บันทึกเยี่ยม: การจำต้องหวนกลับเรือนจำครั้งที่ 2 ของ “เก็ท” แม้จะเคยชินกับกรงขังเท่าใด แต่ “นรกก็คือนรกอยู่ยังวันยังค่ำ”

เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2566 ทนายความได้เดินทางเข้าเยี่ยม “เก็ท” โสภณ สุรฤทธิ์ธำดง นักกิจกรรมกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เป็นครั้งแรกหลังจากที่ถูกศาลอาญาเพิกถอนประกันในคดีมาตรา 112 กรณีถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืนเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราว จากการเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงระหว่างการประชุม APEC 2022 เมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ทำให้เก็ทต้องหวนกลับเข้าเรือนจำเป็นครั้งที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 9 ม.ค. 2566 

เก็ทปรากฏตัวด้วยชุดผู้ต้องขังสีน้ำตาล มีสีหน้าดีกว่าเมื่อครั้งที่ถูกคุมขังเมื่อปีกลาย ผมยังคงเป็นทรงเดิม ยังไม่ถูกตัดให้สั้นเกรียนเช่นผู้ต้องขังคนอื่น แต่คาดว่าอีกไม่นานก็คงจะถูกจัดการให้เป็น “ทรงมาตรฐาน” ของเรือนจำแล้ว

ช่วง 10 วันแรกนี้ เก็ทจะถูกคุมขังอยู่ที่แดนแรกรับก่อน เพื่อเฝ้าระวังว่าเชื้อโควิด-19 อันเป็นมาตรการของทางเรือนจำ โดย 5 วันแรกผู้ต้องขังจะไม่สามารถออกจากห้องขังได้เลย ส่วน 5 วันหลังจากนั้นจึงจะสามารถออกจากห้องขังได้บ้างบางครั้ง เช่น ไปซื้ออาหาร ออกกำลังกาย ทานข้าว เป็นต้น และเมื่อครบกำหนดกักตัวเป็นเวลา 10 วัน หากผู้ต้องขังตรวจพบว่าไม่ได้ติดเชื้อโควิด-19 เขาจึงจะถูกย้ายไปคุมขังยังแดนอื่นของเรือนจำต่อไป

ภาพการทำกิจกรรมของเก็ท-ใบปอ และเพื่อน ระหว่างการประชุม APEC 2022 ภาพจากไข่แมวชีส

เก็ทเล่าว่า หลังจากถูกส่งตัวเข้ามาคุมขังในครั้งนี้ เขาเริ่มใช้เวลาไปกับการอ่านหนังสือ จนจบไปแล้วถึง 2 เล่ม ในเวลาเพียงวันเศษ

“หนังสือ” คือ สิ่งเดียวที่ทำให้เก็ทยังไม่ฟุ้งซ่านและมีสติอยู่กับตัวเองได้ในสภาพแวดล้อมที่น่าอึดอัดใจเช่นนี้ พร้อมกันนี้เขาได้ฝากเชิญชวนให้ทุกคนช่วยกันบริจาคหนังสือให้กับผู้ต้องขังในเรือนจำด้วย เพราะหนังสือในเรือนจำส่วนมากจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจและแนวทางการใช้ชีวิตที่เก่าและมีสภาพทรุดโทรมมากแล้ว  

“ผมอยากได้หนังสือเกี่ยวกับแพทย์แผนไทย”

อย่างที่หลายคนรู้กันว่าเก็ทเรียนจบด้านรังสีเทคนิค และช่วงนี้เขากำลังสนใจเรื่องแพทย์แผนไทยและศาสตร์แพทย์ทางเลือกอยู่ เก็ทบอกว่า จริงๆ แล้วทุกคนจะบริจาคหนังสืออะไรเข้ามาให้ผู้ต้องขังก็ได้ทั้งนั้น การมีหนังสือใหม่ๆ ให้เลือกอ่านก็คงดีกว่าอยู่แล้ว แต่จากการที่ได้พูดคุยกับผู้ต้องขังส่วนใหญ่ทุกคนดูชื่นชอบหนังสือนิยาย ไม่ว่าจะแนวโรแมนติก วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ หรืออัตชีวประวัติ ก็ได้ทั้งนั้น

เก็ทเล่าย้อนให้เราฟังว่า ก่อนหน้าที่ศาลจะนัดฟังคำสั่งว่าจะถอนประกันหรือไม่ในวันที่ 9 ม.ค. 2566 เขาได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขออนุญาตออกจากบ้านไปกิน “เนื้อย่าง” ที่สยามสแควร์ ในวันอาทิตย์ที่ 8 ม.ค. 2566

ตั้งแต่เก็ทได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำเมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2565 เขาถูกกำหนดเงื่อนไขหนึ่งในหลายข้อว่า “ต้องอยู่ในเคหสถานตลอด 24 ชั่วโมง” นั่นทำให้เก็ทแทบจะไม่ได้ออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านเลย และเมื่อใกล้ถึงนัดฟังคำสั่งว่าจะถูกเพิกถอนประกันหรือไม่ ยิ่งทำให้เขารู้สึก “อยากออกไปใช้ชีวิตให้คุ้มค่า” เพราะเก็ทประเมินแล้วว่าอย่างไรเสียศาลก็คงสั่งถอนประกันเป็นแน่ 

ภาพเก็ทให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนก่อนจะเข้าไปฟังคำสั่งศาล เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2566 ภาพจากไข่แมวชีส

อย่างไรก็ตาม ต่อมาศาลยกคำร้องขอออกนอกเคหสถานเพื่อไปสยามฯ ของเก็ท เขายังคงไม่ได้กินเนื้อย่างและใช้ชีวิตในนาทีสุดท้ายอย่างที่ต้องการก่อนจะกลับเข้าเรือนจำอีกครั้ง ครั้งนี้ไม่มีใครรู้เลยว่าจะต้องถูกคุมขังไปอีกนานเท่าใด ผู้พิพากษาที่มีคำสั่งยกคำร้องขอไปสยามของเก็ทก็คือ “พริษฐ์ ปิยะนราธร” ซึ่งเป็นผู้พิพากษาคนเดียวกันกับที่มีคำสั่งเพิกถอนประกันเก็ทในครั้งนี้

หลังถูกถอนประกันในครั้งนี้ เก็ทเล่าว่าชีวิตของเขาเปรียบเสมือน “ลาเต้” กาแฟที่มีรสขมปนรสหวานอยู่บ้าง การหวนกลับเข้าเรือนจำเป็นครั้งที่ 2 เขารู้สึกว่าเพื่อนผู้ต้องขังและเจ้าหน้าที่ในเรือนจำส่วนใหญ่มองเขาอย่างเป็นมิตรมากขึ้น มีเพียงบางคนเท่านั้นที่พูดจาและปฏิบัติไม่ดีกับเก็ท 

กำลังใจจากเพื่อนผู้ต้องขังทุกคนข้างในนั้นทำให้เก็ทรู้สึกว่าเขาไม่ได้โดดเดี่ยวเหมือนที่เคยถูกคุมขังเมื่อปีก่อน แต่หากจะให้พูดว่า “อยู่ได้” เก็ทบอกว่าก็คงไม่ใช่เช่นนั้น เพราะคงไม่มีใครยินดีที่จะถูกขังอยู่ในที่ที่เรียกว่าคุกนี้หรอก

“นรก ก็คือนรกอยู่ยังวันยังค่ำ ผมแค่เริ่มชินกับมันแล้วเท่านั้นเอง”  

พร้อมกับย้ำว่า “รอบนี้ผมไม่ได้อ่อนแอเหมือนที่เคยถูกขังครั้งก่อนแล้วนะ” 

ภาพเก็ทขณะใช้เวลาอยู่ที่บ้านของตัวเองระหว่างถูกกำหนดเงื่อนไขให้อยู่เคหสถานตลอด 24 ชั่วโมง

ทั้งนี้ การถูกเพิกถอนประกันในครั้งนี้ ทำให้เก็ทต้องถูกคุมขังเป็นครั้งที่ 2 ในชีวิต โดยครั้งแรกเก็ทถูกจับกุมตามหมายจับในคดีมาตรา 112 จากเหตุปราศรัยในกิจกรรม #ทัวร์มูล่าผัว เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2565 และถูกคุมขังอยู่นาน 30 วัน ระหว่างวันที่ 2 พ.ค. – 31 พ.ค. 2565 พร้อมกับดำเนินการอดอาหารประท้วงเป็นเวลา 20 วัน จนทำให้น้ำหนักลดลงไปกว่า 5 กิโลกรัม พร้อมกับมีผลข้างเคียงต่อร่างกายอีกหลายอย่างด้วยกัน

แม้ครั้งนั้นเก็ทจะถูกปล่อยตัวออกจากเรือนจำ แต่ศาลได้กำหนดเงื่อนไขหลายประการด้วยกัน หนึ่งในนั้นคือ “การให้อยู่ในเคหสถานตลอด 24 ชั่วโมง” นั่นทำให้สถานที่ที่เรียกว่า “บ้าน” ถูกแปรเปลี่ยนให้กลายเป็นทัณฑสถานส่วนบุคคลโดยทันที เงื่อนไขนี้ยังคงถูกบังคับใช้กับเก็ทเรื่อยมาเป็นเวลา 7 เดือนเศษ กระทั่งถูกคุมขังอีกครั้งจากการถูกถอนประกันในครั้งนี้ 

X