ศาลอาญาพิพากษาจำคุก 3 ปี 18 เดือน คดี ม.112 ของ “เวหา” กรณีทวีตเรื่อง #คุกวังทวี และ #แอร์ไม่เย็น ก่อนศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัว

วันที่ 18 พ.ค. 2566 เวลา 09.30 น. ศาลอาญา รัชดาฯ นัดฟังคำพิพากษาในคดีของ “เวหา แสนชนชนะศึก” นักกิจกรรมวัย 39 ปี ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) กรณีใช้บัญชีทวิตเตอร์ “ฟ้าฝา ver.เกรี้ยวกราด” ทวีตข้อความเล่าประสบการณ์การถูกคุมขังในคุกเรือนจำชั่วคราวพุทธมณฑล เขตทวีวัฒนา หรือ #คุกวังทวี และทวีตข้อความจนเกิดกระแสใน #แอร์ไม่เย็น บนทวิตเตอร์ เมื่อช่วงปี 2564 

ก่อนหน้านี้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด ฝ่ายคดีอาญา 3 ได้ยื่นฟ้องคดีในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)  ต่อมาศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี โดยใช้หลักทรัพย์ประกันเดิมที่เคยใช้ในชั้นสอบสอน

คำฟ้องบรรยายโดยสรุปว่า ผู้ใช้บัญชีทวิตเตอร์ชื่อ “lll ฟ้าฝน ver. เกรี้ยวกราด” ซึ่งพบว่าเป็นของจำเลย ได้ทำการหมิ่นประมาทหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยจำเลยได้พิมพ์และโพสต์ข้อความบนทวิตเตอร์ ในช่วงวันที่ 4-5 สิงหาคม 2564 รวมทั้งหมดแยกเป็น 3 กระทง

เวลา 09.30 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 712 เวหาและครอบครัวได้เดินทางมาถึงศาล โดยมีนักกิจกรรมมาสังเกตการณ์ด้วยจำนวนหนึ่ง

ต่อมาเวลา 10.56 น. ศาลขึ้นพิจารณาคดี โดยเรียกให้จำเลยลุกขึ้นยืนรายงานตัวเพื่อฟังคำพิพากษา คำพิพากษาโดยสรุปว่า ศาลเห็นว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษทั้ง 3 กระทงตามฟ้องในตัวบทกฎหมายที่โทษหนักที่สุดคือมาตรา 112 ลงโทษจำคุกกระทงละ 3 ปี 

แม้ศาลจะเห็นว่าจำเลยไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อน แต่การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำผิดร้ายแรง สร้างความเข้าใจผิดให้แก่ประชาชน และทำให้สถาบันกษัตริย์เสื่อมเสียพระเกียรติ อันทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ได้ จำเลยให้การรับสารภาพ จึงสมควรลดโทษเหลือกระทงละ 1 ปี 6 เดือน รวมจำคุก 3 ปี 18 เดือน โดยไม่รอลงอาญา

ทั้งนี้ ในระหว่างการอ่านคำพิพากษา ศาลได้ชี้แจงต่อหน้าจำเลยว่า รายงานการสืบเสาะของพนักงานคุมประพฤติได้ระบุรายงานการวินิจฉัยโรคของจำเลยว่าเป็นโรคซึมเศร้า ไม่ได้เป็นโรคความผิดปกติที่เกิดหลังความเครียดที่สะเทือนใจ (PTSD) ซึ่งในคำร้องที่รับสารภาพ จำเลยได้ขอให้ศาลสืบเสาะโรค PTSD จากแพทย์ 

อย่างไรก็ตาม เวหาได้ชี้แจงยืนยันว่าตนเองเป็นโรค PTSD จริง โดยมีใบรับรองแพทย์จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่โรงพยาบาในจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งจำเลยได้ส่งมอบให้กับเจ้าหน้าที่คุมประพฤติที่ทำรายงานการสืบเสาะไปแล้ว และไม่ทราบว่าทำไมรายงานทางการแพทย์ที่ศาลได้รับ จึงลงความเห็นว่าจำเลยไม่ได้ป่วยตามที่เคยได้ไปตรวจจริง 

ศาลแจ้งว่า หากจำเลยยืนยันเรื่องดังกล่าว ขอให้ทำคำร้องขออุทธรณ์ในภายหลังได้ โดยวันนี้ให้ไปทำเรื่องประกันตัวก่อน ซึ่งประชาชนที่เข้าร่วมฟังพิจารณาคดี ได้ลุกขึ้นร้องขอให้ศาลทำการเลื่อนฟังคำพิพากษาออกไป และขอให้ศาลสั่งให้สืบเสาะเพิ่มเติมอีกครั้ง

ทั้งนี้ ประชาชนหญิงรายหนึ่งได้ยกมือขอแถลงต่อศาล โดยกล่าวว่าตนเองเป็นนักจิตวิทยา และพยายามอธิบายว่าโรคซึมเศร้าและ PTSD เป็นโรคที่ต้องได้รับการรักษาโดยตัวยาเดียวกัน

แต่ศาลแจ้งว่าจะอ่านคำพิพากษาให้เสร็จภายในวันนี้ และได้ตัดสินโทษแล้วว่าจะไม่มีการรอการลงโทษ โดยเห็นว่าหากเวหาได้กล่าวตามที่เขาได้ชี้แจงจริงให้ไปทำคำร้องขออุทธรณ์คดีและแนบใบรับรองแพทย์ในภายหลังได้  ทำให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้นำตัวเวหาลงไปที่ห้องขัง ใต้ถุนศาล ส่วนนายประกันได้ยื่นขอประกันตัวระหว่างอุทธรณ์คดี

ต่อมาเวลา 16.07 น. ศาลอาญามีคำสั่งให้ส่งคำร้องขอประกันให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณา โดยจะใช้ระยะเวลา 2-3 วัน จึงจะทราบผล ทำให้ในวันนี้เวหาจะต้องถูกควบคุมตัวไปที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อรอฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์ต่อไป

.

ศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัว เกรงจะหลบหนี

ต่อมาวันที่ 20 พ.ค. 2566 ศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวเวหาในระหว่างอุทธรณ์คดี โดยเห็นว่าศาลชั้นต้นลงโทษสูง เกรงว่าจำเลยจะหลบหนี

.

X