ครอบครัวยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้เปิดเผยข้อมูลสำนวนการสืบสวน “คดีวันเฉลิม” ยันใช้สิทธิผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง

วันนี้ (4 ส.ค. 64) ช่วงเวลาประมาณ 13.00 น. น.ส.สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ได้ส่งหนังสืออุทธรณ์คำสั่งไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสำนวนการสืบสวนกรณีนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้สูญหายและถูกประทุษร้ายระหว่างอาศัยอยู่ในประเทศกัมพูชา ทางไปรษณีย์ ถึงสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 64 สิตานันได้ยื่นหนังสือขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เปิดเผยรายงานความคืบหน้าของคดีการหายตัวไปของนายวันเฉลิม และให้อนุญาตเข้าตรวจสำนวนคดีของวันเฉลิม โดยอ้างสิทธิตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 

ต่อมาเมื่อวันที่ 21 ก.ค. 64 สิตานันได้รับหนังสือแจ้งผลการดำเนินการของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ลงวันที่ 16 ก.ค. 64 แจ้งให้ทราบว่าสำนวนการสืบสวนอยู่ระหว่างการสอบสวน และกรณีดังกล่าวเป็นข้อมูลลับตามระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ พ.ศ. 2544 ที่มีกฎหมายคุ้มครองไม่ให้เปิดเผย และเป็นข้อมูลข่าวสารที่หากมีการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว อาจทำให้การบังคับใช้กฎหมายเสื่อมประสิทธิภาพหรือไม่สำเร็จตามวัตถุประสงค์ ตามนัยมาตรา 15 (2) (6) แห่ง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ. 2540 จึงไม่มีคำสั่งให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารดังกล่าวได้

ทั้งนี้แล้ว ตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ. 2540 มาตรา 18 ระบุว่าผู้ขออาจอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งนั้นโดยยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการ

หนังสือแจ้งผลการดำเนินการของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ลงวันที่ 16 ก.ค. 64 ลงชื่อโดย ร.ต.อ.วิษณุ ฉิมตระกูล ผอ.กองคดีความมั่นคง ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ

เปิดหนังสืออุทธรณ์ ใช้สิทธิผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวข้องโดยตรงและสิทธิเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนเข้าถึงได้

ในหนังสืออุทธรณ์ ระบุถึงประธานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ ขอให้คณะกรรมการวินิจฉัยเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการ มีคำวินิจฉัยสั่งให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ กองคดีความมั่นคง เปิดเผยเอกสารตามคำขอของผู้อุทธรณ์ ซึ่งเป็นมารดาของนายวันเฉลิม และพี่สาวของวันเฉลิม ผู้รับมอบอำนาจของผู้อุทธรณ์ ให้เข้าตรวจสำนวนดู ศึกษา และอาจให้สำเนาเอกสารดังกล่าว

รายละเอียดของหนังสืออุทธรณ์ที่ได้ยื่นต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ สรุปได้ดังนี้

1. ผู้อุทธรณ์ขอใช้สิทธิร้องขอข้อมูลข่าวสารที่มีส่วนได้เสียเกี่ยวข้องโดยตรง ในฐานะมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ถือเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เกี่ยวข้องโดยตรงกับข้อมูลข่าวสารที่ได้ขอเข้าตรวจดู ซึ่งข้อมูลข่าวสารตามคำขอคือข้อมูลที่เกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวนเกี่ยวกับพฤติการณ์ สถานที่ สภาพแวดล้อมและหาตัวผู้กระทำต่อชีวิต ร่างกาย และเสรีภาพของบุตร

รวมถึงข้อมูลข่าวสารดังกล่าวอยู่ในความครอบครองของกรมสอบสวนคดีพิเศษที่จะรวมไว้ในผลการพิจารณาหรือมติคณะกรรมการที่แต่งตั้งโดยกฎหมาย เพื่อมีมติในการรับช่วยเหลือคดีนี้เป็นพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษจึงต้องจัดไว้ให้ประชาชนเข้าตรวจดูได้ และให้ผู้อุทธรณ์คัดถ่ายสำเนาได้ตามมาตรา 9 และ 11 แห่ง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540

2. ข้อมูลข่าวสารที่ผู้อุทธรณ์ใช้สิทธิร้องขอ เป็นข้อมูลข่าวสารที่เปิดเผยให้ประชาชนเข้าถึงได้ เนื่องจากวัตถุประสงค์ของผู้ขอ คือเพื่อทราบที่อยู่และชะตากรรมของบุตรชาย ถือว่าเป็นการค้นหาความจริงในกระบวนการยุติธรรมตามปกติของครอบครัวผู้เสียหาย ไม่ได้ต้องการเข้าถึงสำนวนการสอบสวนเพื่อบิดเบือนข้อเท็จจริงและปกป้องผู้กระทำความผิดแต่อย่างใด อีกทั้งยังเป็นหนทางให้ผู้อุทธรณ์เข้าถึงได้จึงไม่ทำให้การบังคับใช้กฎหมายเสื่อมประสิทธิภาพหรือไม่อาจสำเร็จตามวัตถุประสงค์ อันจะเป็นการขัดต่อมาตรา 15 (2) และ (6) แห่ง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540

ทั้งนี้การเปิดเผยข้อมูลการสืบสวนเป็นการสร้างความโปร่งใสในการปฏิบัติงานและการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่และหน่วยงานของรัฐเองด้วย รวมถึงเป็นการส่งเสริมให้ผู้อุทธรณ์และประชาชนทั่วไปสามารถร่วมให้ข้อมูล ตรวจสอบ และมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นได่ตามข้อเท็จจริงอย่างถูกต้องครบถ้วยเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

ทั้งนี้ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ มีเจตนารมณ์กำหนดไว้เป็นหลักการสำคัญว่า “ข้อมูลข่าวสารของราชการ” จะต้องเปิดเผยเป็นการทั่วไป ส่วนการปกปิดไม่เปิดเผยเป็นเพียง “ข้อยกเว้น” หรือจะเป็นกรณีที่กฎหมายให้อำนาจหน่วยงานรัฐ ผู้ครอบครองข้อมูลข่าวสารสามารถใช้ดุลพินิจในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารได้

ทั้งนี้การใช้ดุลพินิจนั้น ต้องตีความ “ข้อยกเว้น” ให้กระทบต่อสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชนน้อยที่สุด ตามที่ผู้อุทธรณ์ได้ขอไปนั้น เป็นข้อมูลที่มีความจำเป็นต้องเปิดเผยให้ประชาชนได้รับรู้และรับทราบ เพื่อประโยชน์ของครอบครัวและประชาชนในวงกว้าง ถือเป็นประโยชน์สาธารณะและสวัสดิภาพความปลอดภัยของประชาชนคนไทยทั้งในและต่างประเทศอีกด้วย

จนถึงปัจจุบัน ผ่านไปแล้วเป็นเวลา 1 ปีกับ 2 เดือนนับตั้งแต่วันที่นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ถูกประทุษร้ายและบังคับให้สูญหายไปในระหว่างที่อาศัยอยู่ในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา น.ส.สิตานัน ได้เข้าให้ข้อมูลและยื่นหลักฐานสำคัญให้กับศาลชั้นต้นแห่งกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ไปเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 63 และกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ เมื่อวันที่ 25 มี.ค. และ 2 มิ.ย. 64

รวมถึงได้ส่งหนังสือและเข้าให้หลักฐานเพิ่มเติมต่ออัยการสูงสุด ขอร้องทุกข์และกล่าวโทษให้ดำเนินคดีเกี่ยวกับกรณีนายวันเฉลิมฯ โดยมีความประสงค์ให้อัยการสูงสุดตั้งคดีวันเฉลิมฯ เป็นคดีนอกราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 63 และ 19 มี.ค. 64

ตลอดระยะเวลาดังกล่าว มีการส่งเรื่องกลับไปมาระหว่างทางอัยการสูงสุดและกรมสอบสวนคดีพิเศษ จนกระทั่งเมื่อช่วงเดือนมกราคม 64 ที่ผ่านมา ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับเรื่องต่อจากอัยการสูงสุดและและคณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ กรณีถูกกระทำทรมานและบังคับให้หายสาบสูญ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เพื่อทำการพิจารณาให้ตั้งคดีนายวันเฉลิมให้เป็นคดีพิเศษ เพื่อหาข้อเท็จจริงต่อไป

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง 

วันผู้ลี้ภัยโลก: ภาวะคลุมเครือการตามหา “ต้าร์-วันเฉลิม” ถึงเวลาเดินหน้ากระบวนการยุติธรรมฝั่งไทย-กัมพูชา 

ดีเอสไอยังไม่รับเป็นคดีพิเศษ: 1 ปี บังคับสูญหาย “วันเฉลิม” – 2 ปี “สยาม” 

พี่สาวยืนยันจะให้การต่อตุลาการผู้ไต่สวนคดี กรณีบังคับสูญหาย “วันเฉลิม” ณ ศาลกรุงพนมเปญ

เปิดหนังสือไทย – กัมพูชา ตอบกลับกลไกยูเอ็น ยังไร้ร่องรอยชะตากรรมวันเฉลิม

X