“เราอยู่แบบนี้ไม่ได้ เราอยู่ในสังคมแบบนี้ไม่ได้”: เสียงตะโกนจากหลังลูกกรงของ “ไผ่ ดาวดิน”

“ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ถูกจับกุมมาตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2563 ก่อนวันชุมนุมใหญ่หนึ่งวัน และเป็นสัญญาณเตือนล่วงหน้าว่า การชุมนุมครั้งนี้รัฐจะจัดการผู้ชุมนุมอย่างจริงจัง การเข้าสลายการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก็รุนแรงไม่แพ้กัน ไผ่และเพื่อน 21 คนถูกจับก่อนใคร

1 ใน 21 เป็นเยาวชน และอีก 3 คน เป็นผู้หญิง แต่วานนี้ทั้ง 20 คนซึ่งถูกจับกุมมาพร้อมไผ่ได้รับการประกันตัวหมดแล้ว เหลือเพียงไผ่ลำพังในเรือนจำ

ไผ่บอกว่าเขาอยู่ได้ เขาเคยอยู่คนเดียวในเรือนจำมาแล้ว 2 ปีกว่า แต่เราสังเกตว่าหน้าตาเขาไม่ได้ยินดีเลย เมื่อถามถึงความรู้สึกที่ต้องกลับเข้าเรือนจำอีกครั้ง — มันเศร้ากว่าเดิม

“ผมเฉยชา ซึ่งเป็นความรู้สึกที่ไม่ดี ผมเฉยชากับความรุนแรง มันทำกับผมจนด้านชาซึ่งไม่ใช่เรื่องดี มันแย่ มันเป็นความรุนแรงที่ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ เป็นความรุนแรงในกระบวนการยุติธรรม ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือจำกัดคนเห็นต่าง ตำรวจชงมา ศาลก็รับลูก ทั้งหมดเป็นเรื่องไร้สาระที่ไม่ควรเกิดขึ้น อาจจะเป็นเพราะผมโดนบ่อยทำให้ผมชินชา กลายเป็นเรื่องปกติที่ไม่ปกติของสังคมไทย”

เมื่อถามว่าทำไมเขาจึงไม่หยุดเคลื่อนไหว เขาตอบด้วยความมุ่งมั่น

“ผมเชื่อมาตลอดว่าสิ่งที่ผมทำไม่ผิด ไม่มีวันผิด ไม่ว่าผมโดนกี่ครั้งก็ไม่รู้สึกว่าผิด มันเป็นสิ่งที่ถูกต้อง การที่ เราเรียกร้อง เราขับไล่เผด็จการไปจนถึงข้อเสนอสามข้อ ในการขับไล่ประยุทธ์ ร่างรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ใต้กฎหมาย เป็นสิ่งที่ทำได้ ผมเชื่ออย่างนั้น

“เวลาที่เคลื่อนไหว เรียกร้อง ทำกิจกรรม ผมไม่เคยคิดว่าจะติดคุก ผมคิดว่าอยากทำอะไร อยากเรียกร้องแบบไหน แล้วเราก็ทำ พยายามคิดรูปแบบที่สร้างสรรค์ เรียกร้อง อดทน สร้างสรรค์ แต่สิ่งที่รัฐทำ รัฐใช้ความรุนแรง กระชากเต็นท์ กระชากศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตีน้องผม ลากถู เหมือนเราไม่ใช่คน และยังมาบอกว่าพวกเราใช้ความรุนแรงทำร้ายตำรวจ เอาเรามาขัง ยัดข้อหาเรา เมื่อวานก็มาแจ้งข้อหาผมเพิ่มอีก

“วันนั้น (13 ตุลาคม) ผมร้องไห้ ไม่ใช่เพราะตัวผม แต่เพราะผมยืนไฮด์ปาร์คบนรถ ผมอยู่ที่สูง ผมเห็นเหตุการณ์ทุกอย่าง เขาตี เขากระชากน้องผม ทั้งที่เราใช้สันติวิธี

“เราเชื่อมั่นสันติวิธีมาตลอด แต่มันก็พรากไปโดยความรุนแรง เราพยายามใช้เหตุผล แต่เขาใช้อำนาจ เราพยายามต่อสู้เพื่อความยุติธรรม แต่เขาใช้กระบวนการยุติธรรมจำกัดพวกเรา”

เมื่อถามถึงการเคลื่อนไหวต่อไป เขาตอบโดยไม่ลังเล

“ถ้าข้างนอกยังสู้ ผมก็สู้ เราอยู่แบบนี้ไม่ได้ เราอยู่ในสังคมแบบนี้ไม่ได้ ไม่มีอะไรต่างจากเดิมเลย ชัดเจนว่าไม่มีใครอยู่ข้างเรา ไม่มีตำรวจดีคนไหนมาห้ามไม่ให้ตำรวจตีเรา ไม่มีศาลคนไหนบอกว่าอย่าทำแบบนี้เพราะมันเสียกระบวนการยุติธรรม ไม่มีสักคน ตำรวจ ศาล เลือกทางแล้ว เขาไม่เคยอยู่ข้างประชาชนเลย พวกเราต้องออกมาเรียกร้องเพราะว่านี่คือความหวังเดียว

“เราหวังศาล หวังตำรวจไม่ได้ ต้องหวังพึ่งกันและกันเพื่อความยุติธรรมทางสังคม เพื่อให้หลักการเหล่านี้กลับมา ให้สิทธิในการประกันตัวกลับมา ให้สิทธิในการแสดงออกกลับมา เราต้องไล่รัฐบาล เพราะรัฐบาลนี้อำนาจนิยมใช้ความรุนแรง เราต้องร่างรัฐธรรมนูญเพื่อความยุติธรรมทางสังคม เราต้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ใต้กฏหมาย เพราะความรุนแรงเกิดขึ้นจากการอ้างขบวนเสด็จและเกิดจากการตัดสินในพระปรมาภิไธย”

หลังจากการพูดคุยไผ่กลับมาปรึกษาเรื่องคดี เขาอยากคัดค้านการฝากขัง แต่เขาไม่อยากร่วมกระบวนการฝากขังโดยใช้วิธีการวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ (ถ่ายทอดภาพผู้พิพากษามาในเรือนจำ โดยไม่ต้องนำตัวผู้ต้องหาไปศาล เพื่อสอบถามว่าคัดค้านการฝากขังของตำรวจระหว่างสอบสวนหรือไม่ – ทนาย) เพราะเขามองว่าวิธีการใช้วีดีโอคอนเฟอเรนซ์นั้นมักง่ายเกินไป และใช้ได้แต่กรณีที่ผู้ต้องหาไม่ต้องการคัดค้านฝากขังเท่านั้น

ไผ่ต้องการมาศาลเพื่อเจอเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจอผู้พิพากษา เจอทนาย และร่วมกระบวนการไต่สวนฝากขัง ซึ่งการฝากขังจะมีทุกระยะ 12 วัน แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด เมื่อออกมาจากเรือนจำและกลับมาจะต้องกักตัวอีก 14 วัน ซึ่งนั่นแปลว่าถ้าไผ่เลือกที่จะขอออกมาไต่สวนที่ศาล เขาจะไม่ได้เจอบุคคลอื่นนอกจากทนายความและผู้ต้องขังภายในเรือนจำ ไม่ได้พบญาติ พี่น้องและมิตรสหาย ดังนั้นไผ่จึงตัดสินใจว่าเขาจะไม่ร่วมกระบวนฝากขังเลย ทั้งการใช้คอนเฟอเรนซ์ และขออนุญาตออกมาไต่สวนที่ศาล

ถึงที่สุด กลับกลายเป็นว่าความหวังเดียวของไผ่ในตอนนี้ที่จะได้ออกจากเรือนจำ คือการได้รับสิทธิในการประกันตัวจากศาล ซึ่งกระทำในพระปรมาภิไธย

.

X