เมื่อวันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่สำนักงานองค์การสหประชาชาติ กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ มีการพิจารณารายงานการปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ หรือซีดอว์ (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination Against Women: CEDAW) ในรอบของประเทศไทย
อนุสัญญา CEDAW เป็นอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ที่มุ่งเน้นเรื่องสิทธิสตรี รวมถึงการปกป้องสิทธิมนุษยชนประเด็นอื่นๆ ต่อสตรี ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีเมื่อวันที่ 9 ส.ค.2528 โดยรัฐภาคีมีหน้าที่ต้องรายงานการปฏิบัติตามอนุสัญญาฯ ต่อคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีของสหประชาชาติ ในการพิจารณารายงานของประเทศไทยรอบนี้ เป็นการรวมการพิจารณารายงานรอบที่ 6 และ 7 เข้าด้วยกัน
การนำเสนอรายงานของประเทศไทย มีนางนภา เศรษฐกร รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นผู้นำเสนอ และยังมีตัวแทนจากศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาสถานภาพสตรีแห่งชาติ ตัวแทนจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน กระทรวงต่างประเทศ และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมเดินทางไปด้วย
นอกจากนั้นยังมีองค์กรภาคประชาสังคมไทยได้จัดทำรายงานคู่ขนาน และร่วมรายงานสถานการณ์เรื่องสิทธิสตรีของประเทศไทยด้วย โดยยังมีการออกแถลงการณ์รายงานสถานการณ์ไทยภายใต้อนุสัญญา CEDAW ด้วย (อ่านใน ภาค ปชช.ไทย รายงาน กก.ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี ย้ำหลังรัฐประหารการต่อสู้ยิ่งยากขึ้น)
ในการประชุม ทางคณะกรรมการของ UN ได้ตั้งประเด็นคำถามในหลายประเด็น อาทิเช่น ประเด็นการปกป้องสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงมุสลิมในสามจังหวัดภาคใต้, ประเด็นสิทธิของผู้หญิงที่ทำงานเป็นพนักงานบริการ, การถูกลดระดับจาก A ไปเป็น B ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.), ประเด็นการค้ามนุษย์, ประเด็นการได้รับการศึกษาของผู้หญิง หรือประเด็นการบัญญัติในรัฐธรรมนูญเรื่อง “การเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม” ว่าหมายถึงอะไร ในเมื่อการเลือกปฏิบัติย่อมไม่เป็นธรรมอยู่แล้ว เป็นต้น (ดูสรุปประเด็นคำถามและคำตอบของคณะผู้แทนไทยในเว็บไซต์ของ OHCHR)
บรรยากาศการประชุมทีเจนีวา (ภาพจากเพจ จากเจนีวาสู่ไทยแลนด์ ภารกิจแม่หญิงตามติดประชุม cedaw)
ประเด็นผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112
นอกจากนั้น ทางคณะกรรมการ UN ยังได้ตั้งคำถามถึงประเด็นสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันด้วย ประเด็นหนึ่งที่ถูกถาม ได้แก่ คณะกรรมการฯ ได้แสดงความห่วงกังวลถึงสถานะและประสิทธิผลของศาลพลเรือนในการปกป้องสิทธิมนุษยชนของประชาชนในบริบทของการใช้กฎหมายมาตรา 112 โดยเฉพาะผู้ถูกดำเนินคดีที่เป็นผู้หญิง
ในประเด็นนี้ ทางคณะผู้แทนรัฐบาลได้ชี้แจงว่าประเทศไทยได้แยกกระบวนยุติธรรมระหว่างศาลทหารและศาลพลเรือน ศาลทหารมีเขตอำนาจศาลเหนือสมาชิกในกองทัพทั้งหมด โดยไม่เกี่ยวกับว่าใครเป็นผู้เสียหาย และยังมีอำนาจในการลงโทษทางวินัยต่อบุคลากรในกองทัพ แต่ก็มีสถานการณ์ยกเว้น คือในช่วงเวลาสงคราม ความขัดแย้งด้วยกำลังอาวุธ หรือระหว่างการรัฐประหาร ที่กระบวนการยุติธรรมของศาลทหารจะมีเขตอำนาจกว้างขวางขึ้น ตามคำแถลงของศาลทหารที่มีการยื่นต่อคณะกรรมการฯ ไป
คณะผู้แทนไทยยังยืนยันกับคณะกรรมการ UN ว่าทุกศาลของประเทศไทยปฏิบัติตามหลักนิติรัฐ พันธะระหว่างประเทศ และแนวคิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน
ประเด็นสัดส่วนของผู้หญิงในทางการเมือง
คณะกรรมการ UN ยังได้ตั้งคำถามถึงสถานการณ์ของรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจในปัจจุบัน ซึ่งเป็นรัฐบาลทหารอันล้วนเป็นเพศชาย และตั้งข้อสังเกตด้วยว่าตำแหน่งต่างๆ ที่มาจากการแต่งตั้งโดยรัฐบาลทหารก็ล้วนเป็นเพศชาย
คณะกรรมการฯ ระบุว่าสัดส่วนของผู้หญิงในการทางการเมืองยังไม่ชัดเจน โดยจากข้อมูลของประเทศไทยในปี 2014 ผู้หญิงยังคงมีบทบาทไม่มากนักในหน่วยงานทางการเมือง แม้ว่าจะมีแนวทางที่จะสนับสนุนให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจก็ตาม คณะกรรมการฯ จึงตั้งคำถามว่าไทยจะมีวิธีเพิ่มเติมสัดส่วนของตัวแทนผู้หญิงในหน่วยงานทางการเมือง ทั้งในสภาและหน่วยบริหารราชการ โดยเฉพาะในองค์กรด้านการทูต และด้านตุลาการ เช่นเดียวกันกับภาคเอกชนได้อย่างไร
คณะผู้แทนรัฐบาลไทยรายงานว่าในเดือนมิ.ย.60 นี้ มีผู้หญิง 16 คน อยู่ในตำแหน่งผู้บริหารของกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งคิดเป็น 41% รวมทั้งตำแหน่งปลัดกระทรวง และมีเอกอัครราชทูตที่เป็นผู้หญิง 9 คน จาก 67 คน คิดเป็น 13% และสัดส่วนผู้หญิงในตำแหน่งบริหารระดับกลางของกระทรวงอยู่ที่ประมาณ 40%
ในด้านของตัวแทนทางการเมือง คณะผู้แทนฯ ระบุว่าขณะนี้มีผู้หญิงประมาณ 16% อยู่ในตำแหน่งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยตัวเลขนี้ ไทยมีสูงเป็นหนึ่งในสามประเทศในเอเชีย-แปซิฟิกเรื่องสัดส่วนของผู้หญิง ส่วนตัวแทนของผู้หญิงในวงการตุลาการ มีสูงกว่า 40% อยู่ในตำแหน่งผู้พิพากษา อีกทั้ง ไทยยังมีความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะตระเตรียมให้ผู้หญิงสามารถลงสมัครทางการเมือง ทั้งการฝึกอบรม และสร้างความตระหนักรู้ ขณะที่กฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างจัดทำ
บรรยากาศการประชุมของภาคประชาสังคม (ภาพจากเพจ จากเจนีวาสู่ไทยแลนด์ ภารกิจแม่หญิงตามติดประชุม cedaw)
ประเด็นการข่มขู่คุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิง
อีกประเด็นหนึ่งที่คณะกรรมการของ UN แสดงความห่วงกังวลอย่างมาก คือประเด็นการใช้ความรุนแรงและการข่มขู่คุกคามต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิง (Human rights defenders) โดยเฉพาะกลุ่มนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เป็นผู้หญิงในชนบท กลุ่มผู้หญิงชาติพันธุ์ ผู้หญิงในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ รวมทั้งกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ภายใต้สถานการณ์ที่มีการล่วงละเมิด การข่มขู่คุกคาม การทำร้าย ไปจนถึงการซ้อมทรมาน การฆาตกรรม และการบังคับให้สูญหาย
คณะกรรมการฯ ได้ตั้งคำถามว่าไทยจะมีมาตรการอย่างไรบ้าง ที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิงที่เรียกร้องประเด็นต่างๆ ถูกเจ้าหน้าที่หรือผู้มีอำนาจใช้กระบวนการลงโทษทางอาญาดำเนินการต่อกิจกรรมเหล่านั้น รวมทั้งยังตั้งคำถามเรื่องมาตรการที่ไทยจะเสริมสร้างประสิทธิผลของสำนักงานคุ้มครองพยาน การทำให้เงื่อนไขในการเข้าถึงกองทุนยุติธรรมเป็นไปได้ง่ายขึ้น และการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิงจากการใช้กฎหมายและกระบวนยุติธรรมเป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งและปิดกั้นการแสดงออก (judicial harassment)
คณะผู้แทนรัฐบาลระบุว่าไทยยอมรับพันธะในการรับรองเสรีภาพและอิสรภาพในการทำงานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและทนายความ โดยในปี 2016 ได้มีการจัดทำคู่มือสำหรับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งจัดทำขึ้นโดยความร่วมมือกับองค์กรภาคประชาสังคม และสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนในระดับภูมิภาค โดยยังเป็นขั้นตอนเริ่มต้นในประเทศไทยและจำเป็นต้องปฏิบัติสิ่งอื่นๆ มากขึ้น รวมทั้งการพัฒนานิยามของ “นักปกป้องสิทธิมนุษยชน” และวิธีการปกป้องคุ้มครอง โดยนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจะได้รับการรวมเป็นกลุ่มเป้าหมายในร่างแผนสิทธิมนุษยชนของชาติฉบับที่ 4 นี้
ทั้งนี้ หลังจากการรายงานครั้งนี้เสร็จสิ้น ทางคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีของสหประชาชาติจะจัดทำข้อสังเกตเชิงสรุป (Concluding Observations) ซึ่งรวบรวมข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ ภายใต้อนุสัญญาฉบับนี้ ส่งกลับมายังรัฐบาลไทยและเผยแพร่สาธารณะต่อไปด้วย