เคร็ก เจ. เรย์โนลด์ส: จากคดี “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” ถึงเสรีภาพทางวิชาการในสังคมไทย

เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา ภาควิชาการเมืองและความเปลี่ยนแปลงทางสังคม แห่งวิทยาลัยเอเชีย-แปซิฟิก ร่วมกับศูนย์กฎหมายมหาชนและกฎหมายระหว่างประเทศ แห่งวิทยาลัยนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ได้ร่วมกันจัดเสวนาวิชาการในหัวข้อ “Whither academic freedom in Thailand?: The criminal case against Dr.Chayan and four others” โดยจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (Australian National University หรือ ANU) ในเมืองแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย

วงเสวนาดังกล่าวเป็นการพูดคุยเกี่ยวกับเสรีภาพทางวิชาการในประเทศไทย จากกรณีการดำเนินคดีฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ต่อนักวิชาการ นักศึกษา และนักกิจกรรม รวม 5 คน จากกรณีการถือและติดป้าย “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” ในงานประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษาที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2560  ซึ่งขณะนี้คดีได้ถูกอัยการสั่งฟ้องต่อศาลแขวงเชียงใหม่แล้ว (ดูความเคลื่อนไหวคดีล่าสุด)

วิทยากรการเสวนาในครั้งนี้ ได้แก่ Craig J. Reynolds ศาตราจารย์พิเศษประจำสำนักวิชาวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และภาษา มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย, Tyrell Haberkorn รองศาสตราจารย์ด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน และ Anthony Connolly ศาสตราจารย์และหัวหน้าสำนักวิชานิติศาสตร์ วิทยาลัยนิติศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย

ต่อมา ทางเว็บไซต์ New Mandala ได้เผยแพร่คำอภิปรายในการเสวนาดังกล่าว ของ ศ.ดร.เคร็ก เจ.เรย์โนลด์ส ผู้เป็นนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้คนสำคัญ และเป็นผู้เข้าร่วมงานประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษา (International Conference on Thai Studies) มาอย่างต่อเนื่องหลายครั้ง โดยเคร็กยังเป็นผู้กล่าวปิดการประชุมไทยศึกษาครั้งที่ 13 ที่จังหวัดเชียงใหม่ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการประชุมอันเป็นที่มาของการถูกดำเนินคดีของจำเลยทั้ง 5 คน ต่อไปนี้เป็นสรุปคำอภิปรายของเคร็กในงานเสวนาดังกล่าว

 

ภาพจากสำนักข่าวประชาไท

 

การดำเนินคดีชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คน โดยที่จำเลยทั้ง 5 คนไม่เคยอยู่พร้อมกัน

เคร็กเริ่มต้นด้วยการตั้งข้อสังเกตส่วนตัวเกี่ยวกับเสรีภาพทางวิชาการ โดยเขาเห็นว่าสิ่งที่เรียกว่าเสรีภาพทางวิชาการไม่ใช่สิ่งสมบูรณ์ มันมีความไม่แน่นอน มีพื้นที่ที่แตกต่างกันไปในบริบทที่ต่างกัน ขึ้นอยู่กับข้อจำกัดทั้งทางการเมือง กฎหมาย ศาสนา หรือวัฒนธรรม เราไม่สามารถบอกได้จริงๆ ว่าเรามีมันที่นี่ หรือพวกเขาไม่มีมันที่นั่น

ต่อคำถามที่ว่ามีเสรีภาพทางวิชาการในการประชุมวิชาการนานาชาติที่จังหวัดเชียงใหม่เมื่อปีที่แล้ว ภายใต้การครองอำนาจของคสช. หรือไม่ เคร็กระบุว่าทั้งมีและไม่มี โดยไม่มี ในแง่ที่ว่ามีบางอย่างที่คุณไม่สามารถพูดคุยได้ และผู้เข้าร่วมประชุมก็ละเว้นจากการพูดถึงเรื่องเหล่านั้น แต่ไม่ได้หมายความว่าสิ่งเหล่านั้นไม่ได้ถูกกล่าวถึงในการประชุมนานาชาติครั้งก่อนๆ ในประเทศไทย เนื่องจากเงื่อนไขที่ต่างกันไปในแต่ละครั้ง ซึ่งเขาจะชี้ให้เห็นต่อไป อีกประการหนึ่ง คือเคร็กเห็นว่าเสรีภาพทางวิชาการเป็นสิ่งเปราะบางมาก และมันแตกร้าวได้ง่ายในทุกๆ ที่

เคร็กได้ทบทวนถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในการประชุมไทยศึกษาครั้งที่ 13 ที่ผ่านมา เมื่อผู้เข้าร่วม 3 ราย ได้ชูป้ายภาษาไทยที่มีข้อความว่า “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” ในงานซึ่งจัดขึ้นที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จ.เชียงใหม่ ซึ่งตั้งอยู่ภายนอกมหาวิทยาลัย และจึงกลายเป็นพื้นที่ทางวิชาการ

การชูป้ายดังกล่าวมีขึ้นเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2560 หนึ่งวันภายหลังจากผู้เข้าร่วมการประชุมทั้งไทยและต่างประเทศ ที่เรียกตนเองว่า “ชุมชนนักวิชาการนานาชาติ” ได้มีการออกแถลงการณ์ร่วมกัน โดยมีผู้ร่วมลงชื่อ 176 คน เรียกร้องให้มีการคืนประชาธิปไตยในสังคมไทย ให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ได้อย่างเสรี โดยไม่ถูกปิดกั้น ครอบงำ หรือบิดเบือน และยังเรียกร้องให้รัฐเคารพสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก

เคร็กระบุว่าในการแถลงข่าว ได้มีเจ้าหน้าที่ทหารเข้าร่วม มีการถ่ายภาพและบันทึกรายชื่อผู้เข้าร่วมแถลง ดังนั้นป้ายข้อความ “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” จึงเป็นปฏิกิริยาต่อการบุกรุกของเจ้าหน้าที่ทหารในสถานที่จัดประชุม และต่อผู้ที่เข้ามาสังเกตการณ์จับตาการแถลงข่าวดังกล่าว

เคร็กเห็นว่าป้ายข้อความดังกล่าว ตั้งใจจะสื่อสารกับผู้อ่านที่ใช้และพูดภาษาไทย ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ สาธารณชนชาวไทย หรือสื่อมวลชนที่เข้าร่วมประชุม และไม่เพียงแต่ผู้เข้าร่วมการประชุม อีกทั้งน่าสังเกตว่าข้อความมีลักษณะเป็นคำแถลงเชิงบอกเล่า ไม่ใช่ถ้อยคำอย่างการบอกว่า “ทหารออกไป” หรือ “ทหารออกไปจากพื้นที่ของพวกเรา” มันเพียงบอกว่าพื้นที่ทางวิชาการไม่ได้เป็นพื้นที่ทางทหาร สองอย่างนี้มีความแตกต่างกัน

เคร็กเล่าต่อถึงสถานการณ์หลังกิจกรรมดังกล่าว เมื่อผู้ชูป้ายทั้งสามคน พร้อมกับนักวิชาการซึ่งเป็นผู้จัดการประชุม และผู้สื่อข่าวรายหนึ่ง ถูกกล่าวหาดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนเรื่องการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยนักวิชาการที่ถูกกล่าวหา ได้แก่ ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ นักมานุษยวิทยา และผู้อำนวยการของศูนย์ภูมิภาคด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน

เคร็กตั้งข้อสังเกตว่าข้อกล่าวหาเรื่องการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปในกรณีนี้เป็นเรื่องแปลก เพราะทั้ง 5 คนที่ถูกกล่าวหาไม่ได้ปรากฏตัวในสถานที่เดียวกันในเวลาเดียวกันเลย โดยดร.ชยันต์ที่เป็นผู้จัดการประชุม ทำหน้าที่กำกับทีมงาน จัดการปัญหา และดูแลผู้เข้าร่วมประชุม แต่เขาไม่ได้อยู่ในขณะที่อีกสามคนทำการชูป้ายดังกล่าวเลย หากแต่การไม่ได้มีการชุมนุมทางการเมืองพร้อมกันของทั้ง 5 คน ก็ไม่ได้ทำให้อัยการหยุดการดำเนินคดีนี้แต่อย่างใด

 

 

งานประชุมวิชาการไทยศึกษามักถูกใช้เป็นพื้นที่ของการประท้วง

เคร็กได้ย้อนทบทวนถึงการจัดประชุมวิชาการไทยศึกษาซึ่งจัดขึ้นทุกๆ 3 ปี มาเป็นเวลา 35 ปีแล้ว โดยมากกว่าครึ่งจัดขึ้นในประเทศไทย แต่ก็เคยจัดขึ้นทั้งในยุโรป สหรัฐอเมริกา คุนหมิง และสองครั้งในประเทศออสเตรเลีย ได้แก่ ที่แคนเบอร่าในปี พ.ศ.2530 และที่ซิดนีย์ในปี พ.ศ.2557 โดยการประชุมแทบทั้งหมดใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก เนื่องจากการประชุมหวังจะต้อนรับผู้เข้าร่วมที่ทั้งใช้ภาษาไทยได้หรือไม่ก็ตาม ทั้งหน่วยงานด้านการศึกษาในไทย ยังหวังจะยกระดับมาตรฐานด้านการวิจัยให้เป็นสากล แต่การใช้ภาษาอังกฤษก็ยังทำให้กล่าวถึงบางสิ่งบางอย่างที่ไม่สามารถจะพูดหรือต้องการจะพูดในภาษาไทยได้ด้วย

เคร็กยังเห็นว่าการประชุมไทยศึกษาที่ผ่านมาซึ่งจัดขึ้นในประเทศไทยเอง มักจะกลายเป็นพื้นที่ของการประท้วงด้วย แม้บางครั้งเงื่อนไขทางการเมืองจะปิดกั้นการประท้วงก็ตาม และเนื่องจากการจำกัดด้านเสรีภาพทางวิชาการนี้เอง ทำให้มักจะมีการเรียกร้องให้ผู้เข้าร่วมชาวต่างชาติทำการคว่ำบาตร (boycott) การประชุม อย่างการประชุมที่เชียงใหม่ครั้งที่ผ่านมา ก็มีการเสนอให้คว่ำบาตรการประชุม เพราะเห็นว่าอาจจะเป็นการให้การสนับสนุนกับคสช. โดยปริยาย

ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ.2527 ซึ่งมีการจัดประชุมไทยศึกษาครั้งแรกภายในประเทศไทย ก็ได้มีการประท้วงการประชุม โดยนักเขียนและนักวิชาการบางส่วน จากกรณีของสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ซึ่งถูกคุมขังและดำเนินคดีอยู่ในขณะนั้น ผู้เข้าร่วมจากนานาชาติได้เตรียมล่ารายชื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัว เพื่อส่งถึงสำนักนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น พร้อมกับมีการจัดแถลงข่าวขึ้นด้วย

ในปี พ.ศ.2551 การประชุมไทยศึกษาจัดขึ้นในกรุงเทพฯ ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังการรัฐประหาร 2549 ก็ได้มีการเรียกร้องให้มีการคว่ำบาตรการประชุมเช่นกัน แต่ด้วยเงื่อนไขที่อำนวยสำหรับการสนทนาอย่างตรงไปตรงมา และโดยวิธีการเจรจาทางวิชาการอย่างชาญฉลาดกับมหาวิทยาลัยผู้จัดงาน ก็ได้สามารถจัดสามวงประชุมเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยขึ้น รวมทั้งวงประชุมเกี่ยวกับหนังสือ The King Never Smiles ซึ่งเพิ่งตีพิมพ์โดยมหาวิทยาลัยเยลในขณะนั้น ในวงประชุมเหล่านั้น ก็ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาล ในชุดเสื้อยืดสีดำเด่นชัดและรองเท้าขัดมันเข้ามาจับตาสังเกตการณ์ แต่ในการประชุมครั้งนั้นไม่ได้มีใครถูกจับกุม ถูกดำเนินคดี หรือถูกเรียกตัวแต่อย่างใด

แต่ภายหลังการรัฐประหารอีกครั้งในเดือนพฤษภาคมปี 2557 แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่งานประชุมไทยศึกษาที่จังหวัดเชียงใหม่เมื่อปีที่แล้ว จะสามารถมีการประชุมเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ สิ่งต่างๆ เปลี่ยนไป ทั้งการเสด็จสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในปี 2559 หรือสถานการณ์ที่คสช. ระมัดระวังเรื่องการชุมนุมทางการเมืองอย่างมาก ผู้คนจากทุกสาขาอาชีพถูกคุมขังและถูกเรียกตัวไปพูดคุย ภายใต้เหตุผลประการหนึ่งที่ถูกกล่าวอ้างคือ “การปรับทัศนคติ”

 

 

เจ้าหน้าที่รัฐติดตามจับตากิจกรรมในมหาวิทยาลัยไทย

เคร็กเห็นว่าความเป็นจริงของชีวิตทางวิชาการในประเทศไทยขณะนี้ เจ้าหน้าที่รัฐได้ติดตามจับตาสิ่งที่เกิดขึ้นในการเรียนการสอน การสัมนนา หรือการประชุม มีการส่งเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาภายในพื้นที่มหาวิทยาลัย บางครั้งเจ้าหน้าที่เหล่านั้นถูกฝึกฝน และรู้ว่าพวกเขาจะมองหาอะไร หรือบางครั้งถ้าไม่ได้มีการฝึกฝน และเจ้าหน้าที่ไม่รู้ว่าข่าวสารแบบไหนที่เขาต้องรวบรวม การแสดงตนของพวกเขาก็กลายเป็นหัวข้อที่น่าขบขันและเป็นเรื่องราวเล่าระหว่างกัน  ในหลายการประชุม ผู้จัดประชุมอาจจะถูกเจ้าหน้าที่เข้าไปพบก่อนการประชุมจะเริ่มต้น และสอบถามว่าใครจะทำอะไรบ้าง จุดประสงค์ของการแทรกแซงเหล่านี้ดูเหมือนจะเป็นไปเพื่อสร้างแผนที่เครือข่าย ในลักษณะว่าใครรู้จักกับใครบ้าง ใครร่วมงานกับใคร

ข้อความ “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” เองก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ เมื่อสามปีก่อน กลุ่มนักวิชาการในเชียงใหม่เอง ก็ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์เรื่อง “มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร” ภายหลังการจัดประชุมเรื่องสิทธิในที่ดินและประชาธิปไตยในชนบท

เคร็กเห็นว่าประเด็นสำคัญคือมหาวิทยาลัยย่อมไม่ใช่ค่ายทหาร แต่กองทัพได้อ้างสิทธิในการเข้าไปติดตามจับตาพื้นที่ในมหาวิทยาลัย ซึ่งก็เกิดขึ้นอีกครั้งในการประชุมไทยศึกษาที่จังหวัดเชียงใหม่เมื่อปีที่แล้ว เคร็กตั้งคำถามว่าถ้าหากผู้ถือป้ายดังกล่าวเป็นผู้เข้าร่วมชาวต่างชาติ และป้ายเขียนโดยภาษาอังกฤษ จะถูกดำเนินคดีเรื่องการชุมนุมเช่นเดียวกันนี้หรือไม่ เคร็กเองคิดว่าอาจจะไม่ถูกดำเนินคดี แต่ในกรณีนี้ ป้ายทั้งเป็นภาษาไทย ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ และถูกชูโดยพลเมืองไทย ไม่ใช่โดยชาวต่างชาติ

เคร็กสรุปว่านักวิชาการมักจะเป็นภัยคุกคามต่อรัฐบาลทหาร เพราะว่าพวกเขามักไม่ยินยอมที่จะปฏิบัติตามวินัยแบบทหาร และเพราะพวกเขารู้จักคิด

 

ดูสรุปเรื่องราวในคดีนี้เพิ่มเติมใน

เมื่อ “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” กำลังจะขึ้นสู่ศาล: ทบทวน 1 ปี คดีไทยศึกษาก่อนสั่งฟ้อง

อัยการยืนยันคดี “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” เป็นชุมนุมการเมืองโดยไม่ขออนุญาต คสช. คดียังเดินหน้าต่อไป

 

 

X