ศาลปกครองยกฟ้องคดี “ไผ่” ฟ้องราชทัณฑ์ ไม่ให้พักโทษคดี 112 ชี้ไม่ใช่สิทธิ แต่เป็น ‘ประโยชน์’ ที่ต้องพิจารณารายบุคคล

5 ก.ย. 2565 ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำพิพากษาในคดีที่ “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นักกิจกรรมกลุ่มทะลุฟ้า ฟ้องร้องกรมราชทัณฑ์ และคณะอนุกรรมการพิจารณาการพักการลงโทษ กรณีมีมติเมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2562 ไม่ให้จตุภัทร์ได้รับการพักโทษ ในระหว่างการถูกคุมขังในคดีมาตรา 112 กรณีแชร์ข่าวบีบีซีไทย แม้จะมีคุณสมบัติตามเกณฑ์การได้รับการพักโทษ โดยฟ้องว่ามติดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ฟ้องคดี

มติของคณะอนุกรรมการฯ พักโทษ ซึ่งไม่อนุมัติให้จตุภัทร์ได้รับการพักโทษด้วยเหตุผลว่า พฤติการณ์กระทําผิดของจตุภัทร์มีลักษณะความผิดกระทบต่อสถาบันหลักของชาติอันเป็นที่รักใคร่เทิดทูนของปวงชนชาวไทย จึงให้ทัณฑสถานอบรมพัฒนาพฤตินิสัยต่อไปนั้น มีขึ้นขณะจตุภัทร์รับโทษจำคุกไปแล้วกว่า 2 ปี 2 เดือน จากคำพิพากษาของศาลจังหวัดขอนแก่น ซึ่งพิพากษาจำคุก 2 ปี 6 เดือน ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากกรณีแชร์บทวิเคราะห์ “พระราชประวัติกษัตริย์พระองค์ใหม่ของไทย” ของบีบีซีไทย ลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยเหลือโทษจำคุกอีก 111 วัน  จตุภัทร์จึงได้ยื่นฟ้องมติดังกล่าวว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2562

ศาลปกครองกลางนัดพิจารณาคดีครั้งแรกไปเมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2565 ที่ผ่านมา และกำหนดนัดฟังคำพิพากษาในวันนี้

.

.

ศาลเห็นว่ามติอนุกรรมการพักโทษฯ ไม่ขัดต่อกฎหมาย การพักโทษไม่ใช่ “สิทธิ” ของทุกคน แต่เป็น “ประโยชน์” จึงต้องพิจารณาเฉพาะบุคคล

เวลา 10.10 น. ผู้รับมอบอำนาจผู้ฟ้องคดีมาศาล ส่วนฝ่ายผู้ถูกฟ้องทั้งสองทราบนัดแล้ว แต่ไม่ได้มาศาล ศาลจึงได้อ่านคำพิพากษาโดยสรุปเฉพาะในส่วนคำวินิจฉัยประเด็นในคดี

ประเด็นที่ศาลวินิจฉัยประเด็นแรก ได้แก่ มติของคณะอนุกรรมการฯ ที่ไม่เห็นชอบให้พักการลงโทษผู้ฟ้องคดีนั้น ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีเป็นนักโทษเด็ดขาด ในความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ คดีถึงที่สุดเมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2560 ต่อมาวันที่ 30 มิ.ย. 2561 ผู้ฟ้องคดีได้รับการเลื่อนชั้นเป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นดี และอยู่ในเกณฑ์ที่ได้รับการพักการลงโทษ โดยปรากฏว่าเป็นผู้มีความประพฤติในเรือนจำดี ได้แสดงถึงความก้าวหน้าในการศึกษา และตามความเห็นของพนักงานคุมประพฤติ มีความเห็นว่าสมควรปล่อยนักโทษรายนี้ เพื่อคุมความประพฤติ เนื่องจากมีมารดาเป็นผู้รับอุปการะ มีที่พักอาศัยเป็นหลักแหล่งแน่นอน และผู้นำชุมนุมให้ความเห็นว่าควรปล่อยคุมประพฤติ ทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่นจึงได้เสนอเรื่องให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เพื่อพิจารณาพักการลงโทษ

แต่จากการประชุมของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2562 มีมติไม่เห็นชอบให้พักการลงโทษ โดยสรุปว่าผู้ฟ้องคดีมีพฤติการณ์กระทำผิดต่อสถาบันหลักของชาติ อันเป็นที่รักใคร่เทิดทูนของปวงชนชาวไทย ประกอบกับผู้ฟ้องคดีถูกดำเนินคดีมาแล้วหลายครั้ง ยังไม่เข็ดหลาบ หากได้รับการปล่อยตัวไปก่อนครบกำหนดโทษ มีแนวโน้มจะกลับไปกระทำผิดซ้ำอีก

ศาลปกครองเห็นว่าตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 กำหนดให้ “การพักโทษ” อยู่ในหมวดประโยชน์ของผู้ต้องขัง การพักการลงโทษจึงมิได้เป็นสิทธิของผู้ต้องขังซึ่งเป็นนักโทษเด็ดขาดทุกคน แต่ถือเป็นประโยชน์ที่นักโทษเด็ดขาดจะได้รับเมื่อผ่านการพิจารณาตามหลักเกณฑ์ และเมื่อการพักการลงโทษ ถือเป็นการปล่อยตัวนักโทษเด็ดขาดออกจากเรือนจำก่อนครบกำหนดโทษ ภายใต้เงื่อนไขของการคุมประพฤติ การอนุมัติให้พักโทษจึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบและรอบด้าน โดยต้องนำพฤติการณ์การกระทำความผิด ลักษณะความผิดและความรุนแรงของคดี หรือการกระทำความผิดที่ได้กระทำมาก่อน มาพิจารณาประกอบด้วย

ดังนั้น แม้นักโทษเด็ดขาดรายใดมีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะได้รับการพิจารณาให้พักการลงโทษแล้ว ก็มิได้หมายความว่านักโทษผู้นั้นจะต้องได้รับการพิจารณาเห็นชอบให้พักโทษทุกราย แต่จะต้องพิจารณาความเหมาะสมเป็นการเฉพาะราย

คดีนี้ ผู้ฟ้องคดีเป็นนักโทษเด็ดขาดในคดีความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ จึงมีลักษณะตามข้อ 2 ข (1) ของประกาศกรมราชทัณฑ์ เรื่องหลักเกณฑ์การพิจารณาพักการลงโทษ พ.ศ. 2560 ดังนั้น แม้ผู้ฟ้องคดีจะอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะได้รับการพักโทษในประการอื่นครบถ้วนแล้ว ก็ยังไม่อาจได้รับการพิจารณาให้ได้รับการพักโทษได้ แต่เป็นอำนาจตามกฎหมายของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่จะพิจารณาและมีเหตุผลพิเศษสนับสนุนการใช้ดุลยพินิจ เพื่อผ่อนปรนให้สามารถได้รับการพักโทษ ตามข้อ 3 ของประกาศเดียวกัน ดังนั้นกรณีจึงไม่เป็นการต้องห้าม หากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จะใช้ดุลยพินิจพิจารณาหลักเกณฑ์ตามเหตุผ่อนปรนเพียงเหตุเดียวหรือหลายเหตุประกอบกันก็ได้

กรณีของผู้ฟ้องคดีมีโทษคงเหลือจำคุกต่อไปอีก 111 วัน จึงเป็นกรณีเหลือโทษจำคุกต่อไปไม่เกิน 1 ปี แต่เมื่อใช้ดุลยพินิจพิจารณาแล้ว ไม่มีเหตุผลพิเศษอื่นที่สนับสนุนเพื่อพิจารณาผ่อนปรนให้ได้รับการพักโทษได้ จึงมีมติไม่เห็นชอบการพักการลงโทษผู้ถูกฟ้องคดี มติดังกล่าวจึงเป็นการใช้ดุลยพินิจพิจารณาตามอำนาจหน้าที่ภายใต้ขอบเขตของประกาศข้างต้น และถือว่าเป็นการพิจารณาที่มีเหตุผลให้รับฟังได้ กรณีจึงยังถือไม่ได้ว่า มติที่พิพาทเป็นการใช้ดุลยพินิจไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด

ส่วนที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่านักโทษเด็ดขาดรายอื่น ที่มีลักษณะคล้ายกับผู้ฟ้อง แต่ได้รับการพักโทษนั้น เห็นว่าการพักการลงโทษ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ต้องพิจารณาเป็นรายบุคคล กรณีจึงเป็นเรื่องเฉพาะรายเฉพาะกรณี ไม่อาจนำนักโทษเด็ดขาดรายอื่นมาเปรียบเทียบกันได้ 

ประเด็นที่ 2 ที่ศาลวินิจฉัย ได้แก่ การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่ และต้องรับผิดชดใช้สินไหมทดแทนหรือไม่ เพียงใด

ศาลเห็นว่า เมื่อได้วินิจฉัยว่าการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ไม่เป็นการกระทำโดยผิดกฎหมาย และถือว่าไม่เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย จึงมิได้เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี จึงไม่จำเป็นต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีในการปฏิบัติหน้าที่แต่อย่างใด

พิพากษายกฟ้อง

.

.

คำพิพากษาลักษณะเดียวกับคดีสมยศ แต่ยังต้องจับตาคำวินิจฉัยศาลปกครองสูงสุด

ก่อนหน้านี้ นอกจากคดีของไผ่แล้ว ยังมีกรณีของสมยศ พฤกษาเกษมสุข ที่ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเช่นกัน กรณีมีมติไม่ให้พักการลงโทษ ในระหว่างการถูกคุมขังในคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 

โดยเมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2563 ศาลปกครองได้มีคำพิพากษายกฟ้องในลักษณะเดียวกันนี้ แต่สมยศได้ตัดสินใจยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อ และจนถึงปัจจุบัน ศาลปกครองสูงสุดยังไม่ได้มีคำพิพากษาออกมา

สำหรับกรณีไผ่ จตุภัทร์ หลังเขาไม่ได้รับอนุญาตให้พักการลงโทษ เขาได้รับการปล่อยตัวจากทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่น เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2562 โดยเป็นการปล่อยตัวเร็วกว่ากำหนดโทษเดิม 41 วัน หลังมี พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2562 

ทั้งนี้คดีของไผ่กรณีแชร์ข่าวบีบีซีไทยในช่วงปลายปี 2559 นั้น เป็นคดีมาตรา 112 คดีแรกหลังเปลี่ยนรัชสมัย (เท่าที่ทราบข้อมูล) เขาตัดสินใจรับสารภาพหลังการสืบพยานดำเนินไปและไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างต่อสู้คดี โดยก่อนหน้านี้ ยังไม่มีคดีที่เขาถูกกล่าวหาและศาลพิพากษาว่ามีความผิดในคดีใดมาก่อน 

.

ย้อนอ่านรายงานก่อนหน้านี้

ตรวจตราคดี 112 ที่ไม่จบแค่คำพิพากษา กรณีไม่ให้พักโทษไผ่และสมยศ

ศาลปกครองยกฟ้องคดี ‘สมยศ’ ฟ้องราชทัณฑ์ ชี้ไม่ให้พักโทษ ‘นักโทษคดีความมั่นคง’ ชอบด้วยกม.แล้ว

“ยังฝันอยู่”: 2 ปี 4 เดือนของการจองจำ กับรอยยิ้ม น้ำตา และการเติบโตของ “ไผ่ ดาวดิน”

.

X