“ไผ่” ยืนยันไม่เคยทำผิด 2 เงื่อนไขประกันตัว ชี้ประท้วงเพื่อ #ไล่ประยุทธ์ เปิดทางหาวัคซีนจัดการโควิด ศาลนัดฟังคำสั่งพรุ่งนี้

วันนี้ (16 สิงหาคม 2564) ที่ศาลอาญา รัชดาฯ มีนัดไต่สวนคำร้องขอประกันตัว “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ใน 2 คดี เป็นครั้งที่ 2 ได้แก่ คดี #ม็อบ30กรกฎา สาดสีรั้วหน้าพรรคภูมิใจไทย และคดีชุมนุม #ม็อบ3สิงหา สาดสีป้าย สน.ทุ่งสองห้อง หลังจากศาลไม่ให้ประกันตัวเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 64 รวมถึงไต่สวนคำร้องขอประกันในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ที่เขาถูกเพิกถอนประกันอีกด้วย 

> ศาลอุทธรณ์ให้ประกัน “ปูน ธนพัฒน์” ชี้เพิ่งพ้นวัยเยาวชน-เข้ามอบตัวเอง ส่วนอีก 8 นักกิจกรรมศาลยกร้องคำร้อง ด้าน “ไผ่ จตุภัทร์” นัดไต่สวนประกัน 16 ส.ค.

ในวันนี้ศาลได้ไต่สวนผ่านวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ โดยติดต่อทนายความและตำรวจผู้เป็นพยานจากห้องของศูนย์คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในคดีอาญา ในศาลอาญา และติดต่อจตุภัทร์จากทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง

.

ไผ่แถลงยืนยันไม่เคยทำผิดเงื่อนไขให้ประกันที่มี 2 ข้อ เป้าหมายกิจกรรมคือ #ไล่ประยุทธ์ ไม่ได้ทำให้สถาบันฯ เสื่อมเสีย

10.30 น. การไต่สวนเริ่มขึ้น โดยศาลไต่สวนคำร้องขอประกันทั้ง 3 สำนวน ได้แก่ คดี #ม็อบ30กรกฎา สาดสีรั้วหน้าพรรคภูมิใจไทย คดีชุมนุม #ม็อบ3สิงหา สาดสีป้ายสน.ทุ่งสองห้อง และการถูกเพิกถอนประกันในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ไปพร้อมกัน

จตุภัทร์ ในชุดผู้ต้องขังสีน้ำตาล สวมหน้ากากอนามัยและหน้ากากใสคลุมหน้า แถลงต่อศาล ว่าการที่ศาลเคยให้ปล่อยตัวชั่วคราวในคดีชุมนุม 19 กันยา #ทวงอำนาจคืนราษฎรนั้น ศาลได้กำหนดเงื่อนไขด้วยกันเพียง 2 ข้อ คือ “ห้ามเดินทางออกนอกประเทศ” และ “ห้ามกระทำการอันสร้างความเสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์” โดยไม่ได้กำหนดเงื่อนไขอื่นนอกเหนือจากนี้ 

จตุภัทร์ยืนยันว่าที่ผ่านมา ตนพยายามอย่างที่สุดที่จะอยู่ในกรอบของเงื่อนไขดังกล่าว และมั่นใจว่าตนเองไม่ได้กระทำการใดๆ ที่สร้างความเสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์อย่างแน่นอน ตนออกมาเคลื่อนไหวและทำกิจกรรมโดยมีเป้าหมายเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาสถานการณ์โควิดให้ดีกว่านี้ เร่งจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพ ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และขับไล่ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเท่านั้น  

กรณีคดีที่เกิดหน้า สน.ทุ่งสองห้อง และหน้าพรรคภูมิใจไทย ผู้ชุมนุมได้มีมาตรการป้องกันโรคโควิดด้วยการสวมหน้ากากอนามัย มีการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย และให้ทุกคนล้างมือด้วยแอลกอฮอล์

ด้านการถูกออกหมายจับของ สน.ทุ่งสองห้อง ตนก็ได้ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่โดยดีด้วยการเดินทางไปมอบตัว ซึ่งต่อมา สน.บางเขน ก็ได้แสดงหมายจับอีกคดีหนึ่งเพิ่มเติม ฉะนั้นจึงไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนีแต่อย่างใด

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดในเรือนจำรุนแรงอย่างมาก จตุภัทร์กล่าวว่า ผู้ที่อยู่ห้องกักกันโรคห้องข้างๆ กับเขาติดโควิดกันเกือบทั้งห้อง อีกทั้งพื้นที่ของเรือนจำยังไม่เพียงพอต่อการดูแลผู้ต้องขัง เพราะมีผู้ต้องหาผลัดเปลี่ยนเข้ามาอยู่ตลอดเวลา 

จากคำกล่าวอ้างของตำรวจที่ว่ากิจกรรมของตนสร้างความวุ่นวายและสร้างความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิดนั้น ตนเห็นว่าเรือนจำแห่งนี้มีความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโควิดมากกว่าเสียอีก เพราะอยู่ภายนอกยังมีอากาศถ่ายเทสะดวก อีกทั้งมีมาตรการดูแลและควบคุมโรคได้ดีกว่านี้

จตุภัทร์แถลงต่ออีกว่า ก่อนหน้านี้ที่เขาต้องถูกคุมขังในคดีชุมนุม 19 กันยา จำเลยในคดีเดียวกันเคยต้องติดโควิดจากในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาแล้ว ถึง 3 คน ด้วยกัน ได้แก่ “ไมค์” ภาณุพงษ์ จาดนอก, อานนท์ นำภา และ “จัสติน” ชูเกียรติ แสงวงค์

ส่วนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจรายงานต่อพนักงานอัยการเพื่อขอเพิกถอนประกัน โดยอ้างเหตุผลว่า ตนเป็นผู้ต้องคดีอาญาอยู่หลายคดีด้วยกันนั้น ในความเป็นจริงคดีทั้งหลายเหล่านั้น ศาลยังไม่ได้ตัดสินว่ามีความผิดแต่อย่างใด  

จากการถูกตำรวจกล่าวหาว่าตนเป็นผู้ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย จตุภัทร์ขอโต้แย้งว่า ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิและเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ICCPR ที่ประเทศไทยได้ยอมรับนั้นกล่าวว่า พลเมืองมีสิทธิที่จะวิจารณ์หรือต่อต้านรัฐบาลได้ ภายใต้การแสดงออกอย่างสันติ ซึ่งจตุภัทร์ยืนยันว่ากิจกรรมที่เขาจัดขึ้นอยู่ในขอบเขตดังกล่าวที่จะแสดงออกได้อย่างแน่นอน 

จตุภัทร์ยังได้แถลงว่า “ตำรวจไม่เหลือพื้นที่ไว้ให้ผมได้ต่อสู้เลย เมื่อไม่ถึงสถาบันกษัตริย์แล้ว ก็ควรที่จะมีพื้นที่ให้ได้พูดถึงรัฐบาลและการเมืองบ้าง”

.

ถ้อยแถลงของอัยการ ผู้ยื่นขอเพิกถอนประกันตัวคดีชุมนุม 19 กันยา

ต่อมาพนักงานอัยการ ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีชุมนุม 19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร และเป็นผู้ยื่นคำร้องขอเพิกถอนประกันตัวจตุภัทร์ ได้แถลงต่อศาลว่า ตั้งแต่จตุภัทร์ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว จำเลยได้ถูกกล่าวหาในคดีอาญาอีกประมาณ 10 คดี ส่วนใหญ่เป็นคดีที่เนื่องมาจากการชุมนุม เช่น ข้อหาพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ จากนั้นอัยการได้ซักถามจตุภัทร์ในประเด็นการทำกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองฝ่าฝืนต่อข้อกำหนดตามกฎหมายทั้งสองฉบับ และสร้างความเสี่ยงต่อการแพร่โรคโควิดออกไปในวงกว้าง

จตุภัทร์ได้แถลงว่า ที่ผ่านมาไม่พบว่ามีผู้เข้าร่วมชุมนุมคนใดที่ตนและคณะเป็นผู้จัดติดโรคโควิด เพราะทุกการเคลื่อนไหวพวกตนนั้น ได้ออกแบบมาตรการเพื่อป้องกันโรคโควิดได้ดีพอสมควร แต่การชุมนุมอื่นๆ นั้นตนไม่ทราบแน่ชัด เพราะทุกวันนี้มีหลากหลายกลุ่มผู้จัด

จากนั้นพนักงานอัยการได้ถามถึงประเด็นหากได้รับประกันตัวจะทำกิจกรรมต่อไปหรือไม่ และจะสามารถจัดรูปแบบการประท้วงนอกเหนือจากการรวมกลุ่มเข้าด้วยกันได้หรือไม่

จตุภัทร์ยืนยันว่า “หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวก็จะยังคงเข้าร่วมการประท้วงต่อไป” โดยระบุว่าเป็นสิทธิของพลเมืองที่พึงกระทำได้ ที่ผ่านมาก็หลายครั้งที่ประชาชนจัดกิจกรรมโดยไม่มีการรวมกลุ่มกัน เพื่อลดความเสี่ยงต่อโรคโควิด ซึ่งสามารถทำได้

.

ถ้อยแถลงพยานที่ 1 ตร.สน.บางเขน คดีสาดสีหน้าพรรคภูมิใจไทย

พนักงานสอบสวน สน.บางเขน ในฐานะผู้รับผิดชอบสำนวนคดีสาดสีหน้าพรรคภูมิใจไทย แถลงว่า เจ้าหน้าที่ไม่ได้คัดค้านการให้ประกันตัวเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลว่าจำเลยทำผิดเงื่อนไขต่อศาล แต่คัดค้านด้วยเรื่องที่จำเลยกระทำความผิดลักษณะเดียวกันนี้หลายครั้ง โดยนับรวมได้ประมาณ 7 ครั้ง อีกทั้งจำเลยได้ก่อให้เกิดความวุ่นวาย ทำให้ทรัพย์สินของรัฐได้รับความเสียหาย รวมทั้งเจ้าหน้าที่ต้องได้รับบาดเจ็บ ด้วยเหตุดังกล่าวนี้จึงขอคัดค้านการให้ประกันตัวจำเลยในครั้งที่ผ่านมารวมถึงครั้งนี้ด้วย

ทนายความได้โต้แย้งว่า ตำรวจได้ขอฝากขังผู้ต้องหาด้วยเหตุสาดสีหน้าพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นการเรียกร้องให้ลาออกจากพรรคร่วมรัฐบาล แต่ปัจจุบันพรรคภูมิใจไทยยังไม่ได้มีการร้องทุกข์ว่าผู้ต้องหาสร้างความเสียหายต่อพรรคแต่อย่างใด 

จากนั้นทนายความได้ถามพนักงานสอบสวน สน.บางเขน ว่าการคัดค้านการให้ประกันตัวจตุภัทร์และคนอื่นๆ เพราะคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาหรือการทำหน้าที่ของตนเอง

ตำรวจแถลงเพียงว่า “เป็นคดีที่ผู้บังคับบัญชาให้ความสนใจ และผ่านการพิจารณาจากผู้บังคับบัญชาทุกครั้ง”

ทนายความแถลงแย้งว่า ในรายงานการขอเพิกถอนประกันของทางตำรวจที่ยื่นต่ออัยการ อ้างว่าจำเลยต้องคดีอาญารวมประมาณ 10 คดีนั้น ทั้งหมดไม่ได้เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับ สน.บางเขน แต่อย่างใด และล้วนแต่เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองทั้งหมด โดยยังอยู่ในขั้นพนักงานอัยการและชั้นสอบสวนทั้งสิ้น

ในคดีสาดสีหน้าพรรคภูมิใจไทยนี้ ตำรวจได้เคยคัดค้านการให้ประกันตัว แต่ศาลได้ให้ประกันตัวไปแล้ว 3 ใน 4 คน อีกทั้งที่ตำรวจกล่าวอ้างว่าผู้ต้องหาทำกิจกรรมที่ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ถูกทำร้ายร่างกาย ผู้ต้องหาไม่ได้เป็นผู้กระทำอย่างใด แต่อาจเป็นผู้ชุมนุมคนอื่นๆ ฉะนั้นผู้ต้องหาสมควรได้รับการให้ประกันตัว

.

ถ้อยแถลงพยานที่ 2 – ตำรวจ สน.ทุ่งสองห้อง คดีสาดสีหน้า สน.

พนักงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้อง ในฐานะเจ้าของสำนวนคดีสาดสีหน้า สน.ทุ่งสองห้อง เมื่อวันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมา ได้แถลงต่อศาลว่า การที่กลุ่มทะลุฟ้าจัดให้มีการชุมนุมและอ้างความชอบธรรมตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR) ซึ่งไม่ได้บังคับใช้เป็นกฎหมายในประเทศไทยแต่อย่างใด เป็นเพียง ‘ประเพณี’ อย่างหนึ่งเท่าหนึ่ง 

ผู้ต้องหาจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองเรื่อยมา ตั้งแต่ได้รับการประกันตัวจากศาลเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2564 โดยรู้ดีว่าเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด และการชุมนุมที่เกิดขึ้นแต่ละครั้ง ก็ไม่ได้มีการกำชับให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมรักษาระยะห่าง ไม่มีเจลล้างมือแอลกอฮอล์ทั่วถึงทุกคน โดยยืนยันได้จากภาพถ่ายที่ตำรวจสันติบาลบันทึกไว้

อีกทั้งเชื่อว่า จตุภัทร์ไม่มีทางทราบได้แน่ชัดว่ามีใครติดโควิดจากการชุมนุมบ้าง เพราะมีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก พยานยังได้แถลงไปถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดในเรือนจำที่จตุภัทร์กล่าวอ้างว่าย่ำแย่ รวมถึงโต้แย้งเรื่องการจัดการของรัฐบาลว่า 

“ขณะนี้ภาพรวมของประเทศถึงจะมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นหลักสองหมื่นคน แต่จำนวนผู้หายเป็นปกติจนสามารถกลับบ้านได้มีจำนวนใกล้เคียงหรือมากกว่าจำนวนผู้ติดเชื้อในแต่ละวันด้วยซ้ำไป อีกทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อในเรือนจำก็มีแนวโน้มลดลงอย่างเห็นได้ชัด สะท้อนถึงการจัดการที่ดีของรัฐบาล”

และได้ย้ำทิ้งท้ายว่า “เรียกร้องสิทธิของตัวเองได้ แต่ควรอยู่ในขอบเขตของข้อกฎหมาย”

ทนายความจึงได้ถามตำรวจซึ่งเป็นพยานทั้งสองว่า จากรายงานการขอเพิกถอนประกันต่ออัยการ ที่กล่าวอ้างว่าจตุภัทร์กระทำผิดเงื่อนไขการปล่อยตัวของศาล ทราบหรือไม่ว่า เงื่อนไขการให้ประกันมีเพียงสองข้อเท่านั้น คือห้ามเดินทางออกนอกประเทศ และห้ามสร้างความเสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์ 

ทนายยังแถลงอีกว่า กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) เป็นกฎบัตรที่ประเทศไทยรองรับว่าจะปฏิบัติตาม ซึ่งเปรียบเสมือนกฎหมายไม่ใช่แค่ ‘ประเพณี’ ตามที่พยานแถลง

อีกทั้งในรายงานคัดค้านการให้ประกันตัว พยานบันทึกไว้ว่า การชุมนุมบริเวณกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ซึ่งใกล้กับบ้านพักของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นการรุกล้ำแนวเขตพระราชฐาน ซึ่งไม่ตรงกับคำจำกัดความของ ‘เขตพระราชฐาน’ ที่หมายถึงที่ประทับของพระมหากษัตริย์และเจ้าฟ้าเท่านั้น เพราะพระมหากษัตริย์ ไม่ได้ทรงประทับอยู่ในบริเวณนั้น

หลังการไต่สวน ศาลอาญาได้กำหนดนัดหมายฟังคำสั่งการไต่สวนขอประกันตัวในวันพรุ่งนี้ (วันที่ 17 สิงหาคม) เวลา 10.00 น. ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยที่ทนายและผู้เกี่ยวข้องไม่ต้องเดินทางไปศาล 

จนถึงขณะนี้ พบว่ามีผู้ต้องหาทางการเมืองติดโควิดแล้วอย่างน้อย 4 ราย ได้แก่ “ปูน” ธนพัฒน์ ตรวจพบโควิดขณะถูกปล่อยจากเรือนจำชั่วคราวรังสิต เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม โดยตรวจพบพร้อมกับ “นิว” สิริชัย นาถึง และ “ฟ้า” พรหมศร วีระธรรมจารี และล่าสุดในวันนี้มีรายงานว่า “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ มีผลตรวจออกมาว่าติดโควิดขณะถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำชั่วคราวรังสิตเช่นเดียวกัน  

.

X