั้งข้อหาตามมาตรา 14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับเดิมต่างทยอยสิ้นสุดคดีจากการสั่งไม่ฟ้องในชั้นอัยการ ถือเป็นแนวโน้มที่ดีสำหรับการบังคับใช้มาตรา 14 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับใหม่ ในจำนวนนี้มีคดีที่อยู่ในความรับผิดชอบของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน 2 คดี

คดีโพสต์ผังทุจริตอุทยานราชภักดิ์

คดีแรก คือ คดีของ ‘แจ่ม’ (นามสมมติ) ผู้ตกเป็นผู้ต้องหาในความผิดข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2550 จากการโพสต์ข้อความ ถึงความขัดแย้งภายใน คสช. จากกรณีทุจริตโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ลงในเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2558

เมื่อพนักงานสอบสวนส่งสำนวนให้อัยการศาลทหารกรุงเทพ อัยการทหารมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดีเนื่องจากเห็นว่าคดีนี้ไม่ได้เป็นความผิดตามมาตรา 116 อัยการทหารจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ทว่าพนักงานสอบสวนยังคงนำสำนวนการสอบสวนเดิมส่งต่อให้อัยการศาลจังหวัดพระโขนง

อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีในเดือนเมษายน 2560 โดยให้เหตุผลว่า ข้อความในเฟซบุ๊กของ ‘แจ่ม’ เป็นความเชื่อของผู้กล่าวหาว่าเป็นความผิดตามกฎหมายดังกล่าว แต่ไม่มีพยานยืนยันว่าข้อความนั้นเป็นเท็จหรือไม่ และขณะเกิดเหตุประชาชนทั่วไปกำลังสนใจเรื่องโครงการอุทยานราชภักดิ์

อัยการเห็นว่า การกระทำของ ‘แจ่ม’ เป็นการติชมเพื่อประโยชน์แก่สาธารณะ ไม่เกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือโครงสร้างพื้นฐานหรือทำให้ประชาชนตื่นตระหนก แม้ว่าข้อความดังกล่าวอาจจะเป็นการใส่ความ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุววรณ และ พล.อ.พิสิทธิ์ สิทธิสาร เข้าลักษณะหมิ่นประมาทก็ตาม แต่เมื่อผู้เสียหายไม่ได้ร้องทุกข์จึงไม่อาจดำเนินคดีกับผู้ต้องหาได้ (อ่านรายละเอียดคดี ‘แจ่ม’ ที่นี่)

จะเห็นได้ว่า ในความเห็นสั่งไม่ฟ้องของอัยการสูงสุดเขียนครอบคลุมไปถึงว่า โพสต์ของ ‘แจ่ม’ ไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับใหม่ มาตรา 14 (2) ด้วย

คดีโพสต์วิจารณ์ตำรวจอ้าง ม.44 ค้นบ้าน

อีกคดี คือ คดีของบริบูรณ์ เกียงวรางกูล ที่ถูกตั้งข้อหาหมิ่นประมาท และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (1) จากการโพสต์เฟซบุ๊กเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ตำรวจเข้าค้นบ้าน โดยอ้างอำนาจตาม มาตรา 44

นายบริบูรณ์ เกียงวรางกูร (ชายสวมเสื้อสีขาวแถวหน้าสุด)

บริบูรณ์ได้ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมถึงอัยการศาลจังหวัดราชบุรีเมื่อเดือนมิถุนายน 2560 ใจความว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2560 โดย พ.ร.บ. ดังกล่าวได้ยกเลิกข้อความใน มาตรา 14 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับเดิม และบัญญัติใหม่ไว้ว่า ห้ามมิให้นำบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้ลงโทษกับการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา จึงขอให้อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ (อ่านรายละเอียดคดีบริบูรณ์ที่นี่)

ต่อมาเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2560 อัยการศาลจังหวัดราชบุรีมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีบริบูรณ์ในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ส่วนข้อหาหมิ่นประมาทยังอยู่ระหว่างอัยการศาลแขวงราชบุรีทำความเห็น โดยจะนัดฟังคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดีวันที่ 26 ธ.ค. 2560

แสดงให้เห็นว่าในชั้นอัยการเริ่มมีการปรับใช้กฎหมายให้ตรงกับเจตนารมณ์ที่แก้ไข แต่ยังมีอีกคดีที่น่าจับตา คือคดีของรินดา พรศิริพิทักษ์

คดีโพสต์ข่าวลือประยุทธ์โอนเงินหมื่นล้าน

คดีของรินดาคล้ายกับกรณีของ ‘แจ่ม’ เธอถูกทหารควบคุมตัวและนำมาตั้งข้อหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2550 จากการโพสต์เฟซบุ๊กข่าวลือว่า พล.อ.ประยุทธ์ และภริยาโอนเงินหมื่นล้านไปประเทศสิงคโปร์

คดีของรินดาถูกฟ้องขึ้นสู่ศาลทหารกรุงเทพ แต่ศาลทหารกรุงเทพเห็นว่าคดีนี้ไม่ใช่ความผิดฐานยุยงปลุกปั่นจึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาคดีของศาลทหาร เมื่อมีการโต้แย้งเขตอำนาจศาล ศาลอาญาจึงทำความเห็นในทำนองเดียวกับศาลทหารว่าคดีนี้ไม่เป็นความผิดฐานยุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 คดีจึงถูกจำหน่ายออกจากศาลทหาร (อ่านรายละเอียดคดีของรินดาที่นี่)

รินดา พรศิริพิทักษ์

พนักงานสอบสวนนำสำนวนสอบสวนเดิมไปส่งฟ้องต่ออัยการศาลอาญา อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องเฉพาะข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2550 มาตรา 14 โดยไม่ระบุให้ชัดเจนว่าเป็นวงเล็บใด เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2559 ก่อน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับใหม่ประกาศใช้ ปัจจุบันคดีนี้สืบพยานเสร็จสิ้น ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก นัดฟังคำพิพากษาวันที่ 25 ม.ค. 2561

หากอ้างอิงจากคดี ‘แจ่ม’ คดีของรินดาไม่อาจลงโทษฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญาได้ เพราะผู้เสียหายคือ พล.อ.ประยุทธ์ และภริยาไม่ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนไว้ รวมถึงไม่น่าจะเป็นการฉ้อโกง ปลอมแปลง หรือหลอกลวงทางอินเตอร์เน็ตหรือทางออนไลน์ ซึ่งอาจจะเป็นความผิดตามมาตรา 14 (1) ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับใหม่

ส่วนจะเป็นความผิดตามมาตรา 14 (2) หรือไม่ คดีนี้อาจเป็นคดีแรก ๆ ที่จะแสดงให้เห็นว่า ศาลตีความถ้อยคำ “โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงทางเศรษฐฏิจ หรือโครงสร้างพื้นฐานหรือทำให้ประชาชนตื่นตระหนก” ว่าอย่างไร

อย่างไรก็ตาม คดีของรินดายังไม่น่าจะเป็นความผิดตามมาตรา 14 (3) เนื่องจากทั้งศาลทหารกรุงเทพและศาลอาญาต่างก็เห็นตรงกันมาครั้งหนึ่งแล้วว่าข้อความของเธอไม่เป็นความผิดตามมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา ทำให้ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ด้วย

คดีนี้จึงอยู่ที่ศาลว่าจะนำ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับใหม่มาบังคับใช้ได้ตรงตามเจตนารมณ์หรือไม่ และตีความเพื่อคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความเห็นของประชาชนเพียงใด หรือสุดท้าย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับใหม่อาจไม่ได้นำมาใช้คู่กับคดีหมิ่นประมาทแล้ว แต่จะยังคงเป็นเครื่องมือของรัฐในการฟ้องปิดปากประชาชนที่ต้องการตรวจสอบการทำงานของภาคส่วนต่าง ๆ ผ่าน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2560 มาตรา 14 (2) ?

X