เจ้าของร้านประตูสแตสเลสเชียงคาน พบชายไปหาที่บ้านถามเรื่องโพสต์หมิ่นสถาบันฯ กล่าวกังวล “ถ้าวันหนึ่งผมสูญหายไป โจทก์ไม่ใช่ใครนอกจากเจ้าหน้าที่รัฐ”  

25 กรกฎาคม 2564 เวลา 10.00 น. ขณะเกรียงไกร สิงหฬ เจ้าของร้านประตูสแตนเลสแห่งหนึ่ง ในอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ซ่อมเครื่องจักรอยู่ที่บ้าน มีชายปริศนาไม่ระบุที่มาหรือสังกัด ลงจากรถกระบะมาสอบถามหาเกรียงไกรก่อนจะถามว่า ช่วงนี้ได้โพสต์ข้อความอะไรที่หมิ่นสถาบันกษัตริย์หรือไม่ เกรียงไกรจึงถามย้อนไปว่า ใครให้มาถาม และมีเอกสารหลักฐานอะไรมาหรือไม่ ชายคนดังกล่าวตอบว่า ไม่มีเอกสาร ทั้งยังระบุไม่ได้ว่ามีการโพสต์หมิ่นสถาบันฯ จากโพสต์ไหน เพียงระบุว่า โพสต์เมื่อเร็วๆ นี้ และผู้ที่ให้มาสอบถาม คือผู้กำกับ แต่ไม่ได้บอกว่าเป็นผู้กำกับสถานีตำรวจแห่งไหน ก่อนจะถามลักษณะยืนยันตัวตนว่า เกรียงไกรเป็นเขยหมู่บ้านแห่งหนึ่งในตำบลนี้หรือไม่ ซึ่งเกรียงไกรตอบว่าใช่ และระบุชื่อหมู่บ้านนั้นไป

ก่อนที่ภรรยาจะเดินออกจากบ้านเอาโทรศัพท์มาถ่ายรูปชายคนนั้นไว้ นอกจากนี้ที่บ้านเกรียงไกรยังติดกล้องวงรปิดซึ่งบันทึกภาพรถและชายคนดังกล่าวไว้ด้วย เกรียงไกรคาดว่า ยังชายอีกคนนั่งอยู่ในรถด้วย

“ที่น่ากังวลคือไม่เคยเห็นหน้าชายคนนั้นมาก่อน สงสัยด้วยว่า ทำไมถึงพยายามระบุที่อยู่ของผมว่าอยู่ที่นี่ และตะหงิดใจ ไม่รู้ว่าสืบค้นข้อมูลได้มากกว่านี้หรือไม่” เกรียงไกรกล่าว

เกรียงไกรยังเล่าต่อว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ภรรยาของเขากลัวและกังวลมาก  เพราะอยู่ๆ ก็มีคนมาถามเรื่องการโพสต์หมิ่นสถาบันฯ 

สำหรับสิ่งที่เกิดขึ้น เกรียงไกรเห็นว่าไม่ควรมีใครสมควรเจอเรื่องแบบนี้  และถ้าหากเจ้าหน้าที่จะมา เขาอยากให้ระบุเหตุของการมา และมีเอกสารแจ้งชัดเจน อย่ามารบกวนเพียงถามหาพิกัดและที่อยู่  

“เราอยู่ในประเทศที่เต็มไปด้วยอำนาจมืด และพร้อมจะคุกคามเราได้ตลอดเวลา ผมอยากให้สังคมร่วมกันจับตา เพราะว่าในที่ที่อยู่ผมห่างจากชายแดนประเทศลาวแค่ 4 กิโลเมตร ถ้าวันหนึ่งผมสูญหายไปหรือถ้าหากเกิดอะไรขึ้นกับผม โจทก์จะไม่ใช่ใครนอกจากเจ้าหน้าที่รัฐ”  

ย้อนไปเมื่อปีที่แล้ว ระหว่างมีกระแสข่าว ทิวากร วิถีตน ซึ่งสวมเสื้อ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” ถูกควบคุมตัวไปตรวจรักษา​อาการทางจิตที่โรงพยาบาล​จิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2563 เกรียงไกร สิงห์หฬ ถูกเจ้าหน้าที่ กอ.รมน. ควบคุมตัวไปที่ สภ.เชียงคาน จังหวัดเลย เพื่อเข้าให้ปากคำในฐานะพยาน จากกรณีเฟซบุ๊กชื่อ “เกรียงไกร สิงห์หฬ” ตั้งค่าภาพปก (cover) เป็นรูปของทิวากร วิถีตน ที่ใส่เสื้อ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว”  

>>>จนท.หลายฝ่ายบุกบ้านผู้โพสต์รูปทิวากรสวมเสื้อ “เราหมดศรัทธาฯ” นำตัวไปสถานี ตร.

วันดังกล่าวพนักงานสอบสวนได้เรียกเกรียงไกรไปสอบถามว่า เขาโพสต์รูปภาพชายสวมเสื้อมีข้อความว่า “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” จริงหรือไม่ โดยไม่ได้นำภาพเฟซบุ๊กของเขามาให้ยืนยัน แต่เกรียงไกรก็รับว่าเขาเป็นคนโพสต์จริง พนักงานสอบสวนแจ้งว่าจะให้เขาเซ็นชื่อในบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน

เกรียงไกรเปิดเผยอีกว่า เขาได้ถามพนักงานสอบสวนว่าจะมีการแจ้งข้อกล่าวหาหรือไม่ พนักงานสอบสวนตอบว่ายังไม่แจ้ง เพราะต้องเอาข้อความที่โพสต์ดังกล่าวส่งให้สำนักพระราชวังดูว่าเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์หรือไม่ หรือหมิ่นตรงไหน เกรียงไกรถามต่อว่า ถ้าทางสำนักพระราชวังแจ้งมาว่าหมิ่นฯ จะดำเนินการอย่างไรต่อ พนักงานสอบสวนกล่าวว่า สำนักพระราชวังจะมอบอำนาจให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดี  ก่อนที่จะได้รับการปล่อยตัวในเวลาประมาณ 17.30 น. หลังลงชื่อในบันทึกประจำวันของ สภ.เชียงคาน แล้ว

สำหรับเกรียงไกร  สิงหฬ อายุ 40 ปี ปัจจุบันประกอบอาชีพกิจการเกี่ยวกับร้านรับทำประตูรั้วสแตนเลส  พื้นเพครอบครัวอยู่ที่อำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์ หลังเรียนจบชั้น ม.3 ออกมาทำงานกับที่บ้าน กระทั่งสมัครเข้ารับราชการทหารเกณฑ์ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และเรียน กศน.ที่ค่ายทหารจนจบชั้น ม.6 หลังพ้นภาระทหาร เกรียงไกรเข้าทำงานในโรงหล่อแห่งหนึ่งที่จังหวัดชลบุรี ระหว่างทำงานเกรียงไกรเข้าเรียนต่อจนจบปริญญาตรีภาคค่ำ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์สาขาโลหการ จากมหาวิทยาลัยบูรพา กระทั่งปี 2555 เมื่อภรยาคลอดลูกชาย จึงลาออกจากงาน ย้ายมาสร้างครอบครัวและกิจการร้านประตูสแตนเลสที่บ้านภรรยาที่อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย  ภายหลังเกรียงไกรหย่าร้างกับภรรยา และมีภรรยาใหม่อาศัยอยู่เชียงคานเช่นกัน 

ด้วยเชื่อในเรื่องคนเท่ากันตั้งแต่เริ่มทำงานในย่านอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด ปี 2546 ในบริษัทเกี่ยวกับอุตสาหกรรมยานยนต์ เกรียงไกรเริ่มสนใจและจัดตั้งสหภาพแรงงานของแรงงานจ้างเหมาช่วง (subcontracted workers) เพื่อให้พนักงานประเภทดังกล่าวถูกรับรองให้เข้ามาทำงานประจำ  จนตั้งได้สำเร็จในปี 2548 ระหว่างนั้นเกรียงไกรศึกษากฎหมายแรงงาน และการเจรจาต่อรองต่างๆ โดยเฉพาะกับนายจ้าง รวมถึงกฎหมายสิทธิมนุษยชน กระทั่งเข้าร่วมรณรงค์ให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กับกลุ่มคนเสื้อแดงในช่วงปี 2553 เป็นต้นมา โดยเขาสนใจเรื่องให้กษัตริย์ฯ ลงมาอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ และมีคดีอากง SMS เป็นคดีที่เกรียงไกรรู้สึกว่ายอมรับไม่ได้กับความอยุติธรรม  แต่แล้วหลังจากรัฐประหาร 2557 เกรียงไกรไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองหรือแสดงบทบาทการเมืองในโลกออนไลน์ แต่ก็ติดตามสถานการณ์การเมืองอยู่เสมอ 

ปัจจุบันเกรียงไกรยังเข้าร่วมกับชาวบ้านกลุ่มฮักแม่น้ำเลย ในประเด็นเรียกร้องสิทธิชุมชน และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ  เรียกร้องให้ภาครัฐทบทวนโครงการประตูระบายน้ำศรีสองรัก ที่ไม่ได้มีการทำ EIA (การประเมินผลกระทบจากโครงการพัฒนา) โดยหากโครงการระบายน้ำถ้าทำเสร็จคาดว่าจะสร้างความเสียหาย ทั้งน้ำจะท่วมหลายหมู่บ้านในอำเภอเชียงคาน ขณะนี้กลุ่มฮักแม่น้ำเลย กำลังเตรียมประชุมเพื่อหาแนวทางการเคลื่อนไหวต่อ มีเป้าหมายให้ศาลปกครองสั่งคุ้มครองชั่วคราวยุติการทำโครงการนี้

ที่ผ่านมา มี กอ.รมน. และสันติบาลในจังหวัดเลย เคยมาติดตามหาเกรียงไกรนานๆ ครั้ง เขาไม่แน่ใจว่าตั้งแต่ครั้งที่มีคนแจ้งเรื่องการโพสต์รูปทิวากรต่อเจ้าหน้าที่ รวมถึงการมาของชายปริศนารอบครั้งหลังสุดจะเกิดจากความขัดแย้งกับกลุ่มสนับสนุนโครงการประตูระบายน้ำศรีสองรัก  แล้วใช้ข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์มากลั่นแกล้งเขาหรือไม่

“มีมาหาบ้างแต่ไม่เข้าถึงตัว มาอยู่ตรงข้ามบ้านเป็นสัปดาห์ตั้งแต่เรื่องโพสต์ภาพทิวากร  และมีประเด็นเรื่องเขื่อนศรีสองรัก ที่ไปประท้วงอยู่ตลอด จะมีช่วงที่เจ้าหน้าที่ขอเบอร์เราไว้ และโทรคอยติดตามแจ้งว่าจะมีคนมาหา ซึ่งบางครั้งก็ไม่เจอตัวเจ้าหน้าที่  แต่เข้าใจว่าโทรมาส่งสัญญาณรบกวนและไม่อยากให้เคลื่อนไหวต่อ แต่ผมก็พยายามบอกว่าเป็นแค่ช่างทำประตูธรรมดา ไม่มีอำนาจไปทำอะไรใครได้หรอก”  เกรียงไกรกล่าวทิ้งท้าย 

X