ศาลรับฟ้องคดีชูป้าย “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” ให้ปล่อยตัวจำเลยโดยไม่ใช้หลักทรัพย์

4 ก.ค. 61 เวลา 10.00 น. ที่ศาลแขวงเชียงใหม่ ผู้ต้องหา 5 คนในคดีติดป้าย “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” ในงานประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษา ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ทหารกล่าวหาในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ได้เข้ารายงานตัวตามนัดของอัยการคดีศาลแขวง โดยเป็นการนัดผู้ต้องหาทั้งหมดมาส่งฟ้องคดีต่อศาลในวันนี้ และทำให้ผู้ต้องหาต้องเปลี่ยนสถานะเป็นจำเลยในคดี

ดูความเป็นมาและกระบวนการที่เกิดขึ้นของคดีนี้ใน เมื่อ “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” กำลังจะขึ้นสู่ศาล: ทบทวน 1 ปี คดีไทยศึกษาก่อนสั่งฟ้อง

 

(ภาพโดย Pipob Udomittipong)

 

พนักงานอัยการคดีศาลแขวงได้ยื่นฟ้องและส่งสำนวนคดีต่อศาลไว้ก่อนแล้ว โดยฟ้องทั้ง 5 คน ในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องการร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปโดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคสช. หรือผู้ได้รับมอบหมาย

คำฟ้องระบุถึงพฤติการณ์ในคดีว่าเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2560 จำเลยทั้งห้าคนได้รวมกันมีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปร่วมกันมั่วสุมและชุมนุมทางการเมืองโดยการแสดงแผ่นป้ายข้อความว่า “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร” และปิดแผ่นป้ายดังกล่าวไว้ที่บริเวณห้องประชุมสัมมนา ภายในศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ พร้อมกับการชูนิ้วสามนิ้ว (นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง)  อันเป็นการแสดงสัญลักษณ์ในทางการเมืองต่อต้านรัฐบาลที่บริหารประเทศอยู่ในขณะนั้น ประกอบการถ่ายภาพกับป้ายข้อความซึ่งปิดไว้ที่บริเวณหน้าห้องประชุมสัมมนา เพื่อให้ประชาชนที่พบเห็นเข้าใจว่ารัฐบาล และทหารจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งก่อให้เกิดภาพลักษณ์ในเชิงลบกับรัฐบาล เป็นการยุยงปลุกปั่น สร้างความแตกแยกระหว่างประชาชนที่เห็นต่างกับรัฐบาล

จากนั้น ศาลได้ประทับรับฟ้องไว้ เป็นคดีหมายเลขดำที่ 6792/2561 และกำหนดวันนัดพร้อมและคุ้มครองสิทธิต่อไปในวันที่ 14 สิงหาคม 2561 เวลา 9.00 น.

หลังการรับฟ้อง จำเลยทั้งห้าคนได้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นศาล โดยไม่ใช้หลักทรัพย์ในการประกันตัว เนื่องจากไม่ได้มีพฤติการณ์จะหลบหนี และคดีไม่ได้มีโทษร้ายแรง ซึ่งต่อมาศาลได้มีคำสั่งในห้องควบคุมตัวผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ (Video Conference) อนุญาตให้ปล่อยตัวจำเลยทั้งหมดไป โดยให้สาบานตัวว่าจะมาตามนัดศาล และไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ในการประกัน

ทั้งนี้ ระหว่างกระบวนการรับฟ้องคดี ได้มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบคอยติดตามสังเกตการณ์อยู่ภายในบริเวณศาล ขณะเดียวกันยังมีนักวิชาการ นักศึกษา และประชาชนเดินทางมาให้กำลังใจจำเลยทั้งห้าคนที่ศาลอีกราว 40 คน ด้วย

สำหรับคดีนี้มี ร.ท.เอกภณ แก้วศิริ อัยการผู้ช่วยศาลมณฑลทหารบกที่ 33 รับมอบอำนาจจาก พ.อ.สืบสกุล บัวระวงศ์ รองผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้เข้าแจ้งความกล่าวหาทั้งห้าคน โดยหลังจากเหตุการณ์ในงานประชุมวิชาการไทยศึกษาและการกล่าวหาดำเนินคดี ใช้เวลาเกือบ 1 ปี จนอัยการเจ้าของสำนวนและอธิบดีอัยการภาค 5 ได้มีความเห็นสั่งฟ้องคดีในที่สุด

จำเลยทั้ง 5 คน ในคดีนี้ ได้แก่ 1. ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคศึกษาด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2. นางภัควดี วีระภาสพงษ์ นักแปลและนักเขียนอิสระ, 3. นายนลธวัช มะชัย นักศึกษาปริญญาตรีคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 4. นายชัยพงษ์ สำเนียง นักศึกษาปริญญาเอกคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ 5. นายธีรมล บัวงาม นักศึกษาปริญญาโทคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และบรรณาธิการสำนักข่าวประชาธรรม

สำหรับข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องการมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป กำหนดโทษจำคุกไว้ไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

 

X