ศาลจังหวัดอุบลฯ นัดตรวจพยานหลักฐาน คดี พ.ร.บ.ประชามติฯ นัดต่อไปเดือนสิงหา สืบพยาน ด้านจำเลยเรียกร้อง คสช. ทบทวนการใช้ พ.ร.บ.ประชามติ ย้ำไม่ใช่แนวทางประชาธิปไตย
8 ก.พ. 60 วิชาญ ภูวิหาญ เดินทางมาศาลจังหวัดอุบลราชธานี พร้อม ภิเศก อาจทวีกุล ทนายความตามที่ศาลนัดพร้อมและตรวจพยานหลักฐาน หลังพนักงานอัยการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาล เป็นคดี หมายเลขคดีดำที่ 2419/2559 กล่าวหาว่า นายวิชาญก่อความวุ่นวาย โดยมุ่งหวังไม่ให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ทำให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 61 จำเลยให้การปฏิเสธ
ทั้งนี้ โจทก์ได้ยื่นบัญชีพยานบุคคลจำนวน 8 ปาก ประกอบด้วย ตำรวจจราจรที่เข้าจับกุม, พนักงานสอบสวน อ.พิบูลมังสาหาร, ประชาชนในตลาดที่วิชาญพูดคุยในที่เกิดเหตุ และผู้ใหญ่บ้านในหมู่บ้านที่วิชาญอาศัยอยู่ ด้านทนายความของวิชาญ ได้ยื่นบัญชีพยานจำเลยเป็นพยานบุคคลจำนวน 4 ปาก หลังตรวจพยานหลักฐานเสร็จ ศาลได้นัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 15-16 ส.ค. 60 และสืบพยานจำเลยในวันที่ 17-18 ส.ค. 60
นอกจากนี้ วิชาญได้ยื่นคำให้การจำเลยของวิชาญต่อศาล มีเนื้อหาโดยสรุปว่า ในข้อ 1) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ….จะต้องยึดถือหลักการสำคัญหลายประการด้วยความที่ถือว่าเป็นร่างกฎหมายแม่บท เช่น หลักนิติธรรม นิติรัฐ หลักความเสมอภาคของประชาชนและหลักว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพ ตามครรลองของการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น ร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญ จึงต้องมีความรับผิดชอบตั้งแต่ต้นต่อหลักความเป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญ ข้อ 2) พ.ร.บ.ประชามติฯ ยังขัดต่อหลักการปกครองแบบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์และเป็นสากล ตามประกาศของนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ขัดต่อหลักนิติธรรม ขัดต่อหลักการว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของปวงชนชาวไทย ซึ่งกฎหมายรัฐธรรมนูญทุกฉบับรับรองไว้ ข้อ 3) พ.ร.บ.ประชามติไม่สอดคล้องกับครรลองของประชาธิปไตย และข้อ 4)ข้อกล่าวหาทั้งสิ้นของโจทก์ขัดแย้งต่อหลักการปกครองแบบประชาธิปไตยของประเทศไทย
คดีนี้สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 26 ก.ค.59 ช่วงเช้า เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร สถานีตำรวจภูธรอำเภอพิบูลมังสาหารเข้าจับกุมตัวนายวิชาญ โดยอ้างว่าวิชาญ ปั่นจักรยานไปที่ตลาดสด จากนั้นได้พูดจากับประชาชนที่มาจับจ่ายซื้อของในตลาดว่าตนเองเป็นสมาชิกพรรคการนำใหม่ประชาชนปฏิวัติสันติ พร้อมกับชูเอกสารและพูดจาปลุกระดมให้ประชาชนที่มาจับจ่ายซื้อของในตลาดให้ไม่ไปใช้สิทธิออกเสียงประชามติ และพูดจาไม่เห็นด้วยกับที่มาของรัฐธรรมนูญ จากนั้นเจ้าหน้าที่จึงควบคุมตัวมาที่ สภ.พิบูลมังสาหาร และมีการแจ้งข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61 วรรค 2 ด้านวิชาญได้ปฏิเสธข้อกล่าวหา และอดอาหารประท้วงเป็นเวลา 12 วัน เพื่อให้ยกเลิกประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมทั้งไม่ยื่นประกันตัว
ต่อมา ทนายความของวิชาญได้ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยตัวนายวิชาญโดยไม่มีเงื่อนไข ศาลยกคำร้อง แต่อนุญาตให้ประกันตัว เมื่อวันที่ 8 ก.ย.59 โดยใช้ตำแหน่งเป็นหลักประกันในวงเงิน 60,000 บาท ซึ่ง และมีเงื่อนไขห้ามยุ่งเกี่ยวกับการเมือง
วิชาญ ได้ให้ข้อมูลเหตุการณ์ที่ถูกจับกุมว่า ตนขายข้าวที่ตลาดใน อ.พิบูลฯ ประมาณ 1 ปีแล้ว และในวันเกิดเหตุ ตนไม่ได้ตะโกนหรือปลุกระดมไม่ให้คนออกมาใช้สิทธิลงประชามติแต่อย่างใด เพียงแต่กำลังยืนพูดคุยกับเพื่อนที่อยู่ในตลาด เนื่องจากตนและทางพรรคการนำใหม่ฯ ซึ่งเป็นพรรคธรรมชาติ ไม่เห็นด้วยเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญและการไปออกเสียงลงประชามติ เพราะตนมองว่าไม่ได้สร้างประชาธิปไตย แต่ตนไม่ได้ห้ามประชาชนไม่ให้ไปลงประชามติ เพียงประกาศจุดยืนของพรรคฯ ว่าไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และไม่ขอเข้าร่วมใดๆ รวมทั้งไม่ได้มีการชูเอกสารอย่างที่ถูกกล่าวหา แต่เนื่องจากขณะพูดคุยกับเพื่อนในตลาด มีเจ้าหน้าตำรวจที่เข้ามาหาตนพร้อมกับสอบถามเกี่ยวกับการพูดคุย ตนจึงยื่นเอกสารของพรรคฯ ที่ไม่เห็นด้วยกับการลงประชามติที่มีติดตัวอยู่แล้วให้กับตำรวจ จึงถูกแจ้งข้อกล่าวหาและถูกฟ้องในคดีดังกล่าว นอกจากนี้วิชาญได้เรียกร้อง คสช. ทบทวนการใช้ พ.ร.บ.ประชามติ ย้ำไม่ใช่แนวทางประชาธิปไตยและ คสช. ต้องตระหนักถึงผลดีและผลเสียที่จะเกิดขึ้น จาก พรบ.ประชามติด้วย
ที่มา : ที่มาhttp://prachatai.com/journal/2016/08/67447