ศาลฎีกาพิพากษาคดี พ.ร.บ.คอมฯ กรณีประชาชนโพสต์ถึงประยุทธ์-ประวิตร จำคุก 18 เดือน รอลงอาญา 2 ปี

วันที่ 26 ต.ค. 2565 ศาลอาญานัดอ่านคำพิพากษาของศาลฎีกาในคดีของ “วิวัฒน์” (สงวนนามสกุล) ซึ่งถูกฟ้องในข้อหา “นำเข้าข้อมูลเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกต่อประชาชน” ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 มาตรา 14 (2)(5) จากกรณีนำเข้าและเผยแพร่ข้อความลงบนเพจเฟซบุ๊ก 3 ข้อความถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี

เหตุในคดีนี้ เกิดเมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2563, 20 ส.ค. 2563 และ 21 ส.ค. 2563 โดยเผยแพร่และนำเข้าข้อมูล ภาพประยุทธ์ที่มีข้อความบนภาพว่า “ไฟเขียว vat 8%” และพิมพ์ข้อความ “ผ่านฉลุยบิ๊กตู่ยิ้มแป้น vat 8% สำเร็จบังคับใช้ทั่วประเทศวันที่ 1”, ภาพประวิตรที่มีข้อความบนภาพว่า “ด่วน! ส่งICU” และพิมพ์ข้อความ “เดินล้มเองในห้องน้ำสภา ส่งกำลังใจช่วยบิ๊กป้อมให้ปลอดภัย ทีมแพทย์เผยอาการ 60” และสุดท้ายคือภาพประยุทธ์ที่มีข้อความบนภาพว่า “ทรัพย์สินพุ่ง 2400 ล้าน” และพิมพ์ข้อความ “โผล่แล้วทรัพย์สินนายก 5 เดือน พุ่งปรี๊ด ทะลุสองพันล้าน ยังไม่ทราบที่มา”

คดีนี้ ในศาลชั้นต้น จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลจึงพิพากษาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป จำคุกกระทงละ 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง เหลือกระทงละ 6 เดือน รวมเป็นจำคุก 18 เดือน โดยไม่รอลงอาญา 

หลังจากได้ประกันตัวโดยวางหลักทรัพย์เป็นเงินจำนวน 200,000 บาทแล้ว วิวัฒน์จึงอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ เนื่องจากเห็นว่าเป็นบทลงโทษที่หนักเกินไป ไม่เหมาะสมกับพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งคดี

ต่อมาศาลอุทธรณ์เห็นว่าการที่จำเลยเผยแพร่และนำเข้าข้อมูลถึงสามครั้ง แสดงถึงจิตสำนึกที่ไม่รับผิดชอบต่อสังคมประเทศชาติ และการอ้างว่าเป็นการใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็นโดยชอบเป็นเพียงการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องส่วนตัวของบุคคลที่ดำรงตำแหน่งสำคัญภายในประเทศ แสดงถึงความไม่สำนึกแก่การกระทำของตนอย่างแท้จริง จึงไม่มีเหตุสมควรรอการลงโทษ แต่เมื่อพิจารณาถึงจำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน ศาลเห็นว่าโทษจำคุกที่ศาลชั้นต้นวางไว้หนักเกินไป สมควรแก้ไขให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดี จึงพิพากษาแก้เป็นให้จำคุกกระทงละ 2 เดือน รวม 3 กระทง รวมจำคุก 6 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 3 เดือน ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขัง 3 เดือน

ต่อมา วิวัฒน์ได้ฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ว่าการกักขัง 3 เดือน โดยไม่รอการลงโทษ ก็ยังเป็นโทษที่หนักเกินไป ไม่เหมาะสมกับพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งคดี เนื่องจากข้อเท็จจริงในคดีนี้ มีเหตุหลายประการที่ศาลสมควรปรานี ลดโทษให้เหลือเพียงโทษปรับ รอกำหนดโทษ หรือรอการลงอาญา และเป็นเพียงการเผยแพร่ข้อความที่สร้างความเสียหายต่อตัวบุคคลสำคัญภายในประเทศ ไม่ได้มีลักษณะที่เรียกร้องให้บุคคลอื่นไปก่อความวุ่นวาย หรือกระทำผิดกฎหมายจนสร้างผลเสียหายร้ายแรงต่อสังคม นอกจากนี้จำเลยยังไม่เคยกระทำความผิดอาญาใดมาก่อน และให้ความร่วมมือในกระบวนการมาโดยตลอด ทั้งยังให้การรับสารภาพอีกด้วย

.

ศาลฎีกามีคำพิพากษาลงโทษจำคุก 18 เดือน แต่ให้รอลงอาญา 2 ปี

วันที่ 26 ต.ค. 2565 ศาลฎีกามีคำพิพากษา เห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำที่ไม่รับผิดชอบต่อสังคม ศาลฎีกาเห็นพ้องกับศาลชั้นต้น แต่ไม่ปรากฏว่ามีความเสียหายจากการกระทำของจำเลย ความผิดจึงไม่ใช่เรื่องร้ายแรง และจากการสืบเสาะ จำเลยประกอบอาชีพสุจริต ไม่ปรากฎว่าเคยกระทำความผิดอาญามาก่อน ทั้งจำเลยยังยอมรับการคุมประพฤติทุกเงื่อนไข

เพื่อให้จำเลยหลาบจำ ศาลพิพากษาปรับกระทงละ 3,000 บาท สามกระทงรวมกันเป็น 9,000 บาท แต่จำเลยรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงเหลือค่าปรับ 4,500 บาท ลงโทษจำคุก 18 เดือน โทษจำคุกให้รอการลงโทษ 2 ปี ให้จำเลยรายงานตัวต่อเจ้าพนักงานคุมประพฤติทุก 4 เดือน ตามเงื่อนไขที่พนักงานคุมประพฤติกำหนด กับให้จำเลยทำบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ 24 ชั่วโมง

ภายหลังการอ่านคำพิพากษา ศาลกล่าวกับจำเลยว่า โอกาสดีๆ แบบนี้ ไม่ได้มีบ่อยๆ บางคนก็ไม่ได้มีโอกาสให้รอการลงโทษเช่นนี้ สิ่งใดที่ไม่ดีก็อย่าหวนไปกระทำอีก บางคนเห็นศาลรอการลงโทษก็ไปกระทำความผิดซ้ำ

X