เรียกผิดตัว-บิดเบือนข้อเท็จจริง: ความไร้ประสิทธิภาพของงานข่าว และปฏิบัติการข่าวสารทหาร?

จากกรณีที่นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ทำหนังสือโทรสารในราชการกรมปกครอง รายงานต่อปลัดกระทรวงมหาดไทย เรื่องความเคลื่อนไหวในงานประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษา ซึ่งจัดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยรายงานว่าเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2560 ได้มีนักวิชาการ นักกิจกรรม และนักเคลื่อนไหวทางสังคม จำนวน 6 คน ทราบชื่อแล้ว 3 ราย คือ ประจักษ์ ก้องกีรติ, ภัควดี วีระภาสพงษ์ และชัยพงษ์ สำเนียง ได้เดินทางมาชูป้ายข้อความว่า “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร” โดยใช้สถานที่ภายในห้องประชุมสัมมนาและด้านหน้าห้องประชุมเป็นสถานที่ถ่ายภาพ พร้อมกับระบุว่าทางจังหวัดเชียงใหม่ โดยกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) จะเชิญนักวิชาการทั้ง 3 คนดังกล่าวเข้ามาพบเพื่อชี้แจง และขอความร่วมมือไม่ให้เคลื่อนไหวทางการเมืองต่อไป (กกล.รส.จังหวัดเชียงใหม่ มีผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 33 เป็นผู้บัญชาการโดยตำแหน่ง)

ขณะเดียวกัน หนังสือดังกล่าวยังระบุด้วยว่า “กลุ่มนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง หรือ คนส.” ที่มี ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นแกนนำและมักเคลื่อนไหวในเชิงสัญลักษณ์ เพื่อแสดงออกถึงการต่อต้านทหารและการรัฐประหาร รวมทั้งเรียกร้องเสรีภาพในการแสดงออก และจะอาศัยจังหวะและโอกาสที่มีการจัดประชุม เสวนา หรือจัดเวทีนานาชาติเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เสมอมา

ถ้อยความดังกล่าว ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง นอกจากประเด็นเรื่องการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก การใช้อำนาจโดยมิชอบและการปฏิบัติตัวของเจ้าหน้าที่รัฐแล้ว ประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากประเด็นหนึ่ง คือข้อเท็จจริงในเอกสาร โดย ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ นั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการชูป้ายดังกล่าวแต่อย่างใด และไม่ได้เป็นแกนนำในการทำกิจกรรมของคนส. รวมทั้งนักวิชาการ-นักกิจกรรมที่ถูกเอ่ยชื่อทั้งสามคนก็เป็นผู้เข้าร่วมในงานประชุมไทยศึกษา ทำการลงทะเบียนร่วมงานและร่วมนำเสนอบทความ ไม่ได้ “อาศัยจังหวะที่มีการจัดการประชุมมาเคลื่อนไหวตามงานต่างๆ” ตามที่เอกสารระบุ

ทางคนส. เองก็ออกแถลงการณ์ชี้แจงว่าข้อความในเอกสารราชการดังกล่าวเป็นเท็จ เนื่องจาก ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์หรือมีส่วนร่วมในกิจกรรมตามวันเวลาดังกล่าวแต่อย่างใด และยังเป็นที่ทราบกันอย่างเปิดเผยผ่านสื่อสาธารณะอยู่แล้วว่า คนส. ได้ดำเนินกิจกรรมเรียกร้องเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงคัดค้านรัฐประหารในวาระโอกาสต่างๆ เป็นปกติจริง มิได้เป็นการฉวยโอกาสตามที่เอกสารกล่าวหาแต่อย่างใด

การระบุบุคคลผิดตัว และการบิดเบือนข้อเท็จจริงโดยงานข่าวของเจ้าหน้าที่รัฐในลักษณะดังกล่าวนั้น ไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้น หากแต่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตลอดสามปีเศษหลังการรัฐประหารครั้งนี้ ซึ่งทำให้ผู้ถูกเรียกตัวหรือผู้ถูกกล่าวหาได้รับผลกระทบในมิติต่างๆ มาแล้วหลายราย ซึ่งอาจสะท้อนให้เห็นทั้งความไร้ประสิทธิภาพของงานข่าวของรัฐ และการใช้ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารในยุคของคสช.

 

คดีมหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร: ออกหมายเรียกนักวิชาการมารับทราบข้อกล่าวหาผิดคน

กรณีที่ชัดเจนกรณีหนึ่งเกิดขึ้นในจังหวัดเชียงใหม่เช่นเดียวกัน ได้แก่ กรณีกลุ่มนักวิชาการในนาม “เครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัย” ที่แถลงข่าว “มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร” ที่โรงแรมไอบิส จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2558 เจ้าหน้าที่ทหารได้เข้าแจ้งความที่สภ.ช้างเผือก ข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 เรื่องการชุมนุมทางการเมืองจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป โดยมีการระบุว่านักวิชาการที่ร่วมแถลงข่าวรายหนึ่ง ได้แก่ คงกฤช ไตรยวงค์ อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้มีการออกหมายเรียกให้คงกฤชมารับทราบข้อกล่าวหาพร้อมกับนักวิชาการรายอื่นๆ ด้วย

ปรากฏว่าตามข้อเท็จจริง คงกฤชไม่ได้เดินทางไปที่จังหวัดเชียงใหม่ในวันที่มีการแถลงข่าวแต่อย่างใด และมีพยานหลักฐานชัดเจนว่าอยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อทราบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว พนักงานสอบสวนระบุว่าหมายเรียกดังกล่าวเกิดจาก “การเข้าใจผิด” ของเจ้าหน้าที่ทหารที่มาแจ้งความ และแจ้งให้คงกฤชไม่ต้องเดินทางมาพบกับพนักงานสอบสวนแล้ว ขณะที่ทางฝั่งเจ้าหน้าที่ทหารก็ไม่เคยมีคำชี้แจงและความรับผิดชอบใดๆ ต่อ “ความผิดพลาด” ดังกล่าวหลังจากนั้น

 

กรณีวัดพระธรรมกาย: ออกคำสั่งเรียกตัว สายชล กาแก้วเพราะเจอคนหน้าคล้ายในพื้นที่

คล้ายกับสองกรณีข้างต้น ขณะที่ คสช. กำหนดให้วัดพระธรรมกายเป็นพื้นที่ควบคุมตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 5/2560 สายชล กาแก้ว ได้รับได้รับหมายเรียกในวันที่ 28 ก.พ. 2560 อาศัยอำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2559 เรื่อง การป้องกันและปราบปรามการกระทําความผิดบางประการที่เป็นภยันตรายต่อความสงบเรียบร้อยหรือบ่อนทําลายระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ให้ไปรายงานตัวต่อ พ.ท.เพื่อชาติ อุไรเลิศ ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ เนื่องจากมีสายข่าวทหารแจ้งมาว่า พบคนที่ลักษณะคล้ายนายสายชลอยู่ในบริเวณที่ชุมนุมใกล้วัดพระธรรมกาย

อย่างไรก็ตาม เมื่อสายชลไปพบ พ.ท.เพื่อชาติ ตามหมายเรียก พ.ท.เพื่อชาติ สอบถามเกี่ยวกับกรณีวัดพระธรรมกายว่า สายชลเคยไป หรือสนับสนุนการชุมนุมบริเวณวัดพระธรรมกายหรือไม่ แต่สายชลยืนยันว่าไม่ได้ศรัทธาและไม่เคยไปวัดธรรมกายมาก่อน ไม่ทราบว่าวัดอยู่ที่ไหน ประกอบกับทหารมาทราบภายหลังว่าบุคคลที่สายข่าวทหารแจ้งมานั้น เป็นคนละคนกับนายสายชล จึงปล่อยนายสายชลกลับโดยไม่แจ้งข้อกล่าวหา แต่ชื่อ ภาพ และที่อยู่ของสายชลถูกรายงานผ่านข่าวไปแล้วว่าอาจมีส่วนกับการตระเตรียมก่อความรุนแรงบริเวณวัดพระธรรมกาย

อีกทั้ง การอ้างกฎหมายเพื่อใช้เรียกรายงานตัวในกรณีสายชลก็เป็นการอ้างกฎหมายผิดฉบับ เนื่องจากกรณีวัดพระธรรมกายขณะนั้น ต้องใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 5/2560 การอ้างคำสั่งผิดฉบับเช่นนี้ยิ่งสร้างความตระหนกให้ผู้ถูกเรียกรายงานตัวมากยิ่งขึ้น เพราะคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2559 เป็นคำสั่งที่มักถูกนำมาใช้จัดการกับกลุ่มผู้มีอิทธิพล

 

ออกคำสั่งเรียกตัว ดวงใจ พวงแก้วทำให้มีคนชื่อเหมือนกัน 4 คน เข้ารายงานตัว

ตัวอย่าง “ความผิดพลาด” อีกลักษณะหนึ่ง ที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรณีการออกคำสั่งคสช.เรียกตัวบุคคลเข้ารายงานตัวในช่วงแรกหลังรัฐประหาร ที่ปรากฏกรณีที่มีบุคคลชื่อซ้ำซ้อนกันต้องเข้าไปรายงานตัว โดยที่ไม่ทราบแน่ชัดว่าคำสั่งคสช.นั้นๆ ต้องการเรียกตัวบุคคลใด

ดังเช่นกรณีบุคคลชื่อ ‘ดวงใจ พวงแก้ว‘ ที่ถูกประกาศเรียกตัวตามคำสั่ง คสช.ที่ 58/2557 แต่ในวันที่ 11 มิ.ย. 2557 ซึ่งคำสั่งกำหนดให้มารายงานตัว กลับมีบุคคลชื่อดังกล่าวถึง 4 คน ต้องเดินทางไปที่สโมสรทหารบก เทเวศร์ ทำให้เจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวพร้อมกับสอบถามว่าเป็นคนใดที่ “ต้องการ” ตัว จึงค่อยปล่อยอีก 3 รายให้เดินทางกลับไปได้ โดยที่เจ้าหน้าที่ก็ไม่ต้องรับผิดชอบใดต่อการเดินทางมาของบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องเหล่านั้น

 

คดีตั้งพรรคนปป.: แจ้งข้อหาหนักแถลงข่าวใหญ่ แต่สุดท้ายอัยการทหารสั่งไม่ฟ้อง

นอกจาก “ความผิดพลาด” ของงานข่าวในลักษณะข้างต้นแล้ว ยังปรากฏกรณีการควบคุมตัวหรือดำเนินคดีบุคคล พร้อมกับมีการแถลงข่าวหรือนำเสนอข่าวสารต่อสาธารณะโดยเจ้าหน้าที่รัฐในลักษณะที่บิดเบือนข้อเท็จจริง ทำให้ข้อกล่าวหาและเรื่องราวของกรณีนั้นๆ ดู “ใหญ่โต” หรือ “ร้ายแรง” เกินกว่าที่เป็นจริง เพื่อทำให้เกิดภาพลักษณ์ไม่ดี ทำให้สังคมเข้าใจผิด

กลุ่มผู้ต้องหาคดีนปป. (ภาพจากวิญญัติ ชาติมนตรี)

กรณีสำคัญคือคดี 15 ผู้ต้องหา ร่วมกันก่อตั้งพรรคแนวร่วมปฏิวัติประชาธิปไตย หรือนปป. กรณีนี้เกิดขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคม 2559 เจ้าหน้าที่รัฐมีการควบคุมตัวกลุ่มบุคคลเข้าไปยังมณฑลทหารบกที่ 11 เป็นเวลา 7 วัน โดยในขณะควบคุมตัวก็ไม่มีความแน่ชัดจากเจ้าหน้าที่ทหารว่าควบคุมตัวไปเพราะสาเหตุใด แต่ก็มีการนำเสนอข่าวจากเจ้าหน้าที่ในลักษณะที่ว่ากลุ่มบุคคลที่ถูกควบคุมตัวดังกล่าว เกี่ยวข้องกับการกรณีการระเบิดใน 7 จังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ โดยฝ่ายความมั่นคงอ้างว่าพบความเชื่อมโยงกับขบวนการก่อความไม่สงบ

ในระหว่างการควบคุมตัวบุคคลในค่ายทหารนั้น ฝ่ายกฎหมายของคสช.ก็เข้าไปแจ้งความดำเนินคดีกลุ่มบุคคลเหล่านี้ กับพนักงานสอบสวนกองปราบปราม ในความผิดฐานเป็นอั้งยี่ และฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 และมีการไปขอให้ศาลทหารออกหมายจับ ก่อนมีการให้สัมภาษณ์จากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติว่ากรณีนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดในภาคใต้แต่อย่างใด แต่เป็นเรื่องของกลุ่มที่เคลื่อนไหวทางการเมือง มีแนวคิดต่อต้านทางการเมือง ต่อต้านการปกครองของรัฐบาล ขณะที่บางรายมีพฤติการณ์สะสมอาวุธ และบางรายจะมีความผิดตามมาตรา 112

หลังจากนั้นจึงมีการนำตัวบุคคลที่ถูกควบคุมตัวในค่ายทหารเหล่านั้นมามอบต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ พร้อมกับจัดแถลงข่าว โดยเจ้าหน้าที่ระบุว่ากรณีนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดใน 7 จังหวัดภาคใต้แต่อย่างใด แต่เป็นเรื่องของการตั้งพรรคชื่อนปป. เคลื่อนไหวโดยมีแนวคิดทางการเมืองที่ต่อต้านและล้มล้างการปกครองของรัฐบาล ใช้แนวความคิดแบบคอมมิวนิสต์ โดยมีการประชุมแลกเปลี่ยนความเห็นตามสถานที่ต่างๆ ทั้งบางรายยังมีการตรวจพบอาวุธสงคราม โดยเจ้าหน้าที่ยังจะมีการขอขยายผลความเชื่อมโยงถึงกลุ่มการเมืองหรือพรรคการเมืองต่อไป

ผู้ต้องหาทั้งหมดนอกจากจะถูกควบคุมตัวในค่ายทหารแล้ว ยังถูกคุมขังในเรือนจำเป็นเวลา 5 วัน ก่อนศาลทหารจะให้ประกันตัว หากแต่ในท้ายที่สุดกรณีนี้ มีการกล่าวหาดำเนินคดีในความผิดฐานเป็นอั้งยี่ และฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 กับบุคคล 15 ราย โดยไม่มีข้อหาอื่นๆ ทั้งต่อมา เมื่อวันที่ 24 พ.ค.60 อัยการศาลทหารกรุงเทพก็มีคำสั่งไม่ฟ้องคดีทั้ง 15 คน ด้วยเหตุว่าคดีมีพยานหลักฐานไม่พอฟ้อง

 

ความไร้ประสิทธิภาพของงานข่าว และการนำปฏิบัติการข่าวสารมาใช้กับประชาชน?

ในด้านหนึ่ง ปรากฏการณ์ดังกล่าว สะท้อนให้เห็นความไร้ประสิทธิภาพในการทำงานข่าวของหน่วยงานของรัฐ ที่นำไปสู่การเรียกตัว หรือการออกหมายเรียกบุคคลที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับกิจกรรมที่เป็นเป้าหมายของเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้บุคคลเหล่านั้นได้รับผลกระทบ ทั้งในเรื่องการเสียเวลา ค่าใช้จ่าย และการถูกกล่าวหาในเรื่องที่ตนไม่ได้กระทำ (โดยที่ผู้ที่ทำกิจกรรม และใช้สิทธิเสรีภาพของตนเองในการแสดงออกเอง ก็ไม่ควรต้องถูกเรียกตัวใดๆ ด้วยตั้งแต่แรก)

ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง การบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร และนำเสนอต่อสาธารณะในลักษณะที่มุ่งทำลายภาพลักษณ์ของผู้แสดงออกทางการเมือง ทั้งในกรณีของการกล่าวหาเครือข่ายนักวิชาการคนส. หรือกรณีกล่าวหาเรื่องการตั้งพรรคนปป. ยังอาจสะท้อนได้ถึงการดำเนินงานปฏิบัติการข่าวสาร (Information Operations: IO) ต่อประชาชนของตนเอง

โดยปกติ IO เป็นยุทธการทางทหารที่ใช้ต่อข้าศึกศัตรู โดยเป็น “ปฏิบัติการที่มุ่งสร้างผลกระทบหรืออิทธิพลต่อกระบวนการตกลงใจ ข่าวสาร ระบบสารสนเทศ ของฝ่ายตรงข้าม หรือกลุ่มเป้าหมายอื่นๆ รวมไปถึงปฏิบัติการเพื่อป้องกันข่าวสารและระบบสารสนเทศของฝ่ายเรา” โดยมีเป้าหมายเพื่อทำให้ “ฝ่ายเรา” อยู่ในสถานะที่ “เหนือกว่า” ฝ่ายตรงข้าม ซึ่งปฏิบัติการเหล่านี้มีทั้งการให้ข้อมูลลวง การปฏิบัติการทางจิตวิทยา สงครามอิเล็กทรอนิกส์ การทำสงครามข่าวสาร เป็นต้น (ดูเพิ่มเติมในจุลสารความมั่นคงศึกษา โดยสำนักข่าวกรองแห่งชาติ)

หากปฏิบัติการดังกล่าวที่มีลักษณะเป็นการดำเนินการยุทธการทางทหารในสงครามหรือการรบ ถูกนำมาใช้กับประชาชนพลเมืองในประเทศของตัวเอง ส่งผลไปถึงการมองพลเมืองเป็น “ข้าศึกศัตรู” หรือ “ฝ่ายตรงข้าม” ที่กองทัพต้องทำสงครามหรือต่อสู้ทางข่าวสารด้วยแล้ว อาจยิ่งตอกย้ำภาพที่ว่า ทหารคือหนึ่งในคู่ขัดแย้งสำคัญท่ามกลางความขัดแย้งทางสังคมการเมืองไทยตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา

 

X