ศาลอาญากรุงเทพใต้ ยกคำร้องขอประกันตัวอานนท์ครั้งที่ 8 ‘ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม’

เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2564 ศาลอาญากรุงเทพใต้ อนุญาตให้ฝากขังอานนท์ นำภา เป็นครั้งที่ 8 ต่อไปอีก 7 วัน ระหว่างวันที่ 8-15 ต.ค. 2564 หลังไต่สวนคำร้องคัดค้านที่ทนายความได้ยื่นไว้ในวันที่ 7 ต.ค. 2564  ในคดีมาตรา 112 จากกรณีปราศรัยในชุมนุมครบรอบ 1 ปี #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์ เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2564

คำสั่งของศาลระบุ คำคัดค้านและพยานหลักฐานที่ศาลไต่สวนโดยตลอดแล้วมีปัญหาต้องวินิจฉัยกรณีมีเหตุจำเป็นที่ศาลจะสั่งขังผู้ต้องหา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 87 วรรค 7 ในคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 8 หรือไม่ ผู้ร้องและพนักงานสอบสวนเบิกความสอดรับกันว่า มีเหตุจำเป็นเนื่องจากผู้ร้องสั่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมตามหนังสือสั่งให้สอบเพิ่มเติม ลงวันที่ 30 กันยายน 2564 หลายประเด็น 

ที่สำคัญคือการตรวจสอบและขอข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์จาก ปอท. จึงยังไม่ได้รับผลการตรวจสอบทั้งที่พนักงานสอบสวนได้มีหนังสือทวงถามไป 2 ครั้งแล้ว แต่พนักงานสอบสวนได้ดำเนินการสอบปากคำเพิ่มเติมและแจ้งข้อเท็จจริงอันเป็นพฤติกรรมการกระทำความผิดแก่ผู้ต้องหาตามคำสั่งของผู้ร้องเสร็จเรียบร้อยแล้ว ผู้ต้องหายืนยันว่าพนักงานสอบสวนได้มาสอบปากคำเพิ่มเติมแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2564 และหากศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหา พนักงานสอบสวนและอัยการก็สามารถดำเนินคดีต่อไปได้

เห็นว่าประมวลกฎหมายอาญามาตรา 87 วรรค 7 วางหลักเกณฑ์ว่าเมื่อศาลมีคำสั่งขังผู้ต้องหาระหว่างการฝากขังครบ 48 วันแล้ว ศาลจะสั่งขังผู้ต้องหาต่อไปได้ก็ต่อเมื่ออัยการได้แสดงถึงเหตุจำเป็นและนำพยานหลักฐานมาให้ศาลไต่สวนจนเสร็จสิ้นเป็นที่พอใจแก่ศาล พนักงานอัยการได้รับสำนวนจากพนักงานสอบสวนตั้งแต่ 20 กันยายน 2564 แล้ว แต่พนักงานอัยการสั่งให้สอบเพิ่มเติมหลังจากนั้น 

การสอบเพิ่มเติมเป็นไปอย่างล่าช้ามากทั้งที่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จไปโดยเร็ว ในส่วนของการตรวจสอบและขอข้อมูลการจราจรทางคอมพิวเตอร์จาก ปอท. นั้น ไม่มีพยานหลักฐานมาแสดงถึงการเร่งรัดเพื่อให้ได้ข้อมูลมาโดยเร็ว อย่างไรก็ดีการสอบปากคำและแจ้งข้อเท็จจริงเพิ่มเติมแก่ผู้ต้องหา แม้จะเพิ่งดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนวันนัดไต่สวนเพียงหนึ่งวัน แต่ก็ถือว่าการสอบสวนเพิ่มเติมมีความคืบหน้าอยู่บ้าง 

ถือว่ามีเหตุจำเป็นที่ศาลอาจสั่งขังผู้ต้องหาต่อในระยะเวลาเพียงเท่าที่การสอบสวนจะแล้วเสร็จ และอัยการมีคำสั่งทางคดีได้ เห็นควรให้โอกาสผู้ร้องอีกสักครั้งหนึ่งเป็นครั้งสุดท้าย จึงมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 8 ได้อีก 7 วัน กำชับพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการให้เร่งรัดดำเนินการให้สำนวนสอบสวนแล้วเสร็จโดยเร็ว เพราะพฤติการณ์แห่งคดีไม่ยุ่งยากซับซ้อน

ผู้พิพากษาซึ่งมีคำสั่งอนุญาตฝากขังคือ นายธีร์รัฐ บุนนาค

.

.

ยื่นประกันตัวครั้งที่ 8 ศาลไม่ให้ ยืนยันไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่ง

ต่อมาเมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2564 ช่วงเช้าที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ทนายความได้ยื่นประกันตัวอานนท์โดยมีคำร้องประกอบการขอปล่อยตัวชั่วคราวระบุ 

1. คดีนี้พนักงานสอบสวนได้เข้าไปแจ้งข้อเท็จจริงและแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมแก่ผู้ต้องหาแล้ว และผู้ต้องหาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาและได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนแล้ว เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2564  แม้ศาลจะมีคำสั่งยกคำร้องฝากขังหรือปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาไป พนักงานสอบสวนก็สามารถรวบรวมพยานหลักฐานให้แก่พนักงานอัยการได้

2. พนักงานอัยการผู้ร้องเบิกความตอบทนายความผู้ต้องหาซักถามว่าแม้ศาลจะมีคำสั่งยกคำร้องฝากขังหรือปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาไปพนักงานอัยการสามารถสรุปสำนวนทำความเห็นทางคดีได้ และผู้ต้องหาไม่สามารถแทรกแซงการสรุปสำนวนคดีได้ กรณีดังกล่าวจึงเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นใหม่อันเป็นการยืนยันว่าหากปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาไปก็ไม่เป็นอุปสรรคใดๆ ต่อการสั่งคดีของพนักงานอัยการในคดีนี้

การขังผู้ต้องหาไว้ต่อไปทั้งที่อัยการสูงสุดได้มีความเห็นทางคดีในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่อ้างเป็นหลักในการขอฝากขังเสร็จสิ้นแล้ว ย่อมเป็นการควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้เกินกว่าความจำเป็นอันเป็นการขัดต่อหลักสิทธิเสรีภาพแห่งรัฐธรรมนูญและหลักกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

3. การขังผู้ต้องหาต่อไปไว้ระหว่างการสรุปสำนวนทางคดีของพนักงานอัยการนั้นเป็นการขังเกินความจำเป็น กระทบเสรีภาพและหน้าที่การงานของผู้ต้องหาเป็นอย่างมาก ผู้ต้องหามีอาชีพทนายความ ในเดือนตุลาคม 2564 มีนัดที่ต้องว่าความแก้ต่างในคดีหมายเลขดำที่ อ.649/2562 (คนอยากเลือกตั้ง ARMY57)  ในวันที่ 19,20 และวันที่ 26 – 29 ตุลาคม 2564 ในคดีนี้ผู้ต้องหาเป็นทั้งทนายความและจำเลยจำต้องปรึกษาคดีกับลูกความและปรึกษาคดีกับทนายความ เพื่อเตรียมความพร้อมในการสืบพยานจำเลย เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมเพื่อให้ผู้ต้องหาได้ทำหน้าที่ทนายความแก้ต่างเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในคดีดังกล่าว 

4. หากไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจะเกิดภาระเกินความจำเป็นแก่ผู้ต้องหาเพราะการเบิกตัวออกศาลจะต้องกักตัวทุกครั้งที่กลับเข้าเรือนจำ ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อไสรัสโคโรน่า 2019

อย่างไรก็ตาม ศาลได้มีคำสั่งยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว “พิเคราะห์คำร้องประกอบการขอปล่อยตัวชั่วคราวแล้ว กรณียังไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ยกคำร้อง” โดยคำสั่งมีเพียงลายเซ็นลงนาม แต่ไม่มีการลงชื่อผู้พิพากษากำกับไว้ 

ทนายความได้สอบถามถึงสาเหตุ พบว่าเป็นเรื่องความกังวลเกี่ยวกับการเผยแพร่ชื่อผู้พิพากษา โดยยกตัวอย่างการเผยแพร่ชื่อผู้พิพากษาที่ทำคำสั่งอนุญาตฝากขังเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา 

จนถึงวันที่ 12 ต.ค. 64 ทำให้อานนท์จะยังถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ต่อไปอีก รวมระยะเวลาถูกคุมขังมาแล้วกว่า 63 วัน 

.

X