จับตา นัดฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์ ขอประกันตัว “จินนี่ จิรัชยา” 10 ธ.ค. ยืนยันปราศรัยเรียกร้องสิทธิประกัน เพียงต้องการให้ผู้พิพากษาดำรงไว้ซึ่งความสง่างาม-ความยุติธรรม

เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2565 ทนายความได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันตัว “จินนี่” จิรัชยา สกุลทอง นักกิจกรรมวัย 54 ปี จากกรณีปราศรัยเรียกร้องให้ศาลคืนสิทธิประกันตัวของ ‘ไบรท์ ชินวัตร’ ที่หน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2565 ซึ่งถูกกล่าวหาในข้อหาดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาหรือพิพากษาคดี, หมิ่นประมาทโดยการโฆษณาฯ และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต

ในคดีนี้ จิรัชยาได้ถูกจับกุมตัวตามหมายจับ เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2565 โดยไม่เคยได้รับหมายเรียกมาก่อน และถูกนำตัวไปควบคุมที่ สน.ยานนาวา 1 คืน ก่อนในวันต่อมา พนักงานสอบสวนได้ยื่นขออำนาจศาลอาญากรุงเทพใต้ฝากขัง พร้อมคัดค้านการประกันตัว เวลาต่อมาศาลได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกัน ระบุคำสั่งว่าผู้ต้องหากระทำการโดยไม่เกรงกลัวกฎหมายบ้านเมือง ถือเป็นอันตรายร้ายแรงต่อศาลในการปฎิบัติหน้าที่ หากปล่อยตัวไปเกรงว่าจะไปก่อภัยอันตราย หรือสร้างความเสียหาย ทั้งคดีมีอัตราโทษสูง หากปล่อยตัวไปเกรงว่าจะหลบหนี 

สำหรับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันตัว มีรายละเอียด ดังต่อไปนี้

1. คดีนี้มีพนักงานสอบสวนเป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาดูหมิ่นศาลและวิจารณ์การทำงานของผู้พิพากษา โดยผู้ต้องหาได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา เนื่องจากการทำกิจกรรมของผู้ต้องหาที่บริเวณศาลแพ่งกรุงเทพใต้และศาลอาญากรุงเทพใต้ เพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้ไบรท์ ชินวัตร ซึ่งเป็นผู้ต้องขังในคดีมาตรา 112 อยู่ในขณะนั้น ซึ่งจิรัชยาไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อทำลายกระบวนการยุติธรรม หรือกดดันการทำงานศาล แต่เพียงต้องการให้ศาลและกระบวนการยุติธรรมดำรงไว้ซึ่งความสง่างามและความยุติธรรม และปฏิบัติต่อผู้ต้องหาในคดีอาญาอย่างเท่าเทียมกันไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดทางเพศ หรือผู้ต้องหาในคดีที่เกิดจากการเคลื่อนไหวทางการเมือง

2. ในคดีนี้ผู้ต้องหาไม่เคยมีพฤติการณ์หลบหนี หรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น การดำเนินคดีผู้ต้องหาในคดีนี้ ไม่เคยมีการออกหมายเรียกมาก่อน

อีกทั้ง ในคดีนี้ จิรัชยาถูกกล่าวหาว่าดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษา ซึ่งอาจส่งผลต่อความเป็นกลางและปราศจากอคติ เนื่องมาจากศาลอาญากรุงเทพใต้เป็นศาลเดียวกันกับที่ไม่อนุญาตให้ประกันตัวและมีอำนาจในการพิจารณาคำพิพากษาของผู้ต้องหา ทำให้ผู้ต้องหาไม่มั่นใจว่าจะได้รับความเป็นธรรม ผู้ต้องหาต้องการให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาการปล่อยตัวชั่วคราว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมว่าศาลจะดำรงความเป็นกลาง และสามารถตรวจสอบการทำหน้าที่ได้

3. ในคดีนี้ พนักงานสอบสวนอ้างว่าที่ต้องฝากขังผู้ต้องหาต่อไป เนื่องมาจากต้องรอการตรวจพิสูจน์ลายพิมพ์นิ้วมือ ตรวจหาประวัติการต้องโทษของผู้ต้องหา และต้องการสอบสวนอื่นๆ ซึ่งการสอบสวนที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องภายในองค์กรของตำรวจที่สามารถกระทำได้ โดยไม่จำเป็นต้องควบคุมตัวของผู้ต้องหาไว้ การที่ศาลชั้นต้นพิจารณาไม่ให้ประกันตัว เพราะเกรงว่าจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน จึงไม่เป็นธรรมต่อผู้ต้องหา

4. จิรัชยาเป็นเพียงบุคคลธรรมดา ประกอบอาชีพสุจริต ไม่มีอำนาจหรืออิทธิพลที่จะไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานได้ และพยานหลักฐานทั้งหมดในคดีนี้ ก็อยู่ในความครอบครองของพนักงานสอบสวนแล้วทั้งสิ้น อีกทั้งเป็นผู้ป่วยมีโรคประจำตัวหลายโรค อาทิเช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูงและโรคไขมันในเส้นเลือดอุดตัน ซึ่งต้องกินยาอย่างสม่ำเสมอ และพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างต่อเนื่อง

สำหรับคดีนี้นับเป็นคดี “ดูหมิ่นศาล” คดีที่ 2 ที่จิรัชยาถูกกล่าวหา โดยก่อนหน้านี้เธอเคยถูกจับกุมและคุมขังในคคีดูหมิ่นศาล จากเหตุจากการปราศรัยวิจารณ์การทำงานของศาล ระหว่างกิจกรรมเรียกร้องสิทธิการประกันตัวของ “บุ้ง-ใบปอ” ที่หน้าศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2565 ก่อนที่ต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว และกำหนดเงื่อนไขห้ามผู้ต้องหาไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นในลักษณะเดียวกันนี้อีก แต่คดีที่ 2 นี้ เหตุที่ถูกกล่าวหานี้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2565 ก่อนจิรัชยาจะถูกจับกุมในคดีแรก ทำให้ไม่ใช่การฝ่าฝืนเงื่อนไขการประกันตัว

หลังยื่นคำร้อง ล่าสุด ศาลอาญากรุงเทพใต้ได้นัดฟังคำสั่งของศาลอุทธรณ์เป็นวันที่ 10 ธ.ค. 2565 เวลา 9.00 น.

ท้้งนี้ จิรัชยาได้ถูกคุมขังอยู่ที่ทัณฑสถานหญิงกลางมาตั้งแต่วันที่ 26 พ.ย. 2565 รวมเป็นระยะเวลากว่า 14 วันแล้ว สำหรับข้อหา “ดูหมิ่นศาล” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198 มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 1-7 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000-14,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

X