ภาค 1 : “SLAPPs” การฟ้องปิดปากหลังรัฐประหาร 2557

 

สุทธิเกียรติ คชโส[1]

ความหมายและขอบเขตการฟ้องร้องดำเนินคดีในลักษณะ SLAPPs

  1. ภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประเทศไทยมีอัตราการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะวิธีการดำเนินคดีโดยรัฐเพิ่มสูงขึ้น สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการต่อต้านและการวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของรัฐบาล คสช. ที่ยึดอำนาจการปกครองด้วยวิธีการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยอ้างว่ามีความจำเป็นต้องขจัดปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง และปราบปรามผู้ที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ

 

  1. ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ผู้ที่แสดงความคิดเห็นหรือแสดงออกด้วยวิธีการใดๆ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นทางการเมืองหรือไม่ก็ตาม มักจะถูกฟ้องร้องดำเนินคดีโดยรัฐ ทั้งอาศัยฐานความผิดที่มีโทษทางอาญาตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่แล้ว หรือโดยอาศัยคำสั่งและประกาศของที่คณะรัฐประหารออกมาเอง ซึ่งการกระทำดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันมิให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลหรือผลการกระทำของรัฐบาล

 

  1. มาตรการข้างต้นนอกจากรัฐบาลแล้ว ในภาคธุรกิจที่ประกอบกิจการเกี่ยวกับโครงการพัฒนาต่างๆ ก็ยังใช้มาตรการเดียวกันเข้ามาจัดการยับยั้งขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเช่นกัน ซึ่งถูกนำมาใช้มากกับกลุ่มนักเคลื่อนไหวประเด็นทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะพื้นที่ภาคอีสานและภาคใต้

 

  1. ดังนั้น การทำความเข้าใจมาตรการของรัฐในการควบคุมเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหรือการแสดงออกของประชาชน และมาตรการของภาคธุรกิจที่ใช้ในการตอบโต้ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจควบคู่ไปกับสถานการณ์ในยุคปัจจุบันที่ประเทศไทยอยู่ภายใต้การปกครองของคณะรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร เพื่อให้ทราบว่ากลไกอันเป็นกฎหมายใดที่รัฐใช้เพื่อควบคุมการใช้สิทธิในเสรีภาพดังกล่าวของประชาชนและการยับยั้งนั้นมีผลต่อผู้ถูกกล่าวหาตลอดทั้งครอบครัวและสังคมในประเด็นใดบ้าง

 

  1. ผู้เขียนพบว่า ยุทธศาสตร์หนึ่งของการฟ้องร้องดำเนินคดีในรูปแบบที่เป็นการปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะหรือปิดปากไม่ให้วิพากษ์วิจารณ์ หรืออีกนัยหนึ่งคือการใช้กระบวนการทางกฎหมายควบคุมการใช้เสรีภาพในการแสดงความเห็นหรือแสดงออก ซึ่งในภาษาอังกฤษเรียกว่า Strategic Lawsuits Against Public Participation หรือ SLAPPs เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ผู้กระทำมีทั้งรัฐและภาคเอกชน วิธีการนี้มักถูกนำมาใช้กับผู้ที่เรียกร้องสิทธิ ไม่ว่าเป็นองค์กรภาคประชาสังคม (NGOs) ปัจเจกบุคคล หรือกลุ่มคนที่ต้องการสื่อสารประเด็นที่เป็นประโยชน์สาธารณะ (Public Interest) เช่น การทำกิจกรรมของผู้ที่แสดงความคิดเห็นหรือการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของรัฐบาล การแสดงความคิดเห็นต่อโครงการพัฒนาของรัฐและการต่อต้านโครงการอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

(ภาพกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด ชูป้ายไม่ยอมรับพ.ร.บ.ชุมนุม)

  1. ตัวอย่างการศึกษา SLAPPs ในต่างประเทศ เช่นประเทศสหรัฐอเมริกา นักวิชาการอย่าง Pring และ Canan พบว่า SLAPPs เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงหลังทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา[2] โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อโจมตีการทำกิจกรรมทางการเมืองที่ก่อให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้าง เช่น การเดินขบวนประท้วง (Demonstrations) การบอยคอตหรือการคว่ำบาตร (Boycotts) และการรณรงค์ประชามติเรื่องสิทธิการเลือกตั้ง (Referendum Elections)[3] เป็นต้น

 

  1. เมื่อขอบเขตของการฟ้องร้องดำเนินคดีในลักษณะ SLAAPs มีความหลากหลายจึงทำให้การนิยามความหมายของ SLAPPs เป็นเรื่องยาก เพราะไม่มีเกณฑ์ตายตัวในการชี้วัดว่าคดีความที่เกิดขึ้นเป็น SLAPPs หรือไม่ ดังนั้น การพิจารณาอาจดูได้จากแรงจูงใจของคำฟ้อง ซึ่งบ่งบอกเป็นนัยยะว่าลักษณะของการฟ้องคดีมีเป้าหมายเกี่ยวกับการทำให้หยุดแสดงออกทางการเมืองหรือยับยั้งการต่อสู้ทางการเมืองหรือการพูดประเด็นสาธารณะ[4]ใช่หรือไม่และอย่างไร

 

  1. สถานการณ์การฟ้องร้องดำเนินคดีในประเทศไทยที่อาจนำมาเทียบเคียงว่าอยู่ในความหมายและขอบเขตของการฟ้องร้องดำเนินคดีในลักษณะ SLAAPs ได้ มักเกิดกับขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ที่แม้กลุ่มดังกล่าวจะให้ความหมายของการต่อสู้เรียกร้องในกลุ่มตนที่แตกต่างกัน เช่น การต่อสู้ด้านสิทธิพลเมืองและด้านการเมือง ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านป่าไม้ที่ดิน ชุมชนดั้งเดิมและวัฒนธรรม หรือประเด็นอื่น แต่ส่วนใหญ่แล้วบุคคลหรือกลุ่มคนดังกล่าวก็มักต่อสู้ด้วยวิธีการพูดหรือการเปล่งเสียง (Speaking Out) ให้ดัง ด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อให้คนในสังคมทั่วไปได้รับรู้เกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นและมุ่งต่อสู้ประเด็นปัญหาของตัวเองให้ได้รับการแก้ไขจากรัฐ แม้กระบวนการเหล่านั้นจะชี้ให้เห็นว่า รัฐเป็นตัวกำหนดหรือควบคุมอำนาจที่ครอบคลุมทุกปัญหาในระดับโครงสร้างทางการเมือง แต่การที่คนหรือกลุ่มคนที่ออกมาเรียกร้องถูกปิดปากโดยผู้ถูกกล่าวหาใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือ แต่นอกจากรัฐที่เป็นผู้กระทำแล้วยังรวมถึงบริษัทเอกชนที่อาจสูญเสียประโยชน์และขาดความน่าเชื่อถือในทางธุรกิจจากการร้องเรียนหรือการพูดถึงข้อเท็จจริงของผู้ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการในชุมชน[5] จึงสามารถสรุปได้ว่า การฟ้องร้องดำเนินคดีในลักษณะ SLAPPs ก็เกิดขึ้นกับบุคคลหรือกลุ่มกระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมประเทศไทยเช่นกัน

ตัวอย่างการใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือในการฟ้องร้องดำเนินคดีลักษณะ SLAPPs

  1. เมื่อความหมายและขอบเขตของการฟ้องร้องดำเนินคดีในลักษณะ SLAPPs แสดงให้เห็นวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของผู้กล่าวหาว่ากระทำเพื่อการแก้แค้นหรือข่มขู่ด้วยการลงโทษผู้ที่มีความคิดเห็นต่อต้านหรือไม่เห็นด้วยทางการเมืองซึ่งเป็นขั้วตรงข้าม หรือเพื่อยับยั้งการอภิปรายข้อบกพร่องของการดำเนินการที่กระทบต่อประโยชน์สาธารณะหรือต่อสังคม โดยเฉพาะในประเด็นสิ่งแวดล้อมและการต่อต้านโครงการพัฒนา อันนำมาสู่การถูกฟ้องคดีโดยการใช้ศาลเป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งไม่ให้พูด โดยผู้ฟ้องอาจเพียงแค่ต้องการให้เกิดภาระทางคดีแก่ผู้ถูกฟ้องแต่ไม่ได้หวังผลชนะในทางคดี[6]

(ภาพกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดหน้าศาลจังหวัดเลย)

  1. ตัวอย่างการฟ้องร้องหรือการดำเนินคดีในลักษณะ SLAPPs เช่น ผู้กล่าวหาแจ้งความในความผิดฐานหมิ่นประมาท (Defamation) ต่อผู้ถูกกล่าวหาว่ามีการกล่าวใส่ร้ายป้ายสี  โดยอ้างถึงข้อความหรือรูปภาพที่ผู้ถูกกล่าวหาเผยแพร่ทำให้ผู้กล่าวหาเสียหาย การดำเนินคดีในความผิดเกี่ยวกับการละเมิดทางธุรกิจหรือทางการค้า (Business Torts) ซึ่งผู้กล่าวหาอ้างว่าผู้ถูกกล่าวหาเข้ามาแทรกแซงการดำเนินกิจการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น วิพากษ์วิจารณ์สินค้า (Product Disparagement) หรือวิจารณ์กระบวนการผลิตสินค้าในทางลบ นอกจากนี้ยังมีการดำเนินคดีในความผิดเกี่ยวกับการละเมิดในทางบริหารงานยุติธรรม (Judicial-Administrative Torts) เช่น ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล และความผิดในฐานที่เกี่ยวพันกับความมั่นคงของชาติอย่างความผิดเกี่ยวกับการสมรู้ร่วมคิด ยุยงปลุกปั่น หรือก่อกบฏ (Conspiracy) หรือฐานความผิดอื่นที่มีโทษทางอาญา (Miscellaneous Wrongs) เช่น ก่อกวนให้เกิดความรำคาญ (Nuisance) หรือบุกรุก (Invasion of Privacy) เป็นต้น[7]

 

  1. ในประเทศไทย ปราฏการณ์การฟ้องร้องดำเนินคดีในลักษณะ SLAPPs เริ่มเกิดขึ้นหลังรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มีผลใช้บังคับ แต่เพิ่มมากขึ้นภายหลังปี 2556 ส่วนใหญ่พบในคดีที่เกี่ยวพันกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะสิทธิแรงงานและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยบริษัทหรือกลุ่มทุนมักเป็นโจทก์ในการฟ้องคดีนักวิจัย นักเคลื่อนไหว หรือแม้แต่ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการดำเนินงานของบริษัทให้ตกเป็นจำเลยในความผิดฐานบุกรุกหรือฐานหมิ่นประมาทจากการเผยแพร่รูปภาพหรือข้อความอันอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายหรือเสียชื่อเสียง เช่น กรณี นายอานดี้ ฮอลล์ (Mr.Andy Hall) นักวิจัยด้านสิทธิแรงงาน ได้เขียนงานวิจัยที่มีเนื้อหาว่าบริษัทเนเชอรัล ฟรุต จำกัด (Natural Fruit Co., Ltd.) จ้างแรงงานเด็กด้วยค่าจ้างที่ต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดในโรงงานผลไม้กระป๋อง ต่อมานายอานดี้ถูกทางบริษัทดังกล่าว ฟ้องด้วยความผิดฐานหมิ่นประมาท และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 รวมถึงเรียกค่าเสียหายในคดีแพ่งกว่า 32.1 ล้านบาท[8] หรือกรณีกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด กลุ่มชาวบ้านที่คัดค้านการทำเหมืองแร่ทองคำในจังหวัดเลย ถูกบริษัท ทุ่งคำ จำกัดที่ประกอบกิจการเหมืองแร่ฟ้องร้องดำเนินคดีทั้งหมดกว่า 20 คดี ประกอบด้วยความผิดฐานบุกรุกจากการก่อสร้างสิ่งกีดขวางบนถนน ความผิดฐานหมิ่นประมาทจากการให้สัมภาษณ์ทางสถานีโทรทัศน์ ความผิดเกี่ยวกับการเผยแพร่ข้อมูลเท็จเข้าไปในระบบคอมพิวเตอร์ ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ รวมทั้งยังฟ้องเรียกค่าเสียหายในคดีแพ่งรวมกว่า 320 ล้านบาท[9] เป็นต้น

 

(ชาวบ้านเดินทางมาให้กำลังใจระหว่างการพิจารณาคดีที่ศาลพระโขนงของ Mr.Andy Hall)

  1. หลังจากการรัฐประหารในช่วงกลางปี 2557 เป็นต้นมา คสช. ออกประกาศและคำสั่งหลายฉบับและใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินคดีกับบุคคลหรือกลุ่มบุคคลซึ่งจัดกิจกรรมทางการเมือง หรือผู้ที่แสดงความคิดเห็นต่อต้าน คสช. เช่น ประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 เรื่อง ห้ามชุมนุมทางการเมือง คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ หรือการนำกฎหมายที่มีอยู่แล้วมาใช้ เช่น ใช้ความผิดฐานยุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 กับผู้ที่ออกมาวิจารณ์รัฐบาล หรือการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ก็จะถูกดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ (Lèse Majesté) ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งต้องขึ้นสู่การพิจารณาคดีของศาลทหารทั้งสิ้น[10]

 

  1. ท่ามกลางการวิพากษ์วิจารณ์ถึงการใช้คำสั่งและประกาศบางฉบับในลักษณะจำกัดการใช้สิทธิอย่างสิทธิในเสรีภาพแห่งการแสดงออกและแสดงความคิดเห็น หรือสิทธิในการเข้าไปมีส่วนร่วมในรัฐกิจ การออกเสียง หรือการรับการเลือกตั้ง ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการนำพาและวางรากฐานประเทศเข้าสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตย เหตุผลส่วนหนึ่งที่กฎหมายเหล่านั้นสามารถทำหน้าที่เป็นกลไกอย่างดีในกระบวนพิจารณาคดีซึ่งมีผลยับยั้งผู้ที่ใช้สิทธิดังกล่าว ก็เพราะว่าการกระทำในนามของกฎหมายโดยเจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามคำสั่งหรือประกาศนั้น ได้รับการยกเว้นจากการถูกตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายโดยศาล ผู้ถูกกล่าวหาจึงต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่หลายครั้งก็ล่าช้าและยังมีปัญหาถึงมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยในหลายประการ

 

  1. ปัจจุบัน ด้วยผลของการบังคับใช้คำสั่ง ประกาศ และกฎหมายดังกล่าว ทำให้มีผู้ถูกดำเนินคดีฐานฝ่าฝืนคำสั่งหรือประกาศ หรือถูกดำเนินคดีด้วยฐานความผิดตามที่กำหนดไว้ในคำสั่งหรือประกาศ หรือแม้แต่ถูกดำเนินคดีด้วยฐานความผิดเกี่ยวกับการความมั่นคงภายในราชอาณาจักรเป็นจำนวนมาก จากข้อมูลซึ่งเก็บรวบรวมโดยโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) พบว่ามีผู้ถูกจับกุมช่วงระหว่างวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2560 อย่างน้อย 597 คน มีผู้ถูกดำเนินคดีในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อย่างน้อย 82 คน และมาตรา 116 อย่างน้อย 64 คน ส่วนพลเรือนซึ่งต้องขึ้นศาลทหารประมาณ 300 คน และยังมีกิจกรรมที่ถูกปิดกั้น-แทรกแซงอย่างน้อย 152 ครั้ง
  2. นอกจากนี้ ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนที่ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้ต้องหาและจำเลยในกลุ่มคดีดังกล่าว อย่าง นางสาวศิริกาญจน์ เจริญศิริ ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกล่าวหาว่าไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานจากการปฏิเสธไม่ยินยอมให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจค้นรถยนต์เพื่อหาสิ่งของของลูกความไปใช้เป็นพยานหลักฐาน[11]และถูกกล่าวหาว่าทำการยุยงปลุกปั่นให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน[12] จากการปฏิบัติหน้าที่ทนายความอีกด้วย ซึ่งผู้เขียนมองว่าการดำเนินคดีดังกล่าวเป็นการขัดต่อหลักการพื้นฐานขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยบทบาทของทนายความ (UN Basic Principles on the Role of Lawyers) อย่างร้ายแรง

(ภาพน.ส.ศิริกาญจน์ เจริญศิริหลังจากเข้ารับทราบข้อกล่าวหา)

  1. ผลจากการถูกฟ้องร้องดำเนินคดีในลักษณะ SLAPPs ดังกล่าว ทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้ถูกกล่าวหาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยผู้ถูกกล่าวหาไม่ใช่เพียงแค่ต้องจ่ายค่าทนายความ ค่าธรรมเนียมศาล หรือค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับกระบวนการต่างๆ ในคดี[13] เท่านั้น แต่ยังต้องสูญเสียเวลากับกระบวนการยุติธรรมที่ยืดเยื้อยาวนาน อาจไม่ได้รับความไว้วางใจจากคนรอบข้างในสังคม เกิดผลกระทบต่อจิตใจที่คล้ายถูกข่มขู่ให้เกิดความกังวลใจ ทำให้สูญเสียรายได้ นอกจากนี้ การต้องเดินทางไปศาลหลายครั้งยังทำให้เกิดผลกระทบกับความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยและครอบครัว[14] เป็นต้น ส่วนการถูกฟ้องคดีโดยรัฐอันเป็นการฝ่าฝืนประกาศและคำสั่ง คสช. ทำให้ผู้ถูกกล่าวหาบางรายต้องขึ้นสู่การพิจารณาคดีในศาลทหาร ซึ่งรูปแบบการพิจารณาคดีแตกต่างจากศาลยุติธรรม อีกทั้งตุลาการศาลทหาร “โดยหลักการ” ขาดความเป็นกลางและไม่มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายอย่างเพียงพอ[15]

 

  1. นอกจากนี้ ในบางกรณี การเลือกดำเนินคดีกับบุคคลใดและอัตราการดำเนินคดีที่เพิ่มสูงขึ้นในความผิดฐานใดฐานหนึ่ง มักถูกมองว่าถูกนำมาใช้อย่างจงใจเพื่อจะจัดการกับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ และอาจตีความได้ว่าเป็นการฟ้องร้องดำเนินคดีในลักษณะ SLAPPs เช่นเดียวกัน ล่าสุดกรณี นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา (หรือไผ่ ดาวดิน) ซึ่งถูกแจ้งข้อกล่าวหาโดยทหารในพื้นที่ว่ากระทำความผิดฐานดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา จากการที่นายจตุภัทร์แชร์บทความพระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 จากเว็บไซต์ข่าวบีบีซี ภาคภาษาไทย ซึ่งเป็นสำนักข่าวต่างประเทศที่มีผู้แชร์ข่าวมากกว่า 2,400 คน[16] ซึ่งที่ผ่านมานายจตุภัทร์เป็นนักศึกษาและแกนนำนักกิจกรรมที่มีบทบาทในการต่อสู้เพื่อสิทธิด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในภาคอีสานมาโดยตลอด รวมทั้งยังมีบทบาทในการคัดค้านรัฐประหาร 2557 จนถึงปัจจุบัน ดังนั้น แนวโน้มการดำเนินคดีดังกล่าว จึงถูกสาธารณชนมองว่าฝ่ายรัฐต้องการทำให้นายจตุภัทร์หยุดเคลื่อนไหวหรือแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะ ผลของคำพิพากษาจึงกระทบต่อทัศนคติของสาธารณชนที่มีต่อกระบวนการยุติธรรมโดยตรง

(ภาพนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หลังถูกอายัดตัวจากศาลจังหวัดภูเขียว จ.ชัยภูมิ)

  1. กล่าวคือ ในการดำเนินคดีอาญาปกติ ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะได้รับการรับรองจากรัฐ โดยศาล พนักงานอัยการและพนักงานสอบสวนว่า สิทธิในการปล่อยชั่วคราวของตนจะได้รับการพิจารณาเป็นหลัก การไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวต้องเป็นข้อยกเว้น โดยใช้หลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้กระทำความผิดนั้นยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด ซึ่งนายจตุภัทร์เองเคยได้รับการปล่อยชั่วคราวในระหว่างการพิจารณาคดีนี้โดยใช้เงินสด 400,000 บาท แต่ถูกถอนประกันในเวลาต่อมาหลังจากที่นายจตุภัทร์โพสต์ถึงการถูกศาลเรียกหลักทรัพย์ประกันตัวเป็นเงินจำนวนมาก จากนั้นแม้นายจตุภัทร์ได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวต่อศาลถึง 10 ครั้ง ศาลก็ไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวอีกเลยจนกระทั่งศาลมีคำพิพากษาในคดีนี้[17]

(ภาพการจัดกิจกรรมให้กำลังนายจตุภัทร์ของกลุ่มนักศึกษา และถูกดำเนินคดีในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล)

  1. นอกจากนี้ บุคคลที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสิทธิที่จะได้รับการปล่อยชั่วคราวของนายจตุภัทร์ก็ยังถูกดำเนินคดีในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล (Contempt of Court)[18] ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่ทำให้การทำกิจกรรมเพื่อเรียกร้องหรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ ลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะแม้ความผิดฐานดังกล่าวจะมีโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินห้าร้อยบาท แต่ด้วยเหตุที่เป็นฐานความผิดพิเศษที่ขั้นตอนในการพิจารณาคดีถูกลดความสำคัญลงจนไม่อาจกล่าวได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาได้รับสิทธิในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ บุคคลซึ่งถูกดำเนินคดีจึงกลายเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ถูกกระบวนการยุติธรรมจัดการและมีผลให้ผู้ที่สนับสนุนการกระทำนั้นกลัวและเงียบไปเอง

 

 

ผลของการฟ้องร้องดำเนินคดีในลักษณะ SLAPPs ที่ก่อความเสียหายมากกว่าตัวเงิน

  1. เมื่อการฟ้องร้องดำเนินคดีในลักษณะ SLAPPs คือการกระทำที่ผู้กล่าวหาประสงค์ให้ผู้ถูกกล่าวหาได้รับความเสียหายทั้งในทางคดีและโดยประการอื่น การฟ้องร้องดำเนินคดีดังกล่าวจึงเป็นกระบวนการอย่างหนึ่งในการกล่าวร้าย (Abuse of Process) หรือเรียกได้ว่า ก่อความเสียหาย ด้วยการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ถูกกล่าวหาโดยตรง ซึ่งผู้กล่าวหาที่อาจจะเป็นรัฐหรือเอกชนมักฟ้องคดีโดยมีเจตนาให้ผู้ถูกกล่าวหาเกิดความวิตกกังวล (Emotional Distress) ในการพูดหรือใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและทำให้เกิดความกลัวต่อการตกเป็นจำเลยในคดีและจำเลยของสังคมจากการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต โดยผู้ถูกกล่าวหายังไม่ได้รับการพิสูจน์ความบริสุทธิ์จนเสร็จสิ้นกระบวนการยุติธรรม และเมื่อการถูกฟ้องคดีทำให้ภาระการพิสูจน์ว่าตนมิได้กระทำความผิดตกแก่ผู้ถูกกล่าวหา ก็ยิ่งสร้างยุ่งยากให้แก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดี และยังสร้างความเสียหายมากขึ้นอีกหากบุคคลดังกล่าวไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือทางคดีจากทนายความหรือนักกฎหมายได้ นอกจากนี้ ในสภาพการณ์ปัจจุบันยังมีผู้ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีตามกฎหมายที่ตราขึ้นโดยขัดต่อหลักนิติรัฐ ต้องตกอยู่ในกระบวนการออกกฎหมายที่ไม่ปกติและอาจถูกนำตัวขึ้นพิจารณาคดีในศาลทหาร จึงเป็นการยากยิ่งที่จะประกันว่ากลุ่มคนดังกล่าวจะได้รับการคุ้มครองสิทธิในกระบวนการยุติธรรมอย่างเต็มที่

 

  1. ผลของการละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกหรือแสดงความเห็นและสิทธิด้านอื่นของผู้ถูกกล่าวด้วยการนำคดีขึ้นสู่ศาล จึงสร้างความเสียหายให้ทั้งกับตัวผู้ถูกกล่าวหาหลายประการตามที่กล่าวไปข้างต้น และยังสร้างภาระให้กับกระบวนการยุติธรรมในภาพรวม จนนำไปสู่การลดทอนความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อกระบวนการยุติธรรม และยังทำให้บุคคลในกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเสียเวลาต่อการจัดการข้อพิพาทอันไม่จำเป็น ซึ่งเป็นความเสียหายที่มิอาจคำนวณเป็นเงินได้และไม่ควรเกิดขึ้น

 

  1. ผู้เขียนเห็นว่า ในสถานการณ์ปัจจุบัน ประเทศไทยยังต้องวางรากฐานให้หลักนิติรัฐได้เข้ามาจัดการให้ระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยมีที่มาจากประชาชนและมาจากการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งหนึ่งในวิธีการสร้างกระบวนมีส่วนร่วมที่มีประสิทธิภาพคือ รัฐต้องสามารถประกันได้ว่าทุกคนมีเสรีภาพในการแสดงออกหรือแสดงความคิดเห็น ในระหว่างบุคคลด้วยกันต่างต้องเคารพและยอมรับการใช้สิทธินั้นของบุคคลอื่น ส่วนบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมอาจต้องสร้างเครื่องมือใหม่ขึ้นมาป้องกันการฟ้องร้องดำเนินคดีในลักษณะ SLAPPS หรือใช้กฎหมายในวิธีพิจารณาคดีเพื่อยับยั้งความเสียหายที่จะเกิดขึ้นเนื่องจากการกระทำดังกล่าว เช่น การพิจารณาข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านทั้งในชั้นสอบสวนและชั้นอัยการ การสั่งไม่ฟ้องคดีโดยพนักงานสอบสวนหรือพนักอัยการ เป็นต้น

 

 

 

 แหล่งอ้างอิง 

[1] จบการศึกษาระดับปริญญาโท จากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ปัจจุบันเป็นนักกฎหมายประจำมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (Enlaw)

 

[2] George W. Pring and Penelope Canan. (1992). Strategic Lawsuits Against Public Participation (SLAPPs): An Introduction for Bench, Bar and Bystanders. Bridgeport Law Review Quinnipiac College, 12(4). 939-940.

[3] George W. Pring. (1989). SLAPPs: Strategic Lawsuit against Public Participation. Peace Environmental Law Review, 7(1). 5.

[4] Dwight H. Merriam and Jeffrey A. Benson. (1993). Identifying and Beating a Strategic Lawsuit Against Public Participation. Duke Environmental Law & Policy Forum, 17(3). 19.

[5] D. Mark Jackson. (2001). The Corporate Defamation Plaintiff in the  Era of SLAPPs: Revising New York Times v. Sullivan. William & Marry Bill of Rights Journal, 9(2). 493.

[6] Dwight H. Merriam and Jeffrey A. Benson. (1993). Identifying and Beating a Strategic Lawsuit Against Public Participation. Duke Environmental Law & Policy Forum, 17(3). 17.

[7] George W. Pring and Penelope Canan. (1992). Strategic Lawsuits Against Public Participation (SLAPPs): An Introduction for Bench, Bar and Bystanders. Bridgeport Law Review Quinnipiac College, 12(4). 946-947.

[8] Jirawat Suriyashotichyangkul. (2015). Asymmetrical Legal Protections for Human Rights Abuses Associated with Corporations: The use of legal threats against human rights defenders and victims. TDRI Quarterly Review, 30(2). 19-20.

[9] The Forum on Justice System Community Rights and Human Rights Defenders Documentation. May 9, 2016, Boonchu Rojanasatian room, Thammasat University (Tha-Phrajan).

[10] Thai Lawyers for Human Rights. (2016). Nai Nam Khong Kuam A Yud Ti Tham Pai Tai Kor Sor Chor [In Thai]. On behalf of Injustice under NCPO [In English]. Bangkok: Thai Lawyers for Human Rights. 30-32.

[11] Prachatai. Police press charges against human rights lawyer for defying their orders. May 13, 2016. http://www.prachatai.com/english/node/6160

[12] Prachatai. Embattled human rights lawyer accused of sedition. September 28, 2016. http://www.prachatai.com/english/node/6601

[13] George W. Pring and Penelope Canan. (1992). Strategic Lawsuits Against Public Participation (SLAPPs): An Introduction for Bench, Bar and Bystanders. Bridgeport Law Review Quinnipiac College, 12(4). 942.

[14] D. Mark Jackson. (2001). The Corporate Defamation Plaintiff in the  Era of SLAPPs: Revising New York Times v. Sullivan. William & Marry Bill of Rights Journal, 9(2). 494.

[15] Thai Lawyers for Human Rights. (2016). Nai Nam Khong Kuam A Yud Ti Tham Pai Tai Kor Sor Chor [In Thai]. On behalf of Injustice under NCPO [In English]. Bangkok: Thai Lawyers for Human Rights. 95.

[16] BBC. Thailand to try activist who shared king’s profile on Facebook. February 10, 2017. http://www.bbc.com/news/world-asia-38928904

[17] ilaw. Jatupat-Sharing BBC Article. September 22, 2017. https://freedom.ilaw.or.th/th/case/756#progress_of_case

[18] Prachatai. Activists demanding Pai Dao Din’s release accused of contempt of court. March 17, 2017. https://prachatai.com/english/node/7010 and 3 more activists accused of contempt of court for demanding Pai’s release. March 21, 2017. https://prachatai.com/english/node/7016

X