ตร.ยังไม่สรุปสำนวนคดี “พูดเพื่อเสรีภาพ” เลื่อนส่งอัยการทหาร

ตร.ยังไม่สรุปสำนวนคดี “พูดเพื่อเสรีภาพ” เลื่อนส่งอัยการทหาร

รูคดีพูดเพื่อเสรีภาพ

พนักงานสอบสวนเลื่อนส่งสำนวนให้อัยการศาล มทบ.23 เหตุยังสรุปสำนวนไม่เสร็จ ด้าน กสม.เตรียมประชุมผู้เกี่ยวข้องในคดี ตรวจสอบการละเมิดสิทธิ

19 ม.ค. 60 เวลาประมาณ 10.00 น. ผู้ต้องหา “คดีพูดเพื่อเสรีภาพ” เดินทางไปสถานีตำรวจภูธรเมืองขอนแก่น ตามที่พนักงานสอบสวนนัดส่งตัวผู้ต้องหาพร้อมสำนวนให้อัยการศาลมณฑลทหารบกที่ 23 (มทบ.23) แต่เนื่องจากคณะพนักงานสอบสวนยังอยู่ในระหว่างสรุปสำนวนการสอบสวน จึงเลื่อนนัดผู้ต้องหาออกไปเป็นวันที่ 23 ก.พ. 60

 

ภาวิณี ชุมศรี ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเปิดเผยว่า การที่พนักงานสอบสวนเลื่อนไปเพราะสรุปสำนวนยังไม่เสร็จนั้น เนื่องจากผู้ต้องหาได้เชิญนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญมาให้ปากคำตั้งแต่ในชั้นสอบสวนแล้ว ดังนั้นเจ้าหน้าที่ต้องใช้เวลาสรุปสำนวนอย่างรอบคอบ อีกทั้งคดีนี้เป็นคดีที่เกี่ยวกับการใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ดังนั้นการที่เจ้าหน้าที่เลื่อนส่งตัวให้อัยการทหารนั้น อาจจะเป็นสัญญาณที่ดีว่าจะไม่สั่งฟ้อง

 

ทั้งนี้  ผู้ต้องหาที่เดินทางมาสถานีตำรวจในวันนี้มี ณรงค์ฤทธิ์ อุปจันทร์, ฉัตรมงคล เจนเชี่ยวชาญ, ภานุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์, และเอ (นามสมมติ) – 4 นักศึกษา, ณัฐพร อาจหาญ นักกิจกรรมกลุ่มอีสานใหม่, ดวงทิพย์ ฆารฤทธิ์, และนีรนุช เนียมทรัพย์ เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ส่วน ‘ไผ่’ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ยังถูกขังอยู่ในทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่น เนื่องจากไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว ในคดีความผิดตามมาตรา 112 จากกรณีแชร์ข่าวของสำนักข่าว BBC Thai เกี่ยวกับพระราชประวัติของ ร.10 จึงไม่สามารถมาพบพนักงานสอบสวนตามที่นัดหมาย

ขณะที่พนักงานสอบสวนไม่ได้นัด นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย และ ผศ.พรรณวดี ตันติศิรินทร์ อดีตอาจารย์บัณฑิตศึกษา คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เข้าพบพร้อมกันในวันนี้ ส่วน ‘โรม’ รังสิมันต์ โรม สมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมกระบวนการตามกฎหมาย เนื่องจากเป็นคดีฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ซึ่งไม่มีความชอบธรรมในการออกคำสั่งมาตั้งแต่ต้น

 

ผู้ต้องหา 11 คนในคดีนี้ ถูกออกหมายเรียกเข้ารับทราบข้อกล่าวหา จากกิจกรรม “พูดเพื่อเสรีภาพ รัฐธรรมนูญกับคนอีสาน?” ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 59 ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นโดยกลุ่มพลเมืองคนรุ่นใหม่ ร่วมกับขบวนการประชาธิปไตยใหม่อีสาน (NDM) มีวัตถุประสงค์เพื่ออภิปรายเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญและการลงประชามติ นับเป็นกิจกรรมเดียวที่ถูกดำเนินคดี และมีนักสิทธิมนุษยชนที่เข้าสังเกตการณ์การละเมิดสิทธิถูกดำเนินคดีด้วย  ก่อนหน้านี้มีการจัดกิจกรรมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญและการออกเสียงประชามติในลักษณะเดียวกันที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และที่อื่น ๆ ต่างก็ไม่มีใครถูกดำเนินคดี

ด้านสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ส่งหนังสือเชิญผู้ต้องหาในคดีนี้ รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมในฐานะพยานบุคคล ในวันที่ 23 ม.ค. 60  เพื่อตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน กรณีการจับกุมและดำเนินคดีกับผู้ร่วมรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญฯ เนื่องจากคณะกรรมการสิทฺธิฯ พิจารณาแล้วเห็นว่าอาจจะมีการละเมิดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น จึงได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ตรวจสอบกรณีดังกล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เลื่อนส่งคดี ‘พูดเพื่อเสรีภาพ’ ให้อัยการทหาร รอสอบพยานผู้เชี่ยวชาญอีก 2 ปาก

 

 

 

 

 

 

 

 

 

X