ในช่วงวันที่ 6-7 ธันวาคม และ 12-14 ธันวาคม 2561 นี้ ศาลแขวงเชียงใหม่นัดหมายสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยในคดีชูป้าย “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” ซึ่งจำเลย 5 ราย ถูกเจ้าหน้าที่ทหารกล่าวหาในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2558 เรื่องการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คน ขึ้นไป จากกรณีการชูป้ายดังกล่าว ในงานประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษา (The International Conference on Thai Studies) ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2560
การแสดงออกดังกล่าวถูกระบุว่าเป็นปฏิกิริยาต่อการที่เจ้าหน้าที่รัฐนอกเครื่องแบบเข้ามาบันทึกกิจกรรมต่างๆ ในระหว่างงาน โดยไม่มีการลงทะเบียนเข้าร่วมงาน ไม่ได้ขออนุญาตผู้จัดงาน และยังมีการส่งเสียงดังรบกวนภายในงานประชุม
คดีนี้ค้างคาอยู่ในชั้นอัยการเกือบ 1 ปี ก่อนจะมีการสั่งฟ้องคดีต่อศาลเมื่อเดือนสิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา ทั้งคดียังเป็นที่จับตามองขององค์กรระหว่างประเทศและชุมชนวิชาการนานาชาติอย่างมาก เพราะเหตุการณ์เกิดขึ้นในเวทีวิชาการระดับนานาชาติ และสะท้อนถึงภาวะเสรีภาพในการแสดงออก-เสรีภาพทางวิชาการในสังคมไทย
เมื่อ “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” กำลังจะขึ้นสู่ศาล: ทบทวน 1 ปี คดีไทยศึกษาก่อนสั่งฟ้อง
ประมวล 18 แถลงการณ์-จม.เปิดผนึกทั้งไทยและเทศ ร้องยุติดำเนินคดี 5 ผู้ต้องหาคดีไทยศึกษา
น.ศ.ในแคนาดาร่วมรณรงค์ชูป้าย “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” เรียกร้องยุติคดีไทยศึกษา
ผู้ตกเป็นจำเลยทั้งห้าคนในคดีนี้ มีทั้งนักวิชาการ นักศึกษา และนักแปล ซึ่งมีบทบาทในภาคประชาสังคมแตกต่างกันไป แต่ละคนยังมีสถานะในงานประชุมไทยศึกษา ทั้งเป็นกรรมการจัดงานประชุม วิทยากรในการบรรยาย ผู้นำเสนอบทความ และนักศึกษาช่วยงานในระหว่างการประชุม แต่ต้องตกเป็นจำเลยร่วมกัน
การสืบพยาน แบ่งเป็นสองช่วง คือวันที่ 6-7 ธันวาคม เป็นการสืบพยานฝ่ายโจทก์ รวมทั้งหมด 11 ปาก ที่มีทั้งเจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ศูนย์ประชุมนานาชาติฯ พนักงานสอบสวน และพยานนักวิชาการ ก่อนที่ในวันที่ 12-14 ธันวาคม เป็นการสืบพยานจำเลย รวมทั้งหมด 15 ปาก ทั้งตัวจำเลยทั้ง 5 คน และพยานนักวิชาการสาขาต่างๆ
ก่อนที่จำเลยทั้งห้ารายจะเข้าสู่กระบวนการสืบพยานในศาล ชวนทำความรู้จักภูมิหลังและบทบาทของทั้งห้าคนให้มากขึ้น
ดร.ชยันต์: นักวิชาการอาวุโส ผู้ทำงานกับชุมชนมายาวนาน
ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ปัจจุบันอายุ 75 ปี ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคศึกษาด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน พร้อมกับตำแหน่งหัวหน้าศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว
ดร.ชยันต์ จบการศึกษาปริญญาตรีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระดับปริญญาโทและปริญญาเอกด้านมานุษยวิทยา จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา อีกทั้งเคยได้รับปริญญาเอกกิตติมศักดิ์ด้านมานุษยวิทยาสังคม (Social Anthropology) จากมหาวิทยาลัยโกเธนเบิร์ก ประเทศสวีเดน เมื่อปี 2547
ดร.ชยันต์ มีประสบการณ์สอนในระดับมหาวิทยาลัยตั้งแต่ปี 2528 จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลากว่า 33 ปี มีลูกศิษย์ลูกหาทั้งชาวไทยและต่างประเทศในระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอก มีผลงานทางวิชาการทั้งในภาษาไทยและภาษาอังกฤษในประเด็นเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ในภาคเหนือ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ชายแดนศึกษา ผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่น
ในส่วนงานทางสังคม ดร.ชยันต์ทำงานในประเด็นเรื่องสิทธิของคนชายขอบและชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในประเด็นป่าไม้ที่ดิน สิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรของชุมชน สิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง หรือการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในพม่า เป็นต้น โดยเขาเข้าร่วมสื่อสารประเด็นเหล่านี้ ทั้งในแง่การร่วมเวทีอภิปรายสาธารณะ การอบรมสร้างเสริมองค์ความรู้ และการลงพื้นที่เข้าร่วมกิจกรรมของชุมชนในประเด็นปัญหาต่างๆ
ท่ามกลางกระแสประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ดร.ชยันต์ยังมีบทบาทในการสนับสนุนการทำงานวิชาการด้านอาเซียนศึกษา และทบทวนการพัฒนาในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง จากการเป็นผู้อำนวยการของศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ในงานประชุมไทยศึกษาครั้งที่ 13 ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นเจ้าภาพ ดร.ชยันต์มีตำแหน่งเป็นรองประธานกรรมการและประธานฝ่ายวิชาการในการจัดงาน เขาไม่ได้ร่วมในการชูป้าย “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” แต่อย่างใด เพียงแต่ถูกติดตามให้เข้าไปตรวจสอบป้าย และไม่ได้เห็นว่าข้อความนี้เป็นปัญหาที่ต้องถูกปลดออก แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่ทหารกล่าวหาดำเนินคดีไปด้วย
ภัควดี: นักแปล-นักเขียนอิสระ
ภัควดี วีระภาสพงษ์ ปัจจุบันอายุ 53 ปี นักแปลอิสระ ผู้ทำงานแปลและเขียนหนังสือมาอย่างต่อเนื่องหลายสิบปี พื้นเพศึกษามาทางด้านปรัชญา ทั้งระดับปริญญาตรีจากสาขาปรัชญา จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาโทจากภาควิชาปรัชญา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่สนใจด้านการอ่านและการแปลมาตั้งแต่สมัยเรียน
ภัควดีมีผลงานแปลวรรณกรรมที่สำคัญหลายชิ้น อาทิเช่น สมัญญาแห่งดอกกุหลาบ นวนิยายแนวประวัติศาสตร์และรหัสคดีของอุมแบร์โต เอโก นักเขียนชาวอิตาเลียน, ความเบาหวิวเหลือทนของชีวิต นวนิยายเล่มดังของมิลาน คุนเดอรา นักเขียนชาวเช็ก, ชุดนวนิยายของปราโมทยา อนันตา ตูร์ นักเขียนและนักต่อสู้คนสำคัญของอินโดนีเซีย, งานชุดนวนิยายนักสืบของฟิลิป มาร์โลว์ โดยเรย์มอนด์ แชนด์เล่อร์ นักเขียนชาวอเมริกัน
นอกจากนั้น ยังมีบทบาทแปลงานทางวิชาการ เช่น แปลงานของนอม ชอมสกี นักวิชาการชาวอเมริกัน, แปลหนังสือ “ไม่สงบจึงประเสริฐ” ของพอล ฮอว์เกน งานที่รวบรวมความเคลื่อนไหวของขบวนการประชาสังคมด้านสิ่งแวดล้อม-ความเป็นธรรมทางสังคม, ร่วมแปลบทตอนในหนังสือเล่มดัง “ชุมชนจินตกรรม” ของเบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน หรือแปลหนังสือ “เมื่อโลกพลิกผัน” ว่าด้วยการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรป โดยคาร์ล โปลานยี นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง เป็นต้น
ภัควดีมีความสนใจในประเด็นขบวนการเคลื่อนไหว และปฏิบัติการเคลื่อนไหวทางสังคม โดยเคยแปลหนังสือและเขียนบทความหลายชิ้นที่เกี่ยวข้องกับขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในละตินอเมริกา และในโลกตะวันตก
ภัควดียังเป็นคอลัมนิสต์ในหน้านิตยสาร และมีบทบาทในการร่วมอภิปรายเสวนาสาธารณะทางสังคม-การเมือง ในระยะหลายปีที่ผ่านมา รวมทั้งยังเข้าร่วมการเคลื่อนไหวหรือสังเกตการณ์การชุมนุมทางการเมืองด้วยตนเองในบางครั้ง
ในงานประชุมวิชาการไทยศึกษา ภัควดีเข้าร่วมเป็นผู้อภิปรายในวงเสวนาเกี่ยวกับ ศ.เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน นักวิชาการผู้ศึกษาเรื่องชาติและชาตินิยมคนสำคัญ ที่เสียชีวิตไปก่อนหน้างานประชุม
นลธวัช: นักศึกษาการละคร และสมาชิกกลุ่มลานยิ้ม
นลธวัช มะชัย ปัจจุบันอายุ 22 ปี เป็นนักศึกษาปริญญาตรีชั้นปีที่ 4 วิชาเอกการละคร คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
พื้นเพเป็นคนจังหวัดพัทลุง จบการศึกษาจากโรงเรียนสตรีพัทลุง มีความสนใจด้านการทำและแสดงละคร และร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มกิจกรรมลานยิ้ม (LANYIM creative group) กลุ่มกิจกรรมคนรุ่นใหม่ที่ทำกิจกรรมสะท้อนปัญหาทางสังคม ทั้งการแสดงละคร การจัดฉายภาพยนตร์ การจัดเสวนาพูดคุยประเด็นทางสังคม
นลธวัชเคยเป็นผู้กำกับละครเวทีตอน “กลืน” ในละครเวทีขยับปีก ของคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อปี 2558 และเป็นนักแสดงละครเวทีของคณะหลายเรื่อง อาทิเช่น เรื่อง “ฉันเพียงอยากออกไปข้างนอก” (2558), ละครชุด “แรกบิน” (2559), หนังสั้นเรื่อง ซีรีส์ Onli(n)e Society (2559), ละครถกแถลง โดยกลุ่มลานยิ้มร่วมกับกลุ่มละครมะขามป้อม (2560)
นลธวัชยังเคยเป็นสมาชิกสภานักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อปี 2558 และยังเคยได้รับรางวัลเยาวชนดีเด่นแห่งชาติ สาขาสื่อมวลชนเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาสังคม ในปี 2557 และรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง การสื่อสารความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมสิ่งแวดล้อม จากองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา
ในงานประชุมวิชาการไทยศึกษา นลธวัชเป็นนักศึกษาอาสาสมัครในการอำนวยการประชุม โดยรับผิดชอบเรื่องการถ่ายภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวภายในห้องประชุมย่อยต่างๆ และดูแลเรื่องพิธีเปิดและพิธิปิดของงานประชุม
ชัยพงษ์: นักศึกษาป.เอก ผู้สนใจประวัติศาสตร์ล้านนา
ชัยพงษ์ สำเนียง ปัจจุบันอายุ 36 ปี เป็นนักศึกษาปริญญาเอกสาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ชัยพงษ์เป็นคนจังหวัดแพร่ จบการศึกษาปริญญาตรีสาขาสังคมศึกษา คณะศึกษาศาตร์ และปริญญาโทสาขาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ชัยพงษ์เคยเข้าเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพะเยา ก่อนจะมาช่วยงานที่สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และศึกษาต่อปริญญาเอกจนถึงปัจจุบัน โดยยังเป็นอาจารย์พิเศษรายวิชา “สังคมวัฒนธรรมภาคเหนือ” ของภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อีกด้วย
ชัยพงษ์สนใจงานด้านประวัติศาสตร์ล้านนา การเมืองการปกครองท้องถิ่น และนโยบายสาธารณะ โดยมีผลงานวิจัยหลายชิ้น ทั้งในฐานะผู้วิจัยและผู้ร่วมวิจัย อาทิ เรื่องพลวัตการสร้างและการรับรู้ประวัติศาสตร์เมืองแพร่ พ.ศ. 2445-2549, พัฒนาการของกลุ่มทุนและเครือข่ายธุรกิจในภาคเหนือ พ.ศ. 2446-ปัจจุบัน, โครงการวิจัยการศึกษานโยบายสาธารณะเพื่อขับเคลื่อนการกระจายอำนาจสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น
ชัยพงษ์ยังมีผลงานเขียนในวารสารและเว็บไซต์ ที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ล้านนา การเมืองและวัฒนธรรมในล้านนาอีกหลายชิ้น
ในงานประชุมนานาชาติไทยศึกษา ชัยพงษ์เข้าร่วมนำเสนอผลงานวิชาการในหัวข้อความขัดแย้งและความสับสนในการศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนา และเป็นผู้รับผิดประสานงานในห้องประชุมย่อยที่เกี่ยวกับล้านนาศึกษา ซึ่งถือเป็นจุดเด่นอย่างหนึ่งในงานประชุมที่มีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นเจ้าภาพ
ธีรมล: บ.ก.ประชาธรรม และนักศึกษาป.โท การสื่อสารมวลชน
ธีรมล บัวงาม ปัจจุบันอายุ 39 ปี เป็นนักศึกษาปริญญาโท สาขาการสื่อสารศึกษา คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ธีรมลเป็นคนจังหวัดเชียงใหม่ จบการศึกษาคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก่อนมาจบการศึกษาภาควิชาการสื่อสารมวลชน สาขาหนังสือพิมพ์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เขาเข้าทำงานที่สำนักข่าวประชาธรรม (prachatham) ตั้งแต่ในปี 2548 โดยตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบัน เป็นบรรณาธิการสำนักข่าวประชาธรรม สื่อในพื้นที่ภาคเหนือซึ่งติดตามข่าวความเคลื่อนไหวของประชาสังคม ปัญหาสิทธิชุมชน และปัญหาของสังคมเมือง มาอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบันธีรมล เป็นอาจารย์พิเศษวิชาสื่อทางเลือกและกระบวนการรายงานข่าวขั้นสูง ที่คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมทั้งเป็นอาจารย์พิเศษด้านสื่อสารมวลชนที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้อีกด้วย
ก่อนหน้านี้ ธีรมลเคยเป็นนักวิจัยในโครงการสำรวจภูมิทัศน์และการกำกับในยุคสื่อหลอมรวม และโครงการสำรวจคุณสมบัติและความพร้อมการดำเนินงานของวิทยุชุมชน ปัจจุบันสนใจแนวคิดเกี่ยวกับวารสารศาสตร์เชิงข้อมูล (Data Journalism) และกำลังทำวิทยานิพนธ์ในหัวข้อเกี่ยวกับการสื่อสารประเด็นสาธารณะของสำนักข่าวอิสระตามแนวคิดนี้
ในงานประชุมไทยศึกษา ธีรมลเป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมนำเสนอบทความวิชาการในหัวข้อเกี่ยวกับวารสารศาสตร์เชิงข้อมูล และเพียงแต่ผ่านไปถ่ายรูปร่วมกับป้ายข้อความ “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” ทำให้ถูกกล่าวหาตกเป็นจำเลยไปด้วยอีกหนึ่งราย