เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2565 เวลาเที่ยงโดยประมาณ ขณะที่บูธ B07 ของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันกำลังขายหนังสืออยู่ภายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ 2565 ที่สถานีรถไฟกลางบางซื่อ ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 นาย ทราบภายหลังว่าเป็นตำรวจรถไฟมาที่บูธ เพื่อแจ้งให้ทางสำนักพิมพ์ปลดป้ายผ้ารวมแฮชแท็ก (#) ทางการเมืองลง
ในปีนี้ สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันได้ตกแต่งบูธขายหนังสือโดยจัดทำป้ายผ้า ที่เป็นข้อความรวมแฮชแท็กรณรงค์ทางการเมืองในทวิตเตอร์ในช่วงการเคลื่อนไหวของเยาวชนคนรุ่นใหม่ช่วงปี 2563-64
.
.
ตำรวจได้อ้างเหตุที่ต้องปลดป้ายดังกล่าวลง เนื่องจากมีถ้อยคำที่เจ้าหน้าที่มองว่า “หมิ่นเหม่” อยู่ โดยมีการยกตัวอย่างขึ้นมาหลายคำ หากแต่คำที่ถูกเน้นย้ำมากที่สุดคือคำว่า “รัฐบาลเผด็จการ”
กระนั้น เมื่อทางสำนักพิมพ์ถามกลับไปว่าคำดังกล่าวหมิ่นเหม่ในลักษณะใด ฝ่ายเจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถตอบคำถามได้ เพียงแต่เน้นย้ำว่าเป็น “คำที่หมิ่นเหม่” แล้วเดินกลับไปพูดคุยกับตำรวจอีกนายหนึ่งที่มาด้วยกัน
ในเวลาห่างกันเพียงไม่นาน ตำรวจรถไฟอีกนายหนึ่งก็เข้ามาที่บูธ แล้วแจ้งกับทางสำนักพิมพ์ว่า ตำรวจได้รับแจ้งว่าสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันตกแต่งบูธด้วยป้ายผ้าที่มีข้อความหมิ่นเหม่ พร้อมกับถามว่าเพิ่งจะใช้ป้ายผ้านี้ตกแต่งเมื่อวาน (27 มี.ค.) ใช่หรือไม่ โดยทางสำนักพิมพ์ได้ยืนยันว่า ป้ายผ้านี้มีอยู่ตั้งแต่วันแรกซึ่งก็คือวันที่ 26 มี.ค. แล้ว จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็พูดต่อไปอีกทำนองเดิมว่าให้ปลดป้ายผ้าลงเพราะคำว่า “รัฐบาลเผด็จการ” นั้น “หมิ่นเหม่”
หลังจากนั้น ตัวแทนจากสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ได้เข้ามาสอบถามกับสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และได้ไปพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจรถไฟทั้งสอง ก่อนที่ทั้งหมดจะกลับมาที่บูธอีกครั้ง แล้วบอกให้ทางสำนักพิมพ์นำป้ายผ้าลงอีกรอบหนึ่ง ด้วยท่าทีที่กดดันมากขึ้น
ขณะที่ทางสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันไม่ต้องการปลดป้ายผ้ารวมแฮชแท็กทางการเมืองลง จึงเสนอเงื่อนไข 3 ข้อเพื่อต่อรองกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้แก่
- พลิกป้ายเพื่อให้อ่านข้อความได้ยากขึ้น
- ถมดำคำที่เจ้าหน้าที่ตำรวจรถไฟมองว่าหมิ่นเหม่
- นำป้ายลง
ในเช้าของวันที่ 29 มี.ค. ทางสำนักพิมพ์ก็ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อ 1 คือพลิกป้ายผ้าไปอีกด้านหนึ่งเพื่อให้ข้อความไม่สามารถถูกอ่านได้ตามปกติ
หลังจากนั้นยังไม่ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจรถไฟมาที่บูธของสำนักพิมพ์อีก จะมีก็เพียงแต่บุคคลที่น่าจะเป็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบไม่ทราบสังกัด ทำทีมาเลือกดูหนังสือและถ่ายรูปบูธสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน คราวละ 1 – 2 คนต่อหนึ่งชั่วโมง โดยจะผลัดเปลี่ยนกันมาตลอดทั้งวัน
อย่างไรก็ตาม สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันเผชิญกับสถานการณ์ที่มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาพูดคุยติดตามในลักษณะขอความร่วมมือต่างๆ รวมถึงถ่ายรูปเพื่อไปรายงานผู้บังคับบัญชาอยู่ในทุกครั้งที่มีการตั้งบูธในงานหนังสือ ในช่วงปีหลังๆ ไม่ว่าจะเป็นงานที่จัดขึ้นในกรุงเทพฯ ปริมณฑล หรือต่างจังหวัดก็ตาม
.
เรื่องที่เกี่ยวข้อง