ศาลยกฟ้องคดีร่วมคาร์ม็อบสิงห์บุรีของ “หมู่อาร์ม” ชี้เป็นการใช้สิทธิตาม รธน. ไม่เสี่ยงต่อโรค

17 ม.ค. 2566 ศาลจังหวัดสิงห์บุรีนัดฟังคำพิพากษาคดีของ ณรงค์ชัย อินทรกวี หรือ “หมู่อาร์ม” อดีตนายทหารที่ออกมาเปิดโปงการทุจริตเบี้ยเลี้ยงในกองทัพ กรณีเข้าร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบในจังหวัดสิงห์บุรี เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2564 ที่ถูกฟ้องในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง เห็นว่าไม่ได้เป็นความผิดตามข้อกล่าวหา

คดีนี้ ณรงค์ชัยถูกกล่าวหาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า ได้ร่วมกันทำกิจกรรมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบ เพื่อขับไล่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และเรียกร้องการจัดการวัคซีนโควิด-19 ที่มีคุณภาพในช่วงดังกล่าว โดยมีการขับรถและปราศรัยไปรอบเมืองสิงห์บุรี

อัยการได้มีคำสั่งฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2565 โดยศาลได้กำหนดให้จำเลยวางหลักทรัพย์ประกันตัวจำนวน 20,000 บาท ระหว่างการต่อสู้คดีด้วย ก่อนมีการนัดสืบพยานในคดีไปเมื่อวันที่ 26-27 ต.ค. 2565

.

กระทั่งศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้อง เนื้อหาโดยสรุปเห็นว่าการชุมนุมตามที่โจทก์ฟ้อง ระบุว่ามี่ผู้เข้าร่วมชุมนุมมากกว่า 50 คนนั้น แต่จากพยานหลักฐานและคำให้การของพยานโจทก์ พบว่ามีขบวนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่มีปริมาณผู้เข้าร่วมไม่ถึงจำนวน 50 คน

ในส่วนจำเลยได้ขึ้นปราศรัยบนรถในระหว่างการชุมนุม โดยมีเนื้อหาทำนองว่าชาวจังหวัดสิงห์บุรียังไม่ได้รับวัคซีนป้องโควิด-19 ที่มีคุณภาพ ทั้งยังมีการปิดห้างร้านต่างๆ ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ จึงเรียกร้องให้มีการเยียวยาแก้ไข ไม่ได้มีการกล่าวว่าร้ายโจมตีรัฐบาล จนถึงขนาดมีความไม่สงบเรียบร้อยแต่อย่างใด ทั้งการชุมนุมยังเป็นไปโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหาย หรือเกิดการกระทบกระทั่งกันระหว่างผู้ใด การร่วมการชุมนุมของจำเลยจึงยังเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ

ในส่วนของประเด็นการเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ศาลวินิจฉัยว่า จากพยานหลักฐานของโจทก์ จำเลยได้สวมใส่หน้ากากอนามัยขณะเข้าร่วมกิจกรรม และผู้เข้าร่วมรอบตัวจำเลย ก็สวมใส่หน้ากากอนามัย รูปแบบการชุมนุมอยู่บนรถส่วนตัวของใครของมัน ไม่ได้มีการรวมตัวฟังปราศรัย แต่เป็นการเคลื่อนขบวนรถไปตามกันบนเส้นทาง ผู้เข้าร่วมจึงไม่ได้สัมผัสใกล้ชิดกัน การชุมนุมจึงไม่ถึงขนาดแออัดเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค

คดีนี้นับเป็นคดีข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมทางการเมืองที่ผู้ถูกกล่าวหาต่อสู้คดี ซึ่งศาลมีคำพิพากษายกฟ้องนับเป็นคดีที่ 51 แล้ว เท่าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนติดตามข้อมูล โดยมีคดีที่ศาลชั้นต้นเห็นว่ามีความผิดจำนวน 19 คดี แนวโน้มดังกล่าวยังชี้ให้เห็นสถานการณ์การใช้ “กฎหมาย” เป็นเครื่องมือสำคัญในการปิดกั้นการแสดงออกทางการเมืองในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา

.

X