นพพล อาชามาส: “บันทึกประวัติศาสตร์ 9 คดีของผู้ไม่สยบยอม”

 

 

บทความนี้เป็นการถอดบทเรียนจากงานเสวนาเปิดตัวหนังสือ “ราษฎรกำแหง: บันทึก 9 คดีต้านรัฐประหารในยุค คสช” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันศุกร์ที่ 17 มกราคม 2563 จัดโดยทางศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“ราษฎรกำแหง: บันทึก 9 คดีต้านรัฐประหารในยุค คสช” คือหนังสือที่รวบรวมเรื่องราวและเอกสารสำคัญในคดีที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายและติดตามความเคลื่อนไหวของคดีตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 โดยได้คัดสรรคดีความจำนวน 9 คดี ที่สะท้อนความพยายามของนักกิจกรรม นักศึกษา และประชาชนในการต่อสู้ทัดทานการรัฐประหาร และการโต้กลับของพวกเขาเหล่านั้นผู้ไม่สยบยอมผ่านการต่อสู้ใน “กระบวนการทางกฎหมาย” ที่เกิดขึ้นตามมาอย่างถึงที่สุด

ในหนังสือบันทึก 9 คดีสำคัญภายใต้ยุคสมัยของ คสช. นอกจากจะบอกเล่าเรื่องราวของราษฎรผู้กล้าที่จะกำแหงและยืนหยัดคัดค้านอำนาจอันไม่ชอบธรรม แม้จะต้องเผชิญกับภัยคุกคามนานาชนิด ขณะเดียวกัน หนังสือเล่มนี้ยังส่องสะท้อนให้เห็นถึงทั้งการใช้อำนาจของกองทัพ และบทบาทการรับรองอำนาจเหล่านั้นโดยสถาบันตุลาการ อันร่วมกันทำให้สังคมไทยติดหล่มอยู่ในระบอบแห่งการรัฐประหารเนิ่นนานนับ 5 ปี

ผู้ร่วมเสวนา

นพพล อาชามาส เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน หนึ่งในผู้เขียนหนังสือ”ราษฎรกำแหง”

ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น University of Wisconsin-Madison

ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ยุกติ มุกดาวิจิตร  คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ชาลินี สนพลาย คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ดำเนินรายการ

***สามารถสั่งซื้อหนังสือ “ราษฎรกำแหง: บันทึก 9 คดีต้านรัฐประหารในยุค คสช” ได้ผ่านทางเพจ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

 

 

หลังจากที่ได้มีการกล่าวเปิดงานโดยตัวแทนจากสถานทูตประเทศแคนาดาแล้ว อาจารย์ชาลินีได้ให้วิทยากรแต่ละท่านได้แนะนำตัว ก่อนจะเริ่มเข้าสู่ช่วงของการบรรยาย โดยเริ่มจากวิทยากรท่านแรก นพพล อาชามาส เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน หนึ่งในผู้เขียนและบรรณาธิการของหนังสือ “ราษฎรกำแหง” ที่จะมาเล่าเกี่ยวกับภาพรวมของหนังสือ ที่มาที่ไป รวมไปถึงคุณค่าสูงสุดของหนังสือในฐานะที่เป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์

นพพลได้เริ่มต้นด้วยการเล่าถึงที่มาที่ไปของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและหน้าที่ของศูนย์ฯ ตลอด 5 ปี ระหว่างการครองอำนาจของ คสช. ซึ่งนอกจากจะให้ความช่วยเหลือประชาชนและนักกิจกรรมที่ออกมาต่อต้านการรัฐประหาร อีกหน้าที่หนึ่งของศูนย์ฯ นั่นก็คือการเก็บรวบรวมข้อมูลของการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่กระทำโดยรัฐผ่านทางกระบวนการยุติธรรม ในภาพรวม ศูนย์ทนายฯ มีคดีที่อยู่ในความดูแลทั้งหมด 198 คดี และมีลูกความในความดูแลทั้งหมด 377 คน (ตัวเลขเมื่อเดือนธันวาคม 2561) โดยในหนังสือเล่มนี้ ข้อมูลทั้งหมดได้มาจากคดีที่ทางศูนย์ให้ความช่วยเหลือ ซึ่งสะท้อนภาพของอัตลักษณ์บางอย่างที่ทำให้การรัฐประหารเมื่อปี 2557 มีความแตกต่างจากการรัฐประหารครั้งอื่น ๆ

“ประการสำคัญของการรัฐประหารครั้งนี้คือการใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมมาเป็นเครื่องมือในการปราบปราม  ปิดกั้นการแสดงออกของประชาชน โดยเฉพาะในมิติทางการเมือง เห็นได้ชัดจากจำนวนคดีที่พุ่งสูงขึ้น รวมทั้งผู้ที่ถูกดำเนินคดีจำนวนมาก เป็นการใช้อำนาจผ่านกระบวนการทางกฎหมาย ไม่ใช่การใช้อำนาจในทางตรงอย่างเดียว ในทางวิชาการมีการพูดถึง Concept หลายๆ อย่างเกี่ยวกับกระบวนการนี้ ไม่ว่าจะเป็น Lawfare หรือที่อาจารย์ปิยบุตรอธิบายว่าคือ นิติสงคราม การฟ้องคดีเพื่อปิดปาก (SLAPP) ซึ่งทั้งหมดเป็นการใช้กฎหมายเพื่อเป้าประสงค์ทางการเมือง ไม่ได้เป็นไปเพื่อธำรงความยุติธรรม ปกป้องสิทธิและเสรีภาพของประชาชน”

“ในภาพรวม เรามีข้อมูลเกี่ยวกับคดีจำนวนมากที่ได้มาจากการให้ความช่วยเหลือ ทางทีมทนายก็เลยมาคุยกันและเห็นว่าเราควรจะมีหนังสือที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับคดีสำคัญๆ พวกนั้น ก็เลยเกิดเป็นโปรเจคท์ทดลองนี้ขึ้นมา นำเสนอเอกสารและเรื่องราวคดีของผู้ที่มีอุดมการณ์ทางการเมือง ชุดคดีของคนที่ออกมาคัดค้านการรัฐประหาร หรือคนที่ไม่ยอมรับอำนาจการปกครองของระบอบเผด็จการ บางส่วนพอถูกดำเนินคดีแล้วก็ยังเลือกที่จะต่อสู้ต่อไป ทั้งบนท้องถนนและในกระบวนการยุติธรรม สิ่งที่น่าสนใจในประเภทคดีพวกนี้ก็จะมีพวกเนื้อหาคำพิพากษาและเอกสารที่อยู่ในมือของเรา ก็เลยชักชวนกันหาคนมาช่วยกันร่วมเขียนออกมา นำเสนอให้มันน่าสนใจขึ้น”

เพื่อที่จะนำเสนอออกมาในรูปแบบที่น่าสนใจ นพพลเล่าว่า ศูนย์ทนายฯ ได้ร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ ที่ติดตามเนื้อหาคดีที่เกี่ยวพันกับเรื่องของการต่อต้านการรัฐประหาร องค์กรอย่างเช่น ประชาไท โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) และ Way Magazine รวมถึงทีมของทนายบางส่วนก็ได้ร่วมในการเขียนหนังสือเล่นนี้เช่นกัน

“นอกเหนือจากการเล่าเรื่อง อีกส่วนที่เราพยายามทำนั่นก็คือการเผยแพร่คำวินิจฉัย โดยเฉพาะคำพิพากษาที่ชี้ให้เห็นถึงการรับรองการรัฐประหารที่เกิดขึ้น ธีมหลักของหนังสือเล่มนี้เลยแบ่งเป็นสองส่วน คือส่วนที่เป็นเรื่องราวการต่อสู้ของคนที่ไม่ยอมจำนน ไม่สยบยอมต่ออำนาจที่ได้มาอย่างไม่เป็นธรรม กับอีกส่วนคือการเปิดเผยคำวินิจฉัยของศาล เอกสารสำคัญในคดีที่รับรองบทบาทของการรัฐประหารของทางตุลาการในกระบวนการยุติธรรม”

9 กลุ่มคดีที่ถูกใส่ไว้ในหนังสือราษฎรกำแหงฯ ได้แก่

  • 7 คดีที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกของประชาชน นักเคลื่อนไหวที่ตกเป็นจำเลยหรือว่าถูกกล่าวหา โดย 3 คดีแรกในหมวดจะเป็นคดีช่วงแรก ๆ ที่มีการออกมาต่อต้านการทำรัฐประหาร
    • คดีของอภิชาตที่ออกมาชูป้ายไม่ยอมรับอำนาจเถื่อนและถูกจับกุมดำเนินคดีหลังการรัฐประหารเพียงสองวัน เป็นคดีสำคัญ เพราะมีการดำเนินคดีในศาลพลเรือนก่อน ก่อนจะย้ายไปศาลทหารและได้ต่อสู้กันถึงชั้นศาลฎีกา
    • คดีของสมบัติ บุญงามอนงค์ สู้ถึงชั้นศาลฎีกาเช่นเดียวกัน มีต้นตอมาจากการคัดค้านรัฐประหารในช่วงแรก
    • คดีของสิรภพ เนื่องจากการไม่เข้ารายงานตัวตามคำสั่ง 3/58 รวมถึงคดี 112 ในคดีนี้ ตัวเขาต้องติดคุกอยู่ถึงเกือบ 5 ปี เพราะไม่ได้รับการประกันตัวในข้อหาตาม มาตรา 112 ในหนังสือมีคำให้การของคุณสิรภพที่ยืนยันไม่ยอมรับอำนาจของคณะรัฐประหาร
    • กลุ่มคดีของนักศึกษากลุ่มดาวดินที่แสดงออกต่อต้านการรัฐประหาร รวมไปถึงคดีของ ไผ่ ดาวดิน ที่ถูกดำเนินคดีถึง 5 คดี นักศึกษากลุ่มนี้เป็นกลุ่มนักศึกษาที่มีบทบาทสำคัญในการต่อต้านรัฐประหารในยุค คสช. นอกจากจะมีเรื่องราวที่เล่าไว้ ในหนังสือยังได้เผยแพร่คำให้การของไผ่อีกด้วย
    • กลุ่มคดีที่สืบเนื่องจากการทำประชามติที่ประชาชนออกมาณรงค์คัดค้านร่างรัฐธรรมนูญในช่วงปี 2559 ก่อนการลงประชามติวันที่ 7 สิงหา ในคดีนี้มีประชาชน คนเล็กคนน้อย ลุงๆ ป้า ๆ ที่ถูกดำเนินคดี อย่างเช่น คดีที่เชียงใหม่ที่ได้มีการแปะป้ายคัดค้านเผด็จการ
    • กลุ่มคดีเกี่ยวข้องกับเสรีภาพทางวิชาการ เสรีภาพของนักวิชาการในการแสดงความคิดเห็นโดยไม่ถูกจับตาจากอำนาจรัฐ เช่น เหตุการณ์การชูป้าย “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” ที่เชียงใหม่ในงานประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษาซึ่งมีคนโดนข้อหาความผิดฐานชุมนุมทางการเมือง
    • กลุ่มคดีคนอยากเลือกตั้ง เซ็ตคดีสิบคดี เล่ารวมๆ กันว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้างเป็นบริบทในช่วงต้นปี 61 ก่อนจะมีการประกาศวันเลือกตั้ง ปัจจุบัน คนที่ออกมาเคลื่อนไหวแล้วถูกดำเนินคดี คดีความก็ยังไม่สิ้นสุด
  • กลุ่ม 2 คดีที่เป็นการฟ้องกลับองค์กรของรัฐที่ละเมิดสิทธิของประชาชน
    • คดีพลเมืองโต้กลับซึ่งฟ้องคณะรัฐประหารในฐานละเมิดกฎหมายอาญา มาตรา 113
    • กลุ่มนักกิจกรรม ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (New Democracy Movement – NDM) ฟ้องละเมิดเรียกค่าเสียหายจากการถูกสลายการชุมนุมปี 2558 ที่หน้าหอศิลป์ฯ กทม. เป็นการพยายามฟ้องกลับเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ไม่สำเร็จ โดยในหนังสือได้มีการเผยแพร่ส่วนของคำพิพากษาที่ชี้ให้เห็นถึงการยกเว้นการรับผิดของคณะรัฐประหารและรับรองการรัฐประหาร

ก่อนจะส่งต่อเวทีให้วิทยากรท่านต่อไป นพพลได้สรุปทิ้งท้ายเพื่อให้เห็นภาพรวมกว้างๆ ของหนังสืออีกครั้ง โดยถอดความมาจากคำให้การของ ไผ่ ดาวดิน ที่ได้ไปเบิกความในศาลทหาร

“ทั้งการต่อสู้ของคนเล็กคนน้อย และด้านของการชี้ให้เห็นถึงการใช้อำนาจรับรองการรัฐประหารโดยสถาบันการตุลาการ ผมขอสรุปใจความของหนังสือเล่มนี้ผ่านคำให้การของไผ่ที่เบิกความในศาลทหารคดีคัดค้านการรัฐประหาร ไผ่เบิกความว่า การสู้ครั้งนี้เป็นการสู้ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าแพ้ แต่ดีกว่าแพ้ทั้ง ๆ ที่ไม่คิดจะสู้ ซึ่งมันเป็นอารมณ์ความรู้สึกของหนังสือเล่มนี้ที่มันออกมา “

X