ส.ว. สหรัฐอเมริกาเสนอมติเข้าวุฒิสภาอเมริกา เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยปกป้องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย

เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2566 สี่ วันก่อนวันครบรอบการผนึกความสัมพันธ์ของประเทศไทยและสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการโดยการลงนามสนธิสัญญาไมตรีและพาณิชย์ (Treaty of Amity and Commerce) ร่วมกันในวันที่ 20 มีนาคม 2376 สมาชิกวุฒิสภา Edward J. Markey และ Dick Durbin ได้เสนอมติวุฒิสภา 114 (Senate Resolution 114) เข้าไปที่วุฒิสภาสหรัฐอเมริกา เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยปกป้องประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน หลักนิติธรรม สิทธิในการชุมนุม และสิทธิในการแสดงออก

ส.ว. Markey ได้กล่าวว่า “ประชาชนชาวไทยสมควรได้รับการเลือกตั้งที่มีความยุติธรรมและเสรี … สหรัฐอเมริกาต้องแสดงการสนับสนุนสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยเพื่อที่อำนาจทางการเมืองจะคืนกลับไปอยู่ในมือของประชาชนชาวไทย ไม่ใช่อยู่ในมือของผู้นำทหาร”

ส.ว. Durbin ซึ่งเป็นวิปวุฆิสภาเสียงข้างมาก ได้อธิบายต่อว่า “ประเทศไทยเป็นพันธมิตรที่สำคัญของสหรัฐอเมริกา เป็นประเทศที่ก้าวขึ้นมาช่วยเพื่อนบ้านชาวเมียนมาในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย … การแทรกแซงทางการเมืองและรัฐธรรมนูญของประเทศอย่างน่าเสียดายโดยกองทัพไทย และเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่สืบเนื่องมาหลายปี ได้สร้างความกังวลให้กับพันธมิตรประชาธิปไตย โดยการเสนอมตินี้ เรายืนยันการสนับสนุนของสหรัฐฯ ในด้านสิทธิมนุษยชน การเลือกตั้งอย่างเสรี และความใฝ่ฝันเกี่ยวกับประชาธิปไตยที่ชาวอเมริกันและชาวไทยมีร่วมกัน”

ในบางส่วนของมติดังกล่าว มีข้อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยกเลิกกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์หรือ มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา สื่อสารต่อรัฐบาลไทยว่าหากมีการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนช่วงเลือกตั้ง สหรัฐฯ จะไม่สามารถยอมรับได้ว่า การเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้านั้นเป็นไปอย่างสุจริตและเที่ยงธรรม

ในตอนท้ายของมติ ได้มีการระบุไว้อย่างชัดแจ้งว่า “การแทรกแซงโดยกองทัพหรือสถาบันกษัตริย์ก่อน ระหว่าง หรือหลังการเลือกตั้งทั่วไปทั้งทางตรงและทางอ้อมจะ … (ก) กระทบต่อความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างสหรัฐฯ และประเทศไทยอย่างลึกซึ้ง และ (ข) คุกคามการให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและความมั่นคงแก่ประเทศไทย และความร่วมมือระดับภูมิภาคและทางเศรษฐกิจ”

ปัจจุบัน วันที่ 19 เมษายน 2566 มติดังกล่าวได้ถูกส่งต่อไปที่คณะกรรมการความสัมพันธ์ต่างประเทศ (Committee on Foreign Relations) เพื่อพิจารณาก่อนที่วุฒิสภาจะทำการลงคะแนนออกเสียง (เช็คสถานะของมติได้ที่นี่)

หากเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของวุฒิสภาโหวตยอมรับมติดังกล่าว มติดังกล่าวก็จะถือได้ว่าเป็นความเห็นทางการของวุฒิสภาสหรัฐฯ โดยไม่จำเป็นต้องผ่านสภาผู้แทนราษฎร (House of Representatives) หรือ ประธานาธิบดี อย่างไรก็ตาม มติ หรือ simple resolution เป็นเพียงความเห็นของวุฒิสภาและไม่มีผลทางกฎหมาย

มติดังกล่าวมีเนื้อหาเต็มดังนี้

——————————————–

มติ

เรียกร้องให้รัฐบาลไทยปกป้องและธำรงรักษาประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน หลักนิติธรรม และสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและการแสดงออก และเพื่อจุดประสงค์อื่นๆ

เนื่องด้วยราชอาณาจักรไทย (ซึ่งเคยรู้จักกันในชื่อ “ราชอาณาจักรสยาม”) และ สหรัฐอเมริกาได้ริเริ่มความสัมพันธ์กันใน พ.ศ. 2361 และได้ทำสนธิสัญญาไมตรีและพาณิชย์ร่วมกัน ลงนามวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2376 ซึ่งถือเป็นการผนึกความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศอย่างเป็นทางการ

เนื่องด้วยประเทศไทยเป็นพันธมิตรทางสนธิสัญญาของสหรัฐฯ ประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับสหรัฐฯ ตั้งอยู่บนฐานของพันธกรณีต่อคุณค่าสากล ประเทศไทยเป็นมิตรอันมั่งคงของสหรัฐฯ เสมอมา

เนื่องด้วยสหรัฐฯ และประเทศไทยได้แสดงความประสงค์ร่วมกันในการ “สร้างความเข้มแข็งแก่โครงสร้างสันติภาพและเสรีภาพ และธำรงหลักการประชาธิปไตย เสรีภาพของบุคคล และหลักนิติธรรม” ผ่านสนธิสัญญาการป้องกันร่วมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจัดทำขึ้น ณ กรุงมะนิลา ในวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2497

เนื่องด้วยใน พ.ศ. 2505 สหรัฐฯ และประเทศไทยได้ลงนามในแถลงการณ์ ถนัด-รัสก์ โดยสหรัฐฯ ได้ให้คำสัญญาในเอกสารดังกล่าวว่าจะให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศไทย หากประเทศไทยเผชิญการรุกรานจากประเทศเพื่อนบ้าน

เนื่องด้วยราชอาณาจักรไทยและสหรัฐอเมริกาได้พัฒนาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง โดยได้ทำสนธิสัญญาทางไมตรีและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจขึ้นที่กรุงเทพมหานคร ณ วันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2509 ประกอบกับมีความสัมพันธ์ทางการค้าที่หลากหลายและงอกงาม

เนื่องด้วยสหรัฐฯ ยอมรับประเทศไทยในฐานะสมาชิกก่อตั้งสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (หรือที่รู้จักกันในชื่อ “อาเซียน”)

เนื่องด้วยในวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 ประธานาธิบดีโจเซฟ อาร์ ไบเดน และผู้นำอาเซียนได้ยกระดับความสัมพันธ์สหรัฐฯ – อาเซียนไปเป็นหุ้นส่วนแบบยุทธศาสตร์รอบด้าน เพื่อเปิดพื้นที่ใหม่ สำหรับความร่วมมือเพื่อความเจริญรุ่งเรืองและความมั่นคงของสหรัฐฯ และรัฐสมาชิกอาเซียนในอนาคต

เนื่องด้วยประเทศไทยได้ประสบความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพการจัดการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิกในปี 2565

(1) เพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

(2) เพื่อฟื้นฟูเครือข่ายความเชื่อมโยงหลังเกิดการหยุดชะงัก จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และ

(3) เพื่อบูรณาการเป้าหมายด้านความเสมอภาคและความยั่งยืน ควบคู่ไปกับเป้าหมายด้านเศรษฐกิจ

เนื่องด้วยประเทศไทยได้รับการแต่งตั้งเป็นพันธมิตรหลักนอกกลุ่มนาโตในปี 2548 และเป็นหนึ่งในหุ้นส่วนด้านความมั่นคงที่เข้มแข็งที่สุดของสหรัฐฯ ความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติได้ถูกเน้นย้ำอีกครั้งในแถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วมว่าด้วยการเป็นพันธมิตร ด้านการป้องกันประเทศ

เนื่องด้วยรัฐบาลไทยและรัฐบาลสหรัฐฯ ได้จัดการฝึกซ้อมรบร่วมกันเป็นจำนวนหลายครั้ง รวมถึงการฝึกคอบร้าโกลด์ ซึ่งเป็นปฏิบัติการทางทหารนานาประเทศประจำปีที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก โดยมีประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ

เนื่องด้วยรัฐบาลไทยเป็นภาคีในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและผู้ลี้ภัยอย่างต่อเนื่อง รวมถึงในความร่วมมือในการบรรเทาภัยพิบัติระหว่างประเทศหลังจากการเกิดคลื่นยักษ์สึนามิในมหาสมุทรอินเดียในปี 2547 และแผ่นดินไหวในประเทศเนปาลในปี 2558

เนื่องด้วยประเทศไทยได้ล้มเลิกระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และเปลี่ยนการปกครองไปเป็นระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในปี 2475 ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ประเทศไทยได้ทบทวนและตรารัฐธรรมนูญใหม่เป็นจำนวน 19 ครั้ง รวมถึงรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ที่ได้กำหนดให้มีตัวแทนที่ได้รับการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยเข้ามานั่งในสภาแห่งชาติที่เป็นระบบสองสภา โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาล

เนื่องด้วยในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 กองทัพไทยได้ทำรัฐประหารและได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ประกาศกฎอัยการศึก และตั้งรัฐบาลทหารแทนรัฐบาลพลเรือนในชื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (ในอารัมภบทนี้จะเรียกว่า “คสช.”) ภายใต้การนำของประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารสูงสุด

เนื่องด้วยในวันที่ 29 มีนาคม 2559 คสช. ได้เปิดตัวร่างรัฐธรรมนูญ และในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 คสช. ได้จัดการออกเสียงประชามติรับรองรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีข้อบกพร่องเป็นอย่างยิ่ง โดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างความชอบธรรมแก่ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว

เนื่องด้วยการออกเสียงประชามติปี 2559 นั้นเต็มไปด้วยการละเมิดสิทธิเสรีภาพ ในการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมโดยสงบในวงกว้าง

เนื่องด้วย คสช. ได้เพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องขององค์การสหประชาชาติและรัฐบาลประเทศต่างๆ ให้เคารพสิทธิของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญอย่างเสรี จำกัดเสรีภาพในช่วงก่อนการออกเสียงประชามติรับรองรัฐธรรมนูญอย่างจริงจัง ฟ้องดำเนินคดีนักข่าวและผู้วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ ปิดกั้นสื่อ และห้ามประชาชนรวมกลุ่มกันเป็นจำนวนมากกว่าห้าคน

เนื่องด้วยรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ได้รับการรับรองเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 นั้น

(1) เป็นการเพิ่มอำนาจแก่กองทัพไทยโดยไม่ต้องถูกตรวจสอบจากฝ่ายพลเรือน

(2) กำหนดให้รัฐบาลและสมาชิกรัฐสภาต้องปฏิบัติตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่ออกโดยรัฐบาลทหาร

(3) บรรจุบทบัญญัติที่ลดทอนอำนาจสภาผู้แทนราษฎร 500 ที่นั่ง และกันที่นั่งวุฒิสภา 250 ที่นั่งสำหรับสมาชิกวุฒิสภาที่แต่งตั้งโดย คสช. และแกนนำ คสช. รวมถึงบุคลากรระดับสูงสุดของกองทัพและตำรวจ และ

(4) ให้อำนาจแก่สมาชิกวุฒิสภาที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลทหารในการเลือกนายกรัฐมนตรีคนต่อไปมากเกินควร

เนื่องด้วยเมื่อเดือนมีนาคม 2562 ประเทศไทยได้จัดการเลือกตั้งที่

(1) มีกลุ่มเฝ้าติดตามอิสระหลายกลุ่มที่ชี้ให้เห็นถึงทั้งปัญหาเชิงกระบวนการและระบบ และประกาศว่าการเลือกตั้งครั้งดังกล่าวไม่สุจริตและเที่ยงธรรม โดยมีการเอื้อประโยชน์ให้แก่ฝั่งรัฐบาลทหารอย่างชัดเจน

(2) ส่งผลให้พรรคการเมืองของ คสช. ที่นำโดยประยุทธ์ จันทร์โอชา สามารถตั้งรัฐบาลใหม่และแต่งตั้ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี

เนื่องด้วยในเดือนมกราคม 2563 พรรคอนาคตใหม่ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านถูกศาลรัฐธรรมนูญของประเทศไทยสั่งห้ามและให้ยุบพรรค ซึ่งเป็นผลจากกระบวนการทางกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมและข้อหาที่ไม่มีมูล

เนื่องด้วยศาลรัฐธรรมนูญยังได้วินิจฉัยว่า ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่ได้ฝ่าฝืนบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่จำกัดวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี แม้ว่าประยุทธ์จะได้อยู่ในอำนาจมาตั้งแต่หลังการทำรัฐประหารเดือนสิงหาคม 2557 แล้วก็ตาม

เนื่องด้วยรัฐบาลไทยไม่มีความคืบหน้าในการตรวจสอบกรณีการทำร้ายนักกิจกรรมประชาธิปไตยด้วยความรุนแรง และกรณีการบังคับให้สูญหายและการฆาตกรรมผู้เห็นต่างทางการเมืองชาวไทยทั่วทวีปเอเชีย

เนื่องด้วยในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 รัฐบาลไทยได้เลื่อนการพิจารณาร่างกฎหมายต่อต้านการซ้อมทรมานออกไปอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งแม้ร่างดังกล่าวจะไม่สมบูรณ์แบบ แต่ก็สามารถช่วยสร้างความชัดเจนเกี่ยวกับข้อหาความผิดทางอาญาว่าด้วยการซ้อมทรมานและป้องกันการซ้อมทรมานได้

เนื่องด้วยตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 ผู้ชุมนุมจำนวนหลายหมื่นคนทั่วประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วยนักศึกษาและเยาวชนเป็นส่วนใหญ่ ได้เรียกร้องให้มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย การแก้รัฐธรรมนูญ และการเคารพสิทธิมนุษยชนโดยสงบ

เนื่องด้วยรัฐบาลไทยได้ตอบโต้การชุมนุมที่เป็นไปโดยสงบเป็นส่วนใหญ่เหล่านี้ ด้วยมาตรการเชิงปราบปราม ได้แก่ กลยุทธ์ข่มขู่ การใช้กำลังในการชุมนุมมากเกินควร การสอดส่องติดตาม การคุกคาม การจับกุม ความรุนแรง และการจำคุก

เนื่องด้วยระหว่างปี 2563 ถึง 2566 เจ้าหน้าที่รัฐไทยได้ฟ้องดำเนินคดีอาญานักกิจกรรมกว่า 1,800 คน เนื่องจากเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงขนาดใหญ่และแสดงความคิดเห็น รวมถึงเด็กจำนวนกว่า 280 คน โดย 41 คนในนั้นมีอายุน้อยกว่า 15 ปี

เนื่องด้วยรายงานที่ถูกเผยแพร่ในเดือนกรกฎาคม 2565 โดยองค์กรพัฒนาเอกชนพบว่า เจ้าหน้าที่รัฐไทยได้ใช้โปรแกรมสปายแวร์เพกาซัสกับนักกิจกรรมประชาธิปไตยและผู้ที่เรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และกับนักวิชาการและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลไทยอย่างเปิดเผยจำนวนอย่างน้อย 30 คน

เนื่องด้วยรัฐบาลไทยยังคงดำเนินการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน ซึ่งหากร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านแล้ว กฎหมายฉบับนี้จะ

(1) กลายเป็นหนึ่งในกฎหมายที่จำกัดการทำงานขององค์กรไม่แสวงหากำไรที่เข้มงวดที่สุดฉบับหนึ่งในทวีปเอเชีย และ

(2) ส่งผลกระทบต่อภาคประชาสังคมในประเทศไทยและทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยรวมอย่างไม่สามารถย้อนกลับได้

เพราะฉะนั้นจึง

มีมติ ให้วุฒิสภา

(1) เน้นย้ำความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างสหรัฐฯ และประเทศไทยอีกครั้ง ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่ตั้งอยู่บนฐานคุณค่าร่วมด้านประชาธิปไตยและผลประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์

(2) สนับสนุนจุดยืนของประชาชนชาวไทยในการเรียกร้องรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย การปฏิรูปทางการเมือง สันติภาพในระยะยาว และการเคารพมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่มีอยู่

(3) เรียกร้องให้รัฐบาลไทยปกป้องและธำรงรักษาหลักการประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน หลักนิติธรรม และสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ การแสดงออก และความเป็นส่วนตัว

(4) เรียกร้องให้รัฐบาลไทยสร้างเงื่อนไขสำหรับการเลือกตั้งที่น่าเชื่อถือและเที่ยงธรรมในเดือนพฤษภาคม 2566 เช่น โดย

(ก) อนุญาตให้พรรคฝ่ายค้านและแกนนำพรรคสามารถจัดกิจกรรมได้โดยปราศจากการแทรกแซงอันไม่เหมาะสมจากเจ้าหน้าที่รัฐ

(ข) อนุญาตให้สื่อ นักข่าว และสมาชิกภาคประชาสังคมสามารถใช้เสรีภาพในการแสดงออก การชุมนุมโดยสงบ และการสมาคมได้โดยไม่ต้องถูกตอบโต้และปราศจากความกลัวที่จะถูกฟ้องดำเนินคดี และ

(ค) รับประกันว่า การนับคะแนนเสียงจะเป็นไปอย่างเที่ยงธรรมและโปร่งใส

(5) เรียกร้องให้รัฐบาลไทยปล่อยและยุติการดำเนินคดีกับนักกิจกรรมทางการเมืองโดยทันทีและไม่มีเงื่อนไข และเว้นจากการคุกคาม ข่มขู่ หรือฟ้องดำเนินคดีผู้ที่เข้าร่วมการชุมนุมโดยสงบและกิจกรรมทางพลเมืองโดยทั่วไป โดยให้ความสนใจกับสิทธิและสวัสดิภาพของเด็กและนักศึกษาเป็นพิเศษ

(6) เรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน และปฏิรูปกฎหมายและกฎระเบียบอื่นๆ ที่จำกัดการแสดงออกอย่างเสรีและการเข้าถึงข้อมูล

(7) เรียกร้องให้รัฐบาลไทยตรวจสอบและหยุดการโจมตีของสปายแวร์ที่พุ่งเป้าไปที่นักวิชาการ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และสมาชิกคนสำคัญของกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตยต่างๆ

(8) เรียกร้องให้รัฐบาลไทยเพิกถอนและยุติการตรากฎหมายและคำสั่งที่ถูกใช้เพื่อปิดกั้นเนื้อหาและคำพูดบนอินเตอร์เน็ตที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเลือกตั้ง อันได้แก่

(ก) กฎหมายหมิ่นประมาทพระกษัตริย์ที่กว้างและคลุมเครือ

(ข) พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

(ค) กฎหมายยุยงปลุกปั่นที่มีลักษณะกว้างเกินไป

(9) สื่อสารต่อรัฐบาลไทยว่า การละเมิดสิทธิของประชาชนไทยในการกำหนดอนาคตของตนเองโดยสงบและเป็นประชาธิปไตยต่อไปนั้น จะทำให้สหรัฐฯ ไม่สามารถยอมรับได้ว่า การเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้านั้นเป็นไปอย่างสุจริตและเที่ยงธรรมไม่ว่าผลลัพธ์จะออกมาเช่นใดก็ตาม

(10) ระบุอย่างชัดแจ้งว่า การแทรกแซงโดยกองทัพหรือสถาบันกษัตริย์ก่อน ระหว่าง หรือหลังการเลือกตั้งทั่วไปทั้งทางตรงและทางอ้อมจะ

(ก) กระทบต่อความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างสหรัฐฯ และประเทศไทยอย่างลึกซึ้ง และ

(ข) คุกคามการให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและความมั่นคงแก่ประเทศไทย และความร่วมมือระดับภูมิภาคและทางเศรษฐกิจ

X