อัยการศาลจังหวัดเลยยื่นฟ้อง 7 สมาชิกกลุ่มกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ศาลอนุญาตปล่อยชั่วคราว ไม่ต้องใช้หลักประกัน ทนายชี้ชาวบ้านมีสิทธิเข้าร่วมประชุมในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง
25 ก.ค. 2560 หลังจากที่ นางพรทิพย์ หงชัย, นางวิรอน รุจิไชยวัฒน์, นางมล คุณนา, นางระนอง กองแสน, นางสุพัฒน์ คุณนา, นางบุญแรง ศรีทอง, และนางลำเพลิน เรืองฤทธิ์ เดินทางเข้าพบพนักงานอัยการจังหวัดเลย เพื่อฟังผลการพิจารณาสั่งคดี พนักงานอัยการจังหวัดเลยได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นางพรทิพย์ หงชัย และพวกรวม 7 คน สมาชิกกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด จ.เลย ซึ่งเป็นหญิงทั้งหมด ต่อศาลจังหวัดเลย เป็นคดีอาญาหมายเลขคดีดำที่ 2858/2560 โดยกล่าวหาว่า นางพรทิพย์เป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง และทั้ง 7 ร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด, ร่วมกันชุมนุมสาธารณะกีดขวางทางเข้าออกและรบกวนการปฏิบัติงานสถานที่ทำการหน่วยงานของรัฐ
หลังจากอัยการยื่นฟ้อง จำเลยทั้ง 7 คน ได้ยื่นเรื่องขอปล่อยตัวชั่วคราว ต่อมาเวลาประมาณ 14.20 น. ทั้ง 7 คน ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว โดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ประกันตัว แต่มีเงื่อนไขว่าต้องมาตามกำหนดนัดของศาล โดยศาลจังหวัดเลยนัดพร้อมตรวจพยานหลักฐานวันที่ 11 ส.ค. 2560 เวลา 09.00 น.
คำบรรยายฟ้องระบุว่า ด้วยประธานองค์การบริหารส่วนตำบลได้นัดประชุมสภาสมัยวิสามัญ ครั้งที่ 4 เรื่อง การให้ความเห็นชอบต่อการต่ออายุหนังสือขออนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติโคกภูเหล็ก เพื่อทำเหมืองแร่ทองคำ และเรื่องการยื่นขอใช้ประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อนำทรัพยากรธรรมชาติในเขตปฏิรูปที่ดินไปใช้ประโยชน์ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด โดยนัดประชุมในวันที่ 16 พ.ย. 2559 เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวง อันเป็นสถานที่ทำการหน่วยงานของรัฐ จำเลยที่ 1 ได้เป็นผู้จัดให้มีการชุมนุมสาธารณะคัดค้านไม่ให้มีการจัดการประชุมดังกล่าว โดยเชิญชวนนัดหมายจำเลยที่ 2-7 และชาวบ้านหลายร้อยคนเข้าร่วมชุมนุมสาธารณะ บริเวณรอบอาคารห้องประชุมฯ โดยจำเลยที่ 1 ไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งการชุมนุมก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง
คำฟ้องระบุต่อไปว่า จำเลยทั้ง 7 ได้ร่วมกันข่มขืนใจ นายศักดิ์โชติ เรียนยศ ผู้เสียหายที่ 1, นายวัชรพงศ์ บัวบานบุตร ผู้เสียหายที่ 2, นายทะนงศักดิ์ พรหมศรี ผู้เสียหายที่ 3, นายสุรศักดิ์ ดวงจำปา ผู้เสียหายที่ 4, นายนิกร ศรีโนนสุข ผู้เสียที่ 5, นายวีระพล กัตติยะ ผู้เสียหานที่ 6, นายแตง ตองหว้าน ผู้เสียหายที่ 7, นายขุนเที่ยง มหาพรม ผู้เสียหายที่ 8, นายปัญเทา สิงมะทาพรม ผู้เสียหายที่ 9, นายวิษณุ บัวบานบุตร ผู้เสียหายที่ 10, นายอ๊อด บุตรศรี ผู้เสียหายที่ 11, นายกิตติพงษ์ นิพวงลา ผู้เสียหายที่ 12, นางกรรติการ มูลทา ผู้เสียหายที่ 13, นายทรงวุฒิ บัวระพันธ์ ผู้เสียหายที่ 14, นายปัดใจ ศรีทุมสุข ผู้เสียหายที่ 15 และนายรวยล้น สอนสุภาพ ผู้เสียหายที่ 16 ซึ่งเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวง ไม่ให้เข้าร่วมประชุมดังกล่าว โดยร่วมกันพูดปราศรัย ชักชวน โน้มน้าว ให้ชาวบ้านกว่า 100 คน ที่มาเข้าร่วมชุมนุมสาธารณะ ปิดล้อมขวางทางเข้าห้องประชุม พร้อมปลุกระดมชาวบ้านให้โห่ร้อง และต่อต้านขัดขวาง ไม่ให้ผู้เสียหายทั้ง 16 คน เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว อันเป็นการกีดขวางทางเข้าออกและรบกวนการปฏิบัติงานสถานที่ทำการหน่วยงานของรัฐ และเป็นการทำให้ผู้เสียหายทั้ง 16 คน ซึ่งมีความประสงค์จะเข้าประชุม เกิดความกลัวว่า จะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ของผู้เสียหายทั้ง 16 คน จนผู้เสียหายทั้ง 16 คน ต้องจำยอมไม่เข้าร่วมทำการประชุมดังกล่าว
อัยการระบุว่า การกระทำตามคำฟ้องดังกล่าว ถือว่าเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 8, 10 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 309
ความผิดตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ มาตรา 8 มีโทษจําคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ, มาตรา 10 มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 14,000 บาท
ทางด้าน ส.รัตนมณี พลกล้า ผู้ประสานงาน มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ซึ่งเป็นทนายความให้กับกลุ่มคนรักบ้านเกิด กล่าวว่า ในครั้งแรกที่ชาวบ้านถูกแจ้งข้อกล่าวหาว่าพรทิพย์ หงษ์ชัย เป็นผู้จัดการชุมนุมโดยไม่แจ้งการชุมนุมฯ และร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นฯ ร่วมกับชาวบ้านอีก 6 คน หลังจากตำรวจได้ส่งสำนวนให้อัยการ และอัยการตรวจสอบสำนวนจึงบอกว่ายังไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาร่วมกันชุมนุมสาธารณะกีดขวางทางเข้าออกและรบกวนการปฏิบัติงานสถานที่ทำการหน่วยงานของรัฐให้กับชาวบ้านอีก 6 คน จึงมีการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมในภายหลัง
ทนายความให้ความเห็นว่า จริงๆต้องกลับไปมองว่าทำไมเหตุถึงเกิดขึ้น เหตุที่เกิดขึ้นเพราะว่ามีความพยายามที่จะประชุมสภา อบต.ในเรื่องการพิจารณาใบขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าไม้เพื่อทำเหมืองแร่ทองคำ แต่ถ้าจะย้อนไปจริงๆ อบต. ต้องกลับไปดูว่ามีการทำประชาพิจารณ์หรือยังใน 6 หมู่บ้าน และโดยหลักการ อบต. มีหน้าที่ต้องไปจัดประชาคมก่อน แล้วค่อยเอาผลที่ได้มาประชุมสภาแต่ อบต. ไม่ได้ทำ และไม่ได้สั่งให้ผู้ใหญ่บ้านหรือใครทำการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน แม้ว่า อบต. จะมาจากการเลือกตั้ง แต่ก็ต้องฟังเสียงของประชาชนด้วย และนี่คือปัญหา อีกทั้งในวันดังกล่าว ที่ชาวบ้านมาเพราะ อบต. เป็นคนแจ้งว่าจะมีการประชุม และเชิญให้ชาวบ้านมาร่วมประชุม ชาวบ้านก็มีสิทธิที่จะเข้าร่วมการประชุมในฐานะผู้มีส่วนได้ ส่วนเสียโดยตรง
คดีนี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2559 ชาวบ้านกว่า 150 คน เดินทางเข้าร่วมการประชุมสภา อบต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ตามคำเชิญของสภา อบต. เพื่อติดตามการประชุมสภาฯ ในวาระการพิจารณาเรื่องการขอต่ออายุใบอนุญาตเพื่อขอใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าไม้และ ส.ป.ก. เพื่อทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด การประชุมในครั้งนั้น ชาวบ้านได้เรียกร้องให้ยกเลิกการประชุมในวาระดังกล่าว
ต่อมาเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2559 จำเลยทั้ง 7 คน ถูกแจ้งข้อกล่าวหาผิด พรบ.ชุมนุม โดยพ.ต.อ.สุจินต์ นาวาเรือน ผกก.สภ.วังสะพุง เป็นผู้แจ้งความเอาผิดในในข้อหาดังกล่าว
วิรอน สมาชิกกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด และหนึ่งในจำเลย กล่าวว่า ในฐานะที่ตนเป็นผู้ได้รับผลกระทบ การถูกแจ้งข้อหาดังกล่าวจึงไม่เป็นธรรม และในการประชุมของ อบต.ชาวบ้านต้องเข้าไปมีส่วนร่วมอยู่แล้วและ ทาง อบต. ก็เป็นคนส่งหนังสือมาเชิญชาวบ้านให้เข้าร่วมในการประชุม เพราะเรื่องที่ อบต.จะประชุมมันเกี่ยวกับเราโดยตรง มันเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
สมาชิกกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดเล่าต่อว่า พอเราไปถึง อบต.เขาหลวง เราก็รอดูว่าเขาจะประชุมกันยังไง แต่สมาชิก อบต. ก็ไม่ได้ขึ้นไปบนห้องประชุมที่ตึกใหม่ ตามที่ อบต. ได้จัดห้องประชุมไว้ แต่ขึ้นไปอยู่อีกตึกหนึ่งซึ่งเป็นตึกเก่าของ อบต. และสมาชิก อบต. ก็ไม่ได้เข้าไปบริเวณที่ชาวบ้านนั่งอยู่เลยเราก็รอให้เขาเดินมาเพื่อชี้แจงเรื่องที่จะประชุมในวันนั้น แต่ก็ไม่มีใครเดินมา แล้ว อบต. ก็อ้างว่าประชุมกันไม่ได้เพราะชาวบ้านปิดกั้นไม่ให้ประชุม แต่ที่จริงแล้วมันไม่ใช่เลย เรารอให้เขามาชี้แจงเพื่อแก้ไขปัญหา เบื้องต้นเราก็ปฏิเสธข้อกล่าวหาและพร้อมจะต่อสู้คดีไปตามกระบวนการยุติธรรม