เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2560 ที่ผ่านมา ทนายความได้ยื่นคำร้องขอให้ตุลาการศาลทหารมณฑลทหารบกที่ 23 คำสั่งปล่อยนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษาหรือไผ่ ดาวดิน จำเลยในคดีฝ่าฝืนชุมนุมทางการเมืองเกินกว่า 5 คน คดีหมายเลขดำที่ 61/2559 ศาลทหารมณฑลทหารบกที่ 23 เนื่องจากจำเลยได้ถูกขังระหว่างพิจารณาคดีของศาลเป็นระยะเวลาเกินกว่า 6 เดือนตามโทษจำคุกสูงสุดที่กำหนดไว้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 แล้ว
ตุลาการศาลทหารได้มีคำสั่งยกคำร้องในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2560 โดยให้เหตุผลว่า “พิเคราะห์แล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 71 กำหนดให้ศาลมีอำนาจออกหมายขังจำเลยระหว่างพิจารณาได้จนกว่าศาลจะได้เพิกถอนโดยออกหมายปล่อยหรือหมายจำคุกแทน ประกอบกับในมาตรา 22 แห่งประมวลกฎหมายอาญากำหนดว่าโทษจำคุก เว้นแต่คำพิพากษาจะกล่าวเป็นอย่างอื่น
“ดังนั้นการคุมขังในคดีนี้นับตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม 2560 เป็นต้นมา จึงเป็นการคุมขังระหว่างพิจารณาที่ทับซ้อนกับโทษจำคุกในคดีของศาลจังหวัดขอนแก่น ซึ่งหากคดีนี้ศาลมีคำพิพากษาจำคุก ประเด็นที่จำเลยกล่าวอ้างว่าจำเลยถูกคุมขังในคดีนี้มาเกินกว่าโทษจำคุกในความผิดคดีนี้นั้น กรณีจึงเป็นการคุมขังที่ทับซ้อนกับโทษจำคุกของศาลจังหวัดขอนแก่น
“และเมื่อโจทก์ได้มีคำขอให้หักวันคุมขังในระหว่างต้องโทษจำคุกออกจากโทษในคดีนี้ ดังนั้นหากศาลมีคำพิพากษาจำคุกจำเลย ประเด็นที่จำเลยกล่าวอ้างเพื่อขอให้ศาลสั่งปล่อยตัวโดยแจ้งว่าถูกคุมขังมาพอแก่โทษในคดีนี้แล้วจึงยังไม่อาจรับฟังได้ในเวลานี้ โดยศาลได้แจ้งให้จำเลยทราบและให้จำเลยมายื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลพิจารณาปล่อยตัวอีกครั้งต่อเมื่อจำเลยพ้นโทษจำคุกตามหมายจำคุกของศาลจังหวัดขอนแก่นเสียก่อนจึงจะนำประเด็นที่จำเลยกล่าวอ้างให้มาพิจารณาปล่อยตัวจำเลยอีกครั้ง และได้มีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลยที่ยื่นเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2560”
หากแยกพิจารณาหมายขังในคดี 112 ของศาลจังหวัดขอนแก่นออกไป นายจตุภัทร์ก็ยังคงถูกคุมขังตามหมายขังในคดีของศาลทหารตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม 2560 ด้วย คำถามสำคัญของเรื่องนี้ คือ การขังจำเลยระหว่างพิจารณาของศาลเกินกว่าโทษจำคุกสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนดสามารถกระทำได้หรือไม่? เป็นคำถามสำคัญที่ต้องการตอบและให้เหตุผล โดยในเรื่องนี้นักกฎหมายได้มีความเห็นต่างกันออกไปสองแนวทาง โดยความเห็นแรก เห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งขังจำเลยไว้ระหว่างพิจารคดีในชั้นศาลแล้ว ศาลย่อมมีอำนาจสั่งขังจำเลยไว้ไปได้ตลอดจนกว่าการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นจะแล้วเสร็จ ย่อมเท่ากับว่าหากจำเลยถูกขังระหว่างพิจารณาคดีเกินกว่าโทษจำคุกสูงสุดตามกฎหมายแล้ว แต่ปรากฎว่าการพิจารณาคดีของศาลยังไม่แล้วเสร็จ ศาลก็ย่อมยังมีอำนาจขังจำเลยได้ต่อไป
และความเห็นที่สองซึ่งตรงกับความเห็นของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวคือ ศาลไม่มีอำนาจที่จะขังจำเลยไว้ระหว่างพิจารณาคดีเกินกว่าโทษจำคุกสูงสุดตามกฎหมายได้ เนื่องจากจะเป็นการทำให้จำเลยซึ่งอยู่ในฐานะเป็นผู้ที่ได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนโดยกฎหมายว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ถูกปฏิบัติเหมือนผู้ถูกพิพากษาว่ากระทำความผิดแล้วและได้ยังรับการลงโทษจำคุกหนักกว่าโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำความผิดเสียอีก อันเป็นการกระทบต่อสิทธิในกระบวนการยุติธรรมที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 29 ให้การคุ้มครองจำเลยในคดีอาญาไว้
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการขังจำเลยไว้ในระหว่างพิจารณาคดีของศาล
การจะแก้ปัญหาข้อยุ่งยากดังกล่าว ความเห็นทางกฎหมายอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะแก้ปัญหาได้ เราจะต้องย้อนกลับไปหาคำตอบที่บทบัญญัติต่างๆในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่จากการสำรวจบทบัญญัติที่เกี่ยวกับขังจำเลยไว้ในระหว่างพิจารณาคดีของศาล ได้แก่ มาตรา 66 ,71 ,72 ,88 ,108 และ 108/1 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาพบว่า เมื่อคดีที่อัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาล เมื่อศาลประทับฟ้องแล้ว ศาลสามารถจะสั่งออกหมายขังจำเลยไว้ได้ โดยหมายขังดังกล่าวไม่ได้ถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขระยะเวลาใดๆทั้งสิ้น แต่หมายขังจะสิ้นสุดโดยเหตุเดียวเท่านั้นคือศาลมีคำสั่งเพิกถอนหมายขังนั้น โดยการปล่อยชั่วคราวหรือออกหมายจำคุกแทน
เมื่อได้สำรวจอย่างละเอียดต่อมาก็พบว่าในเหตุปล่อยชั่วคราวต่างๆที่ระบุไว้ในมาตรา 108 กฎหมายมิได้มีการกำหนดให้เหตุที่จำเลยถูกขังเกินกว่าโทษจำคุกสูงสุดตามกฎหมายไว้เป็นเหตุหนึ่งที่ต้องคำนึงในการปล่อยตัวจำเลยชั่วคราวของศาลแต่อย่างใด เป็นที่น่าแปลกใจอย่างยิ่งที่ระบบกฎหมายของไทยมิได้มีคำนึงถึงเรื่องเหล่านี้และออกแบบกฎหมายให้รองรับกับเรื่องยุ่งยากเช่นนี้ไว้
ทั้งที่เมื่อพิจารณาจากบทบัญญัติต่างๆในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแล้ว กลับพบว่า การใช้อำนาจจำกัดสิทธิในชีวิตและร่างกายของบุคคลที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 28 ได้คุ้มครองไว้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาจะคำนึงถึงความพอสมควรแก่เหตุเสมอ โดยสร้างข้อจำกัดการใช้อำนาจจำกัดสิทธิในร่างกายของบุคคลโดยเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาทุกระดับโดยเงื่อนไขของระยะเวลาตั้งแต่เจ้าหน้าที่รัฐที่ทำการจับกุมบุคคล พนักงานสอบสวน กระทั่งพนักงานอัยการ แต่ปรากฏว่าศาลเป็นองค์กรรัฐเพียงองค์กรเดียวในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่ไม่ถูกข้อจำกัดด้านเงื่อนระยะเวลาจำกัดการใช้อำนาจจำกัดสิทธิในร่างกายของบุคคลไว้
เหตุใดถึงเป็นเช่นนี้ เราคงสามารถสันนิษฐานได้สองประการ ประการแรก เป็นเจตนารมณ์ของผู้ร่างกฎหมายประสงค์ให้ศาลมีอำนาจแบบไร้ข้อจำกัดระยะเวลาเช่นนี้ หรือประการสอง ผู้ร่างกฎหมายไม่อาจคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดปัญหาลักษณะดังกล่าวขึ้น เพราะการพิจารณาคดีของศาลยุติธรรมนั้นเป็นระบบพิจารณาแบบต่อเนื่องและในคดีที่จำเลยอยู่ในความควบคุมศาลจะเร่งทำการสืบพยาน จึงไม่ค่อยพบคดีที่ใช้ระยะเวลาพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นจะเกินกว่าโทษสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนด แต่ปัญหาเช่นนี้กลับพบมากขึ้นเมื่อมีการประกาศให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของพลเรือนภายหลังรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เนื่องจากศาลทหารไม่ได้ใช้ระบบการพิจารณาคดีแบบต่อเนื่อง ไม่มีตุลาการประจำแต่ละศาลทำให้การสืบพยานเป็นไปอย่างล่าช้า
ข้อจำกัดด้านระยะเวลาในการขังระหว่างพิจารณา : กรณีศึกษาประเทศญี่ปุ่น
อย่างไรก็ตามเมื่อเราได้สำรวจหรือศึกษากฎหมายเปรียบเทียบของต่างประเทศพบว่า ประเทศญี่ปุ่น กำหนดว่าการขังจำเลยไว้ระหว่างพิจารณาโดยศาลมีข้อจำกัดด้านระยะเวลาไว้ในมาตรา 60 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาอาญา ศาลมีอำนาจขังจำเลยไว้ระหว่างพิจารณานับตั้งแต่วันอัยการฟ้องคดีเพียง 2 เดือน และขยายระยะเวลาขังได้เพียง 1 เดือนออกไปได้ 1 ครั้ง ดังนั้น ระยะเวลาที่ศาลมีอำนาจขังจำเลยไว้ในระหว่างพิจารณาจึงมีเพียง 3 เดือนเท่านั้นโดยหลัก แต่อย่างไรก็ตามหากปรากฎข้อยกเว้นตามกฎหมายซึ่งจะไม่ขอกล่าวไว้ในที่นี้ ศาลก็มีอำนาจขยายระยะเวลาขังระหว่างพิจารณาได้มากกว่า 1 ครั้ง แต่การขยายการขังดังกล่าวก็จะต้องไม่เกินระยะเวลาอันสมควร อันเป็นเรื่องที่ศาลจะต้องพิจารณาเป็นกรณีไป
ทางออกสำหรับปัญหา : การขังจำเลยระหว่างพิจารณาของศาลเกินกว่าโทษจำคุกสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนด
จากที่ได้กล่าวปัญหาและตัวอย่างการแก้ปัญหามาทั้งหมดในข้างต้นแล้ว ทางแก้ไขในระยะยาวสำหรับการคุ้มครองสิทธิของจำเลยในระบบกฎหมายไทย เห็นควรจะต้องมีการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเพื่อกำหนดข้อจำกัดด้านระยะเวลาในการขังจำเลยไว้ระหว่างพิจารณาโดยศาลในรูปแบบเดียวกับระบบกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของประเทศญี่ปุ่นต่อไป
แต่ในระยะสั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคดีของนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษาที่ศาลทหารมณฑลทหารบกที่ 23 ตุลาการศาลทหาร สามารถตีความกฎหมายที่มีข้อจำกัดเช่นนี้ให้เป็นประโยชน์กับนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา เพื่อคุ้มครองสิทธิในร่างกายของบุคคลและสิทธิในกระบวนการยุติธรรมตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยคุ้มครองไว้ได้ รวมถึงสร้างมาตรฐานที่ดีในกระบวนการยุติธรรม โดยการที่ศาลอาศัยการตีความมาตรา 22 ประมวลกฎหมายอาญาในฐานะบทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งเพื่อเป็นคุณกับจำเลย ที่ระบุว่า
มาตรา 22 โทษจำคุก ให้เริ่มแต่วันมีคำพิพากษา แต่ถ้าผู้ต้อง คำพิพากษาถูกคุมขังก่อนศาลพิพากษา ให้หักจำนวนวันที่ถูกคุมขัง ออกจากระยะเวลาจำคุกตามคำพิพากษา เว้นแต่คำพิพากษานั้น จะกล่าวไว้เป็นอย่างอื่น
ในกรณีที่คำพิพากษากล่าวไว้เป็นอย่างอื่น โทษจำคุกตาม คำพิพากษาเมื่อรวมจำนวนวันที่ถูกคุมขังก่อนศาลพิพากษาในคดี เรื่องนั้นเข้าด้วยแล้ว ต้องไม่เกินอัตราโทษขั้นสูงของกฎหมายที่ กำหนดไว้ สำหรับความผิดที่ได้กระทำลงนั้น
หรืออาศัยอำนาจตามมาตรา 72 (1) และมาตรา 110 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพิกถอนหมายขังและสั่งปล่อยตัวชั่วคราว นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา จำเลยในคดีนี้โดยไม่มีประกันเลย เนื่องจากคดีนี้มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 5 ปีขี้นไป ส่วนนายจตุภัทร์แม้จะยังต้องถูกคุมขังต่อไปเพื่อรับโทษในคดี 112 นั้นก็เป็นการควบคุมตัวในอีกคดีหนึ่ง
อย่างไรก็ตามสภาพปัญหา ข้อมูลของระบบกฎหมายเปรียบเทียบและวิธีแก้ไขตามที่กล่าวมาทั้งหมดนี้คงเป็นแต่เพียงการตีความของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนที่ยังไม่เกิดผลในระบบกฎหมาย ส่วนการใช้และการตีความที่แท้จริงและเกิดผลในระบบกฎหมายนั้นต้องยังคงต้องผ่านการต่อสู้คดีในชั้นศาลต่อไป