7 อาวุธที่ คฝ. ใช้สลายผู้ชุมนุมในเดือนส.ค.-ก.ย.

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตลอดเดือนสิงหาคมและกันยายนพบว่า เจ้าหน้าที่ได้ใช้อาวุธในการสลายการชุมนุมอย่างน้อย 7 อย่าง ได้แก่ 

1. ปืนใหญ่น้ำ (Water Cannon) หรือที่เรียกกันว่า “จีโน่” เป็นรถน้ำแรงดันสูงที่ใช้เพื่อควบคุมผู้ชุมนุม ใช้ครั้งแรกในการสลายการชุมนุมปี 2556 ต่อมาในการชุมนุมปี 2563 และใช้เรื่อยมาในการสลายการชุมนุมปี 64 

รถจีโน่นำเข้ามาจากประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งปัจจุบันได้ประกาศยกเลิกใช้ไปแล้ว เนื่องจากในปี 2559 ผู้ชุมนุมชายวัย 68 ปี เสียชีวิตหลังถูกน้ำจากรถน้ำแรงดันสูงพุ่งใส่จนหมดสติล้มลง โดยรถคันดังกล่าวถูกซื้อมาในราคาคันละ 25 ล้านบาท สามารถบรรจุน้ำได้ถึง 12,000 ลิตร และยิงไกลสูงสุด 65 เมตร ทั้งยังสามารถผสมสารเคมี ทั้งแก๊สน้ำตา โฟมดับไฟ และสารสีที่ติดตามร่างกายของผู้ชุมนุมได้อีกด้วย

อนึ่ง เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 64 สื่อมวลชนรายงานว่า กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ได้ออกประกาศผู้ชนะการเสนอราคาจ้างซ่อมแซมรถฉีดน้ำแรงดันสูงควบคุมฝูงชน (จีโน่) ที่ชำรุดเสียหาย จากกรณีการชุมนุมสาธารณะจำนวน 5 คัน ในราคา 47,080,000 บาท (ตกคันละ 9,416,000)

ตามหลักสากลว่าด้วยการใช้ปืนใหญ่ฉีดน้ำระบุว่า ควรใช้ในสถานการณ์การชุมนุมที่อาจนำไปสู่การเสียชีวิต บาดเจ็บสาหัส หรือการทำลายทรัพย์สินในวงกว้าง “เท่านั้น” อีกทั้งไม่ควรยิงใส่บุคคลในลักษะที่เสี่ยงต่ออาการบาดเจ็บ เช่น ความเสี่ยงในการลื่นล้ม การถูกฉีดอัดกำแพง หรืออาการอื่นๆ อย่างภาวะช็อคจากอุณหภูมิร่างกายต่ำจากน้ำเย็นจัด รวมไปถึงไม่ควรเล็งไปที่ตัวบุคคลแบบเฉพาะเจาะจง

นอกจากนี้การใช้สารเคมีร่วมด้วย ต้องยิงจากระยะไกลต่อกลุ่มคนที่เข้าร่วมก่อความรุนแรง เพื่อให้ผู้ชุมนุมกระจายตัวและหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง และไม่ควรใช้ในพื้นที่ปิด เนื่องจากสารเคมีอาจก่อให้เกิดปัญหาระบบทางเดินหายใจ อาการเวียนหัว ผิวหนังอักเสบ จนก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตได้

2. แก๊สน้ำตา (Tear Gas) เป็นอาวุธที่เจ้าหน้าที่นิยมใช้ในการสลายการชุมนุม ปัจจุบันเจ้าหน้าตำรวจไทยใช้แก๊สน้ำตา 2 ชนิด คือ ชนิดขว้างสำหรับระยะใกล้ และชนิดยิงสำหรับระยะไกล 

ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (UNCHR) ระบุว่า ในทางทฤษฎีเจ้าหน้าที่ คฝ. จะถูกฝึกให้ยิงกระสุนบรรจุเเก๊สน้ำตา ซึ่งโอกาสที่แก๊สน้ำตาจะโดนกลุ่มผู้ชุมนุมลดลง กลับกันในทางปฎิบัติเจ้าหน้าที่มักจะปากระป๋องบรรจุเเก๊สน้ำตาเข้าไปในกลุ่มผู้ชุมนุม เนื่องจากความแม่นยำที่แก๊สจะส่งผลกระทบต่อผู้ชุมนุมนั้นมีมากกว่า

กลุ่ม “การ์ดปลดแอก” ทวิตภาพแก๊สน้ำตาแบบสลักที่ตกใกล้กับบ้านประชาชนระหว่าง #ม็อบ5กันยา ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวมีประชาชนที่อาศัยในซอยแฟลตข้างดินแดงได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก รวมไปถึงเด็กวัย 3 เดือน และ 4 ขวบ ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน

รวมไปถึงมีกรณีที่เจ้าหน้าที่โยนแก๊สน้ำตาเข้าห้องคุมขังที่ถูกจับกุมใน #ม็อบ27กันยา ทำให้ผู้ต้องหาที่อยู่ในห้องขังหายใจไม่ออก

ตามหลักสากลว่าด้วยการใช้แก๊สน้ำตาระบุว่า ต้องใช้เพื่อสลายการชุมนุมหรือยุติความรุนแรง โดยต้องยิงจากระยะไกล ซึ่งแก๊สน้ำตามีทั้งแบบยิงวิถีโค้งและยิงจากปืนยิงแก๊สน้ำตา การใช้แก๊สน้ำตาต้องระวังเรื่องพื้นที่แบบปิด เพราะหากไม่มีพื้นที่ระบายอากาศที่มากพอ อาจทำให้แก๊สมีความเข้นข้นสูง ซึ่งอาจเกิดการเผาไหม้ได้ รวมไปถึงความเสี่ยงด้านสุขภาพ หากได้รับแก๊สในปริมาณมากเกินไปอาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้

3. กระสุนยาง (Rubber Bullet) เป็นกระสุนโลหะที่ถูกหุ้มด้วยยาง มีขึ้นเพื่อลดความรุนแรงในการสลายการชุมนุม ตามหลักสากลว่าด้วยการใช้กระสุนยางระบุว่า กระสุนยางมีเพื่อใช้รับมือกับบุคคลที่ใช้ความรุนแรง ซึ่งกระสุนยางควรเล็งไปที่ช่วงท้องส่วนล่างหรือขาของบุคคลที่ใช้ความรุนแรงเท่านั้น และเฉพาะในกรณีที่เล็งเห็นว่ากำลังจะเกิดอันตรายต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือสาธารณชน อย่างไรก็ตามมีผู้ได้รับบาดเจ็บจากกระสุนอย่างบริเณศีรษะในสองเดือนอย่างน้อย 18 ราย และตาบอด 1 ราย

4. ปืนช็อตไฟฟ้า (TASERS) พบครั้งแรกใน #ม็อบ7สิงหา ราคากระบอกละ 79,000 บาท หลักการทำงานของปืนช็อตไฟฟ้า หลังยิงประจุไฟฟ้าถูกผู้ชุมนุม จะทำให้สูญเสียการควมคุมกล้ามเนื้อ เรียกง่ายๆ ว่าจะไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ 

ตามหลักสากลว่าด้วยการใช้ปืนช็อตไฟฟ้าระบุว่า ใช้เพื่อให้เป้าหมายสูญเสียการควบคุมระยะไกล ในกรณีที่บุคคลดังกล่าวมีพฤติกรรมที่อาจส่งผลให้ตนเองและผู้อื่นตกอยู่ในอันตราย ปัจจุบันยังไม่มีรายงานว่ามีผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บจากปืนดังกล่าว

5. กระบอง (Police Baton) โดยกระบองส่วนใหญ่ทำมาจากไม้ ยาง พลาสติก หรือโลหะ เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถใช้เป็นอาวุธเพื่อป้องกันตัวเองจากผู้ที่จู่โจมอย่างรุนแรง หรือใช้เพื่อทำการจับกุมโดยชอบด้วยกฎหมายต่อผู้ต้องสงสัยที่ขัดขืนอย่างรุนแรง 

ตามหลักสากลว่าด้วยการใช้กระบองและโล่ระบุว่า อาวุธนี้ใช้กับบุคคลที่จะทำร้ายหรือขู่ว่าจะทำร้ายเจ้าหน้าที่หรือประชาชนทั่วไป โดยควรใช้กระบองจู่โจมไปที่ขาหรือแขนของผู้จู่โจมเท่านั้น  

6. ปืน FN303 ที่สามารถบรรจุกระสุนชนิดกลมได้อย่างน้อย 8 ประเภท ถูกพบเห็นครั้งแรกในการสลายผู้ชุมนุม ใน #ม็อบ16กันยา ด้าน Thai press ระบุว่า อาวุธปืนชนิดนี้ถูกยกเลิกใช้และทำลายทิ้งในเมืองบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา หลังถูกปืนชนิดยิงเข้าที่เบ้าตาและทะลุสมองทำให้ผู้ชุมนุมคนดังกล่าวเสียชีวิตลง

7. เลเซอร์ (Laser) ในเดือนกันยายน พบว่าเจ้าหน้าที่ คฝ. เริ่มใช้แสงเลเซอร์สีน้ำเงินและเขียวกับผู้ชุมนุมและสื่อ ซึ่งหลักการทำงานเครื่องเลเซอร์ เพื่อปล่อยแสงจ้ารบกวนการมองเห็นชั่วคราว หากใช้เครื่องยิงแสงที่ไม่ได้มาตรฐาน อาจทำให้ผู้ถูกโจมตีตาบอดถาวรได้ นอกจากสามารถทำร้ายดวงตาของผู้ชุมนุมและประชาชนทั่วไปแล้ว เลเซอร์ยังสามารถทำให้กล้องของสื่อมวลชนได้รับความเสียหายอีกด้วย

อ่าน “หลักสากล” สำหรับการชุมนุมและการสลายการชุมนุม

>>>ยอดคนเจ็บม็อบเดือนกันยา ไม่น้อยกว่า 107 ราย เสียชีวิต 1 ราย เด็กได้รับผลกระทบอายุน้อยสุด 4 เดือน

>>>ยอดคนเจ็บม็อบเดือนสิงหา ไม่น้อยกว่า 115 ราย เป็นเด็กเยาวชน 32 ราย และไม่สามารถระบุผู้บาดเจ็บได้อีก 19 กรณี 

X