ความไม่ปกติที่ปกติ: “สภาวะยกเว้นถาวร” ในการบังคับใช้ ม.112 กับเด็กและเยาวชนไทย

ภาสกร ญี่นาง

.

เด็กและเยาวชนกับสิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมือง รวมถึงเสรีภาพในการแสดงออก เป็นสิ่งที่ได้รับการรับรองโดยกฎหมายระหว่างประเทศอย่างชัดแจ้ง โดยที่รัฐย่อมมีหน้าที่รับผิดชอบต้องส่งเสริม คุ้มครอง และสร้างหลักประกันแห่งสิทธิเสรีภาพดังกล่าวแก่เด็กและเยาวชนอยู่เสมอในฐานะผู้กุมอนาคตของชาติบ้านเมืองเอาไว้ ทว่าในสภาพความจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐไทย การดำเนินคดีกับเด็กและเยาวชนในข้อหาเกี่ยวข้องกับการแสดงออกทางการเมืองตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมาได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ชวนให้ตั้งคำถามถึงสภาวะความไม่ปกติที่สังคมและรัฐไทยกำลังเผชิญอยู่

นัยทางการเมืองสำคัญจากปรากฏการณ์ดังกล่าว คือ ผู้มีอำนาจรัฐไทยได้จัดวางให้การแสดงออกทางการเมืองของเด็กและเยาวชนที่ต่างไปจากที่กลุ่มชนชั้นนำปรารถนา เป็นการกระทำที่กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของชาติ และกลไกที่จะทำให้รัฐสามารถจัดการกับเรื่องดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ได้แก่ การทำให้เกิด “สภาวะยกเว้น” (state of exception) ขึ้น เพื่อยกเว้นกฎเกณฑ์ที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคล และเพิ่มขอบเขตอำนาจแก่เจ้าหน้าที่รัฐ ให้ใช้อำนาจควบคุมระเบียบทางสังคมที่รัฐต้องการได้

บทความชิ้นนี้ จะชวนวิเคราะห์ว่า สภาวะยกเว้นสามารถกลายเป็นความปกติในสังคมและกฎหมายได้อย่างไร และในสภาวะดังกล่าว เด็กและเยาวชนที่ต้องเผชิญหน้ากับอำนาจรัฐต้องตกอยู่ในสถานการณ์เช่นไร

.

.

“สภาวะยกเว้น”

“สภาวะยกเว้น” เป็นกรอบคิดที่ใช้อธิบายปรากฏการณ์ทางการเมืองและลักษณะการใช้อำนาจของรัฐในสถานการณ์ที่ไม่ปกติหรือในช่วงวิกฤตการณ์บางอย่าง เช่น สงคราม โรคระบาด ภัยพิบัติ ฯลฯ เพื่อให้รัฐสามารถใช้อำนาจได้อย่างเต็มที่ในการจัดการปัญหา เพื่อปกป้องผลประโยชน์สาธารณะ ความสงบเรียบร้อย และความมั่นคงของชาติ กฎเกณฑ์ของกฎหมายสามารถถูกละเลยได้ภายใต้ข้ออ้างของความจำเป็นที่รัฐจำต้องใช้อำนาจเพื่อจะบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว

การกำเนิดสภาวะยกเว้นเกี่ยวข้องโดยตรงกับกลไกเชิงสถาบันและระบบกฎหมายของรัฐนั้นๆ  กลไกของกฎหมายจะเป็นเครื่องมือที่ทำให้ “ระบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างรัฐกับประชาชนในสภาวะยกเว้น” ปรากฏอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมกับรองรับอำนาจที่ค่อนข้างจะเบ็ดเสร็จแก่รัฐในการควบคุมระเบียบทางสังคม ขณะที่กฎหมายสูงสุดของรัฐอย่าง “รัฐธรรมนูญ” ก็มีบทบัญญัติบางมาตราที่ระบุถึงการถ่ายโอนอำนาจในการตรากฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติ ไปให้กับอำนาจฝ่ายบริหาร เช่น ประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ให้สามารถตรากฎหมายพิเศษออกมา ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉิน การประกาศใช้กฎอัยการศึก ซึ่งกฎหมายเหล่านี้จะมีลักษณะร่วมกันของสภาวะยกเว้น คือ การยกเว้นกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ในสภาวะปกติกับการรวบรวมให้อำนาจไว้ที่ผู้ปกครอง จนนำไปสู่การใช้อำนาจในทิศทางที่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้มากกว่าเดิม เนื่องกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในภาวะปกติถูกยกเว้นบังคับใช้ และการรวบอำนาจก็ได้ระงับกลไกการตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐไปในตัว

คาร์ล ชมิตต์ (Carl Schmitt) นักกฎหมายและนักปราชญ์ชาวเยอรมัน แสดงทัศนะว่า สภาวะยกเว้น ทำให้ตัวตนที่แท้จริงของผู้มีอำนาจปรากฏออกมา หลังจากได้ทำลายเปลือกแห่งระเบียบทางกฎหมายตามระบอบประชาธิปไตยที่ควบคุมการใช้อำนาจรัฐเป็นที่เรียบร้อย[1] และเมื่อเกิดสภาวะยกเว้น จิออร์จิโอ อากัมเบน (Giorgio Agamben) ชี้ให้เห็นว่า ในแง่กฎเกณฑ์เชิงบรรทัดฐานของกฎหมาย มันสามารถถูกลบล้างและขับเคลื่อนให้เกิดการลอยนวลพ้นผิดหลังจากการใช้ความรุนแรงของรัฐบาล แม้ในขณะนั้นจะได้เพิกเฉยต่อกฎหมายระหว่างประเทศและสร้างสภาวะยกเว้นไว้ แต่รัฐก็ยังอ้างว่าใช้กฎหมายอยู่ดี[2]

ในทัศนะของ จิออร์จิโอ อากัมเบน นักปรัชญาการเมืองชาวอิตาเลียน สภาวะยกเว้นก่อให้เกิดพื้นที่ว่างเปล่าจากกฎหมาย เป็นพื้นที่ที่การกำหนดกฎเกณฑ์โดยกฎหมายถูกงดเว้น ซึ่งส่งให้มนุษย์ที่อยู่ใต้อำนาจและสภาวะยกเว้นต้องมี “ชีวิตที่เปลือยเปล่า” (bare life) อันเป็นชีวิตที่มิได้รับความสนใจจากสังคม มิได้รับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพจากรัฐ มุ่งทำให้บุคคลสูญเสียสถานภาพทางการเมืองอย่างถึงที่สุด เพื่อสร้างประสิทธิภาพในการจับตามองและควบคุมผู้อยู่ใต้การปกครองอย่างเคร่งครัดได้ตลอดเวลา[3]

ภายใต้สภาวะยกเว้น การละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยอำนาจรัฐ จึงไม่ถูกถือให้เป็นการละเมิด การใช้ความรุนแรงบ่อยครั้งก็ถูกทำให้มีความชอบธรรมในนามของผู้รักษากฎหมาย การสอดส่องติดตามประชาชน ไม่ถือเป็นการแทรกแซงความเป็นส่วนตัวและขัดขวางการใช้สิทธิส่วนบุคคล

ที่ผ่านมา ในปริมณฑลของนิติศาสตร์ส่วนใหญ่ มักจะไม่ให้ความสนใจในเรื่องสภาวะยกเว้น เพราะอาจถูกบดบังโดยหลักการปกครองโดยกฎหมายเป็นใหญ่ หรือ “rule of law” แบบไร้การตั้งคำถาม และสภาวะยกเว้นบ่อยครั้งก็จะมาในรูปของบทบัญญัติกฎหมายของรัฐที่ดูเหมือนจะเป็นกลางหรือเป็นอิสระจากขั้วทางการเมืองตามหลักความจำเป็นแก่การปกป้องความมั่นคงรัฐและความสงบเรียบร้อยของสังคม อย่างไรก็ดี สภาวะยกเว้น ไม่ได้เกิดขึ้นจากกรณีการใช้กฎหมายพิเศษหรือกรณีฉุกเฉินชั่วคราวเท่านั้น แต่ปัจจุบัน ผู้ปกครองสามารถพัฒนาวิทยาการทางอำนาจและกฎหมาย ให้สภาวะยกเว้นแทรกซึมและขยายขอบเขตไปในระบบกฎหมายภาวะปกติ ทำให้เส้นแบ่งระหว่างกฎหมายในสถานการณ์ฉุกเฉินกับกฎหมายในสถานการณ์ปกติพล่ามัว ผ่านกระบวนการทางกฎหมายและกลไกเชิงสถาบันการเมือง

.

.

กระบวนการสร้างความเป็น “ปกติ” แก่สภาวะยกเว้น

ในแวดวงวิชาการ มักจะพยายามชี้ให้เห็นว่า โลกได้เข้าสู่สภาวะยกเว้นที่เป็นถาวรมาตลอด บ้างกล่าวว่า สภาวะยกเว้นไม่เคยหยุดทำงานตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 ผ่านสมัยนาซีและการเถลิงอำนาจของฟาสซิสต์[4] บ้างก็กล่าวว่า โลกไม่เคยหลุดพ้นจากสภาวะยกเว้นเป็นปกติตั้งแต่เหตุการณ์ 9/11 ซึ่งรัฐต้องหันมาดำเนินมาตรการ วางกลยุทธ์ เฝ้าระวัง และติตตามความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับ “การก่อการร้าย” หรือพฤติการณ์แวดล้อมต่างๆ เพื่อจะได้จัดเตรียมแผนป้องกันไว้ล่วงหน้าได้[5]

การสร้างความเป็นปกติให้แก่สภาวะยกเว้น เกี่ยวโยงกับการเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพของกลไกทางอำนาจของรัฐ สำหรับควบคุมอาชญากรรมและดูแลกำกับพฤติกรรมของประชาชนให้อยู่ในร่องในรอย ขณะที่กลไกกระบวนการยุติธรรมตามปกติที่ตั้งอยู่บนฐานการปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนก็กลายเป็นสิ่งที่ขัดขวางไม่ให้รัฐสามารถจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นตามยุคสมัยได้เท่าทัน ดังนั้น กลุ่มผู้มีอำนาจหน้าที่รักษาความมั่นคงและอาชญากรรม อาจจำเป็นต้องปล่อยให้สภาวะยกเว้นเกิดขึ้นได้ง่ายและมีผลตลอดเวลา ผ่านการใช้ถ้อยคำหรือศัพท์แสงเรื่องเกี่ยวการทำสงคราม เพื่อปูทางให้กับกฎหมายลักษณะพิเศษ (หรือ กฎหมายปกติที่ถูกบังคับใช้อย่างพิเศษ) ที่จะนำมาใช้จัดการกับปัญหาอาชญากรรมอย่างใดอย่างหนึ่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ[6] เช่น การประกาศสงครามยาเสพติด การเฝ้าระวังภัยคุกคามจากต่างชาติ การจัดการกับอริราชศัตรู การป้องกันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ฯลฯ

แต่ปัญหาที่สำคัญ คือ การทำสงครามต่ออาชญากรรมบางประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระทำทางการเมืองที่ถูกจัดวางให้เป็น “อาชญากรรม” เป็นเรื่องที่ไม่มีจุดจบ เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนผ่าน กาลเวลาดำเนินไปตามธรรมชาติ ก็ย่อมมีกระแสธารของความเปลี่ยนแปลง และถือกำเนิดบุคคลที่อาจถูกมองว่าเป็น “ศัตรูของชาติ” อยู่เรื่อยๆ สงครามลักษณะจึงไม่มีวันสิ้นสุด[7] สภาวะยกเว้นที่เจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจอย่างล้นเกินเพื่อมาจัดการกับความขัดแย้งก็ดำเนินต่อไป จนกลายเป็นความปกติ

กระบวนการทำให้สภาวะยกเว้นเป็นปกติ ประกอบด้วยสองลักษณะหลักๆ คือ หนึ่ง กระบวนการทำให้การรับรู้ภัยคุกคามเป็นปกติ (normalization of perceived threats) และ สอง กระบวนการทำให้วิธีการตอบโต้โดยรัฐเป็นปกติ (normalization of the means of response)

.

กระบวนการทำให้การรับรู้ภัยคุกคามเป็นปกติ

การสร้างความรับรู้ต่อภัยคุกคาม เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างสื่อมวลชน และเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่พยายามจะฉายภาพให้เห็นถึงภัยคุกคาม อันเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องเข้าชำระสะสาง กระบวนการขยายความรับรู้ถึงภัยคุกคาม ผู้เกี่ยวข้องอาจพยายามวาดภาพภัยเหล่านั้นโดยอาศัยความกำกวมของถ้อยคำหรือศัพท์แสงเกี่ยวกับสงคราม เพื่อความสะดวกต่อการยกขึ้นอ้างและก็ยากที่จะโต้เถียงด้วยเหตุผลไปในเวลาเดียวกัน[8] ยกตัวอย่างเช่น ความมั่นคงของชาติ ความปลอดภัยของรัฐ ระเบียบสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งทั้งหมดเป็นถ้อยคำภาษาที่ลื่นไหลขึ้นอยู่กับสถานการณ์บ้านเมืองในแต่ละช่วง

กระบวนการดังกล่าว สามารถถูกผลิตซ้ำอย่างต่อเนื่อง จนมีส่วนเปลี่ยนสำนึกที่ผิดพลาด (false consciousness) กลายเป็นถูก ให้กับเจ้าหน้าที่รับปฏิบัติการและคนในสังคม เกิดการตีความสถานการณ์แบบเกินจริงในหลายๆ เรื่อง มีการประเมินระดับความอันตรายในการกระทำบางอย่างของประชาชนไว้ที่ระดับสูง ขณะที่ข้อมูลหรือพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักและสมเหตุสมผลก็มีอยู่น้อยนิด นำไปสู่ความรู้สึกและความรับรู้ถึงมาตรการการป้องกันตามปกติที่มีอยู่ของรัฐนั้นไม่เพียงพอ เกิดภาวะ “ความจำเป็น” ต้องใช้กลไกพิเศษบางอย่างเพื่อเพิ่มศักยภาพของรัฐ[9] ซึ่งแม้จะส่งผลเป็นการทำให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนถดถอยลง ก็ยังเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ เพราะข้ออ้างว่าด้วยความมั่นคงและประโยชน์สาธารณะย่อมสำคัญกว่า

เมื่อหันมาพิจารณาสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองไทย ที่ฝ่ายรัฐเข้ามาเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงกับฝ่ายประชาชน การสร้างความรับรู้ถึงภัยคุกคาม เพื่อนำมาเป็นฐานการใช้อำนาจขัดขวางขบวนการเคลื่อนไหวและการแสดงออกของประชาชนได้กลายเป็นเรื่องปกติ และกฎหมายภาวะปกติที่กำกับการใช้อำนาจรัฐมิให้กระทบกระเทือนสิทธิเสรีภาพของประชาชนเกินขอบเขตก็มักถูกละเลย เมื่อต้องเผชิญหน้ากับความขัดแย้งหรือสถานการณ์ที่ต้องจัดการกับประชาชนที่แสดงออกและคุกคามความมั่นคงโดยการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ซึ่งตรงนี้เองที่เผยให้เห็นโฉมหน้าสภาวะยกเว้นที่แฝงตัวอยู่ในสภาวะปกติให้เห็นอย่างเด่นชัด

.

กระบวนการทำให้วิธีการตอบโต้โดยรัฐเป็นปกติ

ในบริบทการเมืองไทย การแสดงออกในทางคัดค้านวิพากษ์วิจารณ์ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ถูกถือเป็นภัยคุกคามที่เป็นที่รับรู้กันมาอย่างยาวนานว่า เป็นการกระทำที่ถูกทำให้ “ไม่อาจยอมรับได้” และเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างผลสะเทือนต่อ “ความมั่นคงของชาติ” ซึ่งนอกจากจะถูกกำหนดให้เป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แล้ว กระบวนการดำเนินคดีและการรับมือการกระทำดังกล่าวยังมีแนวโน้มจะยกเว้นสิทธิตามกฎหมายภาวะปกติมาตลอด เช่น สิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวของผู้ต้องหา สิทธิในการได้รับความยุติธรรมอันชอบธรรม และในแง่ของผู้กระทำผิดที่เป็นเด็กและเยาวชน ก็ยังถูกยกเว้นสิทธิในกระบวนการยุติธรรมที่ควรแตกต่างจากผู้ใหญ่ในหลายประการ

กระบวนการที่ดำเนินต่อเนื่องจากกระบวนการสร้างความรับรู้ถึงภัยคุกคาม คือ การทำให้มาตรฐานพิเศษหรือวิธีการตอบโต้ของรัฐที่ไม่ปกติ (หรือเป็นสิ่งที่ผิดในภาวะปกติ) ให้กลายเป็นเรื่องปกติ ด้วยการจัดให้มีมาตรการการรักษาความมั่นคงที่ครอบคลุมไปยังการกระทำที่รัฐต้องการกำกับควบคุมทั้งหมดเท่าที่จะทำได้[10] และสร้างกลไกที่ทำให้การใช้อำนาจเกินขอบเขตของเจ้าหน้าที่รัฐเป็นการกระทำที่มีการรับรองโดยกฎหมายหรือไม่ถูกตรวจสอบ ซึ่งต้องอาศัยทั้งอำนาจทางนิติบัญญัติในการตรากฎหมาย และอำนาจทางตุลาการที่มีหน้าที่ (ไม่) ตรวจสอบการกระทำของฝ่ายปกครองและฝ่ายบริหาร

กระบวนการเช่นนี้ ปรากฏให้เห็นระหว่างการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ “สีเทา” (grey areas) ซึ่งหมายถึง พื้นที่ที่สร้างความยากลำบากในการพิจารณาว่าการกระทำใดของเจ้าหน้าที่รัฐที่ชอบด้วยกฎหมาย และการกระทำใดเป็นที่ต้องห้ามโดยกฎหมาย ด้วยเหตุดังกล่าว จึงจำเป็นที่ฝ่ายรัฐจะต้องขยายขอบเขตอำนาจของตัวเองออกไปผ่านกลไกเชิงสถาบันต่างๆ เพื่อให้การกระทำทั้งหลายไม่ถูกทำให้เป็นสิ่งที่ต้องห้ามทางกฎหมาย[11] และส่งเสริมให้รัฐสามารถจัดการกับสิ่งที่รัฐมองว่าเป็นอาชญากรรมร้ายแรงได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การออกมารับรองการกระทำของฝ่ายรัฐบาลโดยองค์กรตุลาการที่ใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมทางการเมือง หรือการเพิกเฉยต่อกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนจนเป็นกิจวัตรและยกเรื่องความมั่นคงขึ้นมากลบเกลื่อนในการพิจารณาคดีการเมืองเพื่อยับยั้งภัยคุกคาม เหล่านี้ย่อมมีส่วนทำให้สภาวะยกเว้นหรือความไม่ปกติในระบบกฎหมาย กลายเป็นเรื่องปกติได้ทั้งสิ้น

การดำเนินกระบวนการทั้งสอง อาจกล่าวโดยอุปมาให้ราวกับว่า ในการรักษาสถานะของผู้มีอำนาจ รัฐจะใช้วิธีการผลิตสร้างคำอธิบายถึงสถานการณ์ที่บ่งบอกถึงอันตรายและภัยคุกคามบางอย่าง ที่รัฐจำเป็นต้องใช้อาวุธขั้นสุดยอดหรือมาตรการเด็ดขาดขึ้นมาจัดการและตราบใดที่อันตรายนั้นยังปรากฏให้เห็น อาวุธลักษณะดังกล่าวก็ย่อมถูกหยิบนำมาใช้ทุกครั้ง[12] จนเป็น “ความไม่ปกติ” ที่ปกติ กรณีนี้อาจเทียบเคียงจากกรณีที่รัฐไทยตัดสินใจไม่บังคับใช้มาตรา 112 มาเอาผิดกับผู้แสดงออกทางการเมืองในช่วงระยะเวลาปี 2561 ถึงกลางปี 2563 แต่ทว่าเมื่อไม่สามารถต้านทานกระแสความเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ได้ อาวุธขั้นเด็ดขาดจึงถูกนำมาใช้ ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากตกเป็นผู้ต้องหาคดีมาตรา 112  ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ทางกฎหมายในภาวะปกติที่แฝงมาพร้อมกับสภาวะยกเว้นให้เห็นอย่างเด่นชัดมากที่สุด

.

.

“เด็กและเยาวชนไทย” ในสภาวะยกเว้นที่เป็นปกติ

ในสภาวะปกติ ระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่ดำเนินต่อเด็กและเยาวชนในฐานะจำเลย ต้องแตกต่างไปจากผู้ใหญ่ โดยคำนึงถึงความเปราะบางหรือความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของเด็กและเยาวชน ตัวอย่างเช่น กระบวนการแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำเยาวชน พนักงานสอบสวนต้องจัดสถานที่แยกจากผู้ต้องหาทั่วไปเพื่อคุ้มครองชื่อเสียงของเยาวชนและต้องมีทีมสหวิชาชีพเข้าร่วม หรือในกรณีที่เด็กสามารถเข้าสู่มาตรการพิเศษอื่นแทนการดำเนินคดีอาญา ซึ่งถูกออกแบบมาให้เป็นทางออกทางกฎหมายเพื่อไม่ให้เยาวชนถูกดำเนินคดีอาญา และไม่ต้องให้เด็กเสียประวัติ เป็นต้น

นอกจากนี้ การใช้อำนาจรัฐที่พยายามขัดขวางแทรกแซง สอดส่อง และเฝ้าระวังการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นทางการเมืองของเด็กเยาวชน ยังถือเป็นการละเมิดพันธกรณีตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่รัฐมีหน้าที่ต้องเคารพและส่งเสริมการใช้เสรีภาพทางการเมืองของเด็กเยาวชนอย่างเต็มที่

ทว่าสำหรับรัฐไทย ในกระบวนการพิจารณาคดีที่มีการกระทำความผิดตามมาตรา 112 กฎเกณฑ์ในภาวะปกติดูเหมือนจะถูกยกเว้นการบังคับใช้ และการแสดงออกทางการเมืองในทางที่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ รัฐไทยก็จะไม่ถือว่าเป็นการใช้เสรีภาพโดยชอบด้วยกฎหมาย กฎเกณฑ์ทั้งหลายที่ให้ความคุ้มครองไว้ล้วนถูกยกเว้นการบังคับใช้ เสมือนกับไม่ได้มีกฎหมายที่รับรองสิทธิเสรีภาพของเด็กและเยาวชนดำรงอยู่

“ที่ไม่เคยเห็นก็จะได้เห็น ที่เคยเห็นจะไม่ได้เห็น” ถ้อยคำของ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ที่อธิบายถึงสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองสมัยใหม่ ยังสามารถใช้ได้กับกรณีที่เด็กและเยาวชนต้องถูกฝ่ายผู้มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายขัดขวางการใช้เสรีภาพและทำลายสิทธิมนุษยชน ราวกับต้องตกอยู่ภายใต้สภาวะยกเว้นลักษณะถาวร เพราะเด็กและเยาวชนที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง ก็เปรียบกับ “ศัตรูทางการเมือง” กลุ่มใหม่ที่นำพามาซึ่งภัยคุกคามความมั่นคงระเบียบดั้งเดิมของรัฐที่ไม่มีทางถึงจุดจบ การบังคับใช้กฎหมายในลักษณะยกเว้นการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพก็ไม่มีทางสิ้นสุดเช่นเดียวกัน

จากการติดตามข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่ปี 2563 มีเยาวชนถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและชุมนุมทางการเมือง แล้วทั้งสิ้นอย่างน้อย 284 ราย ใน 211 คดี และมีเยาวชนถูกดำเนินคดี “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จำนวน 18 ราย ใน 21 คดี[13] ในการดำเนินคดีมีหลายหลายกรณี พนักงานสอบสวนนัดหมายเยาวชนให้มารับทราบข้อกล่าวหาโดยไม่ได้จัดเตรียมสถานที่และทีมสหวิชาชีพไว้ สร้างภาระในการเดินทางมาพบพนักงานสอบสวนอีกครั้งในภายหลัง[14] อีกทั้ง กฎหมายยังสร้างภาระให้กับเยาวชนที่จะต้องเข้าพบพนักงานคุมประพฤติเพื่อสืบเสาะประวัติที่สถานพินิจ 2 – 3 ครั้ง ขณะที่ผู้ใหญ่ไม่ต้องเผชิญกระบวนการดังกล่าว[15]

นอกจากนั้น กรณีที่เยาวชนเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก พนักงานสอบสวนไม่มีเหตุออกหมายควบคุมหรือหมายขังได้ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวฯ มาตรา 71 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 แต่จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มีเยาวชน 6 ราย ใน 8 คดีทางการเมือง ที่เดินทางไปตามหมายเรียก แต่ถูกนำตัวไปตรวจสอบการจับกุมที่ศาลเยาวชนและครอบครัว และพนักงานสอบสวนมักขอออกหมายควบคุม แม้ว่าการกระทำดังกล่าวไม่สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวฯ แต่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลับมีคำสั่งควบคุมตัวตามคำร้องของพนักงานสอบสวนทุกครั้ง ส่งผลให้ผู้ต้องหาต้องยื่นประกันตัว และต้องรับภาระทางคดีเช่นเดียวกับเยาวชนที่ถูกจับกุม[16] ซึ่งหมายความว่า ในสภาวะเช่นนี้ เด็กและเยาวชนยังสามารถถูกดำเนินการจับกุมได้ แม้จะไม่มีหมายจับก็ตาม

ขณะเดียวกัน ในสภาวะที่บทกฎหมายเกี่ยวกับรับรองหรือคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกถูกระงับ ยกเว้นการบังคับใช้ ตลอดจนสิทธิในความเป็นส่วนตัวก็ถดถอยลงไปจากปฏิบัติการของรัฐ ส่งผลให้เด็กและเยาวชนไทย ต้องตกเป็นเป้าหมายของการติดตามและเฝ้าระวัง จากทั้งหน่วยงานรัฐและภาคประชาชนที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ หากมีการพบเห็นว่า เด็กและเยาวชนคนใดแสดงออกและวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ ก็จะดำเนินมาตรการเข้าติดตามพูดคุยถึงบ้าน ไปจนกระทั่งดำเนินคดี เสมือนกับความเป็นเด็กและเยาวชน รวมถึงกฎหมายคุ้มครองสิทธิเสรีภาพไร้ความหมายอย่างสิ้นเชิง

ตัวอย่างเช่น กรณีแน่งน้อย อัศวกิตติกร ได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับเยาวชนหญิง (ไม่เปิดเผยชื่อสกุล) อายุ 14 ปี เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2564 ในข้อหาตามประมวลกฎหมายมาตรา 112 เนื่องจากแสดงความเห็นบนพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์พาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยแน่งน้อยก็โพสต์ถึงการเข้าแจ้งความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวทำนองว่า โกรธและรับไม่ได้กับสิ่งที่เด็กคนนั้นแสดงออกมา[17] “…เราปล่อยเวลาให้มันผ่านไปนานมาก หลายเดือนหลังจากแจ้งความ ด้วยมีความหวังว่าเอาน่า สักวันเด็กคนนี้อาจจะกลับใจได้บ้าง เกือบๆ ครึ่งปีถ้าจำไม่ผิด แต่ความหวังนั้นสูญสลาย เพราะเด็กคนนั้นไม่มีสำนึกดีใดๆ เกิดขึ้นแม้แต่น้อย ยังโพสต์ดูหมิ่นและเกลียดชังสถาบันไม่จบไม่สิ้น ณ ตอนนี้ คดีนี้ก็คงต้องให้เป็นไปตามกฎหมายละค่ะ”[18]

ท้ายสุด เรื่องเหล่านี้เป็นเพียงปรากฏการณ์ส่วนหนึ่งที่สะท้อนถึงสภาวะยกเว้นที่เด็กและเยาวชน รวมถึงประชาชนต้องตกอยู่จนราวกับเป็นสภาวะยกเว้นถาวร ที่มองไม่เห็นว่า จะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ และอาจเป็นที่น่ากังวลยิ่งกว่านั้น สภาวะยกเว้นถาวรนั้นหมายถึง สภาวะที่บทบัญญัติกฎหมายที่มุ่งปกป้องคุ้มครองเสรีภาพในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนนั้นไร้ความหมายและถูกระงับไว้อย่างสิ้นเชิง เป็นระบบกฎหมายที่กำหนดสถานะให้ประชาชน เป็นเพียงเบี้ยล่างหรือผู้อยู่ใต้การปกครองที่เชื่องต่ออำนาจเท่านั้น

ดังนั้น สิ่งที่ต้องแก้ไขคือ ผู้มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายและองค์กรที่หน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ต้องหันมาทบทวนและยึดหลักการตามวิถีประชาธิปไตยที่เสรีภาพการแสดงออก เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ขาดไปไม่ได้ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการทบทวนความเชื่อและสร้างสรรค์ความเข้าใจใหม่ ซึ่งอาจนำไปสู่สังคมที่ดีกว่าเดิมได้ต่อไป


.

อ้างอิงท้ายบทความ

[1] Schmitt, C., Political Theology: Four Chapters on the Concept of Sovereignty, Schwab, G. (Translator), (2005), 5

[2] Agamben, G., Homo Sacer: Sovereign Power and Bare Life, D. Heller-Roazen (Translator), (1998), 87

[3] เก่งกิจ กิติเรียงลาภ, ความคิดทางการเมืองของ Giorgio Agamben: ว่าด้วย ชีวิตที่เปลือยเปล่า องค์อธิปัตย์ในสภาวะสมัยใหม่ และการเดินทางที่ไม่มีวันสิ้นสุด, รัฐศาสตร์สาร, 28(3) (2550), 91-124.

[4] ปิยบุตร แสงกนกกุล, “สภาวะยกเว้น” ในความคิดของ Giorgio Agamben”, วารสารฟ้าเดียวกัน, ปีที่ 8 ฉบับที่ 1 มกราคม – กันยายน 2553, 85.

[5] Flyghed, J., Normalising the Exceptional: the case of Political Violence, Policing and Society, 13(1) (2002), 25

[6] Ibid, 24.

[7] Ibid.

[8] Ibid, 30

[9] Ibid.

[10] Ibid, 31

[11] Ibid, 34

[12] Ibid, 35

[13] สถิติเยาวชนถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุม ปี 2563-65, 21 มีนาคม 2566, ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, https://tlhr2014.com/archives/24941

[14] “ส่องขั้นตอนคดีเยาวชน: เมื่อเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีทางการเมือง มีแนวโน้มมีภาระ-ถูกละเมิดมากกว่าผู้ใหญ่”, 28 มิถุนายน 2564, ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, https://tlhr2014.com/archives/31315

[15] เรื่องเดียวกัน.

[16] เรื่องเดียวกัน.

[17] ณัฐพล เมฆโสภณ, “รวมกรณี 7 ‘เยาวชน’ ถูกดำเนินคดี ม.112 จากการแสดงออกทางการเมือง ระหว่าง ต.ค. 63-พ.ค. 64”  30 พฤษภาคม 2564, ประชาไท, https://prachatai.com/journal/2021/05/93262

[18] เรื่องเดียวกัน.

.

X