สัมภาษณ์โดย พันธวิศย์ เทพจันทร์
หลังจากได้พูดคุยกับ “สุรชัย ตรงงาม” ในตอนที่แล้ว ทนายความจากมูลินิธินิติธรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมชี้ให้เห็นถึงเห็นปัญหาก้อนโตที่ดำรงอยู่ในสังคมไทย นั่นคือ ปัญหาการใช้อำนาจของ มาตรา 44 ตามรัฐธรรรมนูญ ปี 2557 ฉบับชั่วคราวที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติอ้างว่า ใช้มาตรานี้เพื่อความมั่นคงและขจัดภัยคุกคามและความแตกแยกสามัคคีของคนในชาติ แต่ก็เกิดปัญหามากมายว่า “ความมั่นคง” ของแต่ละคนนั่นมีมาตรฐานอย่างไรบ้าง ซึ่ง “สุรชัย ตรงงาม” ได้ชี้ให้เราเห็นแล้วว่า แม้แต่การเรีกร้องเพื่อปกป้องสิทธิชุมชนของประชาชนก็อาจถือว่าเป็น “ภัยความมั่นคง” ต่อชาติได้
แต่จากนี้ไปสิ่งที่ “น่ากังวลใจ” ยิ่งกว่าตามความเห็นของทนายความจากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมหรือ EnLAW ก็คือ เนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูฐที่จะเปิดในประชาชนได้ลงประชามติ(หากไม่เกิดปัญหาเรื่องความมั่นคงเสียก่อน) สุรชัย ตรงงามจะชี้ให้เห็นถึงจุดบกพร่อง ช่องโหว่ด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชนว่า หากร่างรัฐธรรมนูญนี้ถูกประกาศใช้ จะเกิด “หายนะ”ต่อสิ่งที่เรียกว่า สิทธิชุมชนอย่างไร หากเรายังเชื่อมั่นอยู่ว่า ประชาชนคือ “เจ้าของประเทศ”
โปรดอ่านบทสัมภาษณ์นี้และคลิ๊กชมคลิประกอบบทสัมภาษณ์โดยพลัน…ก่อนที่สำนึกความเป็น “เจ้าของประเทศ” จะหายไปจากจิตสำนึกของเรา เพราะคำว่า “สิทธิชุมชน” ถูกตัดออกไปจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ รวมถึง “ประเด็นสำคัญ” เกี่ยวกับยุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมของนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมที่มีต่อคณะรัฐประหาร ทุกคำถามมีคำตอบ นับจากนี้
เป็นไปได้ไหมว่า ถ้าคำสั่ง ประกาศของ คสช.มีปัญหากับหลักสิทธิมนุษยชน กระบวนการทางนิติรัฐ ก็ควรผลักดันประเด็นข้อเสนอของนิติราษฎร์ ลบผลพวงของรัฐประหารเลยหรือไม่
นิติราษฎร์ผมเข้าใจว่ามีนัยยะ มันเป็นโมฆะไปเลย แต่ของผมนั้น เอาระดับที่พอเป็นไปได้คือเอามาทบทวนคือ คำสั่งที่ออกไปโดยรัฐบาลหรือกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องต้องแสดงให้เห็นว่า ประกาศหรือคำสั่งคสช.ที่อ้างว่าออกมาในสถานการณ์ไม่ปกติ. เมื่อมีรัฐธรรมนูญใหม่ มีการเลือกตั้งเข้าสู่ระบบปกติจะมายกเลิกเพิกถอนทบทวนกันอย่างไร คือต้องมีกลไกพูดง่าย ๆ เช่น ต้องมีคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบยกเลิกเพิกถอน ทบทวนอย่างไร คือถ้าคุณพูดว่าไม่ได้สืบทอดอำนาจคุณจะมาหวงทำไม อะไรที่มันไม่จำเป็นก็ยกเลิกไป อันนี้คิดแบบที่มันเป็นไปได้มากที่สุดนะ ส่วนเรื่องการตีความนั้นผมก็เห็นด้วย แต่เวลาพูดเรื่องมุมมองทางกฎหมายมันพูดได้หลายระดับคือ หนึ่งอาจเป็นระดับที่อาจตีความได้ว่าไม่มีผลตั้งแต่แรกคือ เป็นโมฆะตั้งแต่ต้นเสียแล้ว อย่างที่สองคือตอนนี้มันมีผลอยู่จะทำอย่างไรเพื่อทบทวนคำสั่งที่มาจากรัฐบาล คสช. ซึ่งก็ต้องมีกลไกต่อไป
ผมคิดว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่เคยพูดเรื่องนี้ ถามว่ารัฐธรรมนูญเคยมีไหมไม่ทราบ แต่ควรจะมีเวลาเรามีคำสั่งคสช. อ้างมาตรา 44 เป็น10 ฉบับแล้ว อาจจะเป็นร้อยฉบับอยู่แล้ว ต่อไปข้างหน้า ควรจะทบทวนไหมในเรื่องเหล่านี้ รวมถึงกฎหมายที่ออกมาเต็มไปหมดนี้ก็ต้องมาทบทวน
สังคมไทยไม่ควรอยู่ในภาวะไม่ปกติ คสช.จะออกคำสั่งอะไรก็ต้องมาตรวจสอบถูกทบทวนเมื่อกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ทำไมถึงไม่ทบทวน การทบทวนอาจจะเป็นแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดูมา แต่มันไม่ถูกกำหนดไว้เป็นภารกิจซึ่งถ้ากำหนดใหม่ผมว่าต้องมีการทบทวนเรื่องนี้ก็อาจจะมีคณะกรรมการอะไรตั้งขึ้นมาและใช้อำนาจของรัฐบาลที่มาจากประชาธิปไตยตรวจสอบคำสั่งหรือการใช้อำนาจทางกฎหมายจากมาตรา 44
แต่ถ้าเราดูจากร่างรัฐธรรมนูญมีแนวโน้มสูงมากว่าจะมีการสืบทอดและจะมีคณะกรรมการอีก 20 ปี ตรงนี้อาจกลายเป็นอุปสรรคในการตรวจสอบการใช้อำนาจของ คสช.หรือไม่
ผมคิดว่าถ้ายังมีการใช้อำนาจ ยังกำหนดให้คสช. สามารถใช้อำนาจเช่นมาตรา 44 ก็ไม่ต้องไปพูดถึงสิทธิเสรีภาพหรืออะไรพวกนี้ทั้งหมดเพราะว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่มีอยู่จริง มาตรา 44 ยกเว้นได้ทั้งหมดอยู่แล้ว คุณอาจจะเขียนอะไรไว้ดีก็ตามในระหว่างนั้นก็อาจจะออกคำสั่งจาก มาตรา 44 มา แล้วก็ต่อเนื่องไปตราบจนกว่าจะถูกยกเลิกเพิกถอนซึ่งหมายความว่า อย่างไรเสียสิทธิและเสรีภาพที่เขียนไว้ก็เป็นแค่สิ่งที่กำหนดไว้แต่จริง ๆ แล้วมีอำนาจซ้อนทับที่ครอบไว้อยู่และยังไม่ได้รับการแก้ไข พูดง่าย ๆ ผมคิดว่าต้องเลิกใช้อำนาจตามมาตรา 44 มันถึงจะมีความมั่นใจว่าสิทธิเสรีภาพที่อยู่ในร่างรัฐธรรมนูญจะมีผลบังคับใช้ได้จริง
“การพูดถึงสิทธิชุมชนคือ ชุมชนเป็นประธานสิทธิ เป็นเจ้าของแห่งสิทธินั้นที่จะไปเรียกร้องทั้งรัฐและเอกชนต่าง ๆ ได้อยู่แล้ว ในขณะที่การระบุไว้ว่าเป็นหน้าที่ของรัฐกลายเป็นว่าชุมชนไม่มีสิทธิอะไรแต่มีหน้าที่ไปเรียกร้องกับรัฐเพื่อให้รัฐช่วยจัดการให้เรา ซึ่งผมคิดว่าเป็นความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงทั้งทางกฎหมายและทางวัฒนธรรม”
ถ้ามามองเรื่องกฎหมาย เรื่องสิ่งแวดล้อมในตัวร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีการทำประชามติฉบับนี้มีประเด็นเกี่ยวกับเรืองสิ่งแวดล้อม สิทธิชุมชนกับสิ่งแวดล้อมน้อยเกินไปหรือมากขึ้นกว่าเดิม
หลัก ๆ ก็มองเห็นได้ชัดอยู่แล้วว่าโดนตัดเรื่องสิทธิชุมชนออกไปซึ่งอันนี้เป็นฐานในการใช้สิทธิที่สำคัญของชุมชนซึ่งการใช้สิทธิไม่ได้มีนัยยะทางกฎหมาย ผมคิดว่าเป็น การบอกว่าสิ่งที่เขากำลังต่อสู้สิ่งที่เขากำลังเรียกร้องมันมีตัวตนและได้รับการยอมรับในระบบอย่างจริงจังนั้นมันมีนัยยะทางวัฒนธรรม มีความเชื่อมั่นความภาคภูมิใจในการใช้สิทธิของเขาด้วย
ถ้าไปดูสิ่งที่คุณหน่อย จินตนา แก้วขาว นักสิทธิมนุษยชน (บ่อนอก- หินกรูด) เคยพูดไว้ว่า ชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งร่วมต่อสู้เรื่อง สิทธิชุมชนกับสิ่งแวดล้อมเองก็เอามาตราเกี่ยวกับสิทธิชุมชนติดแปะไว้ที่ฝาบ้านเพราะว่านี่คือฐาน มันเหมือนกับว่าเป็นสิ่งที่ทำให้เขาเห็นว่ามีอำนาจบางประการที่จะไปพูดกับเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือใครก็ตามที่จะมาละเมิดสิทธิของเขา ผมคิดว่าเรื่องสิทธิชุมชนนอกจากจะเป็นสิทธิในทางกฎหมาย สิทธิในการเรียกร้องในรัฐธรรมนูญของไทย ในเชิงวัฒนธรรมเอง สิทธิมนุษยชนซึ่งระบุไว้ในรัฐธรรมนูญก็ทำให้เขามั่นใจในการใช้อำนาจของเขาด้วย ซึ่งอันนี้มันจะหายไปเลยจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้
แล้วคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญอ้างว่าใส่ไว้ในหน้าที่ของรัฐ ซึ่งจริง ๆ แล้วมันก็คนละแนวคิดกัน อันนั้นหมายความว่าเราไปอ้างให้เรื่องทุกเรื่องโดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่รัฐต้องเข้ามาจัดการถูกไหม ถ้าประชาชนเรียกร้องก็ต้องเรียกร้องผ่านรัฐเข้าไป ผมคิดว่ามันแตกต่างกันอย่างชัดเจนว่า การพูดถึงสิทธิชุมชนคือ ชุมชนเป็นประธานสิทธิ เป็นเจ้าของแห่งสิทธินั้นที่จะไปเรียกร้องทั้งรัฐและเอกชนต่าง ๆ ได้อยู่แล้ว ในขณะที่การระบุไว้ว่าเป็นหน้าที่ของรัฐกลายเป็นว่าชุมชนไม่มีสิทธิอะไรแต่มีหน้าที่ไปเรียกร้องกับรัฐเพื่อให้รัฐช่วยจัดการให้เรา ซึ่งผมคิดว่าเป็นความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงทั้งทางกฎหมายและทางวัฒนธรรม
พูดง่าย ๆ ว่า รัฐเป็นประธานเรื่องคือ รัฐเป็นตัวตนใหญ่สุดในขณะที่สิทธิชุมชนประชาชนเป็นใหญ่ เราเรียกร้องเพราะว่าเป็นสิทธิของเรา ส่วนอันนั้นเราเรียกร้องเพราะว่าเป็นสิทธิของรัฐมันไม่เหมือนกันเลย ต้องไปอาศัยรัฐ จริงอยู่ว่าการใช้สิทธิชุมชนจะต้องผ่านองคาพยพต่าง ๆ แต่มันไม่เหมือนกันเพราะอันนั้นประชาชนคือจุดศูนย์กลางที่จะเข้าไปจัดการในเรื่องต่างๆ แต่อันนั้นรัฐเป็นศูนย์กลางที่จัดการเรื่องนั้นๆ ให้
รวมถึงอำนาจหน้าที่ของรัฐก็เขียนไม่ครบ หลักสำคัญหลายเรื่องก็ไม่ได้เขียนขึ้น เช่น การได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติหรือสิทธิในการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี หรือตามมาตรา 67 ตามรัฐธรรมนูญ 2550 ก็หายไปเลย ตอนนี้ก็มีการประกาศว่าจะปรับแต่ก็ไม่รู้ว่าจะปรับแค่ไหนอย่างไรซึ่งผมคิดว่าประเด็นนี้ก็ยังไม่มี ทั้ง ๆ ที่เป็นประเด็นที่สำคัญมากทางด้านสิ่งแวดล้อม
ตามมาตรา 67 วรรคหนึ่งเองก็ตามคือ สิทธิในการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติหรือสิทธิแห่ง การได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีนั้นเป็นฐานสำคัญ เช่น ในคดีการปนเปื้อนสารตะกั่วที่คลิตี้ศาลปกครองสูงสุดก็ให้ค่าเสียหายในการละเมิดสิทธิการใช้ทรัพยากรจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาแล้ว พูดง่าย ๆ ว่า วรรคหนึ่งมีนัยยะของสิทธิในเชิงเนื้อหาที่รับรองสิทธิในการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนและสิทธิในการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ซึ่งการตัดไปอย่างนี้ก็อาจจะทำให้ไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องที่เคยมีอยู่เดิมนั้นหายไปคือ พูดง่าย ๆ ว่า ด้านสิทธิชุมชนมันมีการพูดคุยต่อรองการใช้สิทธิการตีความของผู้คนที่เกี่ยวข้องในกลุ่มคน ระดับหนึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาพอสมควรแล้ว ฉะนั้นนี่คือการตัดการใช้สิทธิสิ่งแวดล้อมหรือสิทธิชุมชนออกไปทั้งสิ้นเลย
แล้วศาลปกครองสูงสุดเคยมีคำวินิจฉัยในปี2558 ตีความว่า มาตรา 67 ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 มีนัยยะเป็นสิทธิชุมชน เหมือนเป็นประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแล้ว สามารถบังคับใช้ได้ตามมาตรา 5 รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ในหมวดบททั่วไป ศาลปกครองก็ใช้มาตรานี้ในการตีความทางกฎหมายเพื่อให้อำนาจแก่สิทธิชุมชน นั่นหมายความว่า ศาลปกครองยอมรับสิทธิชุมชนว่าเป็นสิทธิที่มีความสำคัญเหมือนเป็นประเพณีในระบอบการปกครองประชาธิปไตย เรียกได้ว่ามีการใช้กันมาอย่างยาวนานและเป็นสิทธิสำคัญที่ขาดไปไม่ได้ คำว่าประเพณีก็คือมันต้องดำรงต่อไปในสังคมไทย ที่น่ากังกลมากก็คือ เรื่องเหล่านี้ถูกตัดออกไปจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่สังคมไทยกำลังจะไปลงประชามติ
แล้วหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ มาตรา 53 ในร่างรัฐธรรมนูญที่จะเปิดให้ลงประชามติที่ว่า “รัฐต้องอนุรักษ์ คุ้มครอง บำรุงรักษา ฟื้นฟู บริหารจัดการ และใช้หรือจัดให้มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน โดยต้องให้ประชาชนและชุมชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการดำเนินการและได้รับประโยชน์จากการดำเนินการดังกล่าวด้วยตามที่กฎหมายบัญญัติ” นั้น ไม่มากพอที่จะให้อำนาจแก่ประชาชนในเรื่องของสิทธิชุมชนหรือ
ผมคิดว่าอาจจะมีข้อจำกัดในการใช้อำนาจอยู่บ้างเพราะอำนาจรัฐก็เป็นเรื่องใหม่ยังไม่เคยเห็นผลว่า ศาลจะตีความว่าอย่าไรครับ แต่เรื่องสิทธิชุมชนนั้นมีการใช้สิทธิกันมาปีนี้ก็ 19 ปีแล้ว มันมีระยะเวลาในการตีความ และความคลี่คลายของการใช้สิทธินี้มานานพอสมควรแล้ว ผมว่าหาคำตอบไม่ได้หรอกเพราะสังคมไทยกำลังพูดว่า จะรับร่างรัฐธรรมนูญที่ดีอย่างไร ถ้ามันไม่ดีจะไปรับมันทำไมก็ยังงงอยู่ คือ มันไม่ดีขึ้นแล้วพวกเขาจะไปร่างมันทำไมก็เอาของเดิมมาใช้สิ
เป็นข้อเสนอไหมว่า ให้นำรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550 มาใช้ก่อนเพื่อให้จัดการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด
คือปรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่จะลงประชามตินี้ก็ได้ผมไม่ได้ว่าอะไร แต่ผมก็มีข้อเสนอเช่น เรื่องสิทธิด้านสิ่งแวดล้อม หรือเรื่องสิทธิทางทรัพยากรธรรมชาติควรเขียนระบุไว้ในรัฐธรรมนูญให้ชัดเจนเป็นเนื้อหาไปเลย เพราะที่ผ่านมามีการระบุในรัฐธรรมนูญเพียงแค่นิดเดียวว่า ประชาชนมีส่วนร่วมกับรัฐในเรื่องนี้ เป็นการเขียนผิดในเชิงกระบวนการ เขียนให้อำนาจแบบขอให้พอมีเท่านั้น
อย่างในรัฐธรรมนูญของต่างประเทศ ซึ่งผมเคยไปพูดในคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย หลายประเทศเขาเขียนให้เป็นสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมที่มีความชัดเจนในทางปฏิบัติไม่ใช่เขียนพ่วงกับสิทธิการมีส่วนร่วมกับรัฐ ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่มันขาดหายไปในรัฐธรรมนูญของไทยซึ่งตามหลักการต้องเขียนรองรับ เหมือนการเขียนเรื่องสิทธิทางชีวิตร่างกายในรัฐธรรมนูญ โดยต้องเขียนว่าประชาชนทุกคนมีสิทธิที่จะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีมีความปลอดภัย ไม่ถูกใครมาละเมิดเป็นต้น ซึ่งในทางกฎหมายเรียกว่าการรับรองสิทธิในเชิงเนื้อหาให้ชัดเจน
“การต่อสู้ทางความคิดก็เป็นเรื่องที่ต้องทำงานกันอย่างต่อเนื่องยาวนานผมก็ไม่คิดว่าเราจะสามัคคี สมานฉันท์กัน เห็นพ้องต้องกันทุกเรื่องกันได้โดยง่าย การต่อสู้ทางความคิดที่มีความหลากหลายโดยเฉพาะการมองทั้งหมดในการขับเคลื่อนสิทธิเสรีภาพไม่ว่าจะในด้านสิ่งแวดล้อมหรือด้านอื่นๆ ยังไงก็ต้องใช้เวลา ความอดทนและความใจกว้างด้วย”
มีนักสิทธิมนุษยชน รวมถึงนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมออกมาบอกว่าไม่ได้ต่อต้านคสช. หรือมาตรา 44 มีปัญหากับแค่คำสั่งที่ 3 และ 4 /2559 เท่านั้น กลายเป็นว่า เวลาผลักประเด็นแบบนี้ กลุ่มผู้ที่เคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมไม่ได้ต่อสู้ที่ใจกลางปัญหาซึ่งก็คือ อำนาจที่ คสช.ใช้ รวมถึงบทบาทของคสช.เองที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนแต่ต้น
ผมคิดว่าเป็นเรื่องของยุทธวิธีในการทำงาน เท่าที่ผมสัมผัสเองเรื่องการวิพากษ์การใช้อำนาจโดยไม่ชอบธรรมของ คสช. เป็นลักษณะทั่วไปที่เกิดขึ้นในสังคมแล้ว เพียงแต่ว่าการนำเสนอยุทธวิธีต่อสาธารณะก็มีข้อจำกัดในหลายเรื่อง อยากให้มองอย่างนั้นนะ ผมคิดว่าหลายเรื่องในทางการนำเสนอก็ต้องเป็นอย่างนั้น แต่ว่าถ้าจะดูเรื่องร่างของรัฐธรรมนูญก็อาจจะต้องมองเป็นภาพรวมอย่างที่ผมบอกว่า สังคมไทยไม่อาจมองเรื่องสิทธิชุมชน สิทธิสิ่งแวดล้อมแยกเฉพาะกลุ่มได้แต่ต้องมองอย่างเชื่อมโยงสัมพันธ์กันผมคิดว่าการมองแบบภาพรวมมันจะมีความชัดเจนมากขึ้น การมองแบบทั้งหมดมันไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ว่าก็ต้องค่อย ๆ ให้เวลาและบางเรื่องที่กำลังจะบอกว่ามองแบบแยกส่วนนั้นก็ไม่ช่วยอะไรหรอก
แต่ว่าก็อย่าไปติดกระบวนวิธีในการนำเสนอในบางช่วงบางเวลานะ ผมคิดว่าบางช่วงเวลาอาจมีข้อจำกัดในการนำเสนอของมันอยู่มันจะพูดให้ได้ทั้งหมดทุกเรื่องก็อาจจะลำบาก แล้วถึงที่สุดแล้วการต่อสู้ทางความคิดก็เป็นเรื่องที่ต้องทำงานกันอย่างต่อเนื่องยาวนาน ผมก็ไม่คิดว่าเราจะสามัคคี สมานฉันท์กัน เห็นพ้องต้องกันทุกเรื่องกันได้โดยง่าย การต่อสู้ทางความคิดที่มีความหลากหลายโดยเฉพาะการมองทั้งหมดในการขับเคลื่อนสิทธิเสรีภาพไม่ว่าจะในด้านสิ่งแวดล้อมหรือด้านอื่น ๆ อย่างไรเสียก็ต้องใช้เวลา ความอดทนและความใจกว้างที่จะรับฟังซึ่งกันและกัน รวมถึงการทำความเข้าใจและพร้อมที่จะขับเคลื่อนไปด้วยกันคือถ้าอันไหนไม่เห็นพ้องต้องกันก็ลองพิสูจน์กันไปสักระยะหนึ่งแล้วค่อยกลับมาทำงานร่วมกันก็ได้
ผมคิดว่าไม่จำเป็นต้องมาร่วมกันทุกทิศทุกทางเสมอไป พูดให้ดูโลกสวยก็คือว่า ถ้าเราอยู่ในเส้นทางเดียวกัน เดี๋ยวมันก็ไปบรรจบกันเองเหมือนแม่น้ำที่เดี๋ยวมันก็ไปบรรจบกันสักที่หนึ่งที่เรียกว่าความเป็นธรรมนั่นแหละ ก็ต้องอาศัยเวลา แต่การวิพากษ์วิจารณ์ก็ทำกันได้ทำกันไปแต่ใจกว้างกันหน่อยแค่นั้นแหละ
ถ้ารัฐบาลยังไม่ยกเลิกคำสั่งที่ 3 และ 4 / 2559 รวมถึงการตีความเรื่องการเรียกร้องเกี่ยวกับสิทธิชุมชนเป็นสิ่งที่ขัดกับ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะด้วย มันจะนำไปสู่อะไร
อุตสาหกรรมตามแนวนโยบายของรัฐบาลนี้จะขึ้นมาในทุกพื้นที่ตามแผนพัฒนาพลังงาน โรงไฟฟ้าต่าง ๆ ก็อาจจะสามารถขึ้นได้โดยง่ายในทุกพื้นที่โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าขยะ ทุกขนาดไม่ว่าใหญ่หรือเล็กแค่ไหนก็สามารถตั้งตรงไหนก็ได้ซึ่งรวมถึงพื้นที่ต่าง ๆ อย่างกระบี่เขาก็พูดเหมือนกันว่าสามารถตั้งโรงไฟฟ้าหรือท่าเรือที่สนับสนุนโรงไฟฟ้ากระบี่ได้ จะมีอุตสาหกรรมที่อาจจะไม่เหมาะสมในพื้นที่และไม่เป็นตามเจตจำนงของชุมชนเกิดขึ้นได้จำนวนมาก และปัญหานี้ก็จะยืดเยื้อยาวนาน และมันไม่ใช่เรื่องที่แก้ปัญหากันได้โดยง่ายถ้าเกิดมีพื้นที่เสียไปแล้วมันซึ่งอันนี้ก็อาจจะเป็นเรื่องในอนาคตอีกจำนวนมากที่เราอาจต้องมาแก้ไข
ฉะนั้นทางที่ดีที่สุดก็คือ ต้องป้องกันไว้ก่อน ผมไม่ได้ปฏิเสธว่าไม่ควรขึ้นทุกพื้นที่นะ ไม่เกี่ยวนะ แต่ว่า ควรจะต้องมาดูว่าอยู่ในพื้นที่ไหนที่เหมาะสมและต้องมาตรวจสอบด้วยว่าทิศทางการพัฒนาแบบนี้เป็นไปตามเจตจำนงของชุมชนหรือว่านำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนจริง ๆ หรือเปล่า
ถ้าเกิดโครงการดังต่างเกิดขึ้นได้จริงเราจะได้เห็นภาพประชาชนออกมาประท้วงปิดถนนอีกไหม
ความขัดแย้งก็คงจะมีอยู่จำนวนมากซึ่งนั่นคงไม่ใช่สิ่งที่ใครปรารถนา แล้วความขัดแย้งก็จะร้าวลึกไปถึงระดับในชุมชน ซึ่งถ้าไม่อยากให้เกิดปัญหาแบบนี้ผู้มีอำนาจก็ต้องทบทวนแก้ไขเรื่องเหล่านี้ยกเลิกไปเถอะคำสั่งที่ 3 ที่ 4 โดยเฉพาะคำสั่งที่ 4/2559 เป็นคำสั่งที่ไม่นำไปสู่ประโยชน์อะไร ทั้งในแง่ของการบริหารความขัดแย้งไปจนกระทั่งผลกระทบสิ่งแวดล้อม
ในแง่หนึ่งปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เป็นมาโดยตลอดคือชาวบ้านหรือชุมชน ไม่ค่อยรู้ กฎหมายมากนักไม่เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยรูปธรรมแล้วทางเอนลอว์ได้เข้าไปช่วยเหลือหรือจัดการปัญหานี้อย่างไรบ้าง
มันก็มีหลายระดับนะ ในระดับพื้นที่คือ เมื่อEnLAW ไปพบหรือได้รับการร้องเรียนหรือในกรณีที่ได้รับคำสั่งจากฝ่ายเครือข่ายนักองค์การพัฒนาเอกชน องค์การทางกฎหมายก็อาจจะลงไปพูดคุยแลกเปลี่ยนกับเขา แล้วเสริมหนุนในประเด็นที่เขายังคิดว่า เขายังขาดอยู่
อย่างที่สองคือ Enlawอาจจะต้องคิดในเรื่องของการผลิตสื่อให้มากกว่านี้ อันนี้พูดไปเพื่อกดดันตัวเองด้วยนะเพราะคนในมูลนิธิก็มีน้อย พื้นที่ข้อพิพาทมันกว้างขวางแล้วจะทำยังไงที่จะไม่ต้องไปทุกที่แต่สามารถมีหรือสามารถส่งไปทุกที่ได้ เช่น คู่มือ
อันดับที่ 3 คือจะทำอย่างไรให้ผลักดันให้กลไกทางนโยบายหรือกฎหมายเปิดช่องให้ชาวบ้าน เข้ามาเรียนรู้ได้ง่ายขึ้นเช่น เปิดช่องให้มีองค์กรที่เสริมหนุน การให้ความรู้ทางกฎหมายโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และเกื้อหนุนให้เขาสามารถทำงานในพื้นที่ได้มากขึ้นหรือเปิดโอกาสให้นักกฎหมายรุ่นใหม่ได้เข้ามาเรียนรู้ ในประเด็นนี้มากขึ้นซึ่งผมเข้าใจว่าในระบบ การเรียนการสอนด้านกฎหมาย มันไม่มีทางเลือกของการทำงานมิติทางด้านสังคม คิดว่าจะเรียกว่าเป็นทางเลือกยังไม่ได้เลยเพราะว่ายังไม่มี มันมีน้อยจนไม่น่าจะเรียกว่าเป็นทางเลือกนะ เรียกว่าเป็นนิตินอกกระแสซะมากกว่าซึ่งเรื่องแบบนี้ยังมีน้อยเกินไปและจะทำอย่างไรให้การทำงานและการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยซึ่งนอกจากจะพูดถึงการใช้วิชาชีพตามระบบทั่วไปหรือการสนับสนุนลอว์เฟิร์มทางธุรกิจแล้ว ให้มีนักกฎหมายที่อยากช่วยเหลือทางสังคมมากกว่านี้…