บันทึกเยี่ยม ‘ตะวัน-แบม’ อาการไม่สู้ดี จนถูกหามส่ง รพ. ก่อนถูกบังคับให้แอดมิท แม้ยืนยันปฏิเสธการรักษา 

20 ม.ค. 2566 “ตะวัน” ทานตะวัน และ “แบม” อรวรรณ 2 ผู้ต้องขังที่ถอนประกันตัวเองในคดีมาตรา 112 และถูกคุมขังมาตั้งแต่วันที่ 16 ม.ค. พวกเธอตัดสินใจแสดงออกด้วยการ “อดอาหารและน้ำ” มาตั้งแต่ช่วงเย็นของวันที่ 18 ม.ค. เพื่อยืนหยัดตาม 3 ข้อเรียกร้อง ได้แก่ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม, ยุติการดำเนินคดีทางการเมืองกับประชาชน และให้ทุกพรรคการเมืองเสนอนโยบายยกเลิกมาตรา 112 และมาตรา 116 

อาการของทั้งสองไม่สู้ดีนักตลอดมา จนกระทั่งเช้าวันที่ 20 ม.ค. ทั้งสองถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลราชทัณฑ์ หลังต้องเผชิญกับผลข้างเคียงจากการอดอาหารและน้ำที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอาการอาเจียน อ่อนเพลีย ปวดท้วง และอื่นๆ แต่ทั้งตะวันและแบมยืนยันไม่ขอรับการรักษาไม่ว่าจะวิธีใดก็ตาม และยืนยันที่จะกลับเรือนจำ แต่เจ้าหน้าที่ให้พวกเธออยู่ที่โรงพยาบาลโดยไม่มีทางเลือก  

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์วันในดังกล่าว ทนายความที่รอเข้าเยี่ยมทั้งสองได้รับการแจ้งข่าวจากเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ค่อนข้างล่าช้า ไม่ครบถ้วน และไม่ชัดเจน สร้างความสับสนต่อการพยายามเข้าเยี่ยมตะวันและแบม เพื่อติดตามอาการของทั้งสองคน แต่สุดท้ายทนายความก็ได้เข้าเยี่ยมทั้งสองผ่านช่องทางออนไลน์ และได้สนทนากันเป็นระยะเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง แต่ทั้งสองไม่ค่อยตอบสนองมากนัก เพราะอ่อนเพลียจากการอดอาหารและน้ำมาเป็นเวลา 3 วันแล้ว

_____________________________________________

1.

20 ม.ค. 2566 เราเดินทางไปทัณฑสถานหญิงกลางตั้งแต่ 9 โมงเช้า เพื่อรอเข้าเยี่ยม “ตะวัน” และ “แบม” ระหว่างรอเราดำเนินเรื่องขอเยี่ยมตามระเบียบของเรือนจำ และนั่งรออยู่แถวนั้นจนกว่าจะถึงเวลาเข้าเยี่ยมได้ในช่วงประมาณ 10.30 น.

พอประมาณ 10 โมง อยู่ๆ มีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ส่งข้อความมาบอกเราสั้นๆ แค่ว่า “ทั้งสองคนถูกพาตัวไปโรงพยาบาลตั้งแต่เช้าแล้ว เลยให้เข้าเยี่ยมไม่ได้แล้ว …” 

เราถามเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์แถวนั้นจนได้ความว่า ตะวันและแบมถูกพาตัวนำส่งโรงพยาบาลราชทัณฑ์ตั้งแต่ 8 โมงเช้าของวันนี้แล้ว แต่กลับไม่มีใครเดินมาบอกให้เรารู้เลย ทั้งๆ ที่เราก็นั่งรออยู่ในแถวนั้นมาตั้งแต่เช้าแล้ว

เราถามเจ้าหน้าที่ไปอีกว่า “น้องไปโรงพยาบาลทำไม เป็นอะไรมากมั้ย และจะกลับมาเมื่อไหร่ ฯลฯ” แต่เจ้าหน้าที่ตอบไม่ได้เลย เราเลยตัดสินใจขับรถไปโรงพยาบาลราชทัณฑ์เพื่อตามหาตะวันและแบม

พอไปถึงโรงพยาบาลประมาณช่วง 11.00 น. เราก็ไปถามเจ้าหน้าที่ว่า ทานตะวันและอรวรรณถูกส่งตัวมารักษาที่นี่ไหม เขาก็บอกว่า “เมื่อคืนมีมา 2 คนนะ แต่กลับไปแล้ว” 

“อ้าว สรุปยังไงกัน” เราคิดในใจแล้วถามกลับไปว่า “แล้วเช้าวันนี้ล่ะ สองคนนั้นเขาถูกส่งตัวมาอีกมั้ย เพราะเมื่อเช้าไปขอเยี่ยมที่เรือนจำมาแล้ว แต่เจ้าหน้าที่บอกว่าน้องถูกพาตัวมาโรงพยาบาล” เจ้าหน้าที่ไม่ตอบในทันที แต่ขอออกไปโทรหาผู้บังคับบัญชาก่อน 

สักพักเจ้าหน้าที่กลับมาพร้อมกับให้คำตอบว่า “ตอนนี้ทานตะวันกับอรวรรณกำลังพบแพทย์อยู่ แพทย์ตรวจร่างกายอยู่ว่าจะต้องแอดมิทมั้ย” 

ระหว่างที่รอเราก็ถามย้ำเป็นระยะๆ ว่าสรุปน้องทั้งสองคนจะต้องแอดมิทและนอนโรงพยาบาลไหม แต่เจ้าหน้าที่ก็ปัดบ่ายเบี่ยงแค่ว่ากำลังพบแพทย์อยู่ จนท้ายที่สุดเจ้าหน้าที่เลือกจะต่อสายให้เราโทรคุยกับพยาบาล เราพยายามถามพยาบาลว่าถึงอาการของน้อง แต่พยาบาลพูดตอบในลักษณะถามคำตอบคำ ตอบแค่คำถามที่เราถามเท่านั้น ไม่พูดเกินกว่านั้น ทำให้เราต้องเค้นถามหลายคำถามกว่าจะปะติดปะต่อข้อมูลที่เป็นประโยชน์ได้ 

พยาบาลบอกว่า ตะวันและแบมถูกส่งตัวมาโรงพยาบาลจากการอดอาหารและน้ำ แต่ข้อมูลที่ว่าจะต้องนอนแอดมิทที่โรงพยาบาลหรือไม่ จะเข้าเยี่ยมได้เมื่อไหร่ ยังคงไม่ได้คำตอบเช่นเดิม 

เราตั้งข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า ระหว่างการถามตอบกัน กว่าพยาบาลจะตอบคำถาม เหมือนพวกเขาต้องหันหลังไปปรึกษากันก่อน ปล่อยให้เรารออยู่ค่อนข้างนาน แถมอยู่ๆ พยาบาลก็บอกว่าให้ทนายเข้าเยี่ยมไม่ได้นะ เพราะตะวันและแบมจะต้องถูกกักตัวเป็นเวลา 5 วัน เพราะเพิ่งถูกส่งตัวเข้ามา

เราพยายามคะยั้นคะยอว่า “วันนี้จะต้องได้เจอน้องนะ เราต้องได้รู้อาการจากปากน้องเอง มันรอไม่ได้นะ เพราะมันเป็นเคสฉุกเฉิน ครั้งก่อนที่มีผู้ต้องขังพยายามกินยาจะฆ่าตัวตาย (เก่ง พลพล) เรายังมาเยี่ยมได้เลย” 

“ถ้าไม่ได้เยี่ยม เราก็จะไม่กลับ” เรายืนกรานแบบนี้ไป 

พยาบาลยังคงบ่ายเบี่ยงไม่ให้เข้าเยี่ยม บอกว่าตอนนี้ ผอ.โรงพยาบาล กำลังเดินเยี่ยมผู้ป่วยอยู่ข้างใน เราก็เลยถามไปอีกครั้งว่า “สรุปจะได้เยี่ยมมั้ย” สุดท้ายเจ้าหน้าที่ยอมให้เราเข้าเยี่ยมตะวันและแบมได้ แต่จะต้องรอคิวก่อน อาจจะได้เข้าเยี่ยมได้ประมาณบ่าย 2 หรืออาจจะช้ากว่านั้น เรายืนยันว่าจะรอจนกว่าจะได้เจอ 

2.

14.00 น. เราได้เข้าเยี่ยมน้องด้วยการวิดีโอคอลผ่านไลน์ (Line) ตะวันและแบมมีสภาพไม่สู้ดีเลย น้องเริ่มเล่าให้เราฟังว่า เมื่อคืนถูกพาตัวมาโรงพยาบาลราชทัณฑ์ 1 รอบแล้ว เพราะช่วงกลางคืน ตะวันมีอาการหน้ามืด พะอืดพะอม อ้วกเป็นน้ำเมือกสีขาว รสเปรี้ยว อ่อนเพลีย และคลื่นไส้ตลอดเวลา พอช่วงประมาณเที่ยงคืนตะวันรู้สึกว่าไม่ไหว ทั้งสองคนเลยตัดสินใจกดออดฉุกเฉินในห้องขังไปหลายครั้ง ครั้งนี้ต้องรอประมาณ 15 นาที เจ้าหน้าที่ถึงเข้ามาหา

เจ้าหน้าที่ตรวจวัดค่าความดัน ค่าระดับน้ำตาลในเลือด จากนั้นต้องรอดำเนินเรื่องอีกประมาณ 1 ชั่วโมง กว่าจะถึงโรงพยาบาลก็ตี 1 แล้ว พอถึงโรงพยาบาลตะวันและแบมก็ได้รับการตรวจสุขภาพเบื้องต้นอีกครั้ง จากนั้นหมอก็ถามว่า “จะแอดมิทมั้ย” แต่ทั้งสองคนปฏิเสธเสียงแข็งว่า “จะไม่แอดมิท หรือรับการรักษาใดๆ” เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เลยพาตัวทั้งสองคนกลับเรือนจำช่วงประมาณตี 3 แต่เมื่อถึงเจ้าหน้าที่ให้พวกเธอไปนอนอยู่ที่สถานพยาบาลในเรือนจำ ไม่ให้ขึ้นห้องขังแต่อย่างใด

ไม่กี่ชั่วโมงต่อจากนั้น ในเวลาประมาณ 7-8 โมงเช้า ตะวันก็ยังอาการไม่สู้ดีอีก โดยเธออ้วกออกมาเป็นน้ำเมือกสีขาว รสเปรี้ยว เธอเข้าใจว่าอาจจะเป็น “น้ำย่อย” ก็เป็นไปได้ ส่วนแบมมีอาการอ่อนเพลียเหมือนกัน แม้จะไม่ได้อ้วกเหมือนตะวัน แต่แบมรู้สึกปวดท้องประจำเดือนมากอยู่เหมือนกัน

ระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่เรือนจำได้เข้ามาดูอาการของทั้งสองคนอีกครั้ง เมื่อเห็นว่าอาการไม่สู้ดีนัก จึงพาตัวนำส่งโรงพยาบาลราชทัณฑ์อีกครั้งในเวลาประมาณ 8 โมงเช้า

เวลา 09.00 น. ทั้งสองคนเดินทางถึงโรงพยาบาล ระหว่างนั้นตะวันและแบมพยายามบอกกับเจ้าหน้าที่ตลอดว่า “ไม่ขอรับการรักษาใดๆ ทั้งสิ้น” แต่เจ้าหน้าที่บอกว่าต้องรักษานะ ต้องให้น้ำเกลือ ให้วิตามิน ฯลฯ แต่ตะวันกับแบมยืนยันไม่ขอรับการรักษา และบอกว่าจะขอพบทนายความด้วย โดยเจ้าหน้าที่บอกว่า “แจ้งทนายให้แล้ว” 

แต่ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ไม่มีใครติดต่อเรามาเลย ช่วงประมาณ 9 โมงเช้า เราจับมือถือตลอดและอยู่ที่เรือนจำเพื่อรอเข้าเยี่ยมตะวันและแบม หากมีเรื่องด่วนเช่นนี้ทำไมถึงไม่ให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์มาแจ้งด้วยตัวเองก็ได้ ปรากฏว่า ช่วง 10 โมงเช้า หรือ 1 ชั่วโมงหลังจากที่แบมและตะวันบอกว่าเจ้าหน้าที่ติดต่อทนายให้แล้ว มีหน้าที่ส่งข้อความมาแจ้งเราว่าเข้าเยี่ยมน้องไม่ได้แล้ว เพราะน้องถูกพาตัวไปโรงพยาบาลตั้งแต่เช้าแล้ว 

หลังจากที่เจ้าหน้าที่บอกว่าติดต่อทนายให้แล้ว แบมและตะวันเล่าว่า มี ผอ.โรงพยาบาลราชทัณฑ์เดินเข้ามาพยายามเข้าพูดคุยเพื่อขอให้ทั้งสองคนเข้ารับการรักษาโดยทันที แต่ทัั้งสองคนก็ยังคงยืนยันว่า “ไม่ขอรับการรักษาไม่ว่าทางใด” และขอคุยกับทนายของตัวเองก่อน แต่เจ้าหน้าที่ไม่ตอบรับคำขอใดๆ อีก 

โดยมีครั้งหนึ่งเจ้าหน้าที่พูดว่า “ถ้าไม่แอดมิทก็คุยกับทนายไม่ได้”

จนสุดท้ายทั้งสองได้พบทนายผ่านการวิดีโอคอลในช่วงเวลาประมาณบ่าย 2 

3.

พอเจอหน้าเราทั้งสองคนก็พูดว่า “ช่วยให้เขาพากลับเรือนจำได้มั้ย ไม่อยากอยู่โรงพยาบาล” ตลอดการพูดคุยตะวันและแบมหยิบยาดมมาดมไปด้วยตลอดๆ ทั้งสองคนนั่งในลักษณะเอาเอนตัวพิงกันและกันไปมา ส่วนมือก็เอาเท้าคางไว้ บางทีร่างกายก็เอนไหลราบไปกับโต๊ะคล้ายกับว่าอ่อนเพลียมาก 

ดวงตาของตะวันดูอิดโรยมาก ถึงจะเป็นตอนพูดก็เบิกตาได้ไม่เต็มที่เหมือนเดิม เหมือนว่าเปลือกตาจะปิดอยู่รอมร่อ ส่วนแบมอ่อนล้าและเหนื่อยหอบเช่นกัน แต่ไม่เท่าตะวัน ระหว่างนั้นทั้งสองคนคุยอยู่ตลอดว่า 

“ไม่รู้ว่าจะอยู่ไหวถึงพรุ่งนี้มั้ย” 

บางทีเราพยายามชวนคุยถี่เกินไป เกินตะวันต้องพูดว่า “พี่ หนูไม่มีแรงตอบแล้ว”

และมักจะพูดว่า “ไม่ไหวแล้ว หมดแรงมากจริงๆ ที่ยังอยู่ได้คือฝืนร่างกายเอาทั้งนั้น เพื่อรอคุยกับทนาย” ทั้งสองคนถามถึงเรื่องการประกันตัวผู้ต้องขังคดีการเมืองว่ามีคนได้ประกันตัวบ้างไหม เราบอกว่า “ยังไม่มี” แต่ทนายความพยายามยื่นประกันอยู่ ขอให้ทั้งสองคนอดทนแล้วเดี๋ยววันจันทร์นี้ (23 ม.ค.) มาดูกันว่าศาลจะเปลี่ยนแปลงคำสั่งและให้ประกันตัวใครบ้างไหม

มีอยู่จังหวะหนึ่งตะวันเหมือนจะร้องไห้ แล้วพูดว่า “ต่อให้หนูเป็นอะไรไป เขาก็คงไม่โทรบอกใครหรอก ต่อให้ตายยังไงเขาก็ไม่โทร” พูดเสร็จทั้งสองคนเหมือนอ่อนแรงมาก และนิ่งไป แต่ทั้งสองคนยืนยันว่าตราบใดที่ไม่มีผู้ต้องขังคดีการเมืองคนใดได้ประกันตัว ก็จะไม่หยุดอดอาหารและน้ำ 

สุดท้ายทั้งสองคนพูดยืนยันว่ายังคงมีกำลังใจที่ดี ก่อนจะพูดว่า “พวกหนูเข้มแข็งอยู่แล้ว” และได้เน้นย้ำถึง 3 ข้อเรียกร้องว่าทุกอย่างยังคงเหมือนเดิมอย่างที่เคยได้ประกาศไว้กับทุกคนก่อนที่จะถอนประกันตัวเอง อยากให้ทุกคนช่วยกันออกมาสนับสนุน ช่วยกันส่งเสียง เชื่อว่าพวกเราจะทำได้แน่นอน 

สรุปอาการล่าสุดของ “แบม-ตะวัน”

  • อ่อนเพลีย 
  • เวียนหัว 
  • คลื่นไส้ 
  • พะอืดพะอม 
  • มีลมในกระเพาะ 
  • นั่งทรงตัวลำบาก 
  • ใช้เวลาในการเปลี่ยนอิริยาบถ ลุก นั่ง ยืน 
  • ตะวันมีอาการต่างจากแบมเล็กน้อย คือ อาเจียนเป็นน้ำเมือกสีขาว รสเปรี้ยว 
X